วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

The BFG ( 2016 ) Review




ไม่น่าเชื่อเลยว่าผลงานการกำกับของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อมดฮอลลีวูดอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก และยังเป็นผลงานที่ร่วมมือกับสตูดิโอยักษ์ใหญ่อย่างดิสนีย์เป็นครั้งแรก จะเจ๊งในด้านรายได้จากทั่วโลกอย่างเป็นเอกฉันท์เช่นนี้ ด้วยตัวเลขทั่วโลกในเวลานี้รวมกันได้เพียง 67 ล้านเหรียญสหรัฐจากทุนสร้างสูงถึง 140 ล้านเหรียญ


ซึ่งเหตุผลทางด้านรายได้นี้เองอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราอยากลองพิสูจน์ผลงานชิ้นนี้ดู ว่าเพราะเหตุใดผลลัพธ์ของวัตถุดิบที่ดีจึงออกมาเป็นเช่นนี้


เมื่อมอง The BFG อย่างผิวเผิน มันดูจะเป็นผลงานแสนธรรมดาของสปีลเบิร์กซึ่งนำเสนอภาพและอารมณ์การผจญภัยของตัวละครหลักไม่แตกต่างจาก Indiana Jones หรือ The Adventures of Tintin แต่มีบางสิ่งใน The Big Friendly Giant ที่ทำให้ผลงานนี้แตกต่างไปจากผลงานเรื่องอื่นของเขาพอสมควร

สิ่งแรกคือ 'ดิสนีย์' ซึ่งเข้ามาบทบาทสำคัญในการแต่งเติมโปรดักชั่นและซีจีต่างๆให้ยอดเยี่ยม งดงาม อลังการ สมกับเป็นภาพยนตร์ระดับทุนสร้าง 140 ล้านเหรียญสหรัฐได้เป็นอย่างดี


เมื่อนำโปรดักชั่นที่อลังการไปรวมเข้ากับการกำกับที่เต็มไปด้วยลูกเล่น ลูกไม้ และนิสัยขี้เล่นมากมายของสปีลเบิร์ก ในการที่จะทำให้ผู้ชมยิ้มได้ตลอดเวลา ก็ทำให้เรื่องราวการผจญภัยของเด็กหญิงโซฟีในดินแดนแห่งยักษ์นี้ ยิ่งโดดเด่นขึ้นไปอีก

เคมีที่เข้ากันได้อย่างลงตัว และตัวละครที่น่าสนใจของมาร์ค ไรแรนซ์ ผู้รับบทเป็นยักษ์ใจดี กับรูบี้ บาร์นฮิลล์ ผู้รับบทเป็นเด็กหญิงโซฟี ก็ยิ่งส่งเสริมทำให้การดำเนินเรื่องมีความน่าติดตาม นำมาสู่บทสรุปที่น่าประทับใจทำให้หัวใจเราพองโตขึ้นมาได้เล็กน้อยในท้ายที่สุด


สำหรับสาเหตุที่ทำไม The BFG ถึงได้ประสบความล้มเหลวด้านรายได้ทั่วโลกอย่างเป็นเอกฉันท์ เชื่อว่าน่าจะมีหลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ตารางฉายที่ไปชน Finding Dory ซึ่งกำลังมาแรงอย่างมาก(แม้จะเจอกันในสัปดาห์ที่สามของ Finding Dory ก็ตาม) แถมก็ยังมีแอนิเมชั่น The Secret Life of Pets ตามมาประกบหลังอีกต่างหาก ทำให้ผลงานที่รูปร่างภายนอกดูแสนจะธรรมดาอย่าง The BFG ถูกมองข้ามไปอย่างง่ายดาย

อีกหนึ่งเหตุผลที่น่าสนใจก็คือตารางการปะทะกันของภาพยนตร์ทุนสูงอย่าง The BFG, The Legend of Tarzan และภาพยนตร์ทุนต่ำอย่าง The Shallows และ The Purge: Election Year กลับกลายเป็นว่าภาพยนตร์ทุนต่ำเปิดตัวแรงชนิดที่ได้กำไรไปตั้งแต่สัปดาห์แรก ในขณะที่ภาพยนตร์ทุนสูงยังต้องนั่งลุ้นตัวโก่งกันหลายสัปดาห์ติดต่อกัน เช่นเดียวกันกับ The Legend of Tarzan ที่ผ่านทุนสร้างไปได้อย่างฉิวเฉียดในขณะนี้ด้วยตัวเลข 201 ล้านเหรียญสหรัฐจากทุนสร้าง 180 ล้านเหรียญ (รวมค่าโฆษณาและจิปาทะแล้วดีไม่ดีอาจยังติดลบ)



กระแสภาพยนตร์ทุนต่ำที่กำลังมาแรงในขณะนี้ อาจแสดงให้เห็นถึงหลายสิ่งหลายอย่าง เช่นผู้ชมส่วนใหญ่ในขณะนี้ให้ความสำคัญกับทุนสร้างลดลงให้ความสำคัญกับเนื้อหาและความน่าสนใจของภาพยนตร์มากขึ้น หรืออาจมีความเป็นไปได้ว่ากระแสภาพยนตร์ประเภทระทึกขวัญ เขย่าขวัญ กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้เพื่อคลายความเครียด ความกดดัน ท่ามกลางเหตุการณ์การก่อการร้ายหรือเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแทบจะทุกอาทิตย์บนโลกของเราขณะนี้ ซึ่งแน่นอนว่านี้ยังคงเป็นเพียงการสันนิษฐานที่จำเป็นจะต้องติดตามและสังเกตุอย่างใกล้ชิดกันต่อไป

แต่สิ่งที่แน่นอนสำหรับในตอนนี้คือผลงานที่ค่อนข้างน่าประทับใจอย่าง The BFG ต้องตกเป็นลูกหลงของกระแสภาพยนตร์และกระแสโลกที่แสนโหดร้ายและเดาได้ยากไปอย่างไม่ต้องสงสัย

Final Score: [ 7.5 ]

แท้ที่จริงแล้ว เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดใน The BFG สุดท้ายก็เป็นความฝันหรือภาพที่สะท้อนสภาพจิตใจตัวละครหลักอย่างโซฟี

มันได้สะท้อนถึงความเหงา ความฝันสูงสุดของเธอในการที่ได้มีเพื่อน หลุดออกไปจากบ้านเด็กกำพร้า และมีบ้านมีครอบครัวที่รักเป็นของเธอเอง ด้วยมุมมองที่เป็นเด็กน้อยช่างเพ้อฝันและช่างจินตนาการสมกับเป็นความฝันของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆได้อย่างยอดเยี่ยม

แม้อารมณ์ใน The BFG ที่เราเห็นบนจอภาพยนตร์กับตามันจะเต็มไปด้วยสีสันมากมายเท่าไรก็ตาม สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้รอยยิ้มเหล่านั้น คือความเจ็บปวดของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งซึ่งเติบโตมาโดยปราศจากพ่อแม่หรือเพื่อนนั้นเอง

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

The Shallows (2016) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz


สำหรับวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดแล้ว ภาพความสยดสยองและความน่ากลัวของฉลาม ปฏิเสธได้ยากว่าเริ่มมาจากภาพยนตร์อย่าง Jaws ในปี 1975 ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ซึ่งปลุกกระแสและสร้างภาพความโหดร้ายให้กับผู้ล่าอันแสนฉกาจในผืนน้ำนี้แก่ผู้ชมมากมายทั่วโลก จนนำมาสู่ภาคต่ออีกหลายภาค

ยันไปจนภาพยนตร์ประเภทฉลามทั้งหลาย ที่แม้ในยุคปัจจุบันก็ยังมีมาให้เห็นเรื่อยๆ ซึ่งที่ดูจะเป็นกระแสก่อนหน้า Shallows ในเร็วๆนี้ ก็คงหนีไม่พ้น Sharknado ที่จำกัดข้อเสียเปรียบของฉลามที่จำเป็นจะต้องอยู่ในเฉพาะน้ำไปอย่างหมดสิ้น

The Shallows มีความคล้ายคลึงกับ Sharknado ตรงที่มันเล่นกับขีดจำกัดหรือจุดที่เราเคยคิดว่าปลอดภัยได้อย่างดี คล้ายๆกับ Paranormal Activity ซึ่งทำลายความคิดที่ว่าบ้านของเรา ห้องนอนของเราเป็นที่ปลอดภัยที่สุด ใครจะคิดล่ะว่า ฉลามสุดน่ากลัวจะมาจู่โจมเราในที่ตื้นๆเช่นนี้ได้
อย่างไรก็ตามองค์ประกอบหลายส่วนของ The Shallows ก็ดูจะตื้นพอๆกับชื่อภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการกำกับที่แสนธรรมดา จังหวะจะโคนในการหลอกล่อผู้ชมที่เดาง่ายแสนง่าย

การเล่าเรื่องที่ใช้มุข 'Instagram + Skype' เป็นตัวปูเรื่องค่อนข้างเยอะ ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกแย่อะไร แต่ในอีกมิติหนึ่งก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันให้อะไรใหม่หรือแตกต่างจากการเล่าเรื่องตรงๆทั่วไปเท่าไรนักเช่นกัน

ในด้านบทภาพยนตร์ถือว่าพอรับได้ ขีดเขียนตัวละครมาได้น่าสนใจเพียงพอ และวางสถานการณ์ต่างๆได้ค่อนข้างดี แต่ภาพรวมมันก็ยังเป็นได้แค่ภาพยนตร์เอาชีวิตรอดจากฉลามทั่วไปอยู่ดี ที่สำคัญคือความลุ้นระทึกหลังจากกลางเรื่องก็ดรอปลงไปเรื่อยๆนำมาสู่จุดไคลแม็กซ์ที่จืดชืด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากทุนสร้างที่น้อย ทำให้ไม่สามารถเล่นอะไรได้มากมายนัก
แต่ถือได้ว่าเป็นโชคดีชนิดปิดตาซื้อหวย ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นักแสดงอย่าง เบลค ไลฟ์ลีย์ มารับบทนำ ด้วยความเซ็กซี่ ความน่ารัก และการแสดงที่น่าเอาใจช่วยของเธอ ทำให้เรื่องราวและฉากลุ้นระทึกเฉียดโดนฉลามแดกทั้งหลายในภาพยนตร์ ดูมีความหมายขึ้นมาอย่างทันใด

สุดท้ายแล้ว The Shallows ก็เป็นผลงานภาพยนตร์ที่จัดอยู่ในระดับพอใช้ได้ มันไม่ได้นำเสนออะไรสดใหม่เท่าไรนัก แต่จุดหลายจุดก็สอบผ่านไปได้ด้วยการนำแสดงของ เบลค ไลฟ์ลีย์

หากเทียบกับผลงานกำกับล่าสุดของ โจว์เมย์ โคเล็ท เซอร่า อย่าง Run All Night (2015) แล้ว The Shallows ดูจะเป็นผลงานที่ฝีมือตกลงมานิดหน่อย แต่ก็ยังค่อนข้างมีคุณภาพเมื่อเทียบกับภาพยนตร์ฉลามในหลายปีที่ผ่านมา เฉกเช่น Shark Night 3D (2011), Bait (2012)

------ บทความวิเคราะห์ (SPOILER!!) -------

แม้ภาพลักษณ์ภายนอกของ The Shallows ดูจะเป็นการจู่โจมของสัตว์ร้ายต่อมนุษย์อย่างโหดเหี้ยม แต่แท้ที่จริงแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ตำหนิหรือสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งใดมากไปกว่าการกระทำของมนุษย์ต่อธรรมชาติอีกแล้ว

ภาวะโลกร้อน แก๊ซเรือนกระจก ท้องทะเลที่กำลังถูกทำลาย สัตว์ทั้งหลายต่างล้มตาย สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่าน The Shallows ไม่ว่าจะมาจากปลาวาฬที่เกยตื้นมาเสียชีวิตเพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของธรรมชาติ

หรือกระทั่งเจ้าฉลามสุดโหดในเรื่องเอง ก็เป็นเหยื่อของการกระทำจากมนุษย์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นมาจากความอภิมหาซวยของตัวละครเอก แต่ส่วนใหญ่คือแท่งเหล็กซึ่งทิ่มแทงลงไปตรงปากฉลาม แสดงให้เห็นถึงสภาวะของสัตว์ที่ดูแสนดุร้ายตัวนี้ว่าตัวมันไม่ได้เป็นอะไรนอกเหนือจากเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายซึ่งถูกทำร้ายจากน้ำมือของมนุษย์

สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงเนื้อหาที่แท้จริงของ The Shallows ว่ามันไม่ได้เป็นภาพยนตร์เอาชีวิตรอด แต่เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงการเอาคืน การแก้แค้นของธรรมชาติต่างหาก!!