วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Eye in the Sky (2016) - Review

Eye in the Sky เป็นภาพยนตร์ที่นำเราเข้าไปส่วนหนึ่งของภารกิจจับตัวผู้ก่อการร้ายระดับโลก ซึ่งเกิดเรื่องวุ่นวายมากขึ้นหลังมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้าไปในรัศมีของระเบิด

แม้เรื่องราวของตัวภาพยนตร์จะดูค่อนข้างธรรมดา แต่ด้วยการกำกับ แกวิน ฮูด ซึ่งนำเสนอการปะทะกันของศีลธรรมและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ผสมเข้ากับการนำเสนอมุมมองของแต่ละตัวซึ่งคำนึงถึงผลที่ตามมาแตกต่างกันไป
ตั้งแต่ทีมรัฐบาลที่คำนึงถึงในด้านชื่อเสียงของรัฐ การเมืองที่อาจได้รับผลกระทบ ทางฝ่ายทหารซึ่งคำนึงถึงความสำเร็จของภารกิจมาเป็นหลัก ไปจนถึงทีมผู้ควบคุมหุ่นดรอยด์\กดปุ่มสังหาร ซึ่งคอยตั้งคำถามถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ตลอดเวลา

เมื่อประเด็นของแต่ละตัวละครมาโคจรและปะทะกัน ผสมเข้ากับผลงานการแสดงของทีมนักแสดงที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะ แอรอน พอล ก็ทำให้ Eye in the Sky กลายเป็นผลงานสุดระทึกขึ้นมาในทันใด
ไม่น่าเชื่อว่าการปะทะกันของ cause และ effect อันซับซ้อน ไม่ว่าจะในด้านของสภาพการเมืองระหว่างประเทศ, propaganda ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐในการตัดสินใจ สภาพสังคม หรือเรื่องพื้นฐานอย่างศีลธรรมและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ จะเกิดขึ้นด้วยคำถามเพียงคำถามเดียว

ระหว่างชีวิตของเด็กบริสุทธิ์ตัวเล็กๆคนหนึ่งที่แน่นอน กับชีวิตของคนอีกมากมายที่อาจตกอยู่ในอันตรายในอนาคต สิ่งใดมีคุณค่ามากกว่ากัน และคุณจะยอมเสี่ยงหรือไม่ ? นี้คงเป็นคำถามที่กัดกินจิตใจตัวละครและผู้ชมอยู่เรื่อยไป แม้ตัวภาพยนตร์จะได้จบลงไปแล้วก็ตาม
Final Score: [ 7.5 ]

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

The Secret Life of Pets ( 2016 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz

ในฐานะที่เป็นคนเลี้ยงสุนัขธรรมดาๆทั่วไปคนหนึ่ง สิ่งที่สงสัยมาจนถึงทุกวันนี้ ก็คือสุนัขของเราทำอะไรเมื่อตอนที่เราไม่อยู่บ้าน เรียกได้ว่าสงสัยหนักมากจนเกือบซื้อกล้องมาติดดู มันอาจจะนอนอยู่บนเตียง แทะรองเท้า นอนมองไปนอกหน้าต่าง หรืออาจจะนั่งรออยู่ตรงหน้าประตูที่เราเดินออกจากห้องก็เป็นไปได้

The Secret Life of Pets พยายามที่จะตอบคำถามที่ค้างคาใจของเราเหล่านี้ โดยเฉพาะในช่วงต้นเรื่องซึ่งเป็นช่วงที่น่าประทับใจมากที่สุดของภาพยนตร์อย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยการนำเสนอและปูตัวละครแต่ละตัวได้อย่างน่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม ช่วงกลางเรื่องของ The Secret Life of Pets กลับดรอปลงค่อนข้างมาก เนื่องด้วยความที่มันพยายามจะทำให้ชีวิตลับๆในบ้านของสัตว์เลี้ยงกลุ่มหนึ่งซึ่งก็น่าสนใจอยู่แล้ว ให้กลายเป็นการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่มากจนเกินไป

ทำให้สิ่งที่ตามมาก็คือสูตรสำเร็จของภาพยนตร์ฮอลลีวูดต่างๆทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น บทภาพยนตร์ ปมขัดแย้ง การดำเนินเรื่อง หรือบทสรุปที่แสนธรรมดา ส่งผลให้อารมณ์ร่วม ความอยากรู้อยากเห็นและความโดดเด่นของมันถูกลดลงไปอย่างรวดเร็ว

ยิ่งเมื่อเทียบกับผลงานเรื่องอื่นจากค่าย Illumination แล้ว บทสรุปของ The Secret Life of Pets อาจตกอยู่ในระดับเดียวกันกับ Minions (2015) ที่ไม่ค่อยน่าจดจำเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับผลงานระดับต้นๆของค่ายอย่าง Despicable Me (2010)

โชคยังดีที่ตัวละครแต่ละตัวมีความน่ารักและน่าสนใจมากพอที่จะทำให้เรื่องราวสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างไม่ติดขัดมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเจ้ากระต่ายจอมแสบ สโนว์บอล กับแก๊งค์สัตว์ผู้ถูกทอดทิ้ง หรือความสัมพันธ์ของเจ้าตูบ แม็กซ์ กับสุนัขตัวใหม่ ดุ๊ก

ภาพแอนิเมชั่นอันสดใสและมีชีวิตชีวา การสอดแทรกปมปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเล็กๆน้อยๆ เฉกเช่นการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง การนำสัตว์ที่มีสัญชาติญาณนักฆ่ามาเป็นสัตว์เลี้ยง หรือสายสัมพันธ์ที่ตัดไม่ขาดระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยง ต่างก็เป็นอีกส่วนองค์ประกอบที่คอยทำให้เรารู้สึกอยากติดตามไปได้ตลอดเวลา

ท้ายที่สุดแล้ว แม้ The Secret Life of Pets จะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปด้วยการเดินหน้าแบบสูตรสำเร็จ ความน่ารักของเหล่าสัตว์เลี้ยง แอนิเมชั่นที่สวยสดงดงาม ปมปัญหาที่น่าติดตาม ผนวกเข้ากับภาพยนตร์สั้นแปะหน้าเรื่องของเหล่ามินเนี่ยนสุดฮา ก็ทำให้ The Secret Life of Pets เป็นการผจญภัยที่คุ้มค่าอย่างไม่ต้องสงสัย

Final Result : [ สอบผ่าน , 7 / 10 ]

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Jason Bourne (2016)

หายหน้าหายตาไปถึง 9 ปี (ถ้าหากไม่นับ The Bourne Legacy) สำหรับแฟรนไชส์สุดระทึกที่โด่งดังอย่าง Bourne หลังจากแปกไปไม่เป็นท่าในภาค The Bourne Legacy ในปี 2012 ซึ่งได้ เจเรมี่ เรนเนอร์มารับบทนำ



การกลับมาของแฟรนไชส์ Bourne ในครั้งนี้ เชื่อว่าค่อนข้างจะตั้งความคาดหวังให้แฟนๆหลายคนอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะนอกจากดารานำอย่าง แม็ตต์ เดม่อน จะกลับมารับบทเป็น เจสัน บอร์น เหมือนเดิมแล้ว ตัวผู้กำกับThe Bourne Supremacy (2004) และ The Bourne Ultimatum (2004) พอล กรีนกราส ก็กลับมารับตำแหน่งเดิมเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นของ Jason Bourne ในภาคนี้ กลับเป็นมาจากการเปลี่ยนตัวผู้เขียนบทยกแผง ซึ่งทำให้เห็นถึงจุดที่ขาดหายไปในภาคนี้ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นความลุ่มลึกของเรื่องราว ความลึกลับน่าค้นหา ไปจนถึงกระทั่งปมขัดแย้งต่างๆในภาคนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นข้ออ้างในการผลักดันแฟรนไชส์ให้เดินหน้าต่อไปได้ มากกว่าเป็นสิ่งที่ถูกขีดเขียนและวางแผนมาเป็นอย่างดี



ในมิติหนึ่งอาจเป็นชะตากรรมที่ตัวภาพยนตร์คงจะต้องทำใจยอมรับ ในเมื่อส่วนสำคัญของภาพยนตร์เลือกที่จะพูดถึงประเด็นที่สังคมหันมาให้ความสนใจได้ซักระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะหลังจากผลงานภาพยนตร์สารคดีอย่าง Citizen Four (2014) และการเปิดโปงสุดอื้อฉาวของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เด็น ซึ่งจะมีภาพยนตร์ชีวประวัติในปลายปีนี้

โชคยังดีที่สององค์ประกอบเดิมที่แฟนๆตั้งความหวังอย่าง แม็ตต์ เดม่อน และพอล กรีนกราส ยังคงไม่ผิดหวัง แม้ตัวพี่แม็ตต์ จะแลดูเริ่มหมดแรงจากอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงรับบทนำได้อย่างดีเยี่ยม น่าสนใจ คอยลุ้นเอาใจช่วย



ในขณะที่พอล กรีนกราส ยังคงเล่าเรื่องได้อย่างลื่นไหล น่าติดตาม ควบคุมจังหวะของภาพยนตร์ในแต่ละช่วงได้ดีโดยเฉพาะในฉากแอ็คชั่นทั้งหลาย แม้จะนำเสนอเนื้อหาออกมาอย่างโต่งๆแลดูขาดชั้นเชิงไปหน่อยก็ตาม

ท้ายที่สุดแล้ว Jason Bourne ก็เป็นผลงานภาพยนตร์ที่ผ่านฉลุยในด้านของความบันเทิง แต่ในด้านของคุณภาพโดยรวมยังคงครึ่งๆกลางๆ จากบาดแผลที่ใหญ่หลวงอย่างบทภาพยนตร์ ซึ่งเอาตัวรอดไปได้ด้วยการกำกับของ พอล กรีนกราส อย่างหวุดหวิด เชื่อว่าแฟนๆที่ประทับใจ Bourne สามภาคแรกอาจกลับบ้านไปอย่างผิดหวังกันบ้างนิดหน่อย



Final Result: [ 7 / 10 ]


ตัวละครอย่าง เจสัน บอร์น ก็เปรียบเสมือนตัวแทนของมนุษย์พวกเราทุกคน ที่กำลังถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพไปทีละเล็กทีละน้อยโดยที่ไม่รู้ตัว จนนำไปสู่การแทบจะปราศจากซึ่งเสรีภาพอย่างสมบูรณ์แบบในภาคนี้

อำนาจมืดที่คอยสอดส่องอยู่เบื้องหลังเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่ในรูปแบบของหัวเก่า แต่ปัจจุบันยังมาในรูปแบบใหม่ที่แยบยลกว่าเดิม

ซึ่งตัวภาพยนตร์ไม่ได้เพียงแค่ให้ทางเลือกกับเราในการยอมรับชะตากรรมหรือลุกขึ้นมาต่อกรกับอำนาจมืด

แต่ยังเชื่อว่าสังคมในปัจจุบัน ทราบถึงการมีตัวตนของอำนาจเหล่านี้ดี และได้สะท้อนคำเตือนไปสู่อำนาจมืดเหล่านั้นว่า "พวกเราไม่ได้ถูกปั่นหัวง่ายอย่างที่พวกคุณคิด"