วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

Under the Shadow ( 2016 ) Movie Reivew

"ภายใต้เงามืดของสงคราม"

ผลงานอย่าง The VVitch, Don't Breathe, The Conjuring 2 และ 10 Cloverfield Lane อาจเรียกได้ว่าทำให้ปี 2016 เป็นปีทองของภาพยนตร์สยองขวัญ/ระทึกขวัญอย่างแท้จริงก็ว่าได้
ซึ่งผลงานอย่าง Under the Shadow ก็เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่เตรียมเข้าไปอยู่ในรายชื่อต้นๆของภาพยนตร์สยองขวัญปีนี้ ด้วยคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลามจนทางอังกฤษต้องส่งไปเป็นตัวแทนเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2017 กันเลยทีเดียว
ในด้านของเนื้อหา บริบท หรือประเด็นที่สอดแทรก สะท้อนให้เราได้เห็นในภาพยนตร์ Under the Shadow เรียกได้ว่าค่อนข้างแข็งแรงมั่นคงมากทีเดียว แม้จะไม่ได้หนักในทางจิตวิทยาหนักแบบ The Babadook (2014)

แต่การใช้เรื่องราวของภูติผีปีศาจเป็นกระจกในการสะท้อนให้เห็นถึง บริบท และภาวะสงครามอันแสนเคร่งเครียด วิพากษ์วิจารณ์ระบบทางสังคมอันปราศจากซึ่งอิสรภาพของประเทศอิหร่านในโลกแห่งความเป็นจริง ก็เป็นอะไรที่น่าทึ่งไม่แพ้กัน
การกำกับของ บาบัก อันวารี ในการวางเรื่องราวและตัวละครต่างๆในภาพยนตร์ก็เป็นไปอย่างกลมกล่อม ไม่มากและไม่ล้นจนเกินไป ที่สำคัญคือแทบจะไม่มีมุขผีตุ้งแช่โผล่มาสร้างความรำคาญให้เห็น
แต่ถ้าหากนับเพียงด้านอารมณ์ระหว่างการนั่งชมภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว Under the Shadow คงจะเข้าขั้นรั้งท้ายรายชื่อภาพยนตร์ที่กล่าวมาข้างต้น ความรู้สึกกลัว หวาดระแวง หรือแรงกดดันต่างๆยังคงมีตัวตนให้ได้รู้สึกอย่างชัดเจน

แต่ความรู้สึกเหล่านี้จัดอยู่ในหมวดเบาบางอยู่พอสมควร โดยเฉพาะช่วงบทสรุปของเรื่องที่ไม่ค่อยน่าจดจำเท่าไรนัก เชื่อว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการกำกับและบทที่พยายามหันเหไปในทางที่ให้ความรู้สึกสมจริง อ้างอิงกับโลกแห่งความเป็นจริง จึงทำให้หลากหลายสิ่งไม่สามารถยืดไปสุดขีดได้แบบภาพยนตร์สัญชาติออสเตรเลียอย่าง The Babadook ได้ อย่างไรก็ตามความรู้สึกเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่มีตัวตนชัดเจนระหว่างชมชนิดปฏิเสธได้ยาก

แม้ Under the Shadow จะพ่ายแพ้ The Babadook ไปอย่างฉิวเฉียดเนื่องจากความล้มเหลวที่ไม่สามารถจะเข้ามาสัมผัสเราในระดับปัจเจกชนิดต้องเปิดไฟนอนทั้งคืนได้ แต่การสอดแทรกบริบททางสังคม สัญญะต่างๆ รวมไปถึงการใช้ลักษณะของความเป็นภาพยนตร์สยองขวัญในการสะท้อนเรื่องราวในโลกแห่งความเป็นจริงก็เป็นองค์ประกอบที่น่าทึ่งมากพอที่จะทำให้เราจดจำผลงานเรื่องนี้ไปอีกซักพัก
Final Score: [ 8 / 10 ]

ลักษณะตัวละครภูติผีปีศาจ "จิน" ใน Under the Shadow ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวไปมาผ่านสายลมอย่างอิสระ หรือความที่เมื่อมันได้สิ่งของที่เรามีความ "ผูกพันธ์" อย่างมากไป เราจะไม่สามารถหนีมันได้พ้น ลักษณะเหล่านี้สามารถถูกนำไปเปรียบเทียบได้กับลักษณะของสงครามที่เกิดขึ้นบนโลกเรา

สงครามไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่น่าเกลียด น่ากลัว แต่ยังเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวหรือแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆของโลกได้อย่างอิสระ รวดเร็ว ยิ่งถ้าหากเราถูกมันพรากสิ่งที่เรามีสายสัมพันธ์หรือมีความผูกพันธ์ไป เช่น บ้านที่เราอยู่อาศัยสร้างมากับมือ หรือคนรัก บุคคลในครอบครัวที่ถูกส่งไปยังสนามรบ เรายิ่งไม่สามารถจะหนีมันพ้น ไม่ว่าจะในด้านของกายภาพหรือจิตใจ

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าเรื่องราวของสงครามในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือในมุมของศาสนาซึ่ง Under the Shadow แสดงให้เห็นถึงอำนาจมากถึงสามครั้ง
- ตัวละครอื่นนอกจากตัวละครเอกเรามักจะเห็นคลุมฮิญาบอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ตัวละครเอกเกือบจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงช่วงที่พยายามหนีออกมาจากบ้านโดยไม่ได้ใส่ผ้าคลุม
- เพดานห้องซึ่งถูกทำให้เป็นรูโหว่ใหญ่โตหลังจากถูกจรวดตกใส่ ซึ่งเพดานที่พังไปนี้ภายหลังก็ต้องมีการนำผ้ามาคลุมปิด ซ้ำร้ายห้องนี้ก็กลายเป็นห้องที่เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ผีร้ายจินหลากหลายครั้ง
- กระทั่งรูปร่างหน้าตาของตัวภูติผีอย่างจินก็มีลักษณะเหมือนเป็นผู้หญิงที่มีการคลุมฮิญาบไม่ต่างไปจากตัวละครหญิงตัวอื่นๆในเรื่อง

ทั้งสามข้อนี้ใน Under the Shadow แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของศาสนาที่อาจรุนแรงเสียยิ่งกว่าสงคราม ในมุมหนึ่งอาจมองได้ว่าตัวละครอย่าง จิน เป็นเสมือนตัวแทนของศาสนาที่เข้ามาลงโทษตัวละครเอกที่กระทำความผิด เช่น การมีเครื่องเล่นวิดีโอไว้ครอบครอง หรือการไม่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด พลังอำนาจของศาสนานั้นมากมายจนเป็นเสมือนต้นตอของทุกสิ่งเช่นสงคราม ทรงพลังมากจนแม้กระทั่งสิ่งลี้ลับภูติผีปีศาจอย่างจินยังต้องยอมสยบและกระทำตาม

แต่ในอีกมิติหนึ่งเราก็อาจมองได้ว่านี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอิหร่านที่เพศหญิงยังคงถูกตราหน้าว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ ไม่คู่ควรกับสิ่งที่มีคุณค่าเช่นความรู้ และต้องก้มหน้ายอมรับแรงกดดันจากสังคมที่เพศชายเป็นใหญ่ต่อไป

Doctor Strange ( 2016 ) Movie Review

"Inception: Marvel Edition ?"

ใครจะเชื่อว่านักแสดงสุดฮ็อตตารางแน่นเอี๊ยดอย่าง เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ จะมารับบทเป็นซุปเปอร์ฮีโร่คนล่าสุดของ Marvel อย่าง Doctor Strange ได้ แต่มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วท่ามกลางการผงาดของ Marvel และการคืบคลานมาอย่างเชื่องช้าของ DC ในตลาดภาพยนตร์ตอนนี้

การเปิดตัวคุณหมอแปลกแหวกมิติในเวลานี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดก็ว่าได้ ด้วยความที่ยิ่งใกล้สงครามใหญ่อย่าง Infinity Wars aka. ธานอสแอนด์เดอะถุงมือเกรียน เข้าไปทุกที ดูเหมือนว่าจินตนาการหรือความบ้าคลั่งของ Marvel ก็ยิ่งทวีคูณในการเตรียมพร้อมให้ผู้ชมอย่างเรารับกับคลื่นมหึมาที่จะซัดมาถึงในไม่ช้า

แม้ Doctor Strange จะยังคงรูปแบบและเนื้อหาเดิมๆตามสไตล์ Marvel แต่นั้นก็หาใช่สิ่งที่แย่ไม่ คงเป็นเพราะสาเหตุที่สิ่งที่ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ พวกเขายังคงทำมันได้ดีเพียงพอที่จะทำให้เราสามารถสนุกไปกับมันได้ไม่ยาก

แต่ถ้าหากจะมีสิ่งหนึ่งซึ่งดึงผลงานเรื่องนี้ให้โดดเด่นเหนือผลงานเรื่องอื่นๆของ Marvel ก็คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากด้านภาพหรือวิชวลอันแสนน่าทึ่งไม่ว่าจะจากการร่ายเวทย์มนตร์สุดเท่ห์ หรือฉากตึกต่างๆเคลื่อนไหวซ้อนกันไปมาอย่างกับ Inception 2.0 เรียกได้ว่าถ้าหากนับเฉพาะความอลังการจากเพียงภาพที่ถูกสรรสร้างมาวางต่อหน้าเรา Doctor Strange อาจเป็นภาพยนตร์ที่ล้ำเลิศที่สุดของ Marvel ก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางองค์ประกอบที่ดีเยี่ยมหลากหลายของ Doctor Strange ส่วนสำคัญของเรื่องราวอย่างตัวละครกลับปราศจากการถูกขัดเกลาอย่างพิถีพิถันโดยเฉพาะเหล่าร้ายซึ่งยังคงแสนจืดชืดตามสไตล์ Marvel เหมือนเดิม ในขณะที่ตัวละครหลักอย่างคุณหมอแปลกและตัวละครสำคัญอย่างดิแอนเชี่ยนวัน ต่างรอดตัวไปได้ด้วยการแสดงอันเหนือชั้นของ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ และทิลดา สวินตัน

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เหล่าตัวละครขาดความน่าสนใจนอกจากด้านบทภาพยนตร์แล้วก็คงจะหนีไม่พ้นการกำกับของ สก็อตต์ เดอริคสัน ซึ่งพยายามทำเรื่องราวให้กระชับที่สุด แต่กลับไปบีบส่วนของตัวละครโดยเฉพาะตัวละครหลักมากเกินไป ทำให้คุณหมอแปลกแหวกมิติเป็นได้แค่เพียงคุณหมอจอมเวทย์ยโสโอหังที่ปราศจากมิติตัวละครที่ลึกซึ้งหรือความน่าเห็นใจ

ในท้ายที่สุดแล้วถึงแม้ Doctor Strange จะเต็มไปด้วยภาพอันอลังการงานสร้าง ทีมงานโปรดักชั่นระดับเทพ ทีมนักแสดงที่ยอดเยี่ยม หรือมุขตลกขบขันที่สอดแทรกเข้ามาให้ได้หัวเราะกันทั้งเรื่องมากเท่าใด แต่รูปแบบที่ซ้ำซากและเหล่าตัวละครที่ไม่น่าสนใจก็เป็นเหตุที่ทำให้ตัวภาพยนตร์ไม่มีความน่าจดจำเท่าที่ควร ทำให้เราได้แต่ภาวนาว่า หลังจากการใช้เวลาในการปูเส้นทางไปสู่ Avengers: Infinity War กันหลายต่อหลายเรื่อง ตัวละครแสนสำคัญอย่างคุณพี่ธานอสจะไม่ทำให้เราผิดหวัง
Final Score: [ 7 ]

ปล. หลังจบภาพยนตร์มีเครดิตสองรอบนะครับอย่าลืมนั่งดูกันเนอะ

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

The Accountant (2016)

"แบทแมนในคราบนักบัญชี?"

ท่านผู้อ่านเคยเป็นกันบ้างหรือไม่ เมื่อนักแสดงคนหนึ่งไปรับบทในภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วเราจดจำเขาในภาพของตัวละครนั้นไปตลอด ไม่ว่าเขาจะไปรับบทเป็นตัวละครที่ต่างกันคนละขั้วมากเท่าไรก็ตาม อาจเป็นเพราะภาพยนตร์อย่าง Batman v Superman: Dawn of Justice และ Suicide Squad เข้าฉายในปีนี้จึงทำให้ข้าพเจ้าไม่อาจลบภาพ เบน แอฟเฟล็ก จากบทอัศวินรัตติกาลคนล่าสุดไปได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นกับผลงานล่าสุดของเขาอย่าง The Accountant

เอาเข้าจริงแล้ว The Accountant มีหลากหลายส่วนที่ให้กลิ่นอายเหมือนภาพยนตร์แบทแมนอย่างปฏิเสธได้ยาก ไม่ใช่แค่เฉพาะส่วนนักแสดงอย่าง เบน แอฟเฟล็ค หรือ เจ.เค. ซิมมอนส์ aka ผู้การเจมส์ กอร์ดอนคนล่าสุด แต่ยังรวมไปถึงเส้นเรื่องราวที่แตกแยกออกมาอย่างน่าสนใจ ตั้งแต่เส้นใหญ่ของเรื่องซึ่งนำเสนอการปะทะกันของ ศีลธรรม ความดี ความชั่ว และกำแพงบางๆที่กั้นสองสิ่งนี้อยู่ภายใต้จิตใจของเหล่าตำรวจหรือนักสืบ
หรือในด้านของปัจเจก ที่นำเสนอพื้นหลัง ความขัดแย้งของตัวละคร ที่มาที่ไปอย่างหนักหน่วง จะมีก็เพียงการสอดแทรกบริบททางสังคมที่ดูแตกต่างไปบ้าง เหล่านักแสดงต่างๆในภาพยนตร์เรื่องนี้ถือได้ว่ามาสร้างสีสันได้ดีทีเดียวไม่ว่าจะเป็น จอน เบิร์นธัล, แอนนา เคนดริก หรือซินเธีย โรบินสัน ต่างมีลักษณะตัวละครและพื้นหลังที่ค่อนข้างแตกต่างกันได้อย่างน่าสนใจ แต่แน่นอนว่านักแสดงที่เราจับตามองไม่หยุดก็หนีไม่พ้น เบน แอฟเฟล็ก กับเจ.เค. ซิมมอนส์ อยู่ดี การปะทะกันของสองตัวละครนี้ในบางฉากทำให้เราเพ้อเอาเองว่าเป็นการปฐมบทไปสู่ ​Justice League เลยทีเดียว
สำหรับในด้านการกำกับของ เกวิน โอคอนนอร์ ภาพรวมถือว่าทำได้ค่อนข้างดี ด้วยความที่เขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครที่สลับซับซ้อน ไปพร้อมๆกับเรื่องราวความขัดแย้งหลักได้ดี ยังไม่นับถึงจุดหักมุมที่ค่อนข้างน่าสนใจและคาดไม่ถึงพอสมควร ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงจะต้องขอยกเครดิตให้ผู้เขียนบท บิลล์ ดูบูก ไป อย่างไรก็ตามความสมดุลระหว่างการให้เวลาปูตัวละครหลัก และการดำเนินเรื่องไปข้างหน้าของเขายังขาดๆเกินๆ ตัวภาพยนตร์ใช้เวลาไปกับการพูดถึงพื้นหลังของตัวละครหลักมากเกินไป จนพาเอาเรื่องราวหลักจริงๆไม่น่าสนใจเท่าที่ควร

โชคยังดีที่ตัวละครหลักของเรื่องซึ่งตัวภาพยนตร์เทเวลาไปแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ของทั้งเรื่องค่อนข้างน่าสนใจ และน่าติดตามเพียงพอ ทำให้ในท้ายที่สุด แม้เรื่องราวการไล่ล่าและสืบสวนสอบสวนหลักของเรื่องจะดูแหว่งๆไปบ้าง แต่ความรู้สึกเมื่อเราเดินออกมาจากโรงภาพยนตร์ก็ค่อนข้างเต็มไปด้วยความประทับใจมิใช่น้อย Final Score: [ 7.5 ] --------- ส่วนวิเคราะห์อาจมีการสปอยล์ส่วนสำคัญของภาพยนตร์ ---------- ในสังคมโลกเราปัจจุบันคำว่าผิดปกติ แตกต่างหรือไม่เหมือนคนอื่น มักจะถูกใช้สื่อหรือตีความหมายไปในด้านลบอยู่บ่อยครั้ง The Accountant ท้าทายแนวคิดเช่นนั้น และสะท้อนให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วเราทุกคนต่างก็ถูกกลืนกินไปในกระแสโลก มีความคล้ายคลึงและดาษดื่นไม่แตกต่างกันมากกว่าที่เราคิด สุดท้ายแล้วเราก็ต้องดิ้นรนพยายามปรับตัวเข้าหาเพื่อที่จะได้รับการยอมรับจากสังคมไม่แตกต่างกัน พร้อมตบท้ายว่า เหล่าผู้คนที่สังคมหลายส่วนไม่ยอมรับนั้น พวกเขาอาจเต็มไปด้วยความสามารถที่เหนือยิ่งกว่าซึ่งรอคอยวันที่เราจะเข้าใจพวกเขาอย่างถ่องแท้ก็เป็นได้