วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

Big Game ( 2015 ) Movie Review


Big Game ( 2015 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"ประธานาธิบดีบุกป่า"


         ถือได้ว่าเป็นการกลับมาของกระแสภาพยนตร์ไล่ล่าประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ปีที่แล้วมีภาพยนตร์อย่าง Olympus has Fallen และ White House Down ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องบอกว่า Big Game ค่อนข้างจะเป็นภาพยนตร์ประธานาธิบดีที่แปลกทีเดียว



Big Game ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ต้องไปตั้งแคมป์ในป่าตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย แต่ในระหว่างนั้นเอง เครื่องบินของประธานาธิบดีก็ถูกโจมตีและตกลงในแถวป่าที่เขาอาศัยอยู่  เรื่องราวทุกอย่างจึงต้องมาพัวพันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ซึ่งความแปลกใหม่ของ Big Game ที่น่าจะสร้างความน่าสนใจไม่ใช่น้อย ก็คือนอกจากมันจะเป็นภาพยนตร์ไล่ล่าประธานาธิบดีแล้ว มันยังเป็นภาพยนตร์ที่นำเรื่องราวความเชื่อและประเพณีของวัฒนธรรมประเทศอื่น ซึ่งในที่นี้ก็คือ ฟินแลนด์ มาผสมผสานเทียบเคียงวัฒนธรรมกันได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย เฉกเช่น ความเชื่อในการพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายอย่างแรงกล้า และความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูก



แต่ถึงกระนั้นก็ตาม น่าเสียดายที่ความแปลกใหม่นี้ ค่อนข้างจะถูกลบเลือนจนจางหายไปในช่วงกลางถึงท้ายเรื่อง และก็ถูกแทนที่ด้วยความซ้ำซากที่ดูจะเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้ยากในภาพยนตร์ไล่ล่าประธานาธิบดี ที่มีจำนวนภาพยนตร์ประเภทนี้ที่มากมายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ตัวละครร้ายที่เดิมๆ หรือ บทที่คาดเดาง่าย  ซึ่ง Big Game ก็แทบจะไม่มีสิ่งใหม่ที่น่าสนใจมานำเสนอ หรือสร้างความโดดเด่นจากภาพยนตร์แนวเดียวกันเรื่องอื่นๆเลย


ที่น่าเสียดายเข้าไปอีก ก็คือการออกแบบฉากแอ็คชั่นไล่ล่า รวมทั้งการเล่าเรื่องทั้งหลาย ก็ดาษดื่น ไม่น่าสนใจ จนทำให้ไม่รู้สึกร่วมไปกับตัวภาพยนตร์ซักเท่าไรนักเลย ถึงแม้ว่าในด้านของสถานที่ถ่ายทำ และการกำกับภาพจะสวยงามมากๆก็ตาม โดยรวมจึงทำให้ Big Game เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้รู้สึกน่าเบื่อ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกสนุกหรือตื่นเต้นมากนัก อารมณ์ประมาณดูได้เรื่อยๆมากกว่า


สิ่งที่ Big Game ดูเหมือนจะทำได้ดีที่สุด ก็คือในด้านของข้อคิดและประเด็นที่ตัวภาพยนตร์ต้องการจะพูดถึง เพราะมันน่าสนใจจริงๆ โดยเฉพาะ การนำเรื่องของการพิสูจน์ความสามารถของตนเอง และความภาคภูมิในความเป็นชาย ซึ่งตัวภาพยนตร์นำด้านของเด็กหนุ่มผู้ซึ่งต้องพิสูจน์ตนเองต่อเผ่าและพ่อของเขา มาเปรียบเทียบกับ ประธานาธิบดีที่ภายนอกดูยิ่งใหญ่เต็มไปด้วยความภาคภูมิ แต่ภายในไม่เอาไหน ได้อย่างยอดเยี่ยม (ทำให้นึกถึงผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี สุดๆ)



ในท้ายที่สุดแล้ว Big Game ก็ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่ไม่สามารถนำเสนอสิ่งแปลกและสดใหม่ได้ ถึงแม้ว่าจะมีบางด้านของมันที่น่าสนใจ แต่หลายๆด้านก็ยังคงซ้ำซากจำเจ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือฉากแอ็คชั่นต่างๆก็ยังไม่น่าตื่นเต้นพอที่จะทำให้เรารู้สึกอยากที่จะจดจำภาพยนตร์เรื่องนี้เลย


Final Score : [ 6 / 10 ]

วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

Child 44 ( 2015 ) Movie Review

Child 44 ( 2015 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz


"สังคมเขา สังคมเรา"



หลังจากสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Fast and Furious 7 และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคสุดท้ายได้เข้าฉายไปเสียที ภาพยนตร์ที่พยายามหนีกระแสมาในสัปดาห์นี้ก็มีหลายต่อหลายเรื่อง แต่แน่นอนว่าหนึ่งในภาพยนตร์ที่น่าสนใจมากที่สุดในสัปดาห์นี้ ก็ต้องหนีไม่พ้น Child 44  ที่นอกจากจะได้นักแสดง ทอม ฮาร์ดี้ มารับบทนำแล้ว ยังมี แกรี่ โอลด์แมน มาเสริมทัพอีกด้วย (ทำไมรู้สึกเหมือน The Dark Knight Rises อีกครั้งหนอ)


Child 44 ว่าด้วยเรื่องราวของทหารนายหนึ่งในยุคสตาลิน ที่ต้องตามสืบคดีการฆาตกรรมเด็กอันน่าสยดสยอง แต่ระหว่างนั้นเขากลับพบว่าทุกอย่างมันไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาคาดคิดไว้.....




ถึงแม้ว่าตัวเนื้อเรื่องและนักแสดงของภาพยนตร์จะน่าสนใจเอามากๆ Child 44 ก็เป็นภาพยนตร์ที่มีปัญหาร้ายแรงอยู่หนึ่งประการ ซึ่งนั้นก็คือตัวผู้กำกับ แดเนียล เอสพิโนซ่า


การเล่าเรื่องของเขา เสมือนกับขบวนรถไฟสายหนึ่งที่วนอยู่กับที่ ไม่ไปถึงจุดหมายเสียที และเวลาที่เสียไปกับการวนมาที่สถานีเดิมๆ ก็เสียไปอย่างสูญเปล่า พาเอาความน่าติดตามของภาพยนตร์ลดลงอย่างมาก และยังทำให้ความต่อเนื่องของภาพยนตร์หายไปในหลายๆช่วง เพราะการดำเนินเรื่องให้ความรู้สึกเหมือนถูกบังคับและจัดวางให้มาถึงจุดนี้ มากกว่าเป็นเพราะเหตุและผลของการกระทำในภาพยนตร์


ซึ่งการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยาวถึง 2 ชั่วโมง 17 นาที ก็พาทำให้รู้สึกน่าเบื่อและรู้สึกเหมือนกำลังถูกลากสังขารที่กำลังร่อแร่ไปๆมาๆอยู่ตลอดเวลา 


ที่น่าติอีกอย่าง ก็คือการกำกับฉากต่อสู้ต่างๆของเขา ที่ถึงแม้ว่าจะมีค่อนข้างน้อย แต่ก็ไม่ได้น่าประทับใจเลย หนำซ้ำฉากต่อสู้เหล่านี้ยังเต็มไปด้วยการใช้เทคนิคการตัดต่ออันรวดเร็วจนน่ารำคาญ และยังใช้การสะบัดกล้องไปมาจนพาดูอะไรแทบไม่รู้เรื่อง นี้เป็นเทคนิคการถ่ายทำ ที่ควรจะถูกเลิกใช้ในภาพยนตร์ยุคนี้ได้แล้ว เพราะมันแสดงถึงตัวผู้กำกับที่ไร้ความสามารถในการสร้างสรรค์วิธีการที่จะทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกและตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์ได้อย่างแท้จริง




สำหรับในด้านของตัวละครและนักแสดงต่างๆแล้ว ทอม ฮาร์ดี้ และ แกรี่ โอลด์แมน ยังคงนำแสดงผลงานได้น่าประทับใจเช่นเคย แต่ในขณะเดียวกัน ในฝั่งของตัวละครร้ายต่างๆ กลับไม่เป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็น ตัวละครของ โจแอล คินนาแมน หรือ วินเซ็นต์ แคสเซล ก็เต็มไปด้วยตัวละครร้ายอันซ้ำซากจำเจ ไร้มิติ ร้ายเพราะอยากจะร้ายเท่านั้น 


ถึงกระนั้นก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนนั่งครุ่นคิดตลอดเวลาที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือการที่มันสะท้อนถึงสภาพสังคมโซเวียต ในยุคของสตาลินได้อย่างน่าสนใจ


ไม่ว่าจะความยากลำบากในการใช้ชีวิตนานับประการ สภาพสังคมที่ย่ำแย่ ยุคที่เต็มไปด้วยเด็กกำพร้า และแม้กระทั่งการเมืองทุกฝีก้าวก็ต้องใช้ความระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญ คือการที่มันพูดถึงยุคสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งเพศสตรีแทบจะไม่มีสิทธิต่อปากต่อคำใดๆทั้งนั้น (ถึงต่อให้พวกเธอมีสิทธิ พวกเธอก็หวาดกลัวจนไม่กล้าอยู่ดี)


แต่ข้อคิดที่น่าสนใจมากที่สุดสำหรับ Child 44 เลย ก็คือการที่มันมีการเปรียบเทียบสภาพสังคมตนเอง กับสังคมผู้อื่น โดยวางสังคมตรงกันข้ามให้เป็นตัวร้าย และวางสังคมของตนเองให้เหนือกว่า ซึ่งตัวภาพยนตร์ก็ได้ตั้งคำถามกลับไปว่า สังคมที่ตกต่ำและเลวร้าย มาจากความเลวร้ายของผู้อื่น หรือ มาจากความเลวร้ายของพวกเราเอง เพียงแต่เราไม่ยอมรับว่าเราเป็นต้นเหตุของความตกต่ำนี้กันแน่ นี้ก็เป็นคำถามที่ชวนให้น่าคิดทีเดียว




ในท้ายที่สุด Child 44 ก็เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงสภาพสังคมโซเวียต ในยุคของสตาลินอันยากลำบากและเคร่งเครียดได้อย่างน่าสนใจ น่าเสียดายที่ความน่าสนใจนี้ต้องมาถูกลดทอนลงด้วยการเล่าเรื่องอันย่ำแย่ วนไปวนมา น่าเบื่อ ซ้ำตัวละครร้ายยังซ้ำซากจำเจ จนทำให้ความน่าจดจำของภาพยนตร์เรื่องนี้ ลดลงอย่างมากจนแทบจะไม่เหลืออะไร


Final Score : [ 6 / 10 ] 

วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2558

Fast and Furious 7 ( 2015 ) Movie Review

Fast and Furious 7 ( 2015 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์ โดย FallsDownz



"ฉีกทุกกฏวิทยาศาสตร์ ฉีกทุกกฏความมันส์"


ถ้าจะพูดถึงภาพยนตร์ประเภทแข่งรถแล้ว อีกหนึ่งภาพยนตร์ซีรียส์ ที่นอกจากจะโด่งดังแล้ว ยังจะสามารถรักษาคุณภาพของตัวเองมาได้โดยตลอด ก็คือซีรียส์ Fast and Furious ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ภาคแรก The Fast and the Furious ในปี 2001 ยาวมาถึงภาคที่ 7 ในปี 2015 นี้

Fast and Furious 7 ว่าด้วยเรื่องราวต่อจากภาคที่แล้ว โดเมนิก จะต้องตามไล่ล่าผู้ที่สังหารเพื่อน และทำร้ายครอบครัวของเขาให้จงได้



สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยในแทบจะทุกภาคของ Fast and Furious ก็คือความที่มันละเมิดแทบจะทุกกฏและทฤษฏีวิทยาศาสตร์ทั้งหลายแหล่ รวมถึงความโอเวอร์และความบ้าบอที่เริ่มที่จะมากขึ้นเข้าไปทุกภาคๆ โดยเฉพาะตัวละครเอกทั้งหลาย ที่ไม่รู้ว่าไปสักยันต์หรือไปทำบุญวัดไหนมา เพราะเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาประสบกับประสบการณ์เฉียดตาย พวกเขาก็มักจะรอดมาได้เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นรถตกหน้าผาตีลังกาไม่รู้กี่สิบตลบ หรือรอดจากการถูกเฮลิคอปเตอร์ไล่ล่าได้อย่างฉิวเฉียด เรียกได้ว่าถ้าวันไหนพวกเขาเกิดดวงซวยขึ้นมา วันนั้นก็คงจะทำให้พวกเขากลายเป็นโก้โก้ครันช์อย่างแน่นอน

นอกเหนือจากนั้นแล้ว บทภาพยนตร์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยจะเป็นจุดโดดเด่นของภาพยนตร์ซีรียส์นี้ โดยเฉพาะพล็อต ที่ก็ยังคงใช้พล็อตที่เข้าใจง่าย และธรรมดาอยู่เช่นเคย ซึ่งภาคนี้ก็ยังคงไม่แตกต่าง เพียงคุณรู้แค่ว่า นี้คือภาพยนตร์ล้างแค้น คุณก็แทบจะรู้เรื่องราวทั้งหมดในเรื่องแล้ว


ถึงกระนั้นก็ตาม Fast and Furious ก็เป็นภาพยนตร์ซีรียส์ ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านำพามาซึ่งความสนุก ตื่นเต้น และอะดรีนาลีนพลุ่งพลานได้เป็นอย่างดี และในภาค 7 นี้ก็เช่นเดียวกัน 

ใช่ฉากแอ็คชั่นโลดโผนเหล่านี้มันสุดจะโอเวอร์เหนือจริง แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็ไม่อาจที่จะปฏิเสธได้ว่า มันโคตรจะ"มันส์"เลยเช่นกัน เพราะเนื่องจากความเหนือจริงของมันนี้แหละ จึงทำให้ฉากแอ็คชั่นเหล่านี้สามารถแทบที่จะทำอะไรก็ได้ หลุดโลกเท่าไรก็ได้ ในด้านของความตระการตา ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงแทบที่จะได้เต็มไปเลยทีเดียว นี้ยังไม่นับถึงการมาร่วมงานของ เจสัน สเตทแธม และ จา พนม ที่สร้างความสมน้ำสมเนื้อระหว่างตัวละครเอก และ ตัวร้ายได้อย่างน่าติดตามทีเดียว



อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ Fast and Furious ภาคนี้กำกับโดย เจมส์ วาน ซึ่งเคยมีผลงานโด่งดังเป็นภาพยนตร์แนวสยองขวัญอย่าง Saw ( 2004 ) , Insidious ( 2010 ) และ The Conjuring ( 2013 ) นี้ถือได้ว่าแทบจะเป็นการพลิกบทบาทการกำกับเลยทีเดียว จากเจ้าพ่อภาพยนตร์สยองขวัญ มากำกับภาพยนตร์แอ็คชั่น 

ซึ่งโดยรวมการกำกับของ เจมส์ วาน ก็ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องเชื่อมต่อระหว่างฉากแอ็คชั่นและฉากพูดคุยของตัวละคร หรือ การปูจุดขัดแย้งของเรื่อง ถึงแม้ว่าการกำกับฉากแอ็คชั่น และการเล่าเรื่องต่างๆอาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบและค่อนข้างจะธรรมดาพื้นๆไปบ้างก็ตาม

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับเลยว่าซีรียส์ Fast and Furious ทำได้ยอดเยี่ยมเหนือภาพยนตร์แข่งรถ / แอ็คชั่นอื่นๆ ก็คือความผูกพันธ์ระหว่างผู้ชมกับตัวละคร ที่เราแทบจะรู้สึกเหมือนตัวละครเหล่านี้เป็นเพื่อนหรืออาจจะเป็นครอบครัวของเราขึ้นมาจริงๆ เหมือนกับประเด็นที่ตัวภาพยนตร์มักจะพยายามตอกย้ำ ซึ่งพูดถึงความสำคัญของครอบครัวอยู่เสมอๆ ซึ่งเราในฐานะผู้ชมก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวนี้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งสาเหตุนี้นอกจากจะมาจากจำนวนภาคที่มากถึง 7 ภาคแล้ว ยังจะมาจากตัวละครเหล่านี้ ที่มีความเป็นมนุษย์ซึ่งน่าติดตาม น่าคอยเอาใจช่วย และการเข้าไปรู้จักกับพวกเขา ก็ยังทำให้เราผูกพันธ์ได้อย่างง่ายดายอีกด้วย

ซึ่งด้วยสาเหตุนี้เอง ข่าวการจากไปของนักแสดงหลักอย่าง พอล วอล์กเกอร์ ก็ทำให้แฟนๆหลายคนสะเทือนใจไม่ใช่น้อย และมันก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ทางทีมเขียนบทและผู้กำกับ เจมส์ วาน จะเขียนบทสรุปให้กับตัวละครของพอลอย่างไร และก็ต้องขอชมในส่วนนี้เสียจริงๆ กับฉากบทสรุปของพอลที่นอกจากจะสมบูรณ์แบบแล้ว ยังจะฉลาดมากอีกด้วย



ในท้ายที่สุดแล้ว Fast and Furious 7 ก็ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่เรารู้จักกันดี ด้วยฉากแอ็คชั่นสุดโอเวอร์ และพล็อตที่สุดแสนจะธรรมดา แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้ความสนุกและความบันเทิงของภาพยนตร์ลดลงไปเลยแม้แต่น้อย ที่น่าประทับใจมากที่สุดเลย ก็คือบทสรุปของตัวละคร พอล วอล์กเกอร์ ที่น่าจดจำและอาจที่จะทำให้คุณเสียน้ำตาอย่างง่ายดาย


Final Score : 7.5 / 10