วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

Warcraft ( 2016 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz

หลังจากที่แฟนๆเกมรอคอยกันมานานแสนนาน ในที่สุดภาพยนตร์ซึ่งสร้างมาจากวิดีโอเกมชื่อดังมากที่สุดเกมหนึ่งในโลกอย่าง Warcraft ก็ได้มาปรากฏโฉมบนจอภาพยนตร์เสียที

Warcraft ในด้านหนึ่งแล้วก็คือสุดยอดเกมที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ลากไปตั้งแต่ปี 1994 ซึ่งเกมเมอร์ในยุคปัจจุบันหลายต่อหลายคนก็เติบโตมากับชื่อๆนี้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของเกมหลักหรือเกมที่แตกแยกแขนงออกมาเป็นอีกหนึ่งเกมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันอย่าง Defense of the Ancients (Dota), Hearthstone และอื่นๆอีกมากมาย
แต่ในอีกมิติหนึ่ง ความจริงที่ปฏิเสธได้ยากก็คือคำสาปอันโด่งดังเมื่อวงการภาพยนตร์พยายามที่จะจับมือกับวงการเกม มักจะพบกับความหายนะเสมอๆ ไม่ว่าเกมๆนั้นจะมีชื่อเสียงที่โด่งดังมากน้อยเท่าไรก็ตาม เฉกเช่น Resident Evil, Prince of Persia, Silent Hill, Hitman และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งสำหรับใครหลายคนแล้ว Warcraft ดูจะเป็นความหวังครั้งสุดท้ายหรือเกือบสุดท้าย ที่จะมาทำลายคำสาปอันแสนน่ากลัวนี้ลงไปให้ได้

แม้ว่าภาพรวมของ Warcraft จะไม่ได้เข้าขั้นหายนะหรือแย่เสียทีเดียว แต่ในหลากหลายส่วน กระทั่งแฟนเกมอย่างเราเอง ก็ไม่อาจที่จะปฏิเสธถึงตัวตนของช่องโหว่ที่มีให้เห็นอยู่ตรงหน้ามากมายเต็มไปหมด
ซึ่งต้นตอของปัญหาเกือบทั้งหมดของภาพยนตร์ที่แฟนๆทั่วโลกรอคอยเรื่องนี้ ก็หนีไม่พ้นขนาดความใหญ่ของมันที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวมันเอง ดั่งสุภาษิต 'ยิ่งใหญ่ยิ่งล้มดัง'

Warcraft พยายามที่จะจับนู้นจับนี้ เล่าหลายสิ่งหลายอย่างที่มีมากจนเกินไป โดยปราศจากการคำนึงถึงขีดจำกัดของตัวเอง ไม่ว่าจะในด้านของเวลาบนจอภาพยนตร์ที่มีจำกัด หรือขีดจำกัดของผู้กำกับอย่าง ดันแคน โจนส์ ซึ่งกระโดดจากการกำกับภาพยนตร์ระดับเล็ก-กลาง อย่าง Moon (2009) และ Source Code (2011) มากำกับภาพยนตร์ซึ่งกล่าวขานกันว่าอาจจะยิ่งใหญ่เทียบเท่า Lord of the Rings (2001 - 2003) จนเป็นเหตุทำให้ไม่สามารถคุมเรื่องราวที่ล้นมือ ล้นหน้าตักนี้ได้จนหมด
เมื่อผู้กำกับไม่สามารถที่จะควบคุมเรื่องราวที่มีอยู่ได้ ผลของมันก็เปรียบเสมือนโดมิโน่ที่ลากยาวไปกระทบถึงองค์ประกอบอื่นๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่อง ปมขัดแย้ง หรือตัวละคร ต่างก็ถูกดันออกมาโดยปราศจากการปูพื้นฐานที่ดี แม้ว่าตัวเนื้อส่วนประกอบต่างๆแต่ละส่วนจะค่อนข้างดี แต่กว่าจะค่อยๆแซะเข้ามาก็สายไปเสียแล้ว ทำให้เราไม่รู้สึกมีความผูกพันธ์กับตัวละครเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย จนนำไปสู่การปราศจากอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ในที่สุด

สำหรับผู้ชมทั่วไปที่ไม่ได้เป็นแฟนเกมหรือไม่ได้สนใจเรื่องราวในเกมเท่าไรนัก เพียงเท่านี้ก็เป็นเหตุผลเพียงพอในการที่จะทำให้พวกเขาอาจไม่รู้สึกประทับใจหรือชื่นชอบใน Warcraft ซักเท่าไรนัก แม้ว่าในซอกหลืบต่างๆของภาพยนตร์เรื่องนี้จะแอบแฝงไปด้วยเรื่องราวความขัดแย้งที่น่าค้นหา หรือมีกราฟฟิก ซีจีที่อลังการงานสร้างมากเท่าไรก็ตาม
แต่สำหรับแฟนเกมหรือผู้ที่มีความสนใจและมีความผูกพันธ์กับผลงานของ Blizzard นี้อยู่แล้ว Warcraft ก็อาจเปรียบเสมือนแนวคิด 'Guilty Pleasure' อย่างแท้จริง เอาจริงๆเพียงแค่เราได้เห็นเรื่องราวมหากาพย์และตัวละครที่เราชื่นชอบในเกม มีชีวิตจริงๆขึ้นมาบนจอภาพยนตร์ก็ฟินอย่างบอกไม่ถูกแล้ว

ยิ่งพอได้เห็นเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์แล้ว ยิ่งทำให้เราจินตนาการอนาคตและภาคต่อที่(อาจ)จะมาถึง ซึ่งคงจะยิ่งใหญ่ อลังการกว่านี้อย่างแน่นอน
สุดท้ายแล้ว แม้ว่า Warcraft จะเต็มไปด้วยปัญหามากมาย และยังคงไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ทำลายคำสาปลงได้ แต่มันก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวนักสำหรับบุคคลทั่วไป สำหรับแฟนเกมแล้ว นี้เป็นผลงานที่ยังคงจัดอยู่ในหมวด "ไม่ว่ายังไงก็ห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด"

Final Score: [ 6 ]

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

X-Men: Apocalypse (2559) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz




ดำเนินกันมาถึงจุดไตรภาคเป็นที่เรียบร้อยสำหรับแฟรนไชส์ X-Men ฉบับใหม่ของ ไบรอัน ซิงเกอร์ ที่ถูกปลุกขึ้นมาในปี 2011 กับภาค First Class ซึ่งอาจจะยังคงเรียกได้ว่าเป็นภาคที่ยอดเยี่ยมที่สุดภาคหนึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะของแฟรนไชส์ X-Men แต่รวมไปถึงภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ทั้งหมดในขณะนี้


น่าเสียดายที่ภาคที่สอง Days of Future Past ไม่สามารถที่จะคงความยอดเยี่ยมเอาไว้ได้ ผสมผสานกับตลาดภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ปัจจุบันที่ค่อนข้างมีตัวเลือกที่เยอะ ยังไม่นับถึงคะแนนเปิดตัวจากฝั่งนักวิจารณ์ของภาคนี้ที่ดูค่อนข้างน่าเป็นห่วง จนเป็นเหตุทำให้เราไม่รู้สึกตื่นเต้นกับการมาของภาคที่สาม Apocalypse ซักเท่าไรนัก X-Men: Apocalypse ถ้าสังเกตุและวิเคราะห์ในหลายๆด้าน ก็อดที่จะแอบเปรียบเทียบกับ Avengers: Age of Ultron ของทางฝั่ง Marvel ไม่ได้ เนื่องจากมันมีความคล้ายคลึงกันพอสมควร เช่น ตัวร้ายที่ทรงพลังสามารถกำราบทีมฮีโร่ของเราได้อย่างราบคาบ ฮีโร่หรือตัวละครใหม่ที่เข้าไปสวามิภักต่อเหล่าร้าย วิธีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของโลกปัจจุบัน ไปจนถึงการสอดแทรกประเด็นเทคโนโลยีไร้สายในยุคปัจจุบัน


แต่ถ้าหากเทียบกันกับ Age of Ultron แล้ว สิ่งที่ Apocalypse ดูจะเป็นต่อกว่าก็หนีไม่พ้นด้านตัวร้ายอย่าง อะพอคคาลิปส์ ซึ่งดูร้ายกาจและทรงพลังมากกว่าอัลตรอนที่เอาแต่พล่ามแล้วพล่ามอีก
ในด้านฉากแอ็คชั่นของ Apocalypse ถ้าหากท่านใดคาดหวังว่ามันจะมีตลอดทั้งเรื่องก็คงจะต้องปาดน้ำตากันไปตามระเบียบ แต่ฉาก Climax ท้ายเรื่องที่ค่อนข้างอลังการ ก็น่าจะเป็นตัวช่วยเกาให้หายคันกันได้อยู่บ้าง

จุดหนึ่งที่ต้องขอยกเครดิตให้อย่างเต็มใจในความเทพอย่างสุดขีดของเขา ก็คือเจ้าหนุ่มวัยรุ่น ควิกซิลเวอร์ ซึ่งยังคงโคตรเทพ โคตรฮาและเป็นตัวขโมยซีนระดับมาสเตอร์พีซอย่างแท้จริง ในมิติหนึ่งอาจเรียกได้ว่า เขาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ช่วงต้นเรื่องอันแสนอืดชืดของ Apocalypse มีสีสันขึ้นมาได้อย่างทันตาเห็น และยังคงเป็นจุดที่ Marvel ยังคงไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ในขณะนี้ ถึงกระนั้นก็ตาม Apocalypse ก็ยังคงมีปัญหาที่คอยรุมเร้าตัวภาพยนตร์ให้ไม่สามารถที่จะไปไกลได้มากนักอยู่หลายจุด จุดใหญ่ๆที่ต้องพูดถึงก็คงจะหนีไม่พ้นด้านบทภาพยนตร์ และตัวผู้กำกับ ไบรอัน ซิงเกอร์


จุดที่เป็นปัญหาของ ไบรอัน ซิงเกอร์ หลักๆแล้วก็หนีไม่พ้นการเล่าเรื่อง การวางปมขัดแย้ง และการผูกปมแต่ละตัวละครนั้นค่อนข้างขาดชั้นเชิง ตรงไปตรงมาจนเกินไป ยิ่งพอผนวกกับบทภาพยนตร์ ที่ขาดความสดใหม่ และค่อนข้างเชยมากๆแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกเหมือนนั่งดูภาพยนตร์เมื่อ 5 ถึง 10 ปีที่แล้วอย่างมาก ที่แปลกยิ่งกว่าก็คือการสอดแทรก 'พลังแห่งผองเพื่อน' เข้ามาจนตกใจ นึกว่านั่งอ่านมังงะหรือดูอนิเมะอะไรซักอย่างอยู่


โชคยังดีที่ทีมนักแสดงทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นหน้าเก่าอย่าง ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ หรือหน้าใหม่อย่าง ออสการ์ ไอแซค ผู้รับบทเป็นอะพอคคาลิปส์ และไท เชอริแดน ผู้รับบทเป็นไซคลอปส์ สามารถที่จะทำผลงานได้อย่างดีเยี่ยม จนทำให้อย่างน้อย ตัวละครของพวกเขาก็น่าสนใจและน่าติดตามขึ้นมาบ้าง


เมื่อพิจารณาองค์ประกอบต่างๆที่มีทั้งล้มเหลวและประสบผลสำเร็จแล้ว ผลสรุปการผสมผสานสิ่งต่างๆเข้าด้วยกันของ X-Men: Apocalypse ก็คือภาพยนตร์ที่ดูจะสอบผ่านเพียงในด้านของความบันเทิงชนิดเส้นยาแดงผ่าแปด ซึ่งเพียงเท่านี้อาจไม่เพียงพอสำหรับตลาดภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ที่กำลังแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายและได้ก้าวล้ำหน้าแฟรนไชส์อันล้าหลังนี้ไปแล้วหลายก้าว Final Score: [ 6.5 ]

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

The VVitch ( 2559 ) Movie Review

สำหรับผู้ชมภาพยนตร์และใครหลายคนในปัจจุบัน คำว่า 'แม่มด' ดูจะกลายเป็นสิ่งที่เริ่มปราศจากความน่ากลัวเข้าไปทุกทีๆ จากการตีความที่แตกต่างของภาพยนตร์กระแสหลักทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Harry Potter หรือ The Last Witch Hunter และภาพยนตร์เรื่องอื่นๆมากมาย จนเรียกได้ว่า เราแทบจะหาภาพยนตร์ที่นำเสนอภาพลักษณ์ของคำๆนี้ ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงหรือเรื่องที่เล่าต่อๆกันมาได้ยากเหลือเกิน..... จนมาถึงตอนนี้

The VVitch ว่าด้วยเรื่องราวของครอบครัวธรรมดาซึ่งต้องถูกทดสอบศรัทธาในตัวพวกเขา เมื่อพวกเขาประสบพบเจอกับความชั่วร้ายบางสิ่งบางอย่าง ที่ค่อยๆคลืบคลานมาจากความมืดมิด

ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าความพยายามในการสร้างองค์ประกอบต่างๆให้ความรู้สึกเป็น Folktale (นิทานพื้นบ้าน) หรือเป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของ The VVitch กลายเป็นจุดหนึ่ง ที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เปรียบภาพยนตร์สยองขวัญอื่นๆ เนื่องจากธรรมชาติของความเป็นเรื่องเล่านิทานพื้นบ้าน ที่ให้ความรู้สึกใกล้ตัว และจับต้องได้ง่ายกว่าเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาเอง คล้ายคลึงกับตอนสมัยเข้าค่ายลูกเสือบ้านเรา ที่จะต้องหนีไม่พ้นการเล่าเรื่องผีข้างกองไฟท่ามกลางความมืดมิดจนทำให้เราหลับตาไม่ได้ทั้งคืน

นอกจากนั้นยังนำเสนอภาพลักษณ์ของแม่มดในรูปแบบที่ค่อนข้างสดใหม่ และแตกต่างจากแม่มดที่เราเคยๆเห็นในภาพยนตร์กระแสหลักทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในด้านของความลึกลับหรือความน่ากลัว
แต่จุดที่ต้องขอชมผู้กำกับโรเบิร์ต เอ็กเกอร์สและทีมสร้างภาพยนตร์ทั้งหมดเลยจริงๆ ก็คือความรู้สึกสยดสยอง น่ากลัว และบรรยากาศอันแสนไม่น่าไว้วางใจนี้นั้น ไม่ได้มาจากมุขตุ้งแช่ หรือมุขผีหลอกชัดเจน แบบที่ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องอื่นๆเขาทำกัน เอาเข้าจริงแล้ว The VVitch ถ้าตัดด้านบรรยากาศและเนื้อเรื่องแม่มดออกไป ตัวมันแทบจะกลายเป็นภาพยนตร์ เมโลดราม่าด้วยซ้ำไป

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว คำถามที่น่าสนใจก็คือความรู้สึกของเราระหว่างชมที่รู้สึกหวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัยไปพร้อมๆกับตัวละครนี้ มาจากสิ่งใดกัน ถ้าหากไม่ใช่มุขผีทั้งหลาย ซึ่งคำตอบก็คือ บรรยากาศที่ภาพยนตร์สร้างขึ้นนั้นเอง โดยสิ่งๆนี้เกิดขึ้นมาจากองค์ประกอบหลายสิ่งหลายอย่างของภาพยนตร์มารวมตัวกัน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่นำเสนอภาพความขัดแย้งภายในจิตใจตัวละคร ความขัดแย้งระหว่างตัวละคร ที่ค่อยๆเสื่อมถอยและพังทลายลงทีละเล็กละน้อย เพลงประกอบอันแสนโหยหวน สยดสยอง ไปจนถึงการวางภาพ และใช้มุมกล้อง ซึ่งผนวกเข้ากับโปรดักชั่นที่พื้นๆ ให้ความรู้สึกเก่าแก่สมกับเป็น Folktale องค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้ ผสมผสานกันออกมาเป็นบรรยากาศอันไม่น่าไว้วางใจ อึมครึม เสมือนมีอะไรบางอย่างที่เราไม่สามารถอธิบาย หรือมองเห็นได้ ค่อยๆคืบคลานเข้ามาในรูปแบบที่เราไม่สามารถทำอะไรได้
เมื่อองค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้ต่างถูกสร้างออกมาเพื่อเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือการสร้างบรรยากาศ ความรู้สึกแบบนิทานพื้นบ้าน เป็นเหตุทำให้เมื่อสิ่งเหล่านี้มาประกอบรวมกัน กลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่โดดเด่นและเห็นความเป็นเอกภาพอย่างชัดเจน

ศรัทธา อาจเรียกได้ว่าเป็นคำที่ใกล้เคียงกับมนุษยชาติมากที่สุดคำหนึ่ง ในด้านหนึ่งแล้ว คำๆนี้เปรียบเสมือนแสงไฟที่ส่องสว่างทางที่มืดมิดน่ากลัวให้เรา กลายเป็นความหวังท่ามกลางสถานการณ์ที่ดูสิ้นหวังมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน คำๆนี้ก็อาจเป็นสิ่งที่บดบังตาเรามืดบอด มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหน้า ที่น่าตลกไปยิ่งกว่านั้น คือความที่เราสามารถที่จะสั่นคลอนและสามารถจมดิ่งไปสู่ความสิ้นหวังได้ง่ายเสียยิ่งกว่าการต้านความมืดมิดที่ดูไม่สิ้นสุดนี้เสียอีก
-- ภาพรวม --
- ถ่ายทอดตำนานหรือเรื่องเล่าพื้นบ้านได้ดี ให้ความรู้สึกจับต้องได้ ใกล้ตัวกว่าภาพยนตร์สยองขวัญปกติ
- สร้างภาพลักษณ์ของแม่มดที่แท้จริง แตกต่างจากแม่มดเรื่องอื่นๆที่เคยดู
- ไม่มีมุกตุ้งแช่หรือมุกผีหลอกให้เห็น แต่ความน่ากลัวมาจากบรรยากาศอันไม่น่าไว้วางใจ อึมครึม น่ากลัว
+ บรรยากาศนี้สร้างขึ้นมาด้วย ความขัดแย้งในแต่ละตัวละคร และระหว่างตัวละคร ความศรัทธาของตัวละครที่ค่อยๆเสื่อมถอยและพังทลายลงไปทีละเล็กละน้อย
+ เพลงประกอบอันโหยหวน สยดสยอง
+ การวางภาพ มุมกล้อง ผนวกเข้ากับโปรดักชั่นที่พื้นๆไม่เยอะจนเกินไป ผสมผสานกันออกมาเป็นความรู้สึกที่เข้ากับตำนานหรือเรื่องเล่าแบบ Folklore
Final Score : [ 9 / 10 ]