วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

The Imitation Game ( 2014 ) Movie Review

The Imitation Game ( 2014 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz


"The Imitation Game คือภาพยนตร์ชีวประวัติที่น่าติดตาม ลึกซึ้งและน่าจดจำมากที่สุดเรื่องหนึ่งแห่งปี 2014 "



                 
                 กล้เข้ามาเรื่อยๆแล้วนะครับสำหรับวันประกาศผลรางวัลเวทีชื่อดังอย่างออสการ์ซึ่งจะประกาศผลในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้เอง ส่วนเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ก็มีการประกาศผลรางวัลมากมายทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าการแข่งขันปีนี้ยังคงดุเดือดทีเดียว ตั้งแต่ Boyhood , Birdman ,  Whiplash , American Sniper , Foxcatcher หรือ Selma แต่นอกเหนือจากนั้นแล้วยังมีภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษอย่าง Theory of Everything และ The Imitation Game เข้ามาร่วมแข่งขันอีกด้วยซึ่งเรียกได้ว่าทำให้สนามแข่งขันครั้งนี้ดุเดือดและเดาได้ยากจริงๆ


The Imitation Game ว่าด้วยเรื่องราวของ อลัน ทัวริ่ง นักคณิตศาสตร์อัจฉริยะซึ่งพยายามหาทุกวิถีทางในการไขรหัสลับของนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งนี้อาจจะเป็นกุญแจชิ้นสำคัญที่สุดในการเอาชนะสงครามครั้งนี้ก็เป็นได้



ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากทีเดียวสำหรับผู้กำกับชาวนอร์เวย์ มอร์เทน ไทล์ดัม ที่เคยมีผลงานหลักๆเป็นภาพยนตร์นอร์เวย์ แต่ต้องกระโดดข้ามมากำกับภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษทันทีเลย แถมยังได้รับงานที่หนักหน่วงและท้าทายอย่างมากอีกด้วย จากบทภาพยนตร์ของ Imitation Game ซึ่งค่อนข้างจะซับซ้อน เพราะต้องถ่ายทอดทั้งในด้านของประวัติศาสตร์ สภาพสังคม และในด้านของจิตใจตัวละครที่ค่อนข้างจะลึกซึ้ง แถมยังต้องเจอพลังนักแสดงนำแถวหน้าตั้งแต่ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ , คีร์รา ไนท์ลีย์ , มาร์ก สตรอง และชาร์ลส์ แดนซ์ อีกด้วย จึงถือได้ว่าเป็นการทดสอบฝีมือครั้งใหญ่ของผู้กำกับท่านนี้ทีเดียว


ซึ่งถ้าหากนี้เป็นการทดสอบจริงๆแล้วล่ะก็ ผู้กำกับ มอร์เทน ไทล์ดัม ก็คงจะผ่านฉลุยอย่างไม่ต้องสงสัย ถึงแม้ว่าการตัดสลับเล่าเรื่องอาจจะยังไม่ลื่นไหลเต็มร้อยนัก แต่เขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องในด้านของประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองซึ่งส่งผลต่อประเทศอังกฤษและทั้งยุโรปหรือสร้างภาพลักษณ์ของสังคมในยุคนั้นเขาก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าสนใจ น่าติดตาม




แต่สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็แน่นอนว่าหนีไม่พ้นตัวละครอย่าง อลัน ทัวริ่งเอง ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวในด้านของบุคลิก นิสัยอันแปลกแยกและถูกสังคมรังเกียจของเขา แต่ที่สำคัญเลย ก็คือการถ่ายทอดประเด็นรักร่วมเพศของเขา ซึ่งเป็นเหตุส่งผลทำให้การใช้ชีวิตและการทำงานของเขาเต็มไปด้วยความยากลำบาก ยิ่งผนวกเข้ากับการแสดงที่น่าจดจำและยอดเยี่ยมที่สุดในตอนนี้ของ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์ ก็ยิ่งทำให้ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะคอยเอาใจช่วยตัวละครเอกนี้ให้ผ่านพ้นภัยอันตรายและวิกฤตทั้งหลายที่เขาประสบเจอไปได้



เป็นที่น่าตกใจไม่ใช่น้อยสำหรับตัวผู้เขียน ที่ประเด็นรักร่วมเพศนี้เอง กลายเป็นประเด็นหลักที่ตัวภาพยนตร์พยายามสื่อถึงและให้ความสำคัญมากที่สุด แทนที่จะเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์อย่างที่ผู้เขียนคาดเอาไว้ตอนแรก เพราะถึงแม้ว่าในด้านหนึ่ง The Imitation Game จะเป็นภาพยนตร์ที่ค่อนข้างจะเชิดชูประเทศอังกฤษ แต่ในอีกด้านหนึ่งตัวภาพยนตร์ก็เสียดสีกฏหมายรักร่วมเพศในช่วงยุคนั้นของประเทศอังกฤษ ตั้งคำถามและเสียดสีสังคมเกี่ยวกับประเด็นคนรักร่วมเพศและทัศนะคติรักร่วมเพศว่าเป็นสิ่งที่ผิดมากจนสังคมจะต้องเมินหน้าหนีรวมถึงลงโทษอย่างหนักหน่วงหรือไม่ ซึ่งข้อความนี้ก็ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างทรงพลังและน่าจดจำมากทีเดียว เนื่องจากการเล่าเรื่องที่น่าติดตามของผู้กำกับ มอร์เทน ไทล์ดัม และการนำแสดงอันยอดเยี่ยมของ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์





ถึงแม้ว่าในการประกาศผลรางวัลลูกโลกทองคำที่ผ่านมา  The Imitation Game อาจจะพลาดไปเสียทุกสาขาก็ตาม แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้ภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมเรื่องนี้น่าจดจำน้อยลงไปเลยแม้แต่น้อย ด้วยบทภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยม การเล่าเรื่องที่น่าติดตาม ประเด็นที่น่าคิด ตัวละครที่น่าสนใจและการแสดงของ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์อันน่าจดจำ เป็นผลทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง


Final Score : [ A ] 

วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

The Water Diviner ( 2015 ) Movie Review

The Water Diviner ( 2015 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"ถึงแม้ว่าตัวบทภาพยนตร์จะค่อนข้างน่าสนใจ แต่การกำกับที่หายนะของรัซเซล โครว์ก็ทำให้ฉากที่น่าจดจำทั้งหลาย กลายเป็นฉากที่จืดชืดไร้ความหมายไปแทน"

   ในโลกของภาพยนตร์แล้ว นักแสดงมากฝีมือหลายท่านเมื่อผ่านผลงานการแสดงไปซักช่วงหนึ่ง พวกเขาก็พยายามผันตัวมาทำหน้าที่อื่นเช่นกัน ไม่ว่าจะหันไปทำทางด้านเสียงประกอบภาพยนตร์ ออกเงินให้ หรือว่าบางท่านก็หันมาลองเป็นผู้กำกับเลยก็มี ยกตัวอย่างที่น่าจะใกล้ชิดที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น Argo ซึ่งกำกับและนำแสดงโดย เบน เอฟเฟลค ถึงแม้ว่าการผันตัวมาทำหน้าที่อื่นๆนี้ของดารานักแสดงทั้งหลายจะน่าชื่นชมถึงความพยายาม แต่ในบางครั้งการผันตัวมาครั้งนี้ก็ไม่ได้นำมาซึ่งผลงานที่น่าจดจำเสมอไป


The Water Diviner ว่าด้วยเรื่องราวของ คอนเนอร์ ชายวัยกลางคนผู้ต้องออกตามหาลูกๆของพวกเขาที่หายไปในสงคราม ระหว่างนั้นเองเขาก็ได้ค้นพบว่าสงครามครั้งนี้ได้นำพามาซึ่งความเสียหายมากกว่าที่เขาได้คาดคิดไว้




สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้สำหรับผู้เขียนเลย ก็คือบทภาพยนตร์ นี้ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่ต่อต้านสงคราม และพูดถึงความเสียหาย ความสูญเสียที่สงครามได้พามา ซึ่งต้องสารภาพเลยว่าประเด็นต่างๆก็น่าสนใจมากทีเดียว


ตั้งแต่ประเด็นเรื่องการสูญเสียลูกของผู้เป็นพ่อแม่  การสูญเสียพี่น้องร่วมสายเลือด หรือประเด็นทางการแบ่งเชื้อชาติ ความขัดแย้งระหว่างสงคราม ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็นำไปสู่ข้อความหลักของภาพยนตร์ที่พูดถึงการต่อต้านสงคราม เพราะสงครามนำมาซึ่งการสูญเสียของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะผู้แพ้ ผู้ชนะ มิตร หรือ ศัตรู


น่าเสียดายที่ประเด็นและข้อความอันน่าสนใจของภาพยนตร์ต้องถูกลดน้ำหนักและความน่าจดจำลงไปเยอะพอสมควรเนื่องจากสาเหตุที่ร้ายแรงสาเหตุหนึ่ง ซึ่งสาเหตุนั้นก็หนีไม่พ้นการกำกับของ รัซเซล โครว์


ถึงแม้ว่าตัวรัซเซล โครว์เองจะนำแสดงได้ไม่แย่ซักเท่าไรนัก แต่ฝีมือการกำกับ เล่าเรื่องและคุมอารมณ์ของเรื่องนั้นอยู่ในระดับหายนะทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการเล่าเรื่องที่เก่าเกินไปและถูกใช้อย่างไม่ถูกต้อง เช่นการสโลว์ภาพให้ช้าลง จังหวะการใส่เสียงเพลงประกอบที่ไม่ถูกจังหวะ การจัดวางปมของตัวละครที่ครึ่งๆกลางๆและรีบมากจนเกินไป เป็นผลทำให้ภาพยนตร์รู้สึกแห้งแล้ง น่าเบื่อ ยกตัวอย่างเช่นฉากเปิดเรื่องซึ่งควรจะเป็นฉากที่ทำให้ผู้ชมตื่นเต้นไปกับภาพยนตร์ แต่ด้วยการเล่าเรื่องและการคุมอารมณ์ภาพยนตร์ที่แย่ ทำให้ฉากๆนี้กลายเป็นฉากที่จืดชืดน่าเบื่อเสมือนนั่งชมก้อนหิน



อีกอย่างก็คือตัดต่อที่ค่อนข้างจะจืดชืด ขาดชั้นเชิงและถูกยัดเยียดเข้ามาเพื่อสนับสนุนการเล่าเรื่องที่ไม่ได้เรื่องของรัซเซล โครว์ ที่พยายามทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นฉากเรียกน้ำตาอยู่ตลอดเวลาซึ่งทำให้ฉากเหล่านี้ไม่มีพลังและความน่าจดจำเท่าที่ควร 


นี้ยังไม่รวมถึงความสมเหตุสมผลของเรื่องที่สั่นคลอนและเกือบจะพังทลายอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการอาศัยเรื่องของความบังเอิญมากจนเกินไปโดยไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักพอคอยหนุนหลัง ยังถือว่าโชคดีที่เรื่องราวความสัมพันธ์ของตัวละครเอกกับนางเอกในเรื่องยังพอที่จะน่าสนใจและดึงผู้เขียนออกจากสภาวะเกือบหลับได้อยู่บ้าง 




ในท้ายที่สุด The Water Diviner ก็เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่มีแนวคิดและเรื่องราวที่น่าสนใจ แต่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการถ่ายทอดเรื่องราวนั้นออกมา ซึ่งสาเหตุหลักก็คงจะหนีไม่พ้นการกำกับที่ล้มเหลวของ รัซเซล โครว์ ถ้าหากภาพยนตร์เรื่องนี้ตกไปอยู่ในมือของผู้กำกับที่มีฝีมือและประสบการณ์มากกว่านี้ไม่แน่ว่าอาจจะทำให้ตัวภาพยนตร์น่าจดจำมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่แน่นอนว่านั้นก็คงเป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น

Final Score : [ C ]

วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

Blackhat ( 2015 ) Movie Review

Blackhat ( 2015 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"ไม่น่าเชื่อว่าผลงานอันสับสน น่าเบื่อและยังไม่เสร็จดีนี้จะอยู่ในการควบคุมของผู้กำกับมากฝีมืออย่าง ไมเคิล มานน์"


    ดูเหมือนว่าคำสาปแห่งเดือนมกราคมฮอลลีวูด ก็ยังคงไม่ไปไหน และยังคงแผ่มาถึงภาพยนตร์แอ็คชั่นเช่นเคย แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ การที่ตัวภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในการควบคุมและกำกับโดยผู้กำกับมากฝีมือคนหนึ่งของฮอลลีวูดอย่าง ไมเคิล มานน์ ซึ่งอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์แอ็คชั่นยอดเยี่ยมมากมายไม่ว่าจะเป็น  Heat ปี 1995 , Ali ปี 2001 , Collateral  ปี 2004 , Miami Vice ปี 2006 หรือ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดอย่าง Public Enemies ปี 2009 


Blackhat ว่าด้วยเรื่องราวของ นิค กับเพื่อนๆของเขาที่จะต้องร่วมมือกับตำรวจในการตามล่าหาอาชญากรไซเบอร์ซึ่งสร้างความปั่นป่วนและหายนะไว้มากมายทั่วโลก



สิ่งแรกที่ผู้เขียนรู้สึกถึงหลังจากที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบเลย ก็คือความสงสัยที่ว่าผู้กำกับอย่าง ไมเคิล มานน์ ปล่อยภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาในสภาพที่เป็นอยู่ได้อย่างไรกัน เพราะสภาพของ Blackhat ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือผลงานอันสับสน น่าเบื่อและเหมือนยังสร้างไม่เสร็จดี


โดยเฉพาะทางด้านของ Post-Production ตั้งแต่การตัดต่อ การใส่เสียงประกอบ และการใส่เทคนิคอื่นๆซึ่งออกมาสุกเอาเผากินอย่างมาก ซึ่งทำให้ฉากต่างๆในภาพยนตร์ที่เกือบจะตลอดเวลาไม่มีการใส่เสียงหรือเพลงประกอบเข้ามาเลย ให้ความรู้สึกแห้งแล้งและน่าเบื่อ ซึ่งเป็นอะไรที่เลวร้ายที่สุดสำหรับภาพยนตร์ประเภทนี้


อีกอย่างหนึ่งที่น่ารำคาญไม่ใช่น้อย ก็คือเวลาที่ตัวภาพยนตร์มีการเข้าฉากแฮคต่างๆนาๆทีไร ก็มักจะมีการใส่ฉากที่พาเราเข้าไปในคอมพิวเตอร์และก็มีแสงวิ่งไปวิ่งมา เสมือนเป็นตัวแทนคำพูดที่ว่า "เนี้ยกำลังแฮคอยู่นะ"ทุกที ซึ่งฉากๆนี้พาเอารู้สึกว่าตัวผู้กำกับ ไมเคิล มานน์ ไม่มีความสามารถในการที่จะทำให้ผู้ชมตื่นเต้นไปกับฉากการแฮคต่างๆในภาพยนตร์ได้ จึงต้องหันมาพึ่งฉากแสงวูบวาบอันน่ารำคาญนี้แทน



ในด้านของบทภาพยนตร์ก็ถือได้ว่าค่อนข้างจะกึ่งดีกึ่งร้าย ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่บทค่อนข้างจะซ้ำซากอยู่พอสมควร แต่ก็ยังไม่ได้อยู่ในระดับเลวร้ายจนทนดูไม่ได้ 
เพียงแต่ว่าวิธีการเล่าเรื่องและวิธีที่จะทำให้ผู้ชมรู้สึกตื่นเต้นและสนใจไปกับบทชิ้นนี้ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อ การใส่เสียงประกอบ การกำกับ หรืออื่นๆ ค่อนข้างจะทำออกมาได้เลวร้ายจนทำให้เราไม่รู้สึกอยากที่จะติดตามซักเท่าไรนัก


สิ่งที่เป็นตัวคอยฉุดตัวภาพยนตร์ลงมาเรื่อยๆอีกสิ่งก็คือตัวละครอันสุดแสนจะซ้ำซากของภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นตัวร้าย เพื่อนพระเอก หรือแม้กระทั่งนางเอกที่ไม่ได้น่าสนใจและน่าเอาใจช่วยซักเท่าไรนัก ที่สำคัญก็คือความสัมพันธ์ของพระเอกและนางเอกซึ่งล้มเหลวสุดๆ ตั้งแต่นักแสดงซึ่งเคมีไม่ค่อยจะเข้ากันซักเท่าไร และยังตัวบทที่พยายามยัดเยียดความรักของพวกเขาทั้งสองคนเข้ามาให้ผู้ชมจนทำให้เราไม่มีทางเลือกนอกจากที่จะเมินหน้าหนี



คงจะมีเพียงสองสิ่งเท่านั้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ไม่ได้อยู่ในระดับหายนะไปซะทีเดียว อย่างแรกก็คือการแสดงของ คริส เฮมส์เวิร์ธ และ วิโอลา เดวิส ซึ่งค่อนข้างจะดีทีเดียว และเราก็น่าจะเห็นถึงความพยายามของพวกเขาได้อยู่บ้าง

อีกสิ่งก็คือการกำกับฉากแอ็คชั่นและต่อสู้ต่างๆในภาพยนตร์ ซึ่งพอที่จะให้ความสนุกและพอที่จะทำให้ผู้เขียนมองเห็นถึงเศษเสี้ยวฝีมือที่แท้จริงของ ไมเคิล มานน์ ได้บ้าง

แต่นั้นก็ไม่ได้ช่วยฉุด Blackhat ขึ้นมาจากความหายนะและความน่าเบื่อที่ยาวนานถึง 133 นาทีได้ซักเท่าไรนัก


ทำให้ในท้ายที่สุดแล้ว Blackhat กลายเป็นภาพยนตร์ที่ให้ความรู้สึกสับสน น่าเบื่อและยังไม่เสร็จดี ตั้งแต่การตัดต่อหรือการใส่เสียงประกอบที่สุกเอาเผากิน ฉากแฮคข้อมูลที่มีแสงวิ่งไปมาอันน่ารำคาญ ตัวละครที่ซ้ำซาก ความรักของสองพระนางที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างน้อยภาพยนตร์เรื่องนี้ก็สอนให้ผู้เขียนได้รู้ว่า แม้ผู้กำกับที่ยอดเยี่ยมก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าได้ในเดือนมกราคมสุดอาถรรพ์ และเพศหญิงซึ่งยอมสยบให้แก่เพศชายที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามได้ทุกเวลา ทุกสถานที่


Final Score : [ D ]

วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

Into the Woods ( 2015 ) Movie Review

Into the Woods ( 2015 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"Into the Woods เป็นภาพยนตร์เพลงที่สนุก น่าติดตามและมีเนื้อหาแฝงที่น่าสนใจมากที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่จะดีกว่านี้ถ้าหากมันไม่ถูกทำลายด้วย 15 นาทีสุดท้ายและการตัดเนื้อหาอันรุนแรงซึ่งควรจะเป็นเอกลักษณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ออกไป"

    Into the Woods เป็นภาพยนตร์ที่มีต้นแบบมาจากละครเวทีบรอดเวย์ในชื่อเดียวกันของ สตีเฟ่น ซาวน์เฮม ซึ่งเคยมีผลงานภาพยนตร์เพลงมาก่อนใน Sweeney Todd ปี 2007

โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องราวของคนทำขนมปังซึ่งถูกคำสาปให้ไม่สามารถจะมีลูกได้ เขาและภรรยาของเขาจึงต้องออกตามหาของวิเศษในป่าเพื่อนำมาให้แม่มดแก้คำสาปนี้ให้จงได้



ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะถือเป็นโชคดี หรือ โชคร้ายกันแน่ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ตัวผู้กำกับซึ่งเคยเข้าชิงรางวัลออสการ์อย่าง ร็อบ มาร์แชล มาทำหน้าที่กำกับ เพราะถึงแม้ว่าเขาค่อนข้างจะเหมาะสมกับหน้าที่เนื่องจาก Into the Woods เป็นภาพยนตร์เพลงและมีต้นแบบมาจากละครเวทีเหมือนๆกับ Chicago ที่เขาเคยกำกับในปี 2002  แต่อาจจะเป็นเพราะผลงานเรื่องล่าสุดของเขาซึ่งไม่ค่อยจะน่าจดจำซักเท่าไรนักที่ทำให้น่าเป็นห่วง เช่น Nine ปี 2009 หรือ Pirates of the Caribbean ภาคล่าสุดในปี 2011 จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ตกอยู่ในสภาวะคาบลูกคาบดอกอยู่พอสมควร

แต่สิ่งที่น่าสนใจเสียจริงเลยในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือบทภาพยนตร์ที่นำนิทานโด่งดังซึ่งเรารู้จักกันดีไม่ว่าจะเป็น ราพันเซล , หนูน้อยหมวกแดง , แจ็คผู้ฆ่ายักษ์ หรือ ซินเดอเรลล่า มาผสมรวมกันเป็นเรื่องเดียว ซึ่งนิทานเหล่านี้เป็นนิทานที่มีจุดประสงค์เล่าให้เด็กฟังเพื่อมุ่งเป้าหมายให้เด็กๆทราบว่าโลกภายนอกนั้นมันอันตรายแค่ไหน และโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่พอตัวภาพยนตร์นำเรื่องราวนี้มาต่อกันด้วยการใส่เรื่องราวของสามีและภรรยาคนทำขนมเข้ามาก็ทำให้นิทานที่เราทั้งหลายคงจะเคยฟังมาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ มีความแปลกใหม่และน่าสนใจขึ้นมาในทันที

ยิ่งผนวกกับโปรดัคชั่นของภาพยนตร์ซึ่งค่อนข้างจะอลังการงานสร้างตั้งแต่ฉากยันเสื้อผ้าต่างๆซึ่งสวยงามโดดเด่นก็ยิ่งทำให้ Into the Woods เป็นภาพยนตร์ที่น่าจับตามองอยู่ตลอดเวลา



ในด้านการกำกับของผู้กำกับ ร็อบ มาร์แชลล์ ก็ถือว่าสอบผ่าน ตั้งแต่การเล่าเรื่องที่น่าติดตาม การกำกับวิธีการเคลื่อนไหวของตัวละครเพื่อให้ไปอยู่ในจุดที่ตัวภาพยนตร์ตั้งไว้ที่ชาญฉลาด แต่ก็มีบางจุดที่ผู้เขียนรู้สึกเสียดายอยู่เหมือนกัน อย่างแรกเลยก็คือ สัญญะในภาพยนตร์ซึ่งถูกให้ความสำคัญน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แตกต่างจากผลงานเก่าของเขาอย่าง Chicago ที่ค่อนข้างจะมีสัญญะที่น่าสนใจเยอะ และอีกสิ่งก็คือการตัดต่อในฉากร้องเพลงทั้งหลายที่ผู้เขียนรู้สึกว่าถ้าหากพึ่งการตัดต่อน้อยลง และหันมาพึ่งการถ่ายยาวหรือ Long Take ใช้การเคลื่อนไหวของกล้องเป็นหลักน่าจะทำให้ฉากร้องเพลงดูน่าสนใจและน่าสนุกมากกว่านี้ เพราะนอกจากการถ่ายทำแบบนี้จะทำให้ฉากๆนั้นดูต่อเนื่องกันมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ตัวภาพยนตร์ใช้เอกลักษณ์ที่สามารถทำได้ในเฉพาะฉบับภาพยนตร์เท่านั้นอีกด้วย

ถ้าหากพูดถึงในด้านของนักแสดงทั้งหลายพวกเขาและพวกเธอก็ถือว่าทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว ไม่ว่าจะทางด้านการแสดงหรือทางด้านการร้องเพลงซึ่งแสดงให้เห็นว่านักแสดงเหล่านี้ร้องเพลงได้จริงๆ แต่มีนักแสดงสองท่านที่เรียกได้ว่าโดดเด่นเป็นพิเศษเลยทีเดียว ท่านแรกก็คือ เมอรีล สตรีป ซึ่งทุ่มเทให้กับบทบาทที่ได้รับและยังคงมีเสียงร้องอันน่าทึ่งเช่นเคย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรเพราะเธอเคยแสดงภาพยนตร์ทีมีต้นฉบับละครเวทีมาก่อนแล้วในเรื่อง Mamma Mia ! ปี 2008 ส่วนอีกท่านหนึ่งที่น่าประทับใจไม่แพ้กันก็คือ เอมิลี บลันต์ ด้วยการแสดงอันน่าทึ่งและเสียงร้องที่น่าฟัง จนทำให้ผู้ชมเคลิ้มไปตามกัน



สิ่งที่น่าคิดตามอีกสิ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือข้อความที่มันพยายามพูดถึง ด้วยการนำเรื่องราวนิทานที่มีจุดประสงค์ในการสอนเด็กถึงโลกภายนอกอันโหดร้าย มาสอดแทรกเรื่องราวใหม่ของคู่สามีภรรยาคนทำขนมปังซึ่งเป็นตัวแทนของผู้มีสติ ผู้ที่ผ่านโลกภายนอกมาแล้ว หรือพูดง่ายๆว่าผู้ใหญ่เข้าไป ทำให้เกิดประเด็นที่ว่าผู้ใหญ่เองที่สร้างนิทานขึ้นมาเพื่อสอนเด็ก สุดท้ายแล้วโลกภายนอกก็อันตรายต่อตัวผู้ใหญ่พอๆกับเด็กเอง หรือในอีกด้านหนึ่งจะพูดว่าโลกภายนอกที่อันตรายนี้ได้เปลี่ยนแปลงพวกเขาจากสิ่งที่บริสุทธิ์ในวัยเด็กให้มาเป็นสิ่งที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความดีและความชั่วในผู้ใหญ่ก็เป็นได้ 

และเราจะเห็นหลักฐานของสิ่งนี้ได้จากการที่ตัวละครผู้ใหญ่ทั้งหลายที่เข้าไปในป่าก็ถูกพลังแห่งป่าหรือสถานการณ์อันกดดันต่างๆเปลี่ยนแปลงไปไม่แตกต่างกับเด็ก รวมถึงกับความโลภ ตัณหา และความเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่เองที่อาจจะนำพาหายนะมามากกว่าสิ่งที่พวกเขากำลังพยายามสั่งสอนเสียอีก  ซึ่งข้อความนี้เป็นข้อความที่หนักหน่วงและน่าสนใจมากทีเดียว รวมถึงวิธีการถ่ายทอดข้อความนี้ออกมาด้วยการใช้นิทานเป็นตัวถ่ายทอดก็ช่างชาญฉลาด 



แต่....ตัวข้อความนี้มันจะหนักแน่นและน่าจดจำกว่านี้ถ้าหากมันไม่ถูกยัดใส่มือผู้ชมในตอนประมาณ 15 นาทีสุดท้ายของเรื่องที่ผู้เขียนก็สับสนว่าใส่เข้ามาเพื่ออะไร     เสมือนกับว่าผู้กำกับ ร็อบ มาร์แชล หวาดกลัวเหลือเกินว่าผู้ชมที่มาชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะตีความและหาข้อความที่แฝงอยู่ในภาพยนตร์จึงต้องนำข้อความนั้นยัดใส่มือผู้ชมเสียเลยใน 15 นาทีสุดท้าย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็น่าตลกดี เพราะด้วยการยัดเยียดข้อความเช่นนี้ของเขานี้เอง เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณค่าและความน่าจดจำของตัวข้อความนั้นลดลงไปอย่างมหาศาล

นี้ยังไม่นับถึงการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มาตกอยู่ในมือของค่ายดิสนีย์ซึ่งพยายามลากตัวภาพยนตร์ให้ได้เรต PG หรือ เรตทั่วไป ในบ้านเราให้ได้ ซึ่งในด้านหนึ่งก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะทำให้ภาพยนตร์สามารถเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย แต่ในอีกด้านหนึ่งเนื้อหาและรูปแบบของเรื่องที่มืดมน หนักหน่วงและสะท้อนความโหดร้ายของโลกอย่างแท้จริงก็ได้ถูกนำออกไปเสียหมด 



ถ้าหากจะให้เห็นภาพก็คงต้องนึกถึงผลงานเรื่องก่อนหน้าของ สตีเฟ่น ซาวน์เฮม  อย่าง Sweeney Todd ปี 2007 ซึ่งถ้าหากท่านใดได้เคยสัมผัสก็คงจะทราบถึงความโหด มืดมนและหนักหน่วงของภาพยนตร์เรื่องนี้ดี ซึ่งความโหดร้าย มืดมนและหนักหน่วงนี้แหละควรจะเป็นเป้าหมายหลักที่แท้จริงของภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะ Into the Woods เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อสอนผู้ใหญ่ ไม่ใช่เด็ก ทำให้การที่ตัวภาพยนตร์เลือกที่จะตัดเนื้อหาในส่วนที่หนักหน่วง รุนแรงไม่เหมาะสมกับเด็กนี้ไป กลายเป็นว่ามันเป็นการกลับมาทำร้ายตัวเอกลักษณ์และโอกาสที่สำคัญที่สุดของตนเองไปซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่น่าเสียดายที่สุดสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้ว Into the Woods ก็ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่แย่อะไร กลับกันมันเป็นภาพยนตร์ที่บันเทิง น่าติดตาม น่าฟัง และมีเนื้อหาข้อความที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว แต่ช่างน่าเสียดายความเป็นไปได้ที่ตัวข้อความจะน่าจดจำและไปได้ลึกกว่าที่เป็นอยู่ ถ้าหากความเป็นไปได้นี้ไม่ถูกขัดขวางด้วยการยัดใส่มือผู้ชมใน 15 นาทีสุดท้าย และการเลือกตัดเนื้อหารุนแรงที่ควรจะเป็นเอกลักษณ์อย่างแท้จริงของภาพยนตร์ออกไป

Final Score : [ B  ] 

วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

Night At the Museum : Secret of the Tomb ( 2014 ) Movie Review

Night at the Museum : Secret of the Tomb ( 2014 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"ถึงแม้ว่า Secret of the Tomb จะไม่ใช่การจบภาพยนตร์ชุด Night at the Museum อย่างสวยงามนัก แต่อย่างน้อยผลที่ออกมาก็น่าประทับใจกว่าที่คาดคิดไว้มากทีเดียว"


  Night at the Museum เป็นภาพยนตร์ชุดที่เกิดขึ้นมาด้วยภายใต้คำถามง่ายๆที่ว่า "จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากทุกสิ่งทุกอย่างในพิพิธภัณฑ์มีชีวิตขึ้นมา ?" ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นคำถามที่ง่ายดายแต่กลับน่าสนใจและน่าค้นหามิใช่น้อย ยิ่งข่าวร้ายที่นักแสดงชื่อดังอย่าง โรบิน วิลเลียมส์ ได้จากเราไปเมื่อปีที่แล้วโดยทิ้งผลงานภาพยนตร์เรื่องนี้เอาไว้เป็นเรื่องเกือบสุดท้ายก็ยิ่งทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีคุณค่าขึ้นมาไม่มากก็น้อย  ถึงแม้ว่าตัวผู้เขียนเองจะไม่ใช่แฟนตัวยงของภาพยนตร์ชุดนี้ซักเท่าไรนัก 


โดยในภาค Secret of the Tomb ก็ยังคงเรื่องราวเดิมของตัวละครเอกแลร์รี่ซึ่งมีอาชีพเป็นยามเฝ้าพิพิธภัณฑ์ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างจะมีชีวิตขึ้นมาในตอนกลางคืน แต่อยู่มาวันหนึ่งเขากลับพบว่าพลังอำนาจที่ทำให้ทุกสิ่งในพิพิธภัณฑ์มีชีวิตขึ้นมากำลังจะหมดไป เขาจึงต้องหาทุกวิถีทางในการฟื้นคืนอำนาจนี้ให้กลับมาอีกครั้ง



Night at the Museum : Secret of the Tomb ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่โชคดีพอสมควร เนื่องจากการที่ได้ตัวผู้กำกับท่านเดิมจากทั้งสองภาคก่อนหน้าอย่าง ชอว์น เลวี่ มาทำหน้าที่กำกับ เพราะนอกจากการที่เขาจะคุ้นเคยกับเรื่องราวและวิธีการเล่าเรื่องราวของ Night at the Museum ออกมาแล้ว การที่ตัวเขาได้ไปกำกับผลงานภาพยนตร์แอ็คชั่นอย่าง Real Steel ก็เรียกได้ว่ายิ่งเพิ่มประสบการณ์ในการกำกับของเขาเข้าไปอีก 


ซึ่งประสบการณ์นี้ก็ดูจะนำมาใช้ได้ผลกับในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะการกำกับฉากต่อสู้ฉากหนึ่่งในภาพยนตร์ที่นอกจากจะน่าตื่นเต้นแล้วยังเป็นฉากต่อสู้ที่กำกับได้ดีเลยทีเดียว และการใช้ตัวละครรวมถึงอารมณ์ขันของ Night at the Museum ให้เป็นประโยชน์ก็เป็นอะไรที่ฉลาดไม่ใช่น้อย นอกจากนั้นแล้วฉากขยี้อารมณ์ในบางช่วงเขาก็ทำได้ไม่เลวเลย โดยเฉพาะฉากไคลแมกซ์ซึ่งค่อนข้างน่าประทับใจเหนือคาดอยู่เหมือนกันสำหรับตัวผู้เขียน




น่าเสียดายที่ตัวภาพยนตร์ก็ดันมาประสบปัญหากับทางด้านบทภาพยนตร์ของตัวเองซึ่งไม่ค่อยจะมีอะไรให้เล่ามากมายซักเท่าไรนัก ซ้ำร้ายบางด้านที่พยายามนำเสนอให้กับผู้ชมก็ดันไม่น่าสนใจเอาเสียเลย เฉกเช่นที่มาและเหตุผลของพลังที่ทำให้ทุกสิ่งอย่างในพิพิธภัณฑ์มีชีวิตขึ้นมา เนื่องจากเรื่องราวในส่วนนี้ค่อนข้างจะซ้ำซากและเหตุผลรองรับที่เบาบาง


ส่วนในด้านของตัวละครนั้น ผลก็ค่อนข้างจะผสมปนเปกันไป ที่น่าพูดถึงก็คือตัวละครใหม่อย่างอัศวิน เซอร์ ลานซล๊อต ที่ตัวภาพยนตร์นำมาผูกกับเนื้อเรื่องได้อย่างน่าสนใจ นอกจากนั้นด้วยฉากต่อสู้อันน่าตื่นเต้นของตัวละครนี้ก็ยิ่งทำให้น่าติดตามเข้าไปอีก 



แต่ในอีกด้านหนึ่ง ตัวละครบางตัวในภาพยนตร์ ก็อยู่ในขั้นย่ำแย่พอสมควร เพราะนอกจากตัวละครเหล่านี้จะไม่น่าติดตามแล้วยังพาเอารู้สึกน่ารำคาญอีกด้วย ซึ่งตัวละครเหล่านี้ก็คือ ยามเฝ้าพิพิธภัณฑ์อังกฤษ ทิลลี่ ซึ่งพยายามโยนมุขอันแสนน่ารำคาญอยู่ตลอดเวลา กับตัวละครยุคดึกดำบรรพ์ ลาร์ ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนมุขอันไร้ปัญญาทั้งหลายของภาพยนตร์ และการที่ตัวภาพยนตร์จับสองตัวละครนี้มาอยู่ด้วยกันก็ยิ่งทวีคูณความน่ารำคาญเข้าไปอีก



สุดท้ายแล้วที่น่าสนใจไม่ใช่น้อยก็คือข้อความที่ตัวภาพยนตร์พูดถึง ซึ่งก็พูดถึงประเด็นของการเปลี่ยนแปลงของหลายสิ่งอย่างในทางที่เราไม่อาจคาดถึง ไม่ว่าจะเป็นโลกอันไร้ซึ่งอาณาจักรคาเมล็อตของ เซอร์ ลานซล๊อต , การสูญเสียพลังของหุ่นในพิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงการเลือกทางเดินด้วยตนเองของตัวละคร นิค ลูกชายแลร์รี่ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจทีเดียว น่าเสียดายที่ตัวภาพยนตร์ยังขยี้ประเด็นและยังให้เหตุผลได้ไม่หนักเพียงพอที่จะทำให้บทสรุปนี้น่าจดจำซักเท่าไรนัก แต่ความพยายามนี้ก็ถือว่าน่าชมเชยทีเดียว 


ในท้ายที่สุด Secret of the Tomb ก็อาจจะไม่ใช่การจบชุดภาพยนตร์ที่สวยงามน่าจดจำซักเท่าไรนัก ด้วยตัวผู้กำกับ ชอว์น เลวี่ ซึ่งยังขยี้ประเด็นที่พยายามพูดถึงได้ไม่หนักพอที่จะทำให้จุดเด่นเหล่านี้น่าจดจำเท่าที่ควร รวมถึงตัวละครบางตัวซึ่งค่อนข้างจะน่ารำคาญ แต่อย่างน้อยตัวภาพยนตร์ก็ยังคงมีตัวละครบางตัวที่น่าติดตาม การกำกับฉากแอ็คชั่นที่ยอดเยี่ยม ฉากไคลแมกซ์อันน่าจดจำ และประเด็นที่น่าสนใจถึงแม้ว่าจะยังไปไม่สุดก็ตาม ทำให้ Night at the Museum : Secret of the Tomb เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเลยทีเดียวในการชมภาพยนตร์ครอบครัวซักเรื่องหนึ่ง


Final Score : [ B ] 

วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

Taken 3 ( 2015 ) Movie Review

Taken 3  ( 2014 )  บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"ไม่น่าเชื่อเลยว่าอาถรรพ์เดือนมกราคมแห่งภาพยนตร์ฮอลลีวูดจะพัฒนาจากแค่ภาพยนตร์สยองขวัญ มาสู่ภาพยนตร์แอ็คชั่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว"


   ป็นเรื่องที่น่าแปลกใจพอสมควร เมื่ออยู่ดีๆก็มีข่าวคราวของภาพยนตร์แอ็คชั่นภาคต่ออย่าง Taken 3 โผล่ขึ้นมาตอนปลายปี 2014 ทั้งๆที่ตัวภาคที่แล้วใน Taken 2 ก็ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างจะแย่ นอกจากนั้นแล้วทางค่ายยังตัดสินใจในการใช้ผู้กำกับท่านเดิมซึ่งก็คือ โอลิเวียร์ เมกาตัน อีกด้วย 


ยังไม่รวมถึงการที่ทางค่ายตัดสินใจนำตัวภาพยนตร์เข้าฉายในเดือนมกราคมของปีก็เป็นลางที่ไม่ค่อยจะดีซักเท่าไรนักสำหรับภาพยนตร์ฮอลลีวูด เพราะภาพยนตร์ฮอลลีวูดส่วนใหญ่ในเดือนมกราคมมักจะเต็มไปด้วยภาพยนตร์ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพมากนัก ซึ่งเราจะเห็นหลักฐานได้ชัดจากภาพยนตร์แนวสยองขวัญหลายปีที่ผ่านมาอย่างเช่น The Devil Inside , Texas Chainsaw 3D หรือ Paranormal Activity: The Marked Ones และอื่นๆอีกมากมาย 


แต่ดูเหมือนตอนนี้มีภาพยนตร์อีกประเภทหนึ่งที่กำลังจะเข้าไปร่วมแชร์ประสบการณ์ความเลวร้ายแห่งเดือนมกราคมนี้ด้วย ซึ่งนั้นก็คือภาพยนตร์แอ็คชั่นจากตัวอย่างหายนะปีที่ผ่านมาอย่าง The Legend of Hercules และ I, Frankenstein 
ซึ่งลางร้ายทั้งหลายทั้งมวลที่ส่อแววท่าจะไม่รอดนี้ ก็ดูเหมือนจะได้เกิดขึ้นจริงกับภาพยนตร์ Taken 3 เสียแล้ว


ไม่ว่าจะเป็นบทภาพยนตร์ที่ไม่ได้มีความตั้งใจในการเขียนออกมาซักเท่าไรนัก เพราะมันเต็มไปด้วยความซ้ำซาก ปราศจากซึ่งความลึกและความสร้างสรรค์ในตัวบท ยิ่งผนวกกับการเล่าเรื่องของผู้กำกับ โอลิเวียร์ เมกาตันที่พยายามสับขาหลอกผู้ชมไปมาเพื่อปกปิดความซ้ำซากของบทภาพยนตร์ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะปัญหาก็คือมุขและเล่ห์กลต่างๆที่เขาใช้นั้นถูกใช้โดยภาพยนตร์เรื่องอื่นๆมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง  แถมสิ่งที่ตัวเขาพยายามซ่อนไว้เราก็จับได้แทบจะทุกครั้งไป 


ที่เหลวแหลกเข้าไปอีกก็คือการกำกับฉากแอ็คชั่นของโอลิเวียร์ เมกาตัน ซึ่งเต็มไปด้วยเทคนิคการตัดต่อทุกครึ่งวินาที และการใช้เทคนิคสั่นกล้องหรือ Shakycam เพื่อทำให้ฉากแอ็คชั่นดูน่าตื่นเต้นขึ้น แต่ผลที่ได้กลับเป็นฉากแอ็คชั่นที่ดูไม่รู้เรื่องเพราะการตัดที่รวดเร็วเกินไปรวมถึงเทคนิคการสั่นกล้องที่ให้ความรู้สึกน่ารำคาญมากกว่าตื่นเต้น ซึ่งเทคนิคการกำกับเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนอดที่จะนึกถึงผู้กำกับอย่าง พอล ดับเบิลยู. เอส. แอนเดอร์สัน ไม่ได้เลยทีเดียวและแน่นอนว่านี้ไม่ใช่คำชมแน่ๆ


สิ่งที่น่าตกใจอีกอย่างก็คือการออกแบบฉากแอ็คชั่นอันปราศจากซึ่งการใช้ความคิดแต่อย่างใดทั้งๆที่ Taken ภาคก่อนหน้าทั้งสองภาคมักจะมีฉากเหล่านี้ปรากฏให้เห็นอยู่ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นฉากไล่ล่าหรือฉากการต่อสู้ที่เหมือนลอกมาจากตำราเรียน เปะๆไม่มีความสร้างสรรค์หรือใช้เทคนิคมาประยุกต์ใหม่แต่อย่างใดซึ่งเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ฉากแอ็คชั่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อนข้างจะจืดชืด


แต่สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ดิ่งลงเหวลึกที่สุด ก็คือการปราศจากซึ่งตรรกะและเหตุผลใดๆ ตั้งแต่ตัวพระเอก เลียม นีสันที่ในตอนนี้เปรียบเสมือนพระเจ้าลงมาเดินดินด้วยตัวเอง ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้เขาตายได้ ไม่มีใครสามารถต่อกรกับเขาได้ เมื่อเขาอยากจะตามล่าใครก็ไม่มีใครหนีเขาพ้น เขาอยากจะถูกจับตอนไหนก็ได้เพราะสุดท้ายเขาก็หนีพ้นอยู่ดี รวมถึงเขายังสามารถล่องหนได้ทุกที่ทุกเวลาเมื่อใดก็ได้อีกด้วย นี้ยังไม่รวมถึงฉากแอ็คชั่นที่ละเมิดทุกเหตุผลและความเชื่อใดๆเสมือนกับความคิดเด็กอ่อนหัดที่พยายามสร้างฉากแอ็คชั่นให้ดูเท่ห์ที่สุดและหายนะที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่ได้ใส่ใจซึ่งเหตุผลที่จะมารองรับฉากเหล่านั้นแต่อย่างใด


ทำให้ในท้ายที่สุด Taken 3 ก็กลายเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ภาคต่อที่ยิ่งพาตัวภาพยนตร์ชุดนี้ดิ่งลงเหวลึกเข้าไปยิ่งกว่าเดิม ตั้งแต่บทภาพยนตร์อันซ้ำซาก การเล่าเรื่องและกำกับฉากแอ็คชั่นของผู้กำกับ โอลิเวียร์ เมกาตันที่ยังไร้ประสบการณ์ ที่หนักสุดก็คือความปราศจากซึ่งตรรกะและเหตุผลใดๆของตัวภาพยนตร์ที่ทำให้เราไม่สามารถที่จะจริงจังหรือไปถือสาอะไรกับมันได้เลย ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่าอาถรรพ์แห่งเดือนมกราคมฮอลลีวูดได้ลามมาถึงภาพยนตร์แอ็คชั่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และภาพยนตร์อย่างเช่น The Legend of Hercules ,  I, Frankenstein หรือ Taken 3 ก็เป็นภาพยนตร์ที่จะคอยตอกย้ำเตือนเราถึงความจริงนี้อยู่เรื่อยไป


Final Score  : [ D ]

วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2558

Roaring Currents .aka. Myeong-ryang ( 2014 ) Movie Review

Roaring Currents .aka. Myeong-ryang ( 2014 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"ถึงแม้ว่า Roaring Currents จะล้มเหลวอย่างแทบจะสิ้นเชิงในด้านของบทภาพยนตร์ ตัวละคร และการกำกับของ ฮานมินคิม แต่ด้วยฉากสงครามอันน่าตื่นเต้นและสร้างสรรค์ในท้ายเรื่องก็พอที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สอบผ่านไปได้อย่างเฉียดฉิว"


    ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมากพอตัวสำหรับตัวผู้เขียนเองที่ได้มาพบเจอภาพยนตร์เกาหลีใต้หันมาทำแนวภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ สงคราม เพราะโดยปกติเราจะไม่ค่อยเห็นภาพยนตร์เกาหลีใต้หันมาทำแนวนี้ซักเท่าไรนัก ด้วยเหตุผลนี้เองผู้เขียนจึงรู้สึกสนใจในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นพิเศษ


สิ่งที่สำคัญในภาพยนตร์ประวัติศาสตร์นั้นมีมากมายหลายสิ่ง แต่สิ่งที่เรียกได้ว่าสำคัญมากที่สุดเลยก็คือการห่ำหั่นกันของแต่ละฝ่ายซึ่งก็ต้องหนีไม่พ้นบทภาพยนตร์ในส่วนของประวัติศาสตร์สงครามระหว่าง เกาหลีกับญี่ปุ่น ที่จะไปสนับสนุนเรื่องราวของแต่ละฝ่าย


แต่น่าเสียดายที่ในจุดนี้ค่อนข้างจะล้มเหลวไม่เป็นท่าอยู่พอสมควร ถึงแม้ว่าตัวภาพยนตร์จะได้นักแสดงนำมากฝีมืออย่าง ชอยมินชิก ซึ่งเคยฝากผลงานอันน่าประทับใจอย่าง Oldboy ( 2003 ) ต้นฉบับ และยังไปร่วมแสดงในภาพยนตร์ Hollywood อย่าง Lucy ( 2014 ) ก็ตาม นั้นก็ดูจะไม่ช่วยอะไรมากเท่าไรนัก


เพราะปัญหาอันใหญ่หลวงของภาพยนตร์เรื่องนี้เลยก็คือตัวบทภาพยนตร์เอง ซึ่งถูกขัดเกลามาไม่ค่อยจะละเอียดเท่าไรนัก ตั้งแต่เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ดันถูกถ่ายทอดออกมาลวกๆ ให้รายละเอียดที่น้อย ยันตัวละครต่างๆที่ไม่ค่อยจะน่าสนใจหรือน่าเอาใจช่วยเท่าไรนักเพราะแต่ละตัวละครก็ถูกเขียนมาแบบลวกๆ ซ้ำซากและเดาง่าย


ที่หนักที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นตัวละครร้าย ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือฝ่ายญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าตัวภาพยนตร์จะพยายามประเคนฉากและมุมกล้องสุดเท่ห์จำนวนมากเพื่อให้ตัวละครนี้ดูร้ายกาจซักเท่าไรก็ตาม ตัวบทภาพยนตร์เองก็ไม่ได้สนับสนุนความร้ายกาจนั้นไปด้วยเลย เพราะเมื่อถึงเวลาเอาเข้าจริงตัวละครเหล่านี้ก็ไม่ได้เก่งกาจเท่ากับที่ตัวภาพยนตร์ได้โม้เอาไว้เลยแม้แต่น้อย ซ้ำเหตุผลของตัวละครร้ายเหล่านี้ก็เป็นเหตุผลที่ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆใช้กันมาแล้วไม่รู้กี่ล้านรอบแถมบางเรื่องยังให้ความหนักแน่นได้ดีกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เสียอีก ซ้ำร้ายตัวละครเหล่านี้ยังจะถูกพูดถึงในรูปแบบของสัตว์ประหลาด ชั่วช้าสามานไม่มีความเป็นมนุษย์ใดๆเลยเสียอีก ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากภาพยนตร์ Hollywood บางเรื่องที่กระทำต่อตัวละครเยอรมันเลยแม้แต่น้อย


อีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อทิศทางของภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมาก ก็คือผู้กำกับ ฮานมินคิม  ซึ่งในด้านของการกำกับจัดได้ว่าเข้าขั้นแย่พอตัว เพราะหลายๆครั้งตัวเขาเองพยายามกำกับไปเน้นให้ฉากหรือตัวละครดูเท่ห์มากเกินไป  เอะอะทีก็ต้องให้ตัวละครพูดประโยคเท่ห์ๆทีหรือมุมกล้องหล่อๆที ทั้งที่ตัวบทและการเล่าเรื่องของเขาเองก็ไม่ได้แข็งแรงหรือมีชั้นเชิงมากพอที่จะทำให้ผู้ชมเชื่อถึงน้ำหนักในตัวละครเหล่านี้ได้เพียงพอ นี้ยังไม่นับถึงการกำกับฉากต่อสู้แบบเล็กในช่วงต้นเรื่องที่ตัดเร็วจนมั่วซั่วดูไม่รู้เรื่องไปหมด 


แต่ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น พอตัวเขาสลับมากำกับฉากต่อสู้แบบใหญ่เช่นสงครามในช่วงท้ายเรื่อง ฝีมือการกำกับของเขาก็เฉิดฉายขึ้นมาเลยทันที อาจจะไม่ได้เก่งกาจ ช่ำชองขนาดชนิดที่สามารถรับมือกับฉากต่อสู้หลายสถานการณ์ในเวลาเดียวกันได้อย่างผู้กำกับจีนแผ่นดินใหญ่อย่าง จอห์น วู แต่ก็เก่งพอที่จะกำกับฉากสงครามต่างๆให้น่าสนใจได้ ด้วยการออกแบบฉากรบทางเรือที่สร้างสรรค์ ผสมเข้าไปกับการแผนการรบต่างๆ จนไปถึงการใช้บทภาพยนตร์เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของฉากสงครามนี้และยังใช้มันหลอกล่อผู้ชมให้ลุ้นระทึกไปได้อีกด้วยซึ่งเป็นอะไรที่น่าทึ่งทีเดียว ถึงแม้ว่าฉากสงครามแทบจะทั้งหมดเรียกได้ว่าค่อนข้างจะเหนือจริงและหลุดโลกพอสมควร แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ผู้เขียนลืมเรื่องบทอันย่ำแย่ในช่วงต้นเรื่องไปได้บ้าง


ในท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า Roaring Currents ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบแต่อย่างใด ที่จริงแล้วตัวภาพยนตร์ยังห่างไกลจากคำนั้นอยู่มาก แต่อย่างน้อย Roaring Currents ก็เป็นภาพยนตร์สงครามจากประเทศเกาหลีใต้ที่ไม่ได้ถึงขั้นเลวร้ายไปเสียทุกอย่าง ถึงแม้ว่าตัวภาพยนตร์จะล้มเหลวแทบจะสิ้นเชิงในด้านของบท ตัวละคร และการกำกับของ ฮานมินคิม แต่ด้วยฉากสงครามอันน่าตื่นเต้นและสร้างสรรค์ในท้ายเรื่องก็พอที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สอบผ่านไปได้อย่างเฉียดฉิว


Final Score : [ C  ] 

วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

Stand by Me Doraemon ( 2014 ) Movie Review

Stand by Me Doraemon ( 2014 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz




"การนำการ์ตูนสองมิติที่อยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลกมาปรับให้เข้ากับโลกภาพยนตร์แบบสามมิติได้อย่างยอดเยี่ยมเสมือนฝันคือสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จมากที่สุด"


   ถ้าหากพูดถึงการ์ตูนซักเรื่องหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลกมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานและไม่ว่าเราจะเติบโตไปตามการเวลาซักเท่าไร ก็ไม่เคยที่จะลืมไปได้เลย ก็ต้องหนีไม่พ้นการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง โดราเอมอน ของ ฟูจิโอะ เอฟ ฟูจิโกะ อย่างแน่นอน 


ยิ่งโดยเฉพาะคนไทยหลายๆท่าน(รวมถึงตัวผู้เขียนเอง)ที่เรียกได้ว่าน่าจะผูกพันธ์กับการ์ตูนเรื่องนี้เป็นพิเศษจากการเติบโตมากับการ์ตูนเรื่องนี้ ตั้งแต่อ่านการ์ตูนแบบเล่มจนถึงดูการ์ตูนที่ฉายตามช่องทีวีช่วงเช้า นี้ยังไม่นับโดราเอมอนฉบับโรงภาพยนตร์อีกมากมายหลายเรื่องที่ก็น่าจดจำไม่แพ้กับตัวการ์ตูนต้นฉบับและปัจจุบันนี้ก็ยังมีการนำภาพยนตร์ฉบับเก่ากลับมาปรับปรุงกราฟฟิคและนำมาฉายอยู่เรื่อยๆ อย่างเรื่องล่าสุดก็คือ "โดราเอมอน เดอะมูฟวี่ โนบิตะบุกดินแดนมหัศจรรย์ เปโกะกับห้าสหายนักสำรวจ" ที่เพิ่งจะเข้าฉายในประเทศไทยไปในช่วงตุลาคมปีที่แล้วนี้เอง



สำหรับตัวผู้เขียนเองแล้ว สิ่งที่รู้สึกน่าเป็นห่วงที่สุดในการสร้างภาพยนตร์ Stand by Me Doraemon  ก็คือการตัดสินใจในการสร้างออกมาเป็นอนิเมชั่นรูปแบบสามมิติแทนที่จะเป็นแค่สองมิติแบบโดราเอมอนฉบับโรงภาพยนตร์ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้แล้ว นี้เป็นการตัดสินใจที่เรียกได้ว่าเสี่ยงพอสมควร เพราะถ้าหากสร้างออกมาไม่ดี เช่นการเคลื่อนไหวและอารมณ์ของตัวละครแปลกประหลาดไป งานนี้ก็คงจะไม่มีใครอยากจดจำภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแน่แท้



แต่พอผู้เขียนได้ชมตัวภาพยนตร์เพียงไม่กี่นาที จุดที่น่าเป็นห่วงจุดนี้ก็หายไปทันที เพราะว่านอกจาก Stand by Me Doraemon จะสร้างอนิเมชั่นโดราเอมอนแบบสามมิติได้อย่างลื่นไหลและยอดเยี่ยมเสมือนตัวละครหลุดออกมาจากโลกโดราเอมอนจริงๆแล้ว พวกเขาก็ยังนำข้อได้เปรียบของอนิเมชั่นสามมิตินั้นก็คือมุมมองอันกว้างขวางมาใช้ในฉากต่างๆในภาพยนตร์ได้อย่างดีเยี่ยม นี้ยังไม่นับถึงสีสันอันสดใสและการออกแบบฉากต่างๆที่น่ามองของทีมงานจนเรียกได้ว่าผู้เขียนไม่เคยเห็นโลกการ์ตูนโดราเอมอนในแบบนี้มาก่อน ถึงแม้ว่าบางฉากบางตอนอาจจะแอบใส่โฆษณาแฝงเยอะไปหน่อยก็ตาม 


ในด้านของตัวบทภาพยนตร์เองต้องพูดก่อนเลยว่าถ้าหากเป็นแฟนโดเรมอนอยู่แล้ว ก็น่าจะเคยได้ผ่านหูผ่านตาบทบางส่วนมาบ้างแล้วอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าหากท่านหวังที่จะได้ชมบทอันแปลกใหม่ก็คงจะมีผิดหวังกันบ้าง แต่นั้นก็ดูจะไม่ได้ทำให้ตัวภาพยนตร์น่าติดตามน้อยลงเลย ส่วนหนึ่งก็มาจากความฉลาดในการสับเปลี่ยนเป้าหมายของตัวละครไปมา จนเสมือนเราผจญภัยไปกับสองตัวละครหลักถึงแม้ว่าเป้าหมายอาจจะเป็นที่เดิมๆแต่ก็ยังน่าทึ่งอยู่ดี


ในด้านของการเล่าเรื่องโดยส่วนใหญ่ผู้กำกับทั้งสองคนคือ ทาคาชิ ยามาซากิ กับ  ริวอิชิ ยากิ ก็ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีแล้ว แต่ผู้เขียนรู้สึกติดใจกับการตัดสินใจในการเล่าเรื่องบางส่วนของพวกเขาอยู่เหมือนกัน


โดยเฉพาะในช่วงที่ภาพยนตร์กำลังตัดเข้าสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ของโนบิตะกับโดเรมอนด้วยสถานการ์ต่างๆเช่นโนบิตะโดนแกล้งบ้าง โนบิตะสอบตกบ้าง ฉากเหล่านี้เหมือนแทบจะถูกกดปุ่มข้ามไปอย่างรวดเร็วด้วยการเล่าเรื่องที่เร็วพอสมควรจนแทบจะไม่ได้ซึมซับถึงความสัมพันธ์ของสองตัวละครนี้ซักเท่าที่ควร ซึ่งก็พอที่จะเข้าใจได้ถ้าหากทั้งสองผู้กำกับตั้งเป้าเอาไว้แล้วว่า Stand by Me Doraemon จะเป็นภาพยนตร์ที่แฟนๆการ์ตูนมาชมกัน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องอธิบายถึงความสัมพันธ์ของสองตัวละครหลักอะไรมากมาย 



แต่ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าทำไมถึงจำเป็นจะต้องเล่าเรื่องการพบเจอกันครั้งแรกของสองตัวละครหลักในตอนต้นเรื่องด้วย เพราะในเมื่อตั้งความคิดเอาไว้แล้วว่าผู้ที่มาชมภาพยนตร์จะเป็นแฟนๆการ์ตูนซึ่งก็คงจะรู้เนื้อเรื่องทะลุปรุโปร่งอยู่แล้ว และถ้าหากจะเริ่มแบบเดียวกับฉบับภาพยนตร์สองมิติที่สองตัวละครอยู่ด้วยกันมาซักพักแล้วก็ไม่ได้แปลกประหลาดอะไรสำหรับแฟนการ์ตูน ถึงแม้ว่าจะมีการใส่ปมขัดแย้งและเหตุของเรื่องเข้ามาให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยฉากๆนี้ แต่ผู้เขียนก็ยังรู้สึกว่าฉากนี้ถูกใส่มาเพื่อคนที่ไม่เคยรู้จักการ์ตูนเรื่องนี้มาก่อนเลย เพื่อเป็นการแนะนำตัวละครสองตัวนี้เสียมากกว่าเสมือนจับปลาสองมือจนทำให้สับสนว่าจะเอาตัวไหนกันแน่  ยังไม่รวมถึงช่วงคลี่คลายปมปัญหาในช่วงตอนท้ายเรื่องที่ให้ความรู้สึกเร่งรีบมากเกินไปจนทำให้ไม่รู้สึกทรงพลังเท่าที่ควรก็เป็นอีกสิ่งที่น่าเสียดายเช่นกัน



ในท้ายที่สุด Stand by Me Doraemon ก็เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเนรมิตโลกของโดราเอมอนในแบบที่ผู้เขียนไม่เคยได้พบเห็นมาก่อน โดยเฉพาะการนำจุดเด่นของอนิเมชั่นสามมิติมาใช้ได้อย่างยอดเยี่ยมแต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นโดราเอมอนที่เราคุ้นเคย ถึงแม้ว่าตัวภาพยนตร์อาจจะขับเคลื่อนไปพบหลุมระหว่างทางอย่างเช่นการเล่าเรื่องอยู่บ้าง แต่นี้ก็ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่แฟนๆการ์ตูนโดราเอมอนทุกคนหรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไปไม่ควรพลาดอย่างแน่นอน

Final Score : [ B + ] & [ Must See Badge ]

วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2558

Birdman (2014) Movie Review

Birdman (2014)  บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"Birdmanไม่ใช่แค่เสียดสีสังคมอเมริกันอย่างชาญฉลาดเท่านั้น มันยังถ่ายทอดออกมาด้วยวิธีอันน่าทึ่งหาใครเปรียบได้ยากอีกด้วย"

                        ต้องเรียกได้ว่า การแข่งขันชิงรางวัลเทศกาลภาพยนตร์ทั้งหลายที่ใกล้เข้ามาปีนี้ดุเดือดทีเดียว ตั้งแต่ตัวเต็งอย่าง Boyhood หรือ Whiplash ก็ยังมีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่กำลังมาแรงในเวทีรางวัลเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คงจะหนีไม่พ้น Birdman ของผู้กำกับ Alejandro González Iñárritu เจ้าของผลงานอย่าง Babel (2006) และ Biutiful (2010) อย่างแน่นอน



สิ่งหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เตะตาผู้เขียนมากที่สุดตั้งแต่ต้นจนจบเลย ก็คือการตัดต่อและเคลื่อนไหวกล้องอันสุดแสนจะลื่นไหล มันลื่นไหลขนาดที่ว่าผู้เขียนไม่สามารถที่จะหาจุดที่ตัดต่อแบบชัดเจนร้อยเปอร์เซนต์ได้เลย

ยิ่งผนวกกับอีกจุดเด่นของตัวภาพยนตร์ซึ่งก็คือจำนวนฉากถ่ายยาว Long Take ที่เรียกได้ว่าทั้งเรื่อง แถมยังไม่มีช่วงเวลาใดที่รู้สึกว่าติดขัดหรือหลุดออกจากตัวภาพยนตร์เลยก็ยิ่งทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าทึ่งเข้าไปอีก

ส่วนใหญ่ๆก็ต้องขอชมนักแสดงทุกคนที่เล่นกันโดยไม่มีติดขัดใดๆเลยซึ่งแสดงให้เห็นถึงฝีมือการแสดงทางฉาก Long Take อันยอดเยี่ยมของพวกเขาเป็นอย่างดี
ในด้านของบทภาพยนตร์ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ด้วยความที่มันเสียดสีสังคมวัตถุนิยมและค่านิยมต่างๆของสังคมได้อย่างเจ็บแสบ  



เมื่อพูดถึงค่านิยมแล้วแน่นอนว่าก็ต้องมีในโลกภาพยนตร์เช่นกัน ซึ่ง Birdman กนำจุดนี้มาเล่นกับผู้ชมเยอะอยู่พอสมควรจนแทบจะกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของเรื่องเลยทีเดียว อย่างเช่นตัวละครเอกที่ตัวภาพยนตร์ทิ้งคำถามถึงพลังของเขาให้คิด หรือมุขตลกที่ล้อถึงพลังของผู้ชมในการเปลี่ยนแปลงทิศทางของสื่อและความอยากรู้อยากเห็นของผู้ชม

ที่โดนหนักที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นสังคมอเมริกันและโดยเฉพาะภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ที่มีให้เห็นกันแทบจะทุกเดือน น่าเสียดายที่ในจุดนี้ตัวภาพยนตร์ยังเล่นได้ไม่หนักเท่าที่ควรนักถึงแม้ว่าจะย้ำถึงจุดนี้ตลอดเวลาแต่ตอนเนื้อสำคัญจริงๆก็ปาเข้าไปเกินครึ่งเรื่องแล้ว


ที่น่าสนใจก็คือการเสียดสีของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่แค่จากมุขตลกอันเจ็บแสบเท่านั้น แต่ยังมาจากความเหนือจริงของมันด้วยเช่นกันเนื่องจากตัวภาพยนตร์แทบจะไม่ได้ใส่ใจอะไรกับความสมเหตุสมผลของตัวเอง ตัวมันจึงนำจุดๆนี้มาล้อเลียนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นอะไรที่บันเทิงไม่ใช่น้อย

คำถามที่น่าค้นหามากๆในภาพยนตร์เรื่องนี้เลยก็คือ เป็นตัวละครหรือผู้ชมกันแน่ที่เป็น Birdman ตัวจริง เพราะด้วยเทคนิคการถ่ายทำและเนื้อหามันทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้เสียจริง



ในท้ายที่สุด Birdman ก็เป็นภาพยนตร์แห่งปี 2014 ที่ยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่งถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้เต็มไปด้วยพลังอย่าง Whiplash หรือเต็มไปด้วยความทรงจำแบบ Boyhood แต่ด้วยการเสียดสีสังคมวัตถุนิยมและค่านิยมได้อย่างน่าสนใจที่สำคัญเลยก็คือเทคนิคการถ่ายทำ ตัดต่อและฉาก Long Take อันน่าทึ่งก็ทำให้ยากที่จะลืมภาพยนตร์เรื่องนี้ลงได้


Final Score: A - [ Must See Badge ]