วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

Paddington ( 2015 ) Movie Review

Paddington ( 2015 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"การผจญภัยของหมีน้อยน่ารัก ท่ามกลางป่าผู้ดีที่มีชื่อว่าลอนดอน"


 ม่แน่ใจว่าเป็นความบังเอิญหรืออย่างไร ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้ามาฉายในช่วงนี้ หลังจากที่เราได้ติดภาพตัวละครหมีน้อยที่อยู่ในลักษณะหยาบโลน ทะลึ่งจากในภาพยนตร์อย่าง Ted ( 2012 ) ที่กำลังจะเข้าฉายภาคที่สองในปีนี้
ถึงแม้ว่าตัวละครอย่างแพดดิงตันน่าจะมาก่อนอย่างเห็นได้ชัด จากการที่ตัวละครนี้มีต้นฉบับมาจากหนังสือตั้งแต่ปี 1958 ของไมเคิล บอนด์ และถูกนำมาใช้เป็นทีวีซีรียส์หลายต่อหลายครั้ง

Paddington เป็นภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเจ้าหมีแพดดิงตั้นซึ่งเดินทางจากป่าลึกในเปรูมาถึงเกาะอังกฤษ ด้วยภารกิจการตามหานักสำรวจที่เคยพบกับญาติๆของเขา แต่ระหว่างนั้นเองเขาก็ได้พบกับครอบครัวบราวน์ที่จะนำพาเขาไปสู่การผจญภัยอันน่าตื่นเต้น



ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยสีสัน มีชีวิตชีวา และน่าติดตามเสียจริงเชียว ตั้งแต่การออกแบบฉาก ตัวละคร หรือการใช้โทนสีต่างๆในฉากที่ออกแบบมาได้อย่างน่าทึ่ง สวยงามตระการตา และน่ามองเป็นที่สุด ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องขอชมผู้กำกับภาพ อีริค วิลสัน และ ผู้ออกแบบโปรดัคชั่นอย่าง แกรี่ วิลเลี่ยมสัน ที่เนรมิตลอนดอน และบ้านของครอบครัวบราวน์ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง


ในด้านของผู้กำกับหน้าใหม่อย่าง พอล คิง ที่ผันตัวจากการกำกับทีวีซีรียส์ มากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สอง เขาก็ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมมากทีเดียว ด้วยการเล่าเรื่องอันสนุกสนาน น่าติดตาม และเขายังโอบอ้อมความโอเวอร์ เหนือจริงในแบบหนังสือการ์ตูน หรือ มิวสิควิดีโอ มาใช้ได้อย่างชาญฉลาด ในจำนวนที่กำลังพอดี ไม่มากจนล้น ซึ่งทำให้เกิดมุขตลกชวนขำที่สร้างสรรค์ได้อย่างยอดเยี่ยม ซ้ำยังผสมผสานการดำเนินเรื่องเข้ากับเพลงประกอบภาพยนตร์ได้อย่างลงตัว สร้างการเล่าเรื่องที่ลื่นไหลไม่รู้สึกติดขัดและทำให้ภาพยนตร์รู้สึกเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา


แต่ความน่าทึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ไม่ได้จบลงแค่นั้น ด้วยบทภาพยนตร์ของมันที่ก็แข็งแกร่งและน่าค้นหาไม่แพ้กัน
ตั้งแต่ตัวละครต่างๆในภาพยนตร์ เช่น ครอบครัวบราวน์ , ตัวละครร้ายที่รับบทโดยนิโคล คิดแมน และตัวละครสุดสำคัญอย่างเจ้าหมีแพดดิงตันที่น่ารัก น่าหยิกเป็นที่สุด ทุกๆตัวละครในภาพยนตร์ก็ถูกเขียนและออกแบบมาได้เป็นอย่างดี มีมิติ และบุคลิกซึ่งสอดแทรกถึงปมปัญหาในแต่ละตัวละครได้อย่างน่าสนใจ เช่น ตัวละครผู้เป็นพ่ออย่าง เฮนรี่ บราวน์ ซึ่งสะท้อนถึงความรักและภาระอันหนักหน่วงของผู้เป็นพ่อที่มีต่อครอบครัวของตน หรือ ตัวละครของนิโคล คิดแมน ที่ต้องการแก้ไขในสิ่งที่พ่อของเธอได้ทำผิดพลาดไว้





และที่สำคัญเลย ก็คือนักแสดงทุกคนในภาพยนตร์ต่างก็แสดงผลงานอย่างยอดเยี่ยมทำให้ตัวละครต่างๆดูมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น แซลลี่ ฮอว์กินส์ , ฮิวจ์ บอนเนวิล  และโดยเฉพาะ นิโคล คิดแมน ซึ่งนำแสดงบทตัวร้ายได้อย่างแสบสัน แต่กลับน่ารัก น่าติดตามเสียจริงเชียว 


ถึงแม้ว่าภายนอกของภาพยนตร์เรื่องนี้ จะดูสดใส หรือน่ารักซักเท่าใด แต่สิ่งที่ทำให้มันกลายเป็นภาพยนตร์ที่น่าจดจำมากที่สุดในต้นปี 2015 ณ ตอนนี้เลย ก็คือความที่มันสามารถสอดแทรกประเด็นอันหนักหน่วงได้อย่างยอดเยี่ยม เช่นการพูดถึงประเด็นปัญหาของคนอเมริกาใต้ที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในอังกฤษ ซึ่งพาดพึงไปถึงยุคล่าอาณานิคมของประเทศอังกฤษในสมัยก่อน และยังเสียดสีถึงสังคมผู้ดีอังกฤษที่ยกตนเหนือชนชาติและเผ่าพันธ์ุอื่นได้อย่างน่าทึ่งอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่ตัวภาพยนตร์ต้องการจะสื่อถึงก็คือ สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคนแปลกหน้าเหล่านี้จะเป็นชนชาติ(หรือเผ่าพันธุ์)อะไร ตราบใดที่เรามีความรักให้กับพวกเขา พวกเขาก็เปรียบเสมือนครอบครัวของเรานั้นเอง



ในท้ายที่สุด Paddington อาจจะเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อเรื่อง หรือบทสรุปที่ซ้ำซากไปบ้าง เฉกเช่นการมาของตัวละครใหม่ซึ่งทำให้เกิดการมารวมกันเป็นหนึ่งอีกครั้งของหลายๆตัวละครเก่า แต่นั้นก็ไม่อาจจะเทียบถึงความน่าทึ่ง และความน่าอัศจรรย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่เต็มไปด้วยสีสัน ชีวิต และสามารถถ่ายทอดเนื้อหาอันหนักหน่วงได้ดีเยี่ยม จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่อง Paddington กลายเป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัยที่คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะจูงมือบุตรหลานของตน เข้าไปชมและสามารถสนุกไปได้พร้อมๆกันอย่างแน่นอน

Final Score : [ 8.5 / 10 ]

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

Battle Royale ( 2000 ) Movie Review

Battle Royale ( 2000 )  บทวิจารณ์ภาพยนตร์ โดย FallsDownz



   Battle Royale หรือชื่อสั้นๆว่า "BR" น่าจะเป็นอีกหนึ่งชื่อภาพยนตร์ ที่ใครหลายๆคนน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี ซึ่งมันโด่งดังขนาดที่ว่า สื่อต่างๆมากมายเอาไปเป็นต้นแบบไม่ว่าจะเป็นหนังสือนวนิยาย หรือ ภาพยนตร์อย่าง The Hunger Games กระทั่งวงการเกมอย่าง Danganronpa ก็นำแนวความคิดนี้ไปใช้เช่นเดียวกัน


ซึ่งสื่อเหล่านี้มีจุดร่วมที่น่าสนใจเหมือนกันจุดหนึ่ง ซึ่งก็คือการจับกลุ่มวัยรุ่นหรือนักเรียนมารวมกันบนสถานที่ ที่ไม่อาจจะหนีไปไหนได้ อย่างโลกของเกมใน The Hunger Games และ ในโรงเรียนปิดตายใน Danganronpa ถึงแม้ว่าในแต่ละซีรียส์จะมีจุดต่างๆที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วเป้าหมายของผู้ควบคุม ก็คือให้ผู้เข้าร่วมทุกคนฆ่ากันเอง เพื่อเอาชีวิตรอด และนั้นก็คือจุดเริ่มต้นของ Battle Royale และสื่อเหล่านี้


ไม่แน่ใจว่าด้วยจำนวนฉากการฆ่าอันโหดร้าย , ตัวละครที่ตายกันแทบจะทุกนาที , ด้วยการเล่าเรื่องอันแสนจะจริงจัง เสมือนจริง หรือการสอดแทรกประเด็นอันหนักหน่วงกันแน่ ที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัดอยู่ตลอดเวลาในภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งๆที่เอาเข้าจริงเราก็ไม่ได้ใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ของตัวละครเหล่านี้ซักเท่าไร ซึ่งเป็นเรื่องแปลกเพราะตัวละครตัวหลักๆหลายตัวในภาพยนตร์ ก็ถูกปูพื้นหลังมาได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว แต่น่าจะมาจากตัวละครที่มีเยอะมาก จนเราไม่ค่อยรู้สึกอะไรกับตัวละครเหล่านี้ซักเท่าไร


แต่การที่มันทำให้เรารู้สึกตั้งคำถามต่อศีลธรรมของมนุษย์ต่างหาก ที่เป็นสาเหตุที่แท้จริง ทั้งๆที่ตัวเนื้อเรื่องก็สุดแสนจะหลุดโลก จนแทบไม่อยากจะเชื่อ คิดดูว่าถ้าหากวันหนึ่งมีกฏหมายที่จับคนมารวมกันไว้บนเกาะและสั่งให้ฆ่ากันเอง เชื่อว่าใครที่ได้ฟังแนวความคิดนี้ ก็คงจะหาว่าบ้า หรือคงอาจจะหัวเราะ... แต่ถ้าหากว่ามันเป็นไปได้ล่ะ ? นั้นก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวระหว่างชม Battle Royale อย่างไม่รู้จบ ซึ่งเสมือนเราตั้งคำถามต่อศีลธรรมของตัวละครต่างๆในเรื่อง ที่เข่นฆ่ากันอย่างกับผักปลา เราก็ไม่อาจที่จะแน่ใจว่า มนุษย์บนโลกใบนี้จะมีศีลธรรมที่ดีไปกว่าตัวละครในภาพยนตร์ซักเท่าไรเลย ยิ่งโดยเฉพาะถ้าหากเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์อันแสนโหดร้ายของมนุษย์ที่ผ่านมา ยิ่งพาให้เรากลับหันมาย้อนดูสภาวะโลกของเราปัจจุบันนี้


ที่น่าสนใจก็คือ มันมีเรื่องหนึ่งที่ Into the Woods พูดได้อย่างคล้ายคลึงกับ Battle Royale โดยใน Into the Woods ก็เป็นภาพยนตร์ที่นำนิทานสอนเด็กต่างๆ กลับมาย้อนถามถึงตัวผู้ใหญ่เอง ซึ่งเป็นอะไรที่เหมือนกับ Battle Royale  แค่คิดว่าผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลาย เป็นคนสั่งให้นักเรียนเหล่านี้มาไล่ฆ่ากันเองก็ย่ำแย่แล้ว แต่ยิ่งการที่พวกเขาคิดว่าพวกเขา "เหนือกว่า" เด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ คิดว่าเด็กเหล่านี้นั้นไร้ค่า ก็ยิ่งสะท้อนถึงความไม่รู้อะไรเลยของผู้ใหญ่เหล่านี้ เสมือนท้ายเรื่องฉบับ Director's Cut ของ Battle Royale ที่ตัวละครผู้ใหญ่อย่างคิทาโนะก็ไม่รู้จะตอบนักเรียนอย่างโนริโกะอย่างไรดี ซ้ำยังถามว่า "ในเวลาอย่างนี้ ผู้ใหญ่ควรจะพูดอย่างไรกับเด็กดี


ในอีกด้านหนึ่งเหตุการณ์บนเกาะในภาพยนตร์ ก็สะท้อนถึงสภาวะสังคมและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงปี 1990 - 2000 ได้เป็นอย่างดีทีเดียว ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำและย่ำแย่ของญี่ปุ่น ซึ่งนำมาซึ่งความยากลำบากของบ้านเมืองและผู้อยู่อาศัย ซึ่งนอกจากตัวภาพยนตร์จะสะท้อนปัญหานี้ออกมาในบทภาพยนตร์แล้ว ความรุนแรงในภาพยนตร์ก็สะท้อนถึงความเครียดในสังคมญี่ปุ่นที่ต้องการที่ระบายได้เป็นอย่างดี


สุดท้ายแล้ว สิ่งที่น่าสนใจก็คือการตอบรับของโลกหลังจาก Battle Royale ตั้งแต่ The Hunger Games ที่สะท้อนถึงการไม่ยอมรับต่อการกดขี่และการลุกขึ้นสู้ของชนชั้นล่าง หรือแนวคิดที่น่าสนใจกว่าในเกม Danganronpa สะท้อนแนวความคิด "ความสิ้นหวัง ปะทะ ความหวัง" ซึ่งกล่าวถึง สภาวะของโลกหรือมนุษย์ที่แม้ว่าจะเลวร้าย สิ้นหวังเท่าใด แต่เราจะต้องมีความหวัง ว่าจะมีใครซักคนที่ไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของความสิ้นหวังนี้ และลุกขึ้นมาต่อสู้กับมัน


Final Score : [ 9 / 10 ]

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

The Theory of Everything ( 2014 ) Movie Review

The Theory of Everything ( 2014 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz


"คำตอบทฤษฏีของทุกสิ่งคือ... "


  ต้องสารภาพเลย ว่าผู้เขียนส่วนตัวก็ไม่ค่อยจะรู้จักประวัติและผลงานของ สตีเฟน ฮอว์คิง มากนัก จริงๆแล้วจะเรียกว่าไม่รู้จักเลยก็ว่าได้ จะมีก็เพียงเคยได้ยินชื่อหลายต่อหลายครั้งมากก็เท่านั้น

ซึ่งนั้นก็ทำให้ประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์ The Theory of Everything ซึ่งเป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของ สตีเฟน ฮอว์คิง ออกมาให้ความรู้สึกที่ประหลาดใจอยู่ไม่น้อยเลย


ซึ่งความรู้สึกอันน่าประหลาดใจนี้ ก็มาจากการที่ ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะแทบไม่รู้จักตัว สตีเฟน ฮอว์คิง เลย แต่กลับรู้สึกผูกพันธ์กับตัวละครของเขาอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาทีในภาพยนตร์ เสมือนเป็นคนที่รู้จักเขาดีแล้วระดับหนึ่ง



The Theory of Everything ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของ สตีเฟน ฮอว์คิง นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ผ่านชีวิต ความรัก และเส้นทางการพิสูจน์ทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์ของเขา ซึ่งนำมาสู่การเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก


และสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็มาจากความน่าทึ่งของแต่ละองค์ประกอบต่างๆในภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่แทบจะไม่ด้านไหนน้อยหน้าไปกว่ากันเลย


ตั้งแต่ นักแสดงผู้รับบทเป็น สตีเฟน ฮอว์คิง อย่าง เอดดี เรดเมย์น ที่นำแสดงบทบาทได้อย่างน่าจดจำ และน่าทึ่งเป็นที่สุด ยิ่งคิดว่าการต้องแสดงเป็นบุคคลที่ประสบปัญหาทางด้านร่างกายให้น่าเชื่อถือ มันยากเพียงใด ก็ยิ่งรู้สึกได้ถึงความน่าทึ่งในการแสดงของเขาจริงๆ 
นอกจากนั้นแล้ว การแสดงของ เฟลิซิตี้ โจนส์ ผู้รับบทเป็นภรรยาของ สตีเฟน ฮอว์คิง ก็สามารถที่จะถ่ายทอดความยากลำบากในการใช้ชีวิตคู่ของเธอได้อย่างน่าทึ่งเช่นกัน


หรือจะเป็นการกำกับของผู้กำกับ เจมส์ มาร์ช ที่สามารถจะเล่าเรื่องราวของสองตัวละครหลักอย่าง สตีเฟน ฮอว์คิง กับ ภรรยาของเขา ซึ่งเผชิญปัญหาต่างๆในชีวิตมากมายได้อย่างน่าสนใจ 
ส่วนใหญ่ๆก็ต้องยกความดีความชอบให้กับทีมเขียนบทที่เขียนตัวละครออกมาได้อย่างน่าทึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องขอชม เจมส์ มาร์ช ที่นอกจากจะถ่ายทอดตัวละครออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ เสมือนมนุษย์จริงๆแล้ว การเล่าเรื่องของเขายังไม่บีบคั้นอารมณ์และพยายามบีบน้ำตาจากผู้ชมมากเกินไปจนน่ารำคาญอีกด้วย



และแม้กระทั่งการถ่ายภาพในภาพยนตร์ ก็จัดวางมุมกล้อง และการเคลื่อนไหวของกล้องได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถที่จะถ่ายทอดฉากต่างๆออกมาได้อย่างสวยงาม น่าทึ่ง โดยเฉพาะฉากโรแมนติกในภาพยนตร์ ที่เมื่อนำไปผสมผสานกับเพลงประกอบอันไพเราะชวนเคลิ้ม ก็พาเอาเราถูกดึงดูดเข้าไปอยู่ในจักรวาลต้องมนต์ของภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าไปอีก


เมื่อนำส่วนผสมองค์ประกอบทุกด้านมารวมกัน ก็ทำให้ The Theory of Everything กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ดราม่าที่ดีที่สุด น่าติดตามที่สุด และน่าทึ่งที่สุดในปี 2014 อย่างไม่ต้องสงสัย


แต่ถ้าหากจะมีข้อติซักข้อหนึ่งสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คงจะเป็นเรื่องสิ่งที่มันต้องการจะบอกกับผู้ชม เนื่องจากตัวภาพยนตร์ค่อนข้างจะทะเยอทะยานเอามากๆ ตั้งแต่การจับเรื่องทฤษฏีวิทยาศาสตร์ต่างๆ ปัญหาชีวิตคู่ การตั้งคำถามต่อศีลธรรม คุณค่าของเวลา และอื่นๆอีกมากมาย มาพูดถึงรวมกันในเรื่องเดียว


จึงเป็นเหตุทำให้หลายๆเรื่องมันไปชนกันเองในตอนท้ายสุด เสมือนการจราจรบนถนนที่ติดขัดและขาดซึ่งไฟนำทางที่ดี กลายเป็นว่าพาเอาเราไม่แน่ใจว่าตัวภาพยนตร์ต้องการจะพูดอะไรกันแน่จนภาพยนตร์ต้องพูดออกมาเองตรงๆซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่ใช่น้อย



ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าภาพยนตร์เรื่อง The Theory of Everything จะเต็มไปด้วยทฤษฏีวิทยาศาสตร์อันยุ่งยากต่างๆมากมาย หรือการพูดถึงปัญหาชีวิตคู่อันซับซ้อนมากเท่าใด สุดท้ายแล้วสิ่งที่มันให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือคุณค่าของชีวิต ที่ไม่ว่าภายภาคหน้าจะมีปัญหาอันยากเกินจะแก้มากเท่าใด ตราบใดที่เรามีสิ่งที่เรียกว่า ชีวิตอยู่ เราก็ยังคงมีความหวังที่จะก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นไปหลงเหลืออยู่เสมอ 


Final Score : [ 8.5 / 10 ] 

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

Tyrannosaur ( 2011 ) Movie Review

Tyrannosaur ( 2011 , Paddy Considine )


"ธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์"


ต้องสารภาพเลยว่า เนื่องจากเป็นคนที่ดูภาพยนตร์อังกฤษน้อย จึงค่อนข้างจะแปลกใจเล็กน้อยกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่เต็มไปด้วยท่าทีที่จริงจัง เคร่งเครียด และประเด็นที่พูดถึงก็หนักหน่วง


Tyrannosaur เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงสังคมที่มีปัญหาของประเทศอังกฤษได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะปัญหาการถูกคุกคามทางเพศของเด็กและสตรีที่มีให้เห็นกันแทบจะทุกวัน ปัญหาก็คือ ทุกคนในสังคมนั้นทราบถึงจุดนี้กันดี แต่ไม่มีผู้ใดกล้าที่จะลงมือทำอะไรซักอย่าง

และนั้นก็นำมาสู่การพูดถึง "ธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์" ในภาพยนตร์ ที่ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หน้าไหนก็มีสัญชาติญาณของความเป็นสัตว์ด้วยกันทั้งนั้น ตั้งแต่ผู้ดียันอันธพาล ซึ่งตัวภาพยนตร์ก็ตั้งคำถามถึงความเชื่อในความสูงส่งและความดีงามของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี เฉกเช่นตัวละครเอกโจเซฟ ที่สารภาพว่าไม่อยากจะรู้จักตัวตนที่แท้จริงของฮันน่าห์เลย อยากที่จะเพียงยืนมองอยู่ห่างๆเท่านั้น เพราะเขาทราบดีว่า ถ้าหากเขารู้จักเธอเข้าจริงๆ เธอจะไม่ได้ "สวยงาม" อย่างที่เขาหวังไว้

ซึ่งสองความสัมพันธ์นี้มันน่าสนใจก็ตรงที่ ทั้งสองตัวละครนี้ แทบจะเป็นสองฝั่งตรงข้ามที่แทบจะไม่มีอะไรเหมือนหรือใกล้เคียงกันเลย ตัวละครเอกอย่างโจเซฟที่มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ที่พุ่งพล่าน และมักจะสร้างปัญหาให้กับตัวเอง กับฮันน่าห์ หญิงผู้ดีวัยกลางคน อาศัยอยู่ที่บ้านผู้ดีอันสวยหรู และตัวภาพยนตร์ก็นำความสัมพันธ์นี้มาเสียดสีได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องขอชมทั้งสองนักแสดงหลักในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น โอลิเวีย คอลแมน ที่แสดงเป็นหญิงไร้เดียงสา และโดยเฉพาะปีเตอร์ มุลแลน ที่รับบทเป็นโจเซฟได้อย่างยอดเยี่ยม

ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีอีกด้านหนึ่งที่ตัวภาพยนตร์พยายามพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง นั้นก็คือการพูดถึงการมีตัวตนของศาสนา ซึ่งเอาเข้าจริงกลับรู้สึกว่าถูกยัดเยียดไปหน่อย และก็ยังขยี้ได้ไม่ดีพอ จนสุดท้ายกลายเป็นประเด็นที่ถูกทิ้งไว้ครึ่งๆกลางๆอย่างน่าเสียดาย

สิ่งที่น่าประทับใจมากที่สุดสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้เลย ก็คือความรู้สึกแรกต่อตัวละครเอกในภาพยนตร์ที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน จากการกระทำและนิสัยอันไม่น่าคบ แต่พอภาพยนตร์ดำเนินเรื่องไปถึงตอนจบ เรากลับพบว่าตัวภาพยนตร์ทำให้เรารู้สึกว่ามันดึงตัวละครทุกตัวและสังคมในเรื่อง ลงมาต่ำเตี้ยเรี่ยดินไม่ต่างไปจากความรู้สึกแรกต่อตัวละครเอกเลย ซึ่งเป็นความรู้สึกที่น่าทึ่งทีเดียว

Final Score : [ A - ]

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

Insurgent ( 2015 ) Movie Review

Insurgent ( 2015 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz


"ความซ้ำซากในความแตกต่าง"



                ยังไม่ทันที่เราจะได้เฉียดกลางปี 2015 ภาพยนตร์อย่าง Insurgent ก็กลับมาตอกย้ำถึงตลาดภาพยนตร์ที่มีต้นแบบจากหนังสือนวนิยายขายดีกันอีกครั้ง จากภาคที่แล้วอย่าง Divergent ซึ่งค่อนข้างจะประสบความสำเร็จทีเดียว ถึงแม้ว่าส่วนตัวจะไม่ได้ประทับใจอะไรมากมายก็ตาม แต่ต้องสารภาพเลยว่า การลงทุนและยกระดับความยิ่งใหญ่ของตัวภาพยนตร์ให้มากขึ้นกว่าภาคที่แล้ว ก็ทำให้ตัวภาพยนตร์น่าสนใจและน่าดูขึ้นเยอะ


สิ่งที่ต้องรำลึกไว้เสมอตลอดการชม Insurgent  ก็คือ การเปลี่ยนแปลงผู้กำกับจาก นีล เบอร์เกอร์ มาเป็น โรเบิร์ต ชเวนท์เก 


ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเองก็ไม่รู้จะอธิบายถึงตัวผู้กำกับ โรเบิร์ต ชเวนท์เก อย่างไรดี เพราะในด้านหนึ่งเขาก็กำกับภาพยนตร์อย่าง RED ( 2010 ) ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพยนตร์แอ็คชั่นที่ผู้เขียนชอบมากทีเดียว แต่พอหันมามองผลงานต่อมาของเขา ผู้เขียนก็รู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่คิดถึง อย่าง R.I.P.D. ( 2013 ) ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยได้ดูมา ด้วยประสบการณ์นี้เอง จึงทำให้ผู้เขียนไม่แน่ใจ ว่าควรจะหวังอะไรจากผลงานชิ้นใหม่นี้ของเขาดี


Insurgent คือภาพยนตร์ภาคต่อจาก Divergent ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ ทริช ( ไชลีน วูดลีย์ ) หญิงสาวผู้ซึ่งไม่สามารถถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มใดของสังคมได้ ทุกคนจึงเรียกเธอว่า "ไดเวอร์เจนท์" แต่การที่เธอแตกต่างนี้เอง ทำให้เจนีน ( เคต วินสเล็ต )ต้องการตัวเธอ และจะทำทุกวิถีทางในการนำตัวเธอมาให้ได้  ทริชจะสามารถหนีพ้นจากเจนีนไปได้หรือไม่ !?



ก่อนทีเราจะเข้าสู่ช่วงการพูดถึงตรรกะและเหตุผลของภาพยนตร์ ก็ต้องออกตัวด้วยการชมถึงสิ่งที่ดีในภาคนี้กันก่อน

อย่างแรกในภาคนี้ ที่ดูดีขึ้นมากกว่าเดิมเยอะ ก็คือฉากซีจีที่อลังการงานสร้างทั้งหลาย ที่แสดงให้เห็นถึงการลงทุนที่มากขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะฉากบททดสอบตัวละครเอก ที่หายนะและวินาศดี ซึ่งทำให้ตัวภาพยนตร์รู้สึกน่าดูชมอยู่ตลอดเวลา 


อย่างต่อมาที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือการแสดงของ ไชลีน วูดลีย์ ที่ยังคงรับบทเป็น ทริช ก็นำแสดงผลงานออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมมากทีเดียว ไม่แปลกใจเลยที่ทำไมเธอถึงเป็นขวัญใจแฟนๆหลายคนในขณะนี้ ยิ่งโดยเฉพาะผลงานปีที่แล้วของเธออีกเรื่องอย่าง The Fault in our Stars ( 2014 ) 


สุดท้ายเลย ก็คือการกำกับของ โรเบิร์ต ชเวนท์เก ที่ไม่หายนะแบบ R.I.P.D ( 2013 ) อีกแล้ว การกำกับฉากแอ็คชั่นและการเล่าเรื่องของเขาก็ถือว่าอยู่ในระดับที่สนุก น่าติดตามใช้ได้เลยทีเดียว ถึงแม้ว่าชั้นเชิงในการเล่าเรื่องต่างๆอาจจะดูธรรมดาไปบ้างก็ตามที



ถึงกระนั้นก็ตาม Insurgent ก็ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยปัญหามากมายหลายประการ


สิ่งที่น่าติมากที่สุดในภาพยนตร์ ก็คงจะหนีไม่พ้นตัวบทภาพยนตร์เอง ที่นอกจากจะดาษดื่น สุดแสนจะธรรมดาแล้ว พอนำไปเปรียบเทียบกับภาพยนตร์ที่มีต้นแบบมาจากนวนิยายเรื่องอื่นๆ ก็ยังเกือบจะเทียบเขาไม่ติด อย่างเช่นซีรียส์ The Hunger Games  ( 2012 - 2015 ) ที่ไปได้ไกลกว่าเยอะในด้านของการพูดถึงสังคมมนุษย์ที่ล่มสลาย (ถึงแม้ว่าภาคล่าสุดจะล้มไม่เป็นท่าก็ตาม) จะมีที่ใกล้เคียงมากที่สุดก็คงจะเป็น The Maze Runner ( 2014 ) 

ซึ่งไม่แน่ใจว่าปัญหาส่วนนี้เป็นสาเหตุมาจากอะไร เนื่องจากส่วนตัวไม่เคยอ่านหนังสือซีรียส์ Divergent มาก่อน อาจจะเป็นไปได้ว่ามาจากตัวหนังสือต้นฉบับเอง หรืออาจเป็นสาเหตุมาจากการปรับเปลี่ยนบทให้เข้ากับสื่อภาพยนตร์ จนทำให้ทุกอย่างที่เคยน่าสนใจ เคยยอดเยี่ยมในหนังสือหายไปก็เป็นได้


อีกสิ่งที่ดูจะน่าสงสัยมากในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือความที่มันเกือบจะปราศจากซึ่งตรรกะและเหตุผลใดๆ โดยเฉพาะฉากแอ็คชั่น กระโดด โลดโผนทั้งหลายที่เหนือจริงและหลุดโลกสุดๆ ถึงแม้ว่าตัวภาพยนตร์จะมีประโยคแปะหน้าโปสเตอร์ว่า "Defy Reality" หรือ "ท้าความจริง" แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันสามารถที่จะหลุดโลกจนทำให้รู้สึกว่าตัวละครเอกของเรากลายเป็นพระเจ้าที่จะเดินเหาะโลดโผนอย่างไรก็ได้ขนาดนั้น ถึงแม้ว่าจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความหลุดโลกนี้มันก็บันเทิงในการชมดี แต่ความบันเทิงนั้นก็ไม่ได้มาจากการออกแบบฉากแอ็คชั่นที่ดี แต่มาจากการละเลงฉากแอ็คชั่นต่างหาก




และปัญหาของความเก่งกาจในตัวละครเอกนั้น ก็นำมาซึ่งการคลี่คลายปมปัญหาต่างๆในเรื่อง ที่ช่างแสนง่ายดายจนพาเอาคุณค่าและความหมายของภาพยนตร์ทั้งเรื่องดิ่งลงเหวไปด้วย โดยเฉพาะบททดสอบตัวละครเอกทริช  ที่ดูง่ายดายและไม่ต้องใช้สติปัญญาอะไรมากมายนักในการผ่าน ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็มาจากการที่ตัวละครทริชนี้ช่างเก่งกาจไปเสียทุกเรื่อง จนเสมือนไม่อาจที่จะล้มเหลวอะไรได้ หรือต่อให้ล้มเหลว เธอก็สามารถที่จะก้าวข้ามความล้มเหลวนี้ไปได้อย่างง่ายดายและแทบจะไม่เสียเหงื่อซักหยดเลย


ในด้านของนักแสดงแล้ว ถึงแม้ว่าไชลีน วูดลีย์จะนำแสดงได้ดี แต่เราก็ไม่สามารถที่จะพูดเช่นนั้นกับนักแสดงคนอื่นๆได้ซักเท่าไรนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจเพราะเอาเข้าจริง Insurgent ก็มีดารานักแสดงระดับแถวหน้ามาร่วมแสดงหลายต่อหลายคน ตั้งแต่ เคท วินเสล็ต , นาโอมิ วัตส์ , อ็อคเทเวียร์ สเปนเซอร์ หรือ ไมลส์ เทลเลอร์ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้แสดงแย่ แต่การแสดงของพวกเขาก็ไม่มีความน่าจดจำแต่อย่างใดเลย ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องติตัวละครในบทภาพยนตร์ที่ถูกเขียนมาได้ไม่ดีเท่าไร เพราะหลายๆนักแสดงก็แทบที่จะไม่ได้ทำอะไรซักเท่าไรเลย เนื่องจากบทบาทที่น้อยมาก


นี้ยังไม่นับถึงบทสรุปในภาคนี้ ที่คุณๆก็สามารถที่จะเดาออกได้ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกของภาพยนตร์ ถึงแม้ว่าคุณจะไม่เคยอ่านหนังสือ Insurgent ก่อนเลยก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเคยได้ชมภาพยนตร์ที่มีต้นฉบับมาจากหนังสือนวนิยายแนวนี้มาก่อนจะยิ่งเดาได้ไม่ยากนัก 
ซึ่งกรณีนี้ จะว่าเป็นความผิดของ Insurgent ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว แต่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาของภาพยนตร์ที่มีต้นแบบมาจากหนังสือนวนิยาย ที่มีเรื่องราวคล้ายคลึงกันมากเกินไป จนมันทำให้เกิดความซ้ำซากขึ้นในภาพยนตร์ประเภทนี้



จะมีที่แตกต่างขึ้นมาหน่อยก็คงจะเป็นการพูดถึงเรื่องคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และการฟื้นฟูความเป็นมนุษย์ผู้ซึ่งมีความ กล้าหาญ เสียสละ ความรู้ สันติ และความซื่อสัตย์ ซึ่งในภาพยนตร์บุคคลที่มีสิ่งเหล่านี้ก็คือ "ไดเวอร์เจนท์" แต่ในโลกของเรา บุคคลทีมีสิ่งเหล่านี้ก็คือมนุษย์อย่างเราๆนี้เอง ซึ่งก็เป็นแนวความคิดมนุษยนิยมที่สอดแทรกเข้ามาอยู่ในโลกที่ผุพังและโหดร้ายแห่งดิสโธเปียได้อย่างน่าสนใจไม่น้อยเหมือนกัน


Final Score : [ C ]

วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

Cinderella ( 2015 ) Movie Review

Cinderella ( 2015 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์ โดย FallsDownz


"รองเท้าแก้วปัดฝุ่น"


  ตอนนี้ ดูเหมือนค่ายและสตูดิโอผู้สร้าง ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นค่ายเจ้าหนู ดิสนีย์ ตั้งแต่การซื้อ Marvel , Star Wars แล้วยังจะภาพยนตร์อนิเมชั่นของตนเอง ที่ช่วงนี้ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จเป็นพิเศษอย่าง Frozen ( 2013 ) และ Big Hero 6 ( 2014 ) นี้ยังไม่นับถึงการประกาศสร้างภาพยนตร์จำนวนมากแบบล่วงหน้า เสมือนไม่กลัวว่าจะเจ๊งแต่อย่างใดเลย โดยเฉพาะสตูดิโอของ Marvel ที่ประกาศกันที 5-6 เรื่องติดกัน


ซึ่งอีกหนึ่งแนวทาง ที่ทางดิสนีย์กำลังตั้งใจสร้างอยู่ในขณะนี้ ก็คือการชุบชีวิตภาพยนตร์อนิเมชั่นคลาสสิคทั้งหลาย มาทำเป็นภาพยนตร์ Live-Action เช่นปีที่แล้ว Maleficent ( 2014 ) ปีนี้ Cinderella ( 2015 ) และ Beauty and the Beast ที่ได้นักแสดงสาวขวัญใจวัยรุ่นอย่าง เอ็มม่า วัตสัน มารับบทเป็นเบลล่าในปี 2017 อีกด้วย


Cinderella ยังคงเรื่องราวแบบเดิม ที่ว่าด้วยเรื่องราวของซินเดอเรลล่า ผู้ซึ่งถูกใช้งานเยี่ยงทาสจากแม่เลี้ยง และพี่สาวใจร้ายทั้งสองของเธอ แต่อยู่มาวันหนึ่งเธอก็ได้พบกับเจ้าชายที่จะเปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล




ที่น่าแปลกใจในภาพยนตร์ Live-Action ของดิสนีย์เรื่องนี้เลยก็คือ การที่คราวนี้ไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงส่วนใดๆของบทภาพยนตร์เลย หมายความว่าเราจำได้ว่าภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Cinderella ในปี 1950 เป็นอย่างไร ตัวภาพยนตร์ก็เป็นแบบนั้นเปะๆ


ที่น่าแปลกก็เพราะว่า ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของดิสนีย์อย่าง Maleficent ถึงแม้ว่าจะมีต้นแบบมาจาก Sleeping Beauty (1959 ) ก็จริง แต่ตัวภาพยนตร์ก็เปลี่ยนมาเล่าในมุมมองของตัวละคร มาเลฟิเซนต์ แทนซึ่งทำให้เกิดมุมมองใหม่ของตัวภาพยนตร์ ในขณะที่ Cinderella ( 2015 ) กลับเล่าเหมือนเดิมเปะๆ และการทำเช่นนั้นมันก็ทำให้เกิดปัญหาอยู่เหมือนกัน


เนื่องจากมันจะทำให้ตัวภาพยนตร์จะออกมาไม่น่าติดตามหรือน่าสนใจเท่าที่ควร เพราะผู้ชมส่วนใหญ่ก็น่าจะทราบถึงเรื่องราวของ Cinderella ( 1950 )ไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรในภาพยนตร์ที่จะสามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความสดใหม่ได้อีก 
ไม่แน่ใจว่าเพราะด้วยภาพยนตร์เรื่อง Into the Woods ( 2014 ) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งก็นำเรื่องราวของซินเดอเรลล่ามาเล่า แต่ปรับเปลี่ยนให้เหมือนต้นฉบับมากขึ้นด้วยรึเปล่า ทางดิสนีย์จึงตัดสินใจที่จะไม่ปรับเปลี่ยนอะไรในซินเดอเรลล่าฉบับนี้




ถึงกระนั้นก็ตาม สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือด้านโปรดัคชั่นดีไซน์ การสร้างฉาก อุปกรณ์ เสื้อผ้า และสิ่งของต่างๆในภาพยนตร์ ที่อลังการงานสร้างชนิดที่สาวกดิสนีย์คนไหนไปชมก็คงจะฟินไปตามๆกัน โดยเฉพาะรถฟักทองและรองเท้าแก้วของซินเดอเรลล่าที่มองทีไรก็พาขนลุกไปทุกทีเพราะมันช่างงดงามเหลือเกิน


แต่ถ้าหากจะมีสิ่งหนึ่ง ที่ผู้เขียนรู้สึกเสียดายมากที่สุดในการนำภาพยนตร์ Cinderella ( 1950 ) กลับมาสร้างใหม่ในครั้งนี้ ก็คือการเล่าถึงความสัมพันธ์ของสองตัวละคร ซินเดอเรลล่า กับ แม่เลี้ยงใจร้ายของเธอ โดยเฉพาะในด้านตัวละครแม่เลี้ยงใจร้าย ที่น่าจะมีการพูดถึงสาเหตุที่เธอเป็นเช่นนี้และทำไมเธอถึงทำกับซินเดอเรลล่าเช่นนี้ได้ แต่ตัวภาพยนตร์ยังให้เวลาในส่วนนี้น้อยเกินไป จนทำให้เรื่องราวในจุดนี้ไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร และได้แตะเพียงแค่ผิวเผินเท่านั้น 


กลายเป็นว่าอีกหนึ่งความสัมพันธ์ อย่างความสัมพันธ์พ่อ-ลูกของเจ้าชายกับพระราชา กลับน่าสนใจและสรุปออกมาได้ดีมากกว่าเสียอีก
ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเสียดายมากทีเดียว โดยเฉพาะถ้าหากคิดถึงนักแสดง เคต บลานเชตต์ ก็นำแสดงเป็นแม่เลี้ยงใจร้ายได้แซ่บสุดๆเลยทีเดียว




สรุปแล้ว Cinderella ในฉบับปี 2015 นี้ ก็ไม่สามารถที่จะนำเสนอสิ่งใหม่อะไรได้เลยนอกจากโปรดัคชั่นดีไซน์อันตระการตา ถึงแม้ว่านั่นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป แต่เราก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธถึงความรู้สึกอันเฉยชา ค่อนไปทางเบื่อหน่ายเมื่อใดก็ตามที่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าไม่งดงามพอที่จะดึงดูดความสนใจเราไปได้

แต่ในท้ายที่สุด Cinderella ( 2015 ) ก็ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่สอนข้อคิดที่น่าสนใจให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการให้เราพยายามมองข้ามเรื่องชนชั้นและฐานะของบุคคลไป แต่มองไปที่จิตใจของคนผู้นั้นที่อาจจะดีและสวยงามยิ่งกว่ารองเท้าแก้วไหนๆนั้นเอง


Final Score : [ B - , 6.75 / 10 ]

วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

Run All Night ( 2015 ) Movie Review

Run All Night ( 2015 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"พ่อจ๋าช่วยหนูด้วย" 


  ม่น่าเชื่อเลยว่า สองเดือนที่แล้วนี้เอง ที่เราเพิ่งจะได้เห็น เลียม นีสัน กลับมาเปิดโหมดพระเจ้าไล่กระทืบชาวบ้านในภาพยนตร์ภาคต่อ Taken 3 อยู่หมาดๆ  
รอยเลือดยังไม่ทันจาง เขาก็กลับมาแสดงในภาพยนตร์แอ็คชั่นอย่าง Run All Night ต่อเสียแล้ว เรียกได้ว่าเขาเป็นอีกหนึ่งนักแสดงชายสูงวัยที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในตลาดฮอลลีวูดตอนนี้เลยทีเดียว


โดยในภาพยนตร์เรื่องนี้ ลุงเลียมก็ได้กลับมาร่วมงานกับผู้กำกับ โจเม่ โคเลต-เซอร่า อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยร่วมงานกันมาแล้วถึงสามเรื่องตั้งแต่ Unknown ( 2011 ) , Non-Stop ( 2014 ) และล่าสุด Run All Night ในปีนี้


ซึ่งจริงๆแล้ว ตัวผู้กำกับโจเม่ โคเลต-เซอร่า ก็เป็นผู้กำกับภาพยนตร์แอ็คชั่นที่มีฝีมือคนหนึ่งเลยทีเดียว โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในการสอดแทรกข้อคิดต่างๆเอาไว้ในฉากแอ็คชั่นอันสนุกตื่นเต้น เช่นการเสียดสีระบบป้องกันประเทศที่มีช่องโหว่ของสหรัฐอเมริกา ในภาพยนตร์ Non-Stop ( 2014 ) 
ซึ่งแนวทางการกำกับนี้ ดูเหมือนจะเป็นที่หายากขึ้นทุกทีในภาพยนตร์ประเภทนี้ที่สมัยนี้แทบจะหาเนื้อดีจริงๆได้ยาก



Run All Night ( 2015 , โจเม่ โคเลต-เซอร่า ) ว่าด้วยเรื่องราวของ จิมมี่ ( เลียม นีสัน ) นักฆ่ามือฉกาจที่ดันไปฆ่าลูกชายของผู้มีอิทธิพล ( เอ็ด แฮร์รีส ) เข้าให้ การแก้แค้นจึงบังเกิดขึ้น จิมมี่จึงต้องทำทุกวิถีทางในการเอาชีวิตรอดทั้งตัวเขาและลูกชายของเขา ภายในคืนที่แสนโหดนี้ไปให้ได้ !!


สารภาพเลยว่าตอนชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่รู้ว่าจะคาดหวังอะไรจากมันดี อาจจะเป็นเพราะว่าเนื่องจากผลงานล่าสุดของลุงเลียมใน Taken 3 เข้าขั้นเลวร้ายจนแทบจะไม่อยากนึก  และรวมถึงตัวอย่างภาพยนตร์ที่ดูค่อนข้างจะธรรมดาอีกด้วย 
แต่เมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ผู้เขียนก็เหมือนจะเริ่มกลับมามีความหวังในตัวภาพยนตร์ของลุงเลียม นีสันอีกครั้ง เพราะ Run All Night เป็นภาพยนตร์ที่น่าประทับใจไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว


โดยเฉพาะในด้านการสร้างตัวละครต่างๆ ที่ผู้เขียนบท แบรด อิงเกิลสบี สร้างสรรค์ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมมากๆ เพราะตัวละครทั้งหลายในภาพยนตร์ มีมิติเสมือนมนุษย์จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทัศนะคติ บุคลิก ประสบการณ์ และเหตุผลในการมีตัวตน 
ตัวละครเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์สามารถที่จะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไม่ติดขัด 



แต่ตัวละครที่ดูจะโดดเด่นเหนือคนอื่นๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นตัวละครของสองนักแสดง เลียม นีสัน กับ เอ็ด แฮร์ริส ที่มีสถานะของความเป็นพ่อในภาพยนตร์เหมือนๆกัน แต่กลับต้องมาปะทะกัน และตัวภาพยนตร์ก็นำจุดเด่นนี้มาใช้ได้อย่างยอดเยี่ยม จนทำให้ความสัมพันธ์ของสองตัวละครนี้มันกลายเป็นอะไรที่ช่างน่าติดตามเหลือเกิน ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องขอชมการแสดงของทั้งคู่ที่ค่อนข้างจะดีทีเดียว




กระทั่งการเล่าเรื่องของผู้กำกับ โจเม่ โคเลต-เซอร่า ก็ตื่นเต้นน่าติดตามอยู่ตลอดเวลา และการให้ความสำคัญต่อเรื่องราวในภาพยนตร์ของเขา ตั้งแต่การเล่าถึงจุดเหมือน จุดแตกต่าง และความสัมพันธ์ของตัวละคร ซึ่งสุดท้ายนำมาสู่ปมขัดแย้งใหญ่ของเรื่อง ก็ทำให้ตัวภาพยนตร์รู้สึกว่ามีอะไรให้คิดตลอดเวลา รวมถึงบทสรุปของเรื่อง ที่นำมาสู่ข้อคิดของภาพยนตร์ซึ่งมีน้ำหนักเหตุผลอันน่าเชื่อถือ ถ้าหากจะมีข้อติถึงการกำกับของเขาซักข้อ ก็คงจะเป็นเรื่องการใช้ข้อแม้ "เอาชีวิตรอดภายในคืนเดียว"ในภาพยนตร์ให้เป็นประโยชน์กว่านี้ เพราะในภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังไม่รู้สึกถึงความจำเป็นที่เพียงพอในการนำเงื่อนไขหรือข้อแม้ชุดนี้ออกมาใช้เลย นอกจากมันดูน่าตื่นเต้นดี



สุดท้ายแล้ว Run All Night ก็ไม่ได้เป็นแค่เพียงภาพยนตร์แอ็คชั่นสนุก ตื่นเต้นธรรมดา แต่เป็นภาพยนตร์แอ็คชั่นเนื้อดีอีกด้วย ซึ่งก็ต้องขอชมผู้กำกับ และผู้เขียนบทภาพยนตร์ที่สามารถถ่ายทอดชุดความคิดนี้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
ซึ่งตัวละครต่างๆในภาพยนตร์ก็ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองตัวสำคัญ จนนำมาสู่ชุดความคิดที่พูดถึง ความรักของผู้เป็นพ่อที่มีต่อลูก ไม่ว่าลูกของพวกเขาจะชั่วช้าเลวทราม หรือโกรธเกลียดตนเองเท่าไร คนเป็นพ่อก็พร้อมที่จะให้อภัยและพร้อมที่จะช่วยเหลือลูกของตนเสมอ ถึงแม้ว่านั่นอาจจะต้องแลกมาด้วยชีวิตของพวกเขาก็ตาม..


Final Score : [ B + , 7.5 / 10 ]

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

Everly ( 2014 ) Movie Review

Everly ( 2014 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz




"ความรุนแรง เซ็กซ์ และฉากแอ็คชั่น คือจุดขายของภาพยนตร์เรื่องนี้"



ในโลกภาพยนตร์ประเภทแอ็คชั่นแล้ว นอกจากภาพยนตร์แอ็คชั่นทุนหนาอย่าง Transformers,  Kingsman: The Secret Service , ภาพยนตร์ของค่ายมาร์เวล และภาพยนตร์แอ็คชั่นอีกมากมายทั้งหลายแล้ว

ก็ยังมีภาพยนตร์แอ็คชั่นอีกประเภทที่เรียกว่า "ภาพยนตร์เกรดบี" อีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่นภาพยนตร์ของ โรเบิรต์ ร็อตริเกซ ทั้งหลาย อย่าง Machete, Planet Terror หรือ Grind House  (อาจจะยกเว้น Sin City ไว้เป็นกรณีพิเศษ)  ซึ่งจุดประสงค์ของภาพยนตร์เกรดบีเหล่านี้โดยส่วนใหญ่ก็คือเพื่อเน้นขายความรุนแรง เซ็กซ์ และอาศัยการลงทุนที่น้อยนั้นเอง  และ Everly ก็คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่จัดอยู่ในหมวดนี้นั้นเอง




Everly ( 2014 , โจ ลินช์ ) ว่าด้วยเรื่องราวของ เอเวอรี่ ที่พบว่าตัวเองติดอยู่ในอพารท์เมนต์เก่าโดยที่มีใครบางคนส่งนักฆ่ามาเพื่อพยายามจะปลิดชีพเธอ เธอมีสองทางเลือก ยอมตาย หรือ สู้จนตาย !!


สิ่งที่น่าประทับใจมากที่สุดสิ่งหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้เลย ก็คือความที่มันไม่พยายามจะเป็นมากกว่าภาพยนตร์เกรดบีเลย
Everly เป็นภาพยนตร์ที่ค่อนข้างจะชัดเจนมากในด้านของการขายเนื้อหนัง หน้าตาของนักแสดง ฉากฆ่า และฉากทรมาณอันรุนแรง โดยไม่พยายามจะปิดบังหรือหาเหตุผลมาประกอบให้รกหัวมากนัก ซึ่งทำให้ตัวภาพยนตร์ค่อนข้างจะมีทางเดินที่ชัดเจน และนั่นอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องก็เป็นได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ที่มีภาพยนตร์หลายเรื่องพยายามจะไคว้คว้าสูงกว่าที่ตนเองจะไปได้ แล้วสุดท้ายก็ตกลงมาพังไม่เป็นท่า


ซึ่งถือว่าเป็นที่โชคดีของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่หลายสิ่งหลายอย่างค่อนข้างจะทำออกมาได้ดีเสียด้วย ตั้งแต่นักแสดง ซัลม่า ฮาเย็ค ที่ยังคงสาว สวย เซ็กซี่น่ามอง  และการแสดงสุดเท่ห์ของเธอที่แทบจะแบกภาพยนตร์ทั้งเรื่องด้วยตัวคนเดียว , ฉากฆ่าและฉากทรมาณทั้งหลายที่ออกแบบมาใช้ได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงการสอดแทรกมุขตลกโปกฮาทั้งหลาย ก็ทำให้ภาพยนตร์รู้สึกเคลื่อนที่ สนุกสนานอยู่ตลอดเวลา




ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ภายใต้ฉากฆ่าอันรุนแรง และการขายตัวละครหญิงใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นเหล่านี้กลับแฝงไปด้วยการพูดถึงการค้าประเวณีในประเทศอเมริกา และพูดถึงสังคมชนชั้นล่างของอเมริกาที่ถูกประเทศและสังคมเขี่ยทิ้งอย่างไม่ใยดีได้เป็นอย่างดี  ตั้งแต่คนอเมริกาใต้ คนผิวสี หรือคนขาวที่ทำอาชีพโสเภณี แถมยังเสียดสีเชื้อชาติอย่างญี่ปุ่น ที่ลงไปยุ่งเกี่ยวกับสังคมชนชั้นต่ำของอเมริกาอีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว


แต่ถึงแม้ว่าในช่วงต้นเรื่อง ตัวภาพยนตร์ค่อนข้างจะดำเนินเรื่องได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงการกำกับฉากพลิกตลบไป-มาตลอดของบทก็สนุกและตื่นเต้นดี
พอเข้าช่วงท้ายเรื่องเท่านั้นล่ะ ตัวภาพยนตร์ก็กลับเดินช้าลงจนแทบเกือบจะหยุดเดิน ด้วยการกำกับที่เสมือนหลงทางเอาตอนจะจบเรื่อง ซึ่งเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงในภาพยนตร์แอ็คชั่น / เขย่าขวัญ ที่ต้องอาศัยอารมณ์ร่วมระหว่างผู้ชมกับตัวภาพยนตร์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเหตุทำให้ช่วงท้ายเรื่องค่อนข้างจะให้ความรู้สึกจืดชืด แถมตัวละครร้ายของเรื่องที่ปูมาว่าเก่งนักเก่งหนาตั้งแต่ต้นเรื่อง ก็กลับน่าผิดหวัง ถือได้ว่าเป็นการเริ่มที่ดีแต่เป็นการจบที่ไม่สวยเอาเสียเลย





Everly คือภาพยนตร์แอ็คชั่น / เขย่าขวัญ ที่ไม่พยายามเป็นเหนือกว่าภาพยนตร์เกรดบี และในบางครั้งนั้นก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะการตัดสินใจนี้ ทำให้ตัวภาพยนตร์สามารถที่จะถ่ายทอดเรื่องราวและเนื้อหาส่วนเฉพาะจุดขายของตนเองได้อย่างเต็มที่ จนทำให้ภาพยนตร์ออกมาสนุก ตื่นเต้น และน่าติดตามอยู่ตลอดเวลา อาจจะน่าเสียดาย ที่ช่วงท้ายเรื่องผู้กำกับ โจ ลินช์ เหมือนจะหลงทาง จนทำให้ความน่าสนใจตกลงไปบ้าง แต่สุดท้ายแล้ว Everly ก็เป็นภาพยนตร์ที่โอเคเลยทีเดียว


Final Score : [ B -  ]

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558

Predestination ( 2014 ) Movie Review

Predestination ( 2014 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"นักมายากลที่ถูกกลของตัวเองเล่นงาน"




      นี้ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรก ที่นำแนวความคิดเรื่องของการย้อนเวลามาใช้ในภาพยนตร์ เอาเข้าจริงเร็วๆนี้ก็มีภาพยนตร์อย่าง Looper ที่นำเรื่องการย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตเช่นเดียวกัน แถม Looper ก็ทำได้ค่อนข้างจะน่าประทับใจเสียด้วย งานนี้จึงเรียกได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักเลย สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่จะสร้างความประทับใจแบบเดียวกับภาพยนตร์เรื่องก่อนได้ โดยเฉพาะถ้าหากสิ่งต่างๆยังคงเดิม ไม่มีอะไรแปลกใหม่ก็คงจะไม่ดีแน่


Predestination ( ไมเคิล สไพริก , ปีเตอร์ สไพริก ) ว่าด้วยเรื่องราวของเจ้าหน้าองค์กรคนหนึ่งที่สามารถข้ามเวลาและย้อนเวลากลับไปในอดีตได้ และในภารกิจสุดท้ายนี้ของเขา เขาจะต้องทำทุกวิถีทางที่จะหยุดวายร้ายที่กำลังสร้างความปั่นป่วนไปทั่ว ก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลายไปเสียก่อน



ต้องพูดเลยว่า Predestination เป็นภาพยนตร์ที่มีปัญหาหลายข้ออยู่เหมือนกัน ซึ่งก็คือเมื่อตัวภาพยนตร์ได้เฉลยปมทุกอย่างแล้ว ทุกๆความน่าสนใจ และความน่าค้นหาต่อไปของตัวภาพยนตร์ ก็จบลงไปด้วยเลยในทันทีทันใด ทั้งๆที่เอาเข้าจริง ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จบลงในรูปแบบค่อนข้างจะปลายเปิดทีเดียว แต่ปัญหาก็คือ ตัวเนื้อหาของภาพยนตร์นั่น ไม่น่าสนใจมากเพียงพอ และเคยถูกพูดมาแล้วในภาพยนตร์แนวเดียวกันเรื่องอื่นๆ เช่นประเด็นของเส้นกั้นอันเบาบางระหว่างฆาตกรกับวีรบุรุษ


โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามานั่งสำรวจดูเนื้อหนังของตัวภาพยนตร์ที่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีอะไรมากมายเท่าไรอยู่แล้วหลายๆสิ่งก็ยิ่งดูจืดชืดลงไปพอสมควร ซึ่งตัวภาพยนตร์ก็อาศัยการเล่นซ่อนแอบ สลับชิ้นส่วนไปมา เพื่อที่จะทำให้เราไม่สามารถเดาทิศทาง บทสรุป หรือจับไต๋ได้ในการพยายามทำให้ตัวภาพยนตร์น่าสนใจยิ่งขึ้น เฉกเช่นการแสดงภาพการกระทำของตัวละครต่างๆ แต่ถ่ายแบบไม่ให้เห็นหน้าของตัวละคร แล้วมาเฉลยในภายหลังเป็นต้น ซึ่งจริงๆวิธีการนี้ก็ไม่ได้ผิดแปลกอะไร 




ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อจำนวนการใช้เทคนิคซ่อนแอบ สลับไปมา และความพยายามในการสร้างความแปลกใจให้กับผู้ชมมันก็เริ่มที่จะมากเกินไปจนล้นออกมา ทำให้ตัวภาพยนตร์ก็เริ่มที่จะส่อถึงปัญหาอยู่เหมือนกัน เพราะมันทำให้การเล่าเรื่องของทั้งสองผู้กำกับสไพริก กลายเป็นเสมือนการใส่ลูกเล่นเกินควรเสียมากกว่าการถ่ายทอดด้วยกลวิธีภาพยนตร์ด้วยจำนวนที่จำเป็นต่อการเล่าเรื่องจริงๆ ซ้ำจุดหักมุมทั้งหลายก็ไม่ได้น่าตกใจหรือเหนือความคาดหมายอะไรมากมายที่จะพอให้อภัยในส่วนนี้ได้  และเอาเข้าจริงนั่นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย 


เพราะการเล่าเรื่องของสองพี่น้องสไพริกจริงๆก็ค่อนข้างจะดีเลยทีเดียว พวกเขาสามารถเชื่อมต่อการเล่าเรื่องแบบเรื่องซ้อนเรื่องได้อย่างน่าสนใจ น่าติดตามและไม่รู้สึกติดขัดเลยแม้แต่น้อย 
แต่คงจะดีกว่านี้ถ้าหากการเล่าเรื่องของพวกเขาหลายๆส่วน ไม่ถูกจำกัดลงอย่างมากเนื่องจากความจริงที่พวกเขาต้องมานั่งห่วงว่าจะเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์รวดเร็วจนเกินไป เสมือนนักมายากลที่มัวแต่หมกหมุ่นอยู่กับกลของตัวเอง จนไม่ทันหันมาดูว่าผู้ชมได้เดินออกไปจากโรงละครหมดแล้ว


ซึ่งเหตุผลของการสับขาหลอกก็คงจะหนีไม่พ้นความจริงที่ว่าตัวเนื้อหนังของภาพยนตร์จริงไม่ค่อยจะมีอะไรมากมายซักเท่าไรนัก นอกเหนือจากตัวละครที่เป็นตัวดำเนินเรื่องทั้งหลาย

ถึงแม้ว่าหลายๆประเด็นจะสอดแทรกมาได้น่าสนใจ แต่นั้นก็ไม่ได้เพียงพอต่อการเป็นข้ออ้างในการเล่าเรื่องวนซ้ำไปมาขนาดนี้ เพราะสุดท้ายแล้ว การทำเช่นนี้ก็ไม่ได้สามารถนำผู้ชมไปสู่ทัศนะใหม่ที่ไม่สามารถจะเข้าถึงได้นอกจากการใช้เทคนิคนี้เท่านั้นเลย



อีกส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือนักแสดงนำของภาพยนตร์ ในด้านของอีธาน ฮอว์ค เขาก็ยังคงนำแสดงผลงานได้ดีเช่นเคย แต่นักแสดงคนที่น่าติดตามมากจริงๆเลย ก็คือนักแสดงหญิงชาวออสเตรเลีย ซาร่าห์ สนุค ผู้รับอีกหนึ่งบทนำในภาพยนตร์ ที่แสดงผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมมากๆทีเดียว ซึ่งการแสดงของเธอก็ทรงพลังและน่าเชื่อถือมากจนพาเรารู้สึกร่วมถึงเหตุการณ์ไปกับเธอเลยทีเดียว 


นอกจากนั้นแล้ว ตัวละครของเธอ ก็ยังสะท้อนถึงเรื่องราวประเด็นต่างๆที่น่าสนใจมากทีเดียว ตั้งแต่ประเด็นเพศสตรีที่ถูกครอบงำและควบคุมทางอ้อมโดยสังคมชายเป็นใหญ่ หรือ ประเด็นสภาวะความแปลกแยกของเธอ ซึ่งเสียดสีสภาพสังคมในยุค 1940 ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าบทสรุปของประเด็นอาจจะย้อนแย้งหันกลับมาจิกกัดตัวเองในตอนท้ายไปบ้าง แต่ก็ถือว่าน่าสนใจทีเดียว



สรุปแล้ว Predestination ก็ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมเสียทีเดียว เนื่องจากตัวมันอาศัยอยู่บนความพยายามในการสร้างความแปลกใจให้แก่ผู้ชมและการใช้เทคนิคหลบซ่อน สับขาหลอกไปมามากจนเกินไป รวมถึงตัวบทภาพยนตร์ที่สามารถไปได้ลึกกว่านี้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง นี้ก็ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ใกล้เคียงคำว่าแย่แต่อย่างใด เพราะยังคงมีนักแสดงที่น่าทึ่ง การเล่าเรื่องซ้อนเรื่องที่น่าติดตาม และการสะท้อนสภาวะสภาพสังคมยุค 1940 - 1960 ได้อย่างน่าสนใจ จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ตกไปอยู่ในจุดของความไม่ยิ่งใหญ่ แต่กำลังพอดี


Final Score : [ B ] 

วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

Deemo ( 2014 ) Game Review

Deemo ( 2014 ) Game Review



"ถึงแม้ว่านี้อาจจะไม่ใช่เกมดนตรีที่ลงทุนสูงมากนัก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งเกมที่คอเกมดนตรีทั้งหลายห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด"


        สำหรับคนที่ชอบเล่นเกมประเภทดนตรีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เราก็มักจะชอบตามหาเกมดนตรีที่น่าลองและน่าเล่นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะท่านที่ไม่มีเครื่องเกมอย่าง PSP หรือ PSVita ที่มีเกมอย่าง DJMAX ให้เล่น ซึ่งเครื่องเกมพกพาที่น่าจะใกล้ตัวมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นสมารท์โฟนนั่นเอง


โดยเกมนี้มีชื่อว่า Deemo นั่นเอง ซึ่งเป็นเกมของค่าย Rayark Inc. จากประเทศไต้หวัน และเคยมีผลงานเกมดนตรีบนมือถือมาก่อนแล้วในชื่อของ Cytus ลงให้กับทั้ง Android และ iOS



แต่สิ่งที่แยกตัวเกม Deemo ออกมาจากเกมดนตรีอื่นๆ และสร้างความเป็นลักษณ์ของตัวมันเองเลย ก็คือการที่นี้คือเกมที่เน้นรูปแบบเพลงเปียโนเป็นหลัก เรียกได้ว่าทุกเพลงจะมีเสียงเพลง และเครื่องเล่นเปียโนเป็นหลักนั้นเอง แทนที่จะเป็นออกแนวเทคโนแบบ DJMAX หรือ Cytus

ซึ่งถ้าให้ท่านใดที่ชอบฟังเพลงหรือชอบฟังเครื่องดนตรีประเภทเปียโนอยู่แล้ว นี้จะเป็นเกมที่เติมเต็มความฝันของคุณในการได้ฟังและเล่นเกมเสมือนเราได้ลงไปดีดเปียโนด้วยตนเองเลยทีเดียว

ซ้ำบทเพลงต่างๆก็ถูกสร้างสรรค์ด้วยศิลปินมากความสามารถ ที่สามารถสร้างสรรค์บทเพลงอันน่าทึ่ง ไพเราะ น่าจดจำ เฉกเช่นเพลงอย่าง Pure White ซึ่งได้ผู้แต่งเพลงมากความสามารถจากประเทศไต้หวันอย่าง V.K. มาบรรเลง หรือเพลง Saika ซึ่งเป็นเพลงที่ผสมผสานโน้ตเปียโนกับเทคโนให้ออกมารุนแรงของศิลปิน Rabpit เป็นต้น เรียกได้ว่าเล่นไปซักพักนี้แทบจะต้องรีบหาตัวอัลบั้มต้นฉบับมาฟังกันเลยทีเดียวเชียว



ในด้านของระบบการเล่น Deemo ก็ยังคงมีการเล่นที่เข้าใจง่ายเช่นเคย โดยระหว่างเล่นจะมีตัวโน้ตสีดำตกลงมาตามที่ต่างๆให้เรากดตามจังหวะเพลง ส่วนโน้ตสีทองก็ให้ใช้นิ้วลากตามโน้ตแทน ซึ่งถึงแม้ว่าระบบการเล่นจะเข้าใจง่าย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าตัวเกมจะง่ายแต่อย่างใด โดยเฉพาะหลังจากเพลงเลเวล 7 ขึ้นไปซึ่งมีโน้ตที่โหดร้ายทารุณพอสมควร จึงทำให้ตัวเกมค่อนข้างจะท้าทายและสนุกตลอดเวลา

ถึงกระนั้นก็ตาม Deemo เป็นเกมที่มีข้อเสียที่ร้ายแรงเอามากๆอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งข้อเสียข้อนั้น ก็คือการที่ตัวโน้ตไม่ได้เป็นตัวกำหนดเสียงเพลงต่างๆในเกมจริง

อธิบายง่ายๆก็คือ โดยปกติแล้ว อย่างเช่น DJMAX เวลาตัวโน้ตต่างๆที่ตกลงมาให้เรากดตามจังหวะ พอเรากดได้ โน้ตตัวนั้นก็จะแสดงเสียงประจำโน้ตหรือเครื่องดนตรีออกมา ผสมกับเพลงหลักออกมาเป็นตัวเพลงเต็มๆ แต่ใน Deemo มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะต่อให้คุณปล่อยผ่านโน้ตที่ตกลงมาซักกี่ร้อยตัว ตัวโน้ตและเครื่องดนตรีก็ยังคงเล่นต่อไปเหมือนเดิม ซ้ำยังไม่มีทีท่าที่จะขึ้น Game Over เลยอีกด้วย



เสมือนว่าตัวเกมมีเพลงมาให้แล้วเต็มๆ แต่แค่แสดงภาพเป็นโน้ตให้เรากดเล่นเฉยๆ โดยไม่ได้ส่งผลถึงตัวเพลงจริงๆ ในขณะที่เกมอย่าง DJMAX ถ้าเรากดพลาด ในหลายๆครั้งเราจะทราบทันทีเลย เพราะว่าเสียงโน้ตตัวนั้นๆจะหายไป  ซึ่งนี้ก็แสดงได้ถึงตัวระบบการเล่นของ Deemo ที่ดูหลอกตา เสมือนว่าจะมีระบบที่ลึกซึ้ง ยอดเยี่ยม แต่เอาเข้าจริงกลับค่อนข้างจะว่างเปล่าซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเหมือนกัน คาดว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ น่าจะมาจากด้านงบประมาณ เนื่องจากผู้พัฒนาก็เป็นทีมผู้พัฒนาค่ายอินดี้เล็กๆเท่านั้น


มาพูดถึงในส่วนของราคาตัวเกมกันบ้าง โดยตัวเกมตอนแรกจะสามารถโหลดมาเล่นได้ด้วยราคาประมาณ 60 บาท ซึ่งจะปลดล็อคเฉพาะในส่วนของ Book Collection 1 หรือคิดง่ายๆว่าก็คือเล่นได้จำกัดเฉพาะบางเพลงเท่านั้น โดย Collection 1 จะมีเพลงให้เล่นด้วยกัน 27 เพลงด้วยกัน ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว



โดยในตัวเกมพอเล่นไปซักพักจะมีเสมือนฉากอนิเมชั่นเนื้อเรื่องเล็กน้อยให้ดูอีกด้วย ซึ่งค่อนข้างจะสวยงามทีเดียว ถึงแม้ว่าตัวเนื้อเรื่องอาจจะค่อนข้างพื้นๆและน้อยมากพอสมควร แต่ถ้าคิดว่าเป็นของแถมไปก็ยังถือว่าพอรับได้อยู่

นอกเหนือจากนั้นแล้วท่านยังสามารถซื้อเพลง Collection อื่นๆในเกมได้อีกด้วย แต่ราคาค่อนข้างจะสูงทีเดียวคือ ประมาณชุดละ 120 กว่าบาท แถม Collection อื่นนอกจากอันแรก จะมีอยู่ไม่กี่เพลงเท่านั้น ประมาณ 6 เพลง แต่ท่านสามารถเข้าไปดูตัวอย่างเพลงทั้งหมดได้ในเกมเลย ซึ่งถามว่าคุ้มไหม ก็คงคุ้มถ้าหากท่านชอบเพลงชุดนั้น อย่างเช่น Collection 6 ของศิลปิน V.K. ซึ่งผู้เขียนชอบมากๆเลยทีเดียว โดย ณ เวลานี้ตัวเกมมีอยู่ทั้งหมดด้วยกัน  12 Collection ด้วยกันครับ

ในด้านตัวบัคของตัวเกมเท่าที่เจอหนักสุดก็คงจะเป็นเวลาที่เราหยุดเกมกลางคันระหว่างเล่น เช่นสลับหน้าเกมไปเล่น Facebook หรืออื่นๆ พอกลับเข้ามากดเล่นเกมต่อ ตัวเกมจะเกิดอาการที่ตัวเพลงกับตัวโน้ตไม่ตรงกัน เสมือนเพลงไปแล้วท่อนถัดไป แต่ตัวโน้ตที่ให้กดยังอยู่ท่อนก่อนหน้าอยู่เลย ซึ่งสร้างความน่ารำคาญให้พอสมควรเลยทีเดียว โดยเฉพาะเกมบนสมารท์โฟนที่บางครั้งเราเล่นอยู่ อาจจะมีใครโทรมา ทำให้เกมต้องหยุดทันที และพอเรากลับเข้ามาต้องมาเจอบัคแบบนี้ก็คงพาอารมณ์เสียน่าดู 


โดยรวมแล้วถึงแม้ว่า Deemo จะไม่ใช่เกมที่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์นัก ด้วยระบบการเล่นที่ค่อนข้างจะหลอกตาผู้เล่น และราคาตัวเพลง Collection แยกที่ค่อนข้างจะสูง แต่สุดท้ายแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ด้วยความไพเราะของตัวบทเพลง และตัวระบบการเล่นที่สนุกใช้ได้ ก็ทำให้เกมๆนี้ กลายเป็นเกมที่ห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะแฟนเกมดนตรีทั้งหลาย


Final Score : [ B + ]