วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

3 Days to Kill ( 2014 ) Movie Review

3 Days to Kill ( 2014 )
มรสุมเดือนกุมภาพันธ์ ? 


ถึงแม้จะไม่อยากเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อเลยจริงๆว่า เดือนนี้มันช่างน่ากลัวเสียจริง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องก่อนอย่าง Pompeii จาก Paul W.S. Anderson ที่ยอดเยี่ยมในด้านความเลวร้ายเป็นที่สุด และดูเหมือนพายุมรสุมอันแสนน่ากลัวและสาสหัสนี้นั้นจะยังไม่จบลงง่ายๆ
ด้วย 3 Days to Kill ของผู้กำกับ McG ที่สับสน มั่วซั่ว และ"ห่วย" เสียเหลือเกิน


ด้วยการกำกับของ McG โดยเฉพาะการสอดแทรกมุขตลกลงไปในหลายๆส่วน ที่นอกจากไม่ขำแล้ว มันยังน่ารำคาญเป็นที่สุด ซึ่งการกำกับฉาก Action ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันเท่าไรนัก แต่อย่างน้อยมันก็ยัง "พอจะทนได้" บ้าง 

แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนเบื่อหน่ายและส่ายหัวตลอดเวลา ก็คือการพยายามยัดเยียดความเป็นดราม่า และบทใส่ให้ผู้ชม ทั้งๆที่มันไม่ได้สมเหตุสมผลเอาเสียเลย ซึ่งนอกจากเราจะไม่เชื่อและไม่อยากจะรับมันแล้ว เขาก็ยังจะพยายามยัดมันใส่ปากเรา จนต้องสำรอกมันออกมาอีกด้วย ในช่วงท้ายของภาพยนตร์ผู้เขียนทนไม่ได้จนแทบอยากจะพูดออกมาว่า "ได้โปรดเลิกเถอะไอ้ฉากเหล่านี้ เอาฉาก Action ดาษๆของท่านมาแทนเถอะ"

ในด้านบทนั้นจริงๆแล้วก็ไม่ได้ดีไปกว่าการกำกับของ McG เท่าไรนัก เพราะนอกจากมันจะช่างซ้ำซาก เดาง่ายแล้ว มันยังไร้ความสมเหตุสมผลเป็นที่สุด หลายๆสิ่งหลายๆอย่างเต็มไปด้วยรูโหว่ที่ไม่มีความพยายามจะอุดเลยแม้แต่น้อย ทำให้เกิดคำถามมากมายตามมา และทำให้ผู้เขียนสับสน ว่า "สรุปแล้วพวกเขาได้ใส่ใจแม้แต่น้อยหรือไม่กับบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ?"

ซึ่งจะว่าไปก็เรียกได้ว่าช่างน่าเสียดายเหลือเกิน เพราะตัวภาพยนตร์ได้ดารานำแสดงระดับแถวหน้ามาถึง 2 คน อย่าง Kevin Costner ที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว และ Hailee Steinfeld ซึ่งเธอเคยเข้าชิงสาขาดาราสมทบหญิงยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ จากภาพยนตร์เรื่อง True Grit มาแล้ว 

ที่ยิ่งน่าเสียดายไปยิ่งกว่านั้นก็คือ ทั้งสองคนนี้แสดงและถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมมาก และทั้งคู่ก็เข้ากันได้ดีเสียด้วย ทำให้ผู้เขียนเชื่อได้จริงๆ ว่าสองคู่นี้เป็นพ่อลูกกันจริงๆ

ซึ่งมันทำให้ผู้เขียนรำลึกและนึกถึง R.I.P.D. ภาพยนตร์สุดขยะแห่งปี 2013 ที่ได้สอนบทเรียนให้กับผู้เขียนว่า ต่อให้นักแสดงจะยอดเยี่ยมเท่าไรก็ตาม แต่ถ้าผู้กำกับ"ห่วย" สุดท้ายตัวภาพยนตร์ก็ไม่สามารถที่จะถ่ายทอดพลังออกมาได้อย่างเต็มที่ อย่างที่ควรจะเป็น


Final Score : [ D ] & [ Garbage Badge ]

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Saving Mr.Banks ( 2013 ) Movie Review

Movie Review

"ถึงเวลาหลงรักไปกับ Saving Mr.Banks"




Saving Mr.Banks ( 2013 ) เป็นภาพยนตร์ของผู้กำกับ จอห์น ลี แฮนค็อก เจ้าของผลงานระดับออสการ์อย่าง The Blind Side ในปี 2009 ที่เรียกได้ว่าค่อนข้างที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้เขียนไม่น้อยเลยทีเดียว จากความอบอุ่นของมัน ในคราวนี้เขากลับมาในภาพยนตร์เรื่องใหม่อย่าง Saving Mr.Banks ซึ่งนำแสดงด้วยดาราระดับรางวัลออสการ์อีกเช่นกัน ซึ่งมีกันถึงสองคน นั้นก็คือ Tom Hanks และ Emma Thompson 


Saving Mr.Banks ว่าด้วยเรื่องราวของ วอลท์ ดิสนีย์ (ผู้สร้างค่าย Disney นั้นแหละ) ที่พยายามเกลี้ยกล่อม พาเมล่า ให้เซ็นสัญญาอนุญาติให้เขานำหนังสือ Mary Poppins ของเธอไปสร้างเป็นภาพยนตร์ให้จงได้ 


สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดใน Saving Mr.Banks เลยก็คือตัวละครอย่าง "พาเมล่า" นี้แหละ เพราะตัวหนังนั้นค่อนข้างที่จะสร้างตัวละครของเธอให้ดู ร้ายกาจ โหด และเย่อหยิ่ง เป็นอย่างมาก เรียกได้เลยว่า ความประทับใจครั้งแรกของผู้ชมคงไม่ค่อยประทับใจและอยากที่จะเอาใจช่วยตัวละครนี้เท่าไรนักเลย แต่ ! เมื่อภาพยนตร์ดำเนินไปเรื่อยๆ ตัวหนังก็ช่างถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องหลังตัวละครพาเมล่าออกมาได้ดีเหลือเกิน จนทำให้เรารู้สึก เข้าใจในตัวเธอ ว่าทำไมเธอถึงได้มีความคิดและนิสัยเช่นนี้ออกมา ยิ่งผนวกกับการแสดงที่น่าทึ่งของ Emma Thompson ไปด้วยแล้ว ยิ่งแล้วใหญ่ จนในท้ายที่สุดจากการที่เราควรจะหมั้นไส้ และเกลียดเธอ กลับกลายเป็นหลงรักและเอาใจช่วยเธอไปอย่างเต็มอกเต็มใจ



อีกครั้งกับ จอห์น ลี แฮนค็อก ที่เขายังคงนำความรู้สึก "อบอุ่นหัวใจ" เข้ามาในภาพยนตร์ซึ่งเราก็รู้สึกมันได้อย่างเต็มที่เสียเลยจริงๆ ไม่ว่าจะหัวเราะ หรือ น้ำตาซึม เขาก็จัดการกับผู้ชมได้อย่างอยู่หมัดเสียจริงๆ ซึ่งนั้นก็เป็นผลมาจากการเล่าเรื่องอันไหลลื่น และน่าสนใจอยู่ตลอดเวลาของเขา โดยเฉพาะการตัดสลับเล่าเรื่องระหว่างอดีตและปัจจุบันของตัวละคร เขาก็ทำได้เป็นอย่างดี เพราะมันช่างไหลลื่น และเชื่อมต่อในแต่ละฉากได้อย่างน่าสนใจ น่าทึ่งสุดๆ 



ทีมนักแสดงก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของ Saving Mr.Banks เลยก็ว่าได้ นอกจาก Emma Thompson แล้ว นักแสดงคนอื่นๆอย่าง Tom Hanks ก็ยังคงแสดงได้อย่างน่าทึ่งเช่นเคย โดยเฉพาะบทที่ค่อนข้างจะหนักอย่าง วอลท์ ดิสนีย์ ซึ่งเขาก็ทำให้เราเชื่อได้จริงๆว่านี้คือ วอลท์ ดิสนีย์ หรือนักแสดงรองอื่นๆก็แสดงได้ดีไม่แพ้กันไม่ว่าจะเป็น Paul Giamatti ที่ผู้เขียนมักจะติดภาพว่าเขารับบทเป็นผู้ร้ายเสียมากกว่า แต่พอมาได้ชมการแสดงของเขาในภาพยนตร์เรื่องนี้กลับรู้สึกชอบเขาอย่างบอกไม่ถูก เพราะเขา "น่ารัก"เหลือเกิน และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดเลยก็คือ Colin Farrell ที่ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นเรื่องล่าสุดที่รู้สึกว่าเขาแสดงได้อย่างดีและเต็มที่จริงๆ (ในขณะที่เรื่องก่อนๆดูเหมือนไม่ค่อยตั้งใจเท่าไร)



Saving Mr.Banks พูดถึงอดีตที่แสนเจ็บปวดของเราๆ ทุกคนมักจะมีความทรงจำที่ไม่อยากจะพูดถึง และรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่คิดถึงมัน ซึ่งภาพยนตร์ก็พูดว่าเราควรที่จะ"ปล่อย"มันไปบ้าง เพราะการเก็บมันเอาไว้ก็ไม่ได้อะไรนอกจากความเจ็บปวด ซึ่งในทฤษฏีมันดูจะเป็นข้อคิดที่ดีและชวนฝันไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว แต่...มันกลับเป็นจุดที่ทำให้ Saving Mr.Banks น่าถูกตั้งคำถามอย่างมาก ใช่เราควรจะปล่อยมันไปบ้างก็จริงความเจ็บปวดเหล่านั้น แต่ในท้ายที่สุดแล้วมันก็จะยังคงไม่ไปไหน และมันก็จะยังตามมาหลอกหลอนเราอีกไม่ใช่หรือ ? เพียงแค่การปล่อยหรือระบายมันออกไป ผู้เขียนคิดว่ามันไม่ได้ทำให้ปัญหาถูกแก้ไขแต่เป็นการหลีกหนีและปฏิเสธความจริงที่แสนเจ็บปวดเสียมากกว่า ซึ่งภาพยนตร์เองก็ไม่ได้ตอบคำถามนี้แบบชัดเจนเสียด้วย แต่กลับพูดแค่ว่า "ปล่อยมันไป" เพียงเท่านั้น (พูดแล้วคิดถึงเพลง Let It Go ของ Frozen) นี้ยังไม่นับถึงท่าที่ของ วอลท์ ดิสนีย์ ในภาพยนตร์ที่จริงๆแล้วเขาก็ไม่ได้สนใจหรือแคร์อะไรมากในความรู้สึกของ พาเมล่า เพียงแต่เขาอยากที่จะสร้างภาพยนตร์ที่มีตัวละครของเธออยู่ในนั้น ก็เท่านั้นเอง



ในท้ายที่สุดแล้วถึงแม้ว่า Saving Mr.Banks จะมาตกม้าตายเอาตอนท้ายอยู่บ้างแต่ผู้เขียนก็ไม่อาจที่จะปฏิเสธได้เช่นกัน ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มันทำให้รู้สึก อบอุ่น ลึกซึ้ง และหลงรักอย่างเต็มเปาจริงๆ 

Final Score [ A ] & [ Must See Badge ] 

The Raid : Redemption ( 2011 ) Movie Review

Movie Review



The Raid : Redemption ( 2011 ) ไม่น่าเชื่อเลยว่าเป็นภาพยนตร์แอ๊คชั่นของประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ที่เรียกได้ว่าสร้างชื่อโด่งดังไปทั่วโลก ทั้งเสียงคำชมจากผู้ชมทั่วไปและนักวิจารณ์เลยทีเดียว จึงไม่แปลกเลยที่จะมีภาค 2 ต่อมาในปี 2014 นี้ (ซึ่งได้ยินมาว่าดีกว่าภาคแรกอีกด้วย)

ต้องขอบอกเลยว่าสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะพูดมากที่สุดเลย ก็คือความแตกต่างระหว่างภาพยนตร์เรื่องนี้ กับภาพยนตร์แอ๊คชั่นไทยในตอนนี
้ สาเหตุที่เอามาเทียบกันนั้น ก็เพราะในด้านเทคโนโลยีนั้นเรียกได้ว่าทั้งสองฝั่งไม่ได้มีใครดีไปกว่ากันซักเท่าไรเลย ข้ออ้างที่ว่า "CG เขาดีกว่า" จึงตกไปอย่างไม่ต้องสงสัย

สิ่งที่เรียกได้ว่าเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนระหว่างภาพยนตร์แอ๊คชั่นของไทย กับ The Raid : Redemption เลยก็คือ The Raid นัั้นไม่มีตัวกั้นขีดจำกัดของภาพยนตร์เลย ซึ่งโดยหลักๆก็คือ "ความรุนแรง" ในฉากแอ๊คชั่นต่างๆ ที่ The Raid นั้นเรียกได้ว่าค่อนข้างจะจัดเต็ม น 18+ กันเลยทีเดียว ในขณะที่ภาพยนตร์แอ๊คชั่นส่วนใหญ่ของไทยกลับติดแหงกอยู่กับการ"กลัว" ที่จะสร้างอะไรที่รุนแรงจนเกินไป (ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่ากลัวสังคมออกมาโทษเหมือนประเด็นเล่นเกมอีก)

แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์แอ๊คชั่นของไทยเรียกได้ว่า"ห่างชั้น"จากภาพยนตร์เรื่องนี้เลยก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ ในฉากแอ๊คชั่น ซึ่ง The Raid นั้น นอกจากจะไม่มีการกั๊กใดๆ ใส่เต็มทุกฉาก ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรง หรือ ฉากเตะต่อยนานๆหรือยาวๆ ฉากแอ๊คชั่นเหล่านี้ใน The Raid มันก็ช่างเต็มไปด้วยความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นท้วงท่าต่างๆ การรับและการรุกต่างๆ ซึ่งถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ไปไกลถึงขนาดเป็นขบวนท่าแบบกำลังภายในจีน แต่มันเปรียบเสมือนกับศิลปะการต่อสู้"เอาชีวิตรอด"เสียมากกว่า ในขณะที่ภาพยนตร์แอ๊คชั่นไทยหลายๆเรื่องยังคงติดและย่ำอยู่กับที่ กับมวยไม้ไทย ที่เห็นมาหลายรอบมากแล้วจนทำให้ไม่รู้สึกว่าน่าสนใจอีกต่อไป

อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอีกเช่นกันก็คือ บทภาพยนตร์ ที่ของไทยไม่ค่อยจะให้ความสำคัญซักเท่าไรนัก มักจะเป็นอะไรที่เดาง่ายๆ หรือไม่ก็ไร้ตัวตนไปเลยแบบ ต้มยำกุ้ง 2 แต่ใน The Raid ตัวบทภาพยนตร์กลับเด่นขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้เด่นขนาดเทียบฉากแอ๊คชั่นก็ตาม นอกจากนั้นบทภาพยนตร์ของ The Raid ก็ยังไม่ได้เพียงแค่บทที่ใส่ให้มาดูดีหรือให้มันมีตัวตนเฉยๆ แต่มันกลับแฝงไปด้วยการเสียดสีสังคมได้อย่างรุนแรงและเจ็บแสบ โดยเฉพาะเรื่องราวของชาวบ้านยากจนที่จะต้องฆ่าตำรวจเพื่อจะได้มีชีวิตอย่างมีความสุข กับ ตำรวจที่ไม่ยอมรับเงินแต่พยายามที่จะผดุงความถูกต้องเอาไว้ ทำให้คำถามนั้นตกอยู่ที่ว่า "อะไรคือความถูกต้องกันแน่ ?"

อีกข้อหนึ่งที่เป็นที่ทำให้รู้สึกว่าอยากพูดถึงมากเช่นกัน ก็คือในด้าน CG Effects ต่างๆในภาพยนตร์ ที่บางคนอาจจะอ้างว่า CG ภาพยนตร์เรื่องนี้ เรื่องนั้นมันดีกว่า ก็เลยทำให้เรื่องนั้นดีกว่า ซึ่งมันไม่ใช่เลย จริงๆแล้วต้องพูดเลยว่า CG ใน The Raid : Redemption ค่อนข้างที่จะแย่และไม่ได้มีความเนียนเอาเสียเลย น่าจะพอพูดได้ว่า แย่พอๆกับภาพยนตร์ไทยด้วยซ้ำไป แต่ CG ที่แย่และไม่เนียนของมัน ไม่ได้ทำให้ตัวหนังดูหม่นหมองหรือสนุก/ตื่นเต้นน้อยลงแม้แต่น้อยเลย กลับกันมันกลับเป็นภาพยนตร์แอ๊คชั่นที่ "มันส์" ตื่นเต้น สนุก และเหนื่อย มากที่สุดเท่าที่เคยได้ชมมาเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าจะน่ารำคาญการถ่ายภาพแบบ handheld ที่สั้นอยู่ตลอดเวลา แม้ฉากพูดปกติอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ถือว่าอยู่ในจุดที่ไม่ได้สั่นจนมองไม่เห็นอะไร


The Raid : Redemption เป็นภาพยนตร์แอ๊คชั่นสัญชาติอินโดนีเซีย ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึก"กลัว"แทนวงการภาพยนตร์แอ๊คชั่นไทยเหลือเกิน เพราะเมื่อเรามองภาพยนตร์ของประเทศเพื่อนบ้านเช่นเรื่องนี้แล้ว นอกจากมันจะโดดเด่นและน่าทึ่งเป็นที่สุดแล้ว เมื่อหันกลับมามองภาพยนตร์แอ๊คชั่นไทยปัจจุบัน คุณภาพนั้นเรียกได้ว่าแทบจะคนละโลก ซึ่งจะอ้างว่าเป็นเพราะเทคโนโลยีเราสู้เขาก็คงไม่ใช่ เพราะ CG เขาก็แย่พอๆกับเรา แต่"ฝีมือและชั้นเชิง" ต่างหากที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

Final Score : [ A ] & [ Must See Badge ]

วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Pompeii ( 2014 ) Movie Review

Movie Review

"ทึ่งไปการกำกับของ Paul W.S. Anderson ใน Pompeii  
ที่ช่างวินาศเสียยิ่งกว่าภูเขาไฟในภาพยนตร์เสียอีก"





Movie Name : Pompeii ( 2014 ) , Action / Adventure / Drama
Director : Paul W.S. Anderson ( Resident Evil , The Three Musketeers )
Stars : Kit Harington ( Silent Hill : Revelation 3D , Game of Thrones TV-Series ) , Carrie-Anne Moss ( The Matrix ) , Emily Browning ( Sucker Punch ) , Adewale Akinnuoye-Agbaje ( The Mummy Returns ) , Jared Harris ( Resident Evil 2 , Sherlock Holmes : A Game of Shadows ) , Kiefer Sutherland ( 24 TV-Series )
Rating : PG -13



Pompeii เล่าถึงเรื่องราวของไมโลทาสผู้ซึ่งจะต้องหาหนทางช่วยคนรักของเขาให้พ้นจากสมาชิกวุฒิสภาที่ชั่วร้ายให้ได้ ท่ามกลางภูเขาไฟที่กำลังปะทุ เวลาของเขานั้นกำลังจะหมดลง...

REVIEW


                                              อมเปอี ถ้าหากพูดชื่อนี้ขึ้นมาแล้วล่ะก็ ผู้อ่านหลายๆท่านก็น่าจะทราบกันดี ว่านี้ก็คือชื่อเมืองในประเทศอิตาลีซึ่งประสบภัยพิบัติที่เรียกได้ว่าน่าหวาดผวาและน่ากลัวมากที่สุดครั้งหนึ่งบนโลก ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเรื่องราวที่ต่อให้เราไม่ได้ชมภาพยนตร์เราก็ทราบกันดี เสมือนภาพยนตร์อย่างเช่น ไททานิค ที่ต่อให้เราไม่เคยชมมาก่อนเลย แต่ถ้าเราหาข้อมูลหรือเคยได้ยินมาบ้างก็น่าจะทราบดีว่า ในท้ายที่สุด ยังไงเรือไททานิคมันก็ต้องจม ซึ่งการนำสิ่งที่ผู้ชมนั้นรู้และทราบมาก่อนอยู่แล้วมาทำเป็นภาพยนตร์ ภาระจึงตกไปอยู่กับผู้กำกับว่าจะทำอย่างไรให้มันน่าสนใจ สนุก และตื่นเต้น นี้ยังไม่รวมไปถึงการตีความและเพิ่มความรู้ใหม่ๆในเหตุการณ์จริงให้กับผู้ชมอีกด้วย


ซึ่งอารมณ์สนุกและตื่นเต้นเหล่านั้น ต้องพูดเลยว่าแทบจะไม่เกิดขึ้นเลยใน Pompeii เพราะมันมักจะเต็มไปด้วยความจืดชืด น่าเบื่อหน่าย และไม่น่าสนใจเสียมากกว่า

สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นปัญหาหนักมากที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือการกำกับของ Paul W.S. Anderson ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องที่แข็งทื่อ การกำกับนักแสดงที่แย่ ไม่สามารถที่จะดึงพลังของนักแสดงออกมาได้อย่างเต็มที่ และที่แน่นอนเลยก็คือไม่สามารถที่จะคุมผู้ชมอย่างอยู่หมัดเลย ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่ค่อยจะแปลกใจเท่าไรนัก จากผลงานชิ้นก่อนๆของเขาอย่าง The Three Musketeers หรือ Resident Evil ภาคหลังๆ
แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนรำคาญและน่าเบื่อหน่าย ก็คือการกำกับฉาก Action ที่ตัดหรือCut แทบจะทุกครึ่งวินาที นอกจากมันจะสร้างความน่ารำคาญจากการที่ดูอะไรไม่ค่อยจะรู้เรื่องแล้ว มันยังแสดงถึงความไร้ประสิทธิภาพของผู้กำกับแบบสุดขีดอีกด้วย เพราะมันไม่ได้มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายทำใดๆเลย เพียงแค่ถ่ายลวกๆแล้วอาศัยการตัดเร็วๆเอา ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า "ทำได้แค่นี้หรือ ?"



แม้แต่บทภาพยนตร์ใน Pompeii ก็แทบจะไม่ได้ดูดีไปกว่าการกำกับของ Paul W.S. Anderson เท่าไรนัก ทั้งๆที่ตัวภาพยนตร์ตั้งชื่อว่า Pompeii แต่จริงๆแล้วมันกลับให้ความรู้สึกเหมือน Gladiator ฉบับมีภูเขาไฟมากกว่า เพราะประมาณ 70-80% ของภาพยนตร์นั้นเพ่งเล็งและจดจ่ออยู่กับแต่เรื่องราวของนักรบ Gladiator และทาสมากกว่าภูเขาไฟเสียอีก ซึ่งทำให้ผู้เขียนนึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งในปีที่แล้ว นั้นก็คือ Mortal Instrument : City of Bones ที่ทั้งเรื่องจริงๆแล้วอยู่ในเมืองกระดูกราวๆ 5 นาทีหรือต่ำกว่าเท่านั้น สร้างความฉงน น่าสงสัยและงงงวยให้กับผู้เขียนเป็นอย่างมาก ว่าจะตั้งชื่อเรื่องเช่นนี้ไปเพื่ออะไรกันถ้าหากมันจะมีความสำคัญอยู่เพียงเท่านั้น เพื่อทำให้ภาพยนตร์ดูน่าสนใจ ? เพื่อให้ดูเท่ ?  

นอกจากนั้นการใส่เรื่องราวเกี่ยวกับนักรบ Gladiator หรือทาส ลงไปใน Pompeii ก็ไม่ได้ทำให้มันน่าสนใจ หรือช่วยให้สนุกขึ้นเลยแม้แต่น้อย  เพราะมันช่างถ่ายทอดออกมาในมุมที่แคบ รายละเอียดน้อยมากและแทบจะไม่อยากเรียกว่า Gladiator ด้วยซ้ำ 
ซึ่งจริงๆแล้วฉากและสิ่งที่น่าสนใจอย่างแท้จริงใน Pompeii นั้นก็คือฉากภูเขาไฟระเบิดและเรื่องราวของเมืองที่กำลังจะจมลงสู่ความมืดต่างหาก แต่ในส่วนนี้กลับเป็นส่วนที่ภาพยนตร์แทบจะไม่ค่อยพูดถึงและถูกกลบด้วยเรื่องราวของนักรบ Gladiator ที่ช่างแบนราบยิ่งกว่าพื้นปูนซีเมนต์ที่เพิ่งฉาบใหม่ๆเสียอีก



นี้ยังไม่รวมถึงตัวละครที่ช่างตัดและแปะมาจากแม่แบบ 100% ของภาพยนตร์ ที่ แบน ทื่อ แข็ง ง่าย และไม่น่าสนใจเลยแม้แต่น้อย แย่กว่านั้นอีกเพราะนอกจากมันจะตัดแปะมาจากแม่แบบง่ายๆแล้ว ผู้กำกับยังไม่สามารถที่จะทำให้เรารู้สึกเชื่อหรือเข้าใจอะไรในตัวละครเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะ ความสัมพันธ์ระหว่างไมโลกับแคสเซีย ที่ผู้เขียนไม่ซื้อและไม่เชื่อเลยแม้แต่น้อย ว่าตัวละครสองตัวนี้จะรักกันได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการปูเรื่องที่แย่ ง่ายๆลวกๆ และบทพูดที่ตัดแปะอย่างน่าอนาถจนไร้น้ำหนัก



สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดก็คือ Production Design ซึ่งก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชวนหัวเราะขบขันมากใน Pompeii นอกจากมันจะ เลวร้าย แย่ ไม่มีความตั้งใจแล้ว มันยังน่าอับอายเป็นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่อีกเช่นเคย Copy/Paste จาก Wikipedia เหมือนทำส่งๆไป , การออกแบบฉากที่ช่างจืดชืด ไม่น่าสนใจ และ CG เอฟเฟคที่ชวนขำ



Pompeii เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเสียดายอยู่ไม่ใช้น้อยเลยทีเดียว เรื่องราวอย่างเมือง Pompeii จริงๆแล้วมันน่าจะเป็นเรื่องราวที่ทำให้น่าสนใจ และน่าติดตามได้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งเราก็เห็นหลักฐานกันอยู่บ้างในภาพยนตร์เรื่องนี้ ในอีกมุมหนึ่งแล้วนักแสดงเหล่านี้ก็พร้อมที่จะทำให้มันดีได้เพราะพวกเขาก็พยายามที่จะให้อะไรบางอย่างกับผู้ชมเหลือเกิน โดยเฉพาะ Adewale Akinnuoye-Agbaje ซึ่งรับบทเป็น Atticus เขานั้นเรียกได้ว่าเป็นผู้นำความหวังที่น้อยนิด มาสู่ภาพยนตร์ที่อยู่ท่ามกลางหายนะและสิ้นหวังเรื่องนี้เลยจริงๆ เพียงแต่ว่าการเลือกผู้กำกับอย่าง Paul W.S. Anderson มาเป็นผู้คุมทุกอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นดูจะผิดพลาดอย่างมากถึงมากที่สุด ถ้าหากเปลี่ยนผู้กำกับเป็นท่านอื่นที่มีประสบการณ์มากกว่านี้ มันน่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมและสนุกได้ไม่ยาก แต่ ณ ตอนนี้ สำหรับการกำกับของ Paul W.S. Anderson ใน Pompeii 2014 เรียกได้ว่า"หายนะ" อย่างที่สุด  ซึ่งพอมานั่งคิดดูแล้วอย่างน้อยมันก็ไม่มีฉาก Slow Motion ทุกๆ 10 วินาที นั้นก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของเขาก็เป็นได้



Final Score : [ D ] & [ Garbage Badge ] 

วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Robocop ( 2014 ) Movie Review

Movie Review


RoboCop ( 2014 ) พูดได้เลยว่าเป็นอีกหนึ่งการรีเมคของ Hollywood ที่ล้มเหลวในระดับหนึ่งเลยทีเดียว ไม่ว่าจะในด้านเสียดสีการเมือง หรือ ด้านมนุษย์/หุ่นยนตร์ สิ่งเหล่านี้มันช่างติ้นเขิน ไม่น่าสนใจ และล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าเสียเหลือเกิน

โดยเฉพาะในช่วงการปูเนื้อเรื่องของภาพยนตร์หรือประมาณ 30 นาทีแรก ที่ช่างน่าเบื่อหน่าย ไม่น่าสนใจ เพราะสิ่งเหล่านี้ที่ตัวภาพยนตร์ปูมานั้น มันช่างซ้ำซาก เดาง่าย และไม่น่าตื่
นเต้นหรือสร้างความประหลาดใจให้กับเราได้เลย นอกจากนั้นตัวละครหลักเช่น ตัว RoboCop หรือตัวร้ายในภาพยนตร์ ก็ช่างแบน เรียบ อย่างกับมันฝรั่งทอดที่ขายตามห้างสรรพสินค้าเหลือเกิน ซึ่งนอกจากมันจะทำให้เรารู้สึกว่า ตัวละครเหล่านี้ไม่น่าสนใจแล้ว มันยังทำให้เรารู้สึกว่า ไม่มีทางใดเลยที่ตัวละครหลักอย่าง RoboCop จะพ่ายแพ้

แต่สิ่งที่เรียกได้ว่า น่าผิดหวังที่สุด และล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าจริงๆเลยในฉบับนี้ ก็คือด้านของการเสียดสีสังคม และการเมืองของภาพยนตร์ เพราะนอกจากมันจะปูในด้านนี้ออกมาได้ไม่น่าสนใจ ไม่น่าติดตามแล้ว การเสียดสีของมันยังเต็มไปด้วยการหยอกล้อของเด็กเล่น ที่ตื้น ไม่มีแก่นและสาระใดๆที่เป็นจริงเป็นจังพอที่จะทำให้เรารู้สึกกระทบหรือตระหนักถึงอะไรได้เลย ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากบทคำพูดและการกำกับที่ไม่มีความสร้างสรรค์ มักง่าย และไร้ประสบการณ์

แม้กระทั่งในด้านของความเป็นมนุษย์ และหุ่นยนตร์ ตัวภาพยนตร์ก็ช่างย่ำอยู่กับที่ในประเด็นเดิมๆ ไม่เคยเลยทีจะสำรวจลงไปลึกกว่านั้น ทำให้ในท้ายที่สุด ข้อความที่ตัวภาพยนตร์ต้องการจะพูดมันช่างเบาบาง ไม่มีน้ำหนัก และล้มเหลวไปในที่สุด

สำหรับในด้านของฉากแอ๊คชั่น บู้ล้างผลาญนั้น ค่อนข้างจะทำออกมาได้แยกเป็นสองด้านอยู่พอสมควร ในด้านหนึ่ง บางฉากก็ทำออกมาได้สนุกและตื่นเต้นพอสมควรเลยทีเดียว แต่อีกด้านหนึ่ง ฉากแอ๊คชั่นบางฉาก ก็เต็มไปด้วยเทคนิคภาพประเภทสั่นกล้องหรือ Shaky Cam เพื่อทำให้ฉากๆนั้นดูตื่นเต้นมากขึ้น ซึ่งมันสร้างความน่ารำคาญมากกว่าตื่นเต้นเสียอีก และแน่นอนมันยังเป็นตัวที่ฟ้องถึงความไร้ประสบการณ์และฝีมือของผู้กำกับได้อย่างดีอีกด้วย

แต่ ก็ยังมีบางสิ่งเช่นกัน ที่ RoboCop ฉบับ 2014 นี้ก้าวไปได้อย่างถูกที่และถูกทางแล้ว เช่นตัวละครอย่าง ดร.เด็นเน็ทท์ นอร์ตัน(แกรี่ โอล์ดแมน) ที่ป็นตัวละครที่ช่างน่าสนใจเหลือเกินส่วนใหญ่ๆเลยก็มาจากการแสดงที่น่าทึ่งเช่นเคยของ แกรี่ โอล์ดแมน ซึ่งการที่ตัวละครของเขา จะต้องตัดสินใจเลือกระหว่างสิ่งที่ถูกต้องและสิ่งที่ผิด ท่ามกลางความโกลาหลที่กำลังจะปะทุขึ้นนั้น มันช่างน่าสนใจและน่าติดตามเหลือเกิน

หรือในด้านความสัมพันธ์ระหว่าง RoboCop กับครอบครัว ที่ทำให้เรารู้สึกอยากที่จะเข้าไปสอดรู้ สอดเห็น เรื่องราวของพวกเขา ก็เป็นอีกส่วนที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

สำหรับนักแสดงนำอย่าง โจแอล คินนาแมน ที่มารับบทเป็นมนุษย์หุ่นกระป๋องในฉบับรีเมคนี้นั้น ในช่วงแรกนั้น เขาค่อนข้างที่จะไม่น่าสนใจ และแข็งกระด้างไปบ้าง แต่ในช่วงกลางและท้ายเรื่อง เขาก็เป็นอีกคนที่แสดงได้ดีเช่นกัน

RoboCop ฉบับรีเมค ปี 2014 นี้นั้น ในท้ายที่สุดมันคงไม่อาจที่จะไปเทียบอะไรกับฉบับ Original ได้เลยไม่ว่าจะในด้านใดๆ ซึ่งถ้าหากเปลี่ยนชื่อตัวภาพยนตร์ไปเป็นชื่ออื่น มันคงจะดูดีกว่านี้อีกมากโขเลยทีเดียว เพราะตัวหลักของมันนั้นไม่ได้ถึงกับขั้นแหลก เละอะไรมากนัก มันยังคงมีบางส่วนที่ยังน่าสนใจ และบางส่วนที่เดินผิดทางอยู่บ้าง แต่เพราะความที่มันเป็น "RoboCop" จึงไม่แปลกที่เราจะคาดหวังจากมันมากกว่านี้"เยอะ"

Final Score : [ C ]

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Chicago ( 2002 ) Movie Review


Movie Review





Chicago ( 2002 ) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากละครเวทีชื่อดังของอเมริกาในชื่อเดียวกัน 

Chicago นั้น เล่าถึงเรื่องราวของ Roxie Hart ที่ใฝ่ฝันว่าซักวันเธอจะต้องมีชื่อเสียงอยู่บนเวทีให้ได้ แต่วันหนึ่งเธอได้ถูกต้องหาว่าฆาตกรรม เธอจึงถูกส่งเข้าคุกและได้พบกับสิ่งใหม่ๆมากมายที่จะเปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล


Chicago นั้นเป็นภาพยนตร์ของผู้กำกับ Rob Marshall (Memory of a Geisha , Pirates of the Carribbean : On Stranger Tides) ที่เต็มไปด้วยแสง สีและเสียง เฉกเช่นเดียวกับละครเวทีเสียจริง ฉากต่างๆของเขานั้นเต็มไปด้วยการกำกับฉากที่เปรียบเสมือนเรานั่งดูละครเวทีจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางตัวละคร การจัดวางฉาก และสิ่งที่เห็นได้ชัดมากที่สุดเลยก็คือการใช้แสง Spotlight แบบเดียวกับในละครเวที ซึ่งฉากที่โดดเด่นมากที่สุดเลยก็คือฉากเพลงที่โด่งดังที่สุดของ Chicago อย่างเพลง "Cell Block Tango" ที่มีการใช้ Blocking , สี และท่าเต้นสื่อความหมายได้อย่างน่าทึ่งเสียจริง 


ในด้านการแสดงนั้นแทบทุกคนในภาพยนตร์แสดงได้อย่างยอดเยี่ยมจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น Richard Gere , Renee Zellweger หรือนักแสดงที่ค่อนข้างน่าประหลาดใจผู้เขียนอย่าง John C. Reilly ที่แสดงได้อย่างน่าทึ่งเช่นกัน แต่คนที่เรียกได้ว่าเฉิดฉายและเจิดจ้าใน Spotlight มากที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้น Catherine Zeta-Jones ที่นอกจากจะร้องเพลงได้อย่างไพเราะ สนุกสนานมากๆแล้ว เธอยังแสดงได้อย่าง เซ็กซี่ ร้ายกาจ และน่าจดจำมากๆเหลือเกิน แทบจะเรียกได้ว่าไม่น่าจะมีผลงานใดของเธอ ที่น่าจดจำไปมากกว่านี้อีกแล้วเลยทีเดียว


พูดถึงขนาดนี้แล้ว Chicago ดูเหมือนจะเป็นภาพยนตร์ที่น่าสนุก น่าตื่นเต้นเหลือเกิน แต่ที่จริงแล้ว เมื่อเรามองไปถึงสิ่งที่มันพูดจริงๆแล้ว มันกลับทำให้เรารู้สึกหดหู่อย่างหาที่เปรียบไม่ได้เหลือเกิน
โดยเฉพาะการพูดความถูก/ความผิด ที่สังคมไม่ใส่ใจมันเลยด้วยซ้ำไป แต่สังคมสนใจเพียงแค่สิ่งที่ตัวเองอยากที่จะเห็นเท่านั้น 


อย่างที่เคยบอกเอาไว้แล้วในฉากเพลงอย่าง "Cell Black Tango" ซึ่งเป็นฉากและเพลงที่แดกดัน เสียดสี ได้อย่างน่าทึ่งมากๆ เพราะเป็นเพลงที่ร้องโดยนักโทษหญิงที่พูดถึงความผิดของตนเอง แต่กลับไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด กลับกันพวกเธอกลับพูดว่า "ฉันไม่ได้ทำมัน แต่ถึงฉันจะทำมัน คุณจะพูดได้อย่างไรว่าฉันทำผิด ?" ซึ่งในฉากนี้จะเห็นได้ชัดถึงการใช้สีแดงอย่างเด่นชัด และท่าเต้นที่รุกและหนักแน่นมากของแทบจะทุกตัวละคร แต่มีเพียงตัวละครเดียวเท่านั้น ที่กลับใช้ท่าเต้นแบบ บัลเล่ห์และใช้สีขาว ซึ่งเป็นคนเดียวในทุกๆคนที่พูดว่าเธอ "ไม่ได้ผิด" แต่สิ่งที่ยิ่งแดกดันและเสียดสีได้เจ็บแสบยิ่งกว่า นั้นก็คือ เธอเป็นเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ถูกตัดสินให้ประหารชีวิต ในขณะที่คนอื่นกลับถูกตัดสินว่าไม่ผิดอย่างหน้าตาเฉย


นอกจากนั้นภาพยนตร์ ยังเสียดสีสื่อเช่น หนังสือพิมพ์ หรือ วิทยุ ได้อย่างเจ็บแสบมากๆอีกด้วย เพราะ เหตุผลหลักที่คนผิดรอดได้นั้น ไม่ใช่เพราะอะไร ก็เพราะสื่อหรือพวกเรานั้นเอง ที่ให้ความสนใจแต่รูปลักษณ์ภายนอกของคน แต่กลับไม่เคยมองไปลึกที่ความจริง และที่สำคัญ คือไม่เคยให้ความสนใจกับคนที่ไม่ได้ผิดจริงๆ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันช่างแดกดันและเสียดสีได้อย่างหนักหน่วงมากๆ จนทำให้รู้สึกว่า ในบางครั้งเรามองอะไรที่อยู่บนหนังสือพิมพ์ หรือ โทรทัศน์ ในด้านที่เราอยากจะชม ซึ่งมันส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่เราคาดคิดเอาไว้เสียอีก


Chicago เป็นภาพยนตร์ที่นอกจากจะเต็มไปด้วยเพลงที่ไพเราะ สนุกสนานแล้ว มันยังแฝงไปด้วยการเสียดสีและแดกดันสังคมโดยเฉพาะ "สื่อ" ได้อย่างเจ็บแสบมากๆเลยทีเดียว ซึ่งในท้ายที่สุด มันทำให้เรากลับมานั่งคิดใคร่ครวญอย่างมาก ว่าพลังของสื่อหรือMedia ในปัจจุบันนั้น มันมีผลที่ดีหรือเสียมากกว่ากันแน่.


Final Score [ A + ] & [ Must See Badge ]

วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Alan Wake DLC "The Signal" & "The Writing" Review

Game Review




Alan Wake ( 2010 ) DLC " The Signal " และ " The Writer "  เป็น Download Able Content หรือเนื้อหาเพิ่มเติม ซึ่งต่อมาจากตอนจบของ ตัวเกมหลัก Alan Wake 

สำหรับใน The Signal ซึ่งเป็น DLC ตัวแรกนั้น ค่อนข้างจะน่าผิดหวังทีเดียว เพราะมันช่างโลเล สับสน และไม่น่าสนใจเหลือเกิน มันกลับเต็มไปด้วยเพียงแค่การย้ำเติมและบอกบางสิ่งบางอย่าง ต่อฉากจบที่แสนจะสับสนชาวโลกในตัวเกมหลัก แม้แต่ในฉาก Action Scene เองก็ทำได้อย่างพื้นๆไม่น่าสนใจ มีแค่เพียงตัวละครเก่าอย่าง Barry เท่านั้นที่เรียกได้ว่าสร้างสีสรรค์ให้กับ DLC นี้จริงๆอย่างเต็มนี้

แต่ใน DLC ชิ้นต่อมาอย่าง The Writer นั้น กลับทำได้ดีเยี่ยมเอามากๆเลยทีเดียว เรียกได้ว่าแทบจะดีขึ้นในทุกๆด้าน ไม่ใช่แค่เพียงจาก DLC ตัวแรก แต่จากตัวเกมหลักด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะการนำเรื่องราวจากตัวเกมหลัก มาเล่าในรูปแบบใหม่ได้อย่างน่าสนใจ และทำให้ผู้เล่นรู้สึกหวนหาถึงอดีต เมื่อขณะกำลังเล่นตัวเกมหลัก นอกจากนั้นเนื้อเรื่องมันยังน่าสนใจ และน่าติดตามเหลือเกิน เพราะนอกจากมันจะอธิบายและดำเนินเรื่องราวต่อจากตัวเกมหลักแล้ว มันยังเล่าเรื่องและดำเนินตัวเกมได้อย่างน่าตื่นเต้น และน่าสนุกอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญเลยก็คือฉากจบที่ค่อนข้างจะชัดเจนขึ้นและน่าจดจำมากกว่าในตัวเกมหลัก ถึงแม้ว่าฉากจบนี้จะเป็นการจบที่ให้ความรู้สึกว่า ไม่ต้องหาเรื่องต่อ DLC มาก็ได้ก็ตาม

โดยรวม DLC ตัวแรก The Signal นั้นค่อนข้างที่จะน่าผิดหวังแต่ก็จำเป็นสำหรับเล่น DLC ตัวต่อมาอย่าง The Writer ที่ทำทุกๆอย่างได้อย่างยอดเยี่ยม เสียยิ่งกว่าตัวเกมหลักอีก ในท้ายที่สุดไม่ว่าอย่างไรก็ตามก็คงเป็น DLC ที่ "ต้องเล่น" สำหรับแฟนๆ Alan Wake เสียจริงๆ


DLC The Signal Score : C
DLC The Writer Score : A 

Her ( 2013 ) Movie Review by FallsDownz

Movie Review



Her ( 2013 ) เป็นภาพยนตร์ของผู้กำกับและเขียนบท สไปค์ จอนซ์ (Where the Wild Things Are , Adaptation ) ที่เรียกได้ว่า น่าทึ่ง น่าติดตาม และน่าหลงใหลเหลือเกิน 

โดยเฉพาะการผสมผสานประเภทของภาพยนตร์ระหว่าง Drama , Romance และ Sci-Fi ได้อย่างยอดเยี่ยมและน่าทึ่งเป็นที่สุด ใช่ Sci-Fi ! ท่านไม่ได้อ่านผิดแต่อย่างใด เพราะเมื่อหากเรามานั่งคิดพิเคราะห์กันจริงๆแล้ว Her เป็นภาพยนตร์ที่มีความเป็น Sci-Fi มากพอสมควรเลยทีเดียว 


เช่นบทที่เล่าถึงโลกในอนาคต เทคโนโลยีใหม่ๆของโลก ที่ดูจะไม่ใกล้แต่ไม่ไกลจากปัจจุบันเลยทีเดียวเชียว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการสั่งการผ่านเสียง เช่น เขียนอีเมล์ อ่านข่าว ตรวจสอบข้อความ ฯลฯ แต่สิ่งที่เรียกได้ว่าน่าสนใจมากที่สุด และสำคัญที่สุดเลยก็คือ ระบบปฏิบัติการ OS ที่ช่างแสนชาญฉลาด และเป็นเพื่อนกับเราเมื่อยามเหงา ซึ่งเมื่อเราหันกลับมามองตัวเราในปัจจุบันแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ดูจะไม่ใช่เพียงจินตนาการหรือความเพ้อฝันเลย เช่น การเขียนอีเมล์ , อ่านข่าว , ตอบจดหมาย ฯลฯ เราก็สามารถที่จะทำได้ภายในไม่กี่วินาที หรือกระทั่งระบบปฏิบัติการ ที่สามารถตอบโต้และรับคำสั่งจากเราได้อย่าง "Siri" แต่ภาพยนตร์ ไม่ได้แค่พาเราไปชมเพียงแค่จุดนี้เท่านั้น 


มันยังพูดถึง"ความรัก" ในมุมมองที่สดใหม่ ได้อย่างน่าสนใจมากอีกด้วย โดยเฉพาะความรักระหว่างคนผู้มีเลือดเนื้อ กับระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์  ซึ่งในทางทฤษฏีแล้ว เมื่อคิดหรือพูดเช่นนี้ขึ้นมา มันช่างเป็นเรื่องที่น่าขันและบ้าบอเหลือเกิน แต่ สไปค์ จอนซ์ ก็สามารถทำให้มันน่าเชื่อถือได้สุดๆ และกระทั่งทำให้เราเข้าไปมีอารมณ์ร่วม จนอยากที่จะไปเป็นส่วนหนึ่งด้วยซ้ำไป 


ในด้านการกำกับของ สไปค์ จอนซ์ ก็ช่างเต็มไปด้วยความนุ่มนวลและลื่นไหล ในทุกฉากเลยจริงๆ แม้กระทั่งการตัดต่อก็ไม่มีช่วงใดเลยที่ให้ความรู้สึกขาดตอน จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งก็คือการกำกับของเขา ที่ช่างดูเป็นผู้ใหญ่และน่าเชื่อถือเหลือเกิน เพราะมันไม่มีการฟูมฟายหรือการตีอกชกหัวให้เห็นเลยแม้แต่น้อย ถึงแม้ว่าหลายๆอย่างมันจะช่างเอื้ออำนวยให้เป็นเช่นนั้นก็ตาม


และอีกสิ่งหนึ่งที่ช่างน่าหลงใหลเหลือเกินในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือเสียงพากษ์อันแสน เซ็กซี่ และชวนฝันของ สกาเล็ต โยแฮนสัน ที่ทำให้เราอดไม่ได้จริงๆ กับการจะหลงรักเธอเข้าอย่างเต็มเปา และตัวละครของเธอก็ช่างน่าสนใจ น่าหลงใหล และถูกปูตัวละครมาได้อย่างยอดเยี่ยมเหลือเกิน โดยเฉพาะฉากเปิดตัวของเธอที่เต็มไปด้วยพลังและตอบทุกข้อสงสัยที่ผู้ชมแอบคิดได้อย่างหมดจด


Her เป็นภาพยนตร์ที่ไม่เพียงแค่เล่าและพูดถึงเรื่องราวของความรักในยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่มันยังก้าวหน้าไปถึงขั้นที่พูด , เตือนและเชื่อมต่อให้เราได้รู้ถึงอนาคตอันใกล้อีกด้วย

Final Score : [ A + ] & [ Must See Badge ]

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Alan Wake ( 2010 ) Game Review


บนเครื่อง : PC , XBOX360

Alan Wake ( 2010 ) เป็นเกมของทีมผู้สร้าง Remedy Entertainment ที่เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่น่าทึ่งมากๆเกมหนึ่ง ไม่ว่าจะในด้านของการเล่าเรื่อง บทสนทนาในตัวเกม เนื้อเรื่อง และเกมเพลย์ที่ตื่นเต้น น่าค้นหาสุดๆ

Alan Wake เป็นเกมแนว Action / Thriller ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ Alan Wake ตัวเอกของเกม เป็นนักเขียนหนังสือนวนิยายแนวสยองขวัญ ที่วันหนึ่ง ระหว่างที่เขากับแฟนของเขา ได้ไปพักที่กระท่อมริมทะเลสาบแห่งหนึ่ง เหตุการณ์ที่น่าตกใจก็เกิดขึ้น เมื่อแฟนของเขาได้ถูกลักพาตัวไป และทุกๆสิ่งทุกๆอย่างรอบๆตัวเขา ก็เริ่มกลายเป็นสิ่งที่เขาเขียนขึ้นมาในหนังสือของเขาจริงๆ 

สิ่งแรกที่น่าชื่นชมมากที่สุดใน Alan Wake เลยก็คือ การเล่าเรื่องของตัวเกม ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องที่ผสมผสานระหว่างภาพยนตร์กับ TV-Series ที่แยกเป็น ตอนๆ (Episode) ไป ซึ่งในแต่ละตอนนั้น ตัวเกมจะให้ผู้เล่นนั้นได้เดินทางผจญภัยตามหาความจริงต่างๆที่อยู่ในตัวเกม ซึ่งสิ่งที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดก็คือระบบที่ให้ผู้เล่นได้ตามเก็บกระดาษที่ในแต่ละอันที่เราเก็บได้ มันจะเป็นคล้ายๆ 1 หน้าในหนังสือของตัวเอก หรือก็คือ เป็นการบอกใบ้ว่าผู้เล่นจะต้องเจออะไรต่อไป ซึ่งการเขียน บทพูดในแต่ละหน้านั้น ทำได้อย่างยอดเยี่ยมมากๆ เพราะมันทำให้ผู้เล่นจินตนการไปถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่ต้องมาแน่ๆไปเอง เช่นรู้สึกสยดสยอง ตื่นเต้น และหวาดผวา (ทั้งๆที่เมื่อเจอจริงๆมันจะไม่ได้น่ากลัวเท่าไรก็ตาม) 

รวมไปถึงความน่ากลัว และตื่นเต้นของ Alan Wake ในทุกๆตอนก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมเลยทีเดียว โดยเฉพาะการสร้างบรรยากาศในเกมที่คล้ายๆกับเกม Silent Hill ที่เต็มไปด้วยหมอก ความมืด เพียงแต่ว่า Alan Wake มักจะให้ผู้เล่นเดินตามป่าเขาตลอด ซึ่งตัวเกมก็ใช้ความเป็นป่าและเขานี้ให้เป็นประโยชน์ โดยการแอบซุ่มโจมตีผู้เล่นให้ตกใจเล่นบ้าง และมันทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าจะต้องระมัดระวังตัวและกลัวทุกๆสิ่งรอบข้างตลอดเวลา ในด้านของการดำเนินเรื่องราวก็ทำให้ผู้เล่นรู้สึกสนใจ และน่าติดตามได้โดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการผูกปมและจุดขัดแย้งต่างๆของตัวละครที่ทำได้น่าสนใจ หรือการใช้เทคนิค การพากษ์เสียงลงไป ในขณะที่กำลังเล่น ทำให้รู้สึกว่าเนื้อเรื่องหรือเรื่องราวนั้น กำลังเดินไปข้างหน้าตลอดเวลา ไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่

ในด้านของการเล่นหรือเกมเพลย์นั้น โดยรวมถือว่าทำได้อยู่ในระดับพอใช้ได้ ซึ่งในส่วนนี้มันจะไปผูกกับส่วนเนื้อเรื่องอยู่ด้วย นั้นก็คือจะต้องใช้ไฟฉายส่องศัตรูก่อนที่จะยิงมัน ซึ่งเป็นแนวเกมยิง Shooting ที่ออกแนวเอาชีวิตรอดมากกว่าที่จะเน้นสนุกหรือซะใจ ในด้านของการให้ไอเทมหรือของกับผู้เล่น ในระดับ Normal นั้นก็ถือว่าทำได้ดีเยี่ยม ไม่มากจนหมดความสนุกหรือไม่น้อยจนยากเกินไป และตัวเกมก็มักจะให้รางวัลกับผู้เล่นที่พยายามเดินหาไอเทมหรือของ ในทางแปลกๆเสมอๆ น่าเสียดายที่ในส่วนของเกมเพลย์ ยังถือว่ายังมาได้แค่นี้ ตั้งแต่ต้นยันจบไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงซักเท่าใดนัก นอกจากศัตรูเยอะขึ้นและอึดขึ้น ถ้าหากตัวเกมจะมีการให้ผู้เล่นได้ใช้สมองในการเล่น มินิเกม หรือเกมย่อยๆ แก้ปัญหาในด่านต่างๆได้อย่างซับซ้อนและน่าสนใจกว่านี้ก็คงจะดีมาก เพราะในขณะนี้ มินิเกมมันเป็นอะไรที่ง่ายเหลือเกิน เดินไปกดนี้ แล้ววิ่งไปขึ้นแท่นตรงนั้น แค่นี้ก็จบแล้ว ยังถือได้ว่าห่างไกลจากความซับซ้อน กดดัน น่าหวาดกลัว ของเกมอย่าง Silent Hill อยู่มาก

สำหรับตัวละครใน Alan Wake นั้น โดยรวมแล้วแต่ละตัวละครถือว่าปูและเล่าเรื่องมาได้น่าสนใจพอสมควรเลยทีเดียว โดยเฉพาะตัวละครเพื่อนสุดซี้ของ Alan Wake อย่าง Berry ที่มักจะสร้างมุขตลก โปกฮา ให้กับผู้เล่นเสมอๆ ซึ่งในตอนแรกๆนั้นอาจจะรู้สึกรำคาญไปอยู่บ้าง แต่เมื่อเล่นจบผู้เล่นแทบจะทุกคนก็น่าจะรู้สึกแอบชอบหรือหลงรักตัวละครนี้ไปไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในสาเหตุ ก็คงจะหนีไม่พ้นการที่เขาเป็นเพียงสีสันและความบันเทิงเล็กๆน้อยๆที่ตัวเกมพยายามจะแอบหยิบยื่นให้ ท่ามกลางเรื่องราวที่มืดมน น่ากลัว และกดดันตลอดทั้งเกมเช่นนี้ น่าเสียดายที่ตัวละครฝั่งตรงกันข้ามกับพระเอกนั้น ดูจะไม่ค่อยได้รับความรักซักเท่าไรนัก เช่นตัวละครอย่าง Robert Nightingale กลับเป็นตัวละครที่อยู่ดีๆจะโผล่ก็โผล่มาอย่างไม่ให้ซุ่มให้เสียง ซึ่งผลของมันก็คือ ความไม่น่าสนใจ แบนและไร้อารมณ์ของตัวละคร

นอกจากนั้นแล้ว ในด้านของฉากจบหรือตอนจบของเกม ก็เรียกได้ว่าไม่ชัดเจนหรือไม่เคลียร์อย่างสุดๆจนมีการสร้างสมมุติฐานหรือถกเถียงกันมากมายในโลกโซเชียล ซึ่งในจุดนี้คาดว่าน่าจะเป็นการสร้างปมสำหรับ ภาคต่อ หรือ DLC ที่เป็นการตลาดที่ไม่ค่อยน่าชื่นชมเท่าไรนัก

อีกส่วนสุดท้ายที่เรียกได้ว่าสำคัญมากๆในเกม ซึ่งหลายๆคนน่าจะมองข้ามกันไป นั้นก็คือตัวเนื้อหาหรือสิ่งที่ตัวเกมต้องการจะพูดถึง ซึ่งเป็นส่วนที่จริงๆแล้วสำคัญมากๆ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีเกมอย่าง Bioshock Infinite ออกมา ซึ่งแทบจะเป็นเกมที่เรียกได้ว่า Master Piece จากการเสียดสี แดกดัน และติ เตือน ความเป็นอเมริกันของมัน ซึ่งใน Alan Wake นั้น เป็นเกมที่พูดถึงเรื่องราวระหว่าง แสงสว่าง กับ ความมืด ที่ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีใครที่จะปฏิเสธได้เลยว่า เรา โลก หรือทุกๆสิ่งทุกๆอย่างจำเป็นจะต้องมีมันทั้งคู่ เราไม่อาจจะมีแต่เพียงแสงสว่าง หรือ เพียงความมืดได้ เพราะถ้าหากมีแต่แสงสว่างโดยไม่มีความมืด เราก็จะไม่มีวันได้เห็นเงาของตัวเองว่าเป็นเช่นไร เราไม่อาจจะมีแต่คนดี โดยไม่มีคนเลวได้ เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้น เราคงจะต้องมาตั้งคำถามกันว่า คนดีมันคืออะไร ?  เช่นเดียวกับชีวิตของมนุษย์ ที่จะต้องมีทั้งดีและแย่ผสมกันไป ไม่มีทางที่จะดีไปตลอด และแย่ไปตลอด และตัวเกมยังพูดอีกว่า ผู้ใดก็ตามที่พยายามจะฝ่าฝืนกฏๆนี้ จะต้องล้มอย่างไม่เป็นท่าอีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพูดถึงคำจำกัดความของโลกได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการที่ตัวเกมเล่าเรื่องได้เป็นอย่างดี ก็ยิ่งทำให้ข้อความนี้ยิ่งน่าเชื่อถือเข้าไปอีก ถึงแม้ว่าข้อความหรือข้อคิดเช่นนี้ จะพูดกันมาหลายครั้งแล้วก็ตาม 

จริงๆแล้วต้องแอบแถมท้ายไปนิดๆอีกด้วยว่า ถ้าหากใครที่ได้เล่นเกมๆนี้ แล้วได้บังเอิญไปนั่งชมรายการ Night Springs ที่แอบซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆในเกมทุกๆ Episode แล้วล่ะก็ ยังจะรู้ด้วยอีกว่า ตัวเกมไม่ใช่แค่พูดถึง ความดีและความชั่วเท่านั้น แต่ยังนำวิทยาศาสตร์มาตีความร่วมกับสิ่งลึกลับ และตั้งคำถามกับมันได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งของแถมเล็กๆน้อยๆที่ห้ามพลาดเช่นกัน

Alan Wake ในท้ายที่สุดแล้วถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ไปไกลถึงเกมในตำนานอย่าง Silent Hill ซักเท่าไรนัก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นเกมแนวสยองขวัญที่เป็นการถ่ายทอดความคิดตกผลึกและวัฒนธรรมของชาวตะวันตกได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงความดี ความชั่ว , ความมืด หรือแสงสว่าง ปัญหาของวัฒนธรรมสมัยใหม่ เช่นปัญหาภายในครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันถูกเอามาตีความและถ่ายทอดได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าจะยังขาดในด้านของเกมเพลย์หรือในส่วนการเล่นไปบ้าง แต่โดยรวมก็ถือได้ว่า เป็นอีกหนึ่งเกมที่น่าติดตามและไม่ควรพลาดเลยทีเดียว สุดท้ายนี้อยากจะบอกว่า สนับสนุนของแท้ด้วยนะครับผม จะได้มีภาคต่อๆไปให้เราได้เล่นกัน (บน Stream เคยลดเหลือถูกมากๆเลยนะเอ่อ)

Final Score : [ B+ ] & [ Must Play Badge ]