วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Danganronpa: Trigger Happy Havoc [ Game Review ]

Game Review
เกมแห่งคำโกหก และโป้ปด




Game Name : Danganronpa : Trigger Happy Havoc 
Developer : Spike Chunsolf 
Platform : PSVita , PSP , iOS , Android 
Rating : Mature 



           
                                    ก็เรียกได้ว่า ผ่านกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับงาน E3 ปีนี้ที่มีเกมใหม่ๆเปิดตัวมากมายไม่ว่าจะเป็น Assassins Creed Unity , Destiny หรือแม้กระทั่งเกมยักษ์ใหญ่อย่าง Uncharted 4 ถึงแม้ว่าจะมีบางเกมที่แฟนๆกำลังตั้งหน้าตั้งตารอคอยอย่าง Fallout 4 หรือ The Last Guardian ที่ดองมาไม่รู้กี่ปี จะไม่ยอมโผล่มาซะทีก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นงานที่สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการเกมทั่วโลกอยู่เหมือนกัน นี้ยังไม่นับถือเทศกาลลดราคาแหลกกระจายของ Steam ในตอนนี้ที่คงพาชาวเกมจนกันไปอีกหลายเดือนเลยทีเดียว (รวมถึงเกมที่ดองยันปีหน้า)


ในขณะที่ผู้เขียนกำลังตื่นเต้นอยู่กับเกมใหม่ๆอยู่นั้นเอง ผู้เขียนก็ได้บังเอิญไปสะดุดเข้ากับตัวอย่างเกม เกมหนึ่งเข้า นั้นก็คือตัวอย่างเกม Danganronpa 2 : Goodbye Despair ซึ่งเป็นภาคต่อของ Danganronpa : Trigger Happy Havoc ที่กำลังจะวางจำหน่ายเป็นภาษาอังกฤษเดิอนกันยายนนี้ และผู้เขียนก็รู้สึกสนใจมันขึ้นมาทันทีเลยทีเดียวเชียว อาจจะเป็นเพราะส่วนตัวชอบเกมแนวสืบสวนสอบสวนอยู่แล้วก็เป็นได้ เช่นเกมชื่อดังอย่าง L.A. Noire ก็ได้สัมผัสมาแล้ว แต่ก็หาเกมแนวนี้ที่น่าสนใจจริงๆอีกไม่ได้ซักที จนกระทั่งมาเจอเกมนี้เข้าให้ (บวกกับลงให้เครื่อง PSVita ยิ่งเข้าทางเข้าไปใหญ่) ก็เลยได้โอกาสหาข้อมูล จนนำไปสู่การเล่นเกมภาคแรก Trigger Happy Havoc เข้าจริงๆ



เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเกม Danganronpa : Trigger Happy Havoc นั้นก็คือ เรื่องราวของกลุ่มนักเรียนกลุ่มหนึ่ง ที่พบว่าตัวเองถูกขังอยู่ในโรงเรียนโดยไม่มีทางออก ทันใดนั้นเองหุ่นยนตร์หน้าตาแปลกประหลาดที่เรียกตัวเองว่า Monokuma ก็ปรากฏตัวขึ้นและบอกว่า พวกเขามีสองทางเลือก หนึ่งคืออยู่ในโรงเรียนนี้ตลอดไปจนตาย หรือทางเลือกที่สอง คุณจะต้องฆ่าคน !! และจะต้องไม่ถูกจับได้ด้วย ถ้าหากคุณทำสำเร็จคุณก็จะสำเร็จการศึกษาและได้ออกไปจากโรงเรียน 


สิ่งแรกที่ต้องพูดถึงของเกมนี้เลยก็คือ ตัวเกม Danganronpa : Trigger Happy Havoc นั้นเป็นเกมแบบ 2.5 D ก็คือเป็นการผสมผสานระหว่างเกมแบบ 2 มิติ กับ 3 มิติ และเรียกได้ว่าเป็นเกมชนิดที่ค่อนข้างอาศัย กดหรือจิ้มสิ่งต่างๆในเกมเพื่อใช้หรือคุยกับสิ่งนั้นๆเป็นหลัก ยิ่งความที่ตัวเกมค่อนข้างจะมีสไตล์เป็นอนิเมะอยู่พอสมควรผสมกับความเป็น 2.5 D ก็ทำให้กราฟฟิคของมันโดดเด่นขึ้นมาไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็ถูกจำกัดด้วยความเป็น 2.5 D ในตัวมันเองเช่นเดียวกัน เช่นมุมกล้องที่จำกัดมากๆในหลายๆห้อง แต่ก็ไม่ได้หนักมากถึงขนาดทำลายความสนุกของเกมซักทีเดียว แต่ถ้าหากท่านใดเล่นเกมแนวนี้เป็นครั้งแรก ก็อาจจะรู้สึกรำคาญบ้างเล็กน้อย


และเมื่อพูดถึงเกม Danganronpa แล้ว สิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือระบบ Class Trial ของตัวเกม ที่ในความเห็นของผู้เขียน มันคือสิ่งที่ทำให้ตัวเกมโดดเด่น สนุก และตื่นเต้นอย่างแท้จริงเลยทีเดียว ถ้าหากตัวเกมไม่มีระบบนี้แล้วล่ะก็ มันคงจะจืดชืดกว่านี้หลายเท่าตัว
ระบบ Class Trial นั้นก็เปรียบเสมือนการขึ้นศาลนั้นเอง เมื่อมีเหตุการณ์การฆ่าเกิดขึ้นในโรงเรียน คุณจะต้องทำหน้าที่หาหลักฐานให้ได้ว่าใครเป็นคนฆ่า และเมื่อถึงเวลา คุณและทุกๆคนที่อยู่ในโรงเรียนก็จะถูกเรียกเข้าสู่ Class Trial เพื่อทำการหาว่าใครเป็นคนฆ่าให้จงได้ และแต่ละหลักฐานที่คุณหาเจอ มันก็จะเปรียบเสมือนกับ "Truth Bullet" หรือกระสุนแห่งความจริงที่คอยเอาไว้ยิงใส่คนที่พูดโกหก โดยกระสุนนี้ก็คือหลักฐานที่คอยเอาไว้ต้อนคนร้ายให้จนมุมนั้นเอง 



โดยใน Class Trial นั้นเมื่อเข้าสู่โหมด Non-Stop Debate แต่ละคนจะพูดคำพูดของตัวเองออกมาตามคำถามในสถานการณ์นั้นๆ และคุณจะต้องหาให้ได้ว่าหนึ่งในคำพูดที่พวกเขาพูดออกมานั้น คำไหนเป็นคำโกหกหรือคำที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ จากนั้นคุณจึงเลือกหลักฐานที่ถูกต้องและยิงใส่คำพูดนั้นเพื่อเป็นการโต้แย้งคำพูดของพวกเขา นอกจากนั้นแล้วใน Class Trial ยังมีมินิเกมอีก 3 เกมด้วยกัน นั้นก็คือ Hangman Gambit หรือ เกมที่ให้คุณเติมตัวอักษรที่หายไปให้เป็นคำตอบตามโจทย์นั้นๆ อีกเกมก็คือ มินิเกมที่ให้คุณกดปุ่มตามจังหวะเสียงเพลงและทำลายคำโต้เถียงของอีกฝ่าย รวมไปถึงตอนท้ายที่จะมีมินิเกมที่ให้คุณเรียงเหตุการณ์การฆาตกรรมที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องในหนังสือการ์ตูนอีกด้วย ซึ่งตัว Non-Stop Debate นั้น เรียกได้ว่าเป็นมินิเกมที่สนุก ตื่นเต้น และเคร่งเครียดมากที่สุดเลยทีเดียว เพราะคุณจะต้องหาให้ได้ว่าคำใดเป็นคำโกหก ส่วนมินิเกมอื่นๆก็ถือว่าบันเทิงในระดับหนึ่ง ถึงมันจะให้ความรู้สึกแปลกๆไปบ้างก็ตาม 


จะว่าไปแล้ว สิ่งหนึ่งเลยที่ตัวเกม Danganronpa : Trigger Happy Havoc ทำได้อย่างยอดเยี่ยมก็คือ การสร้างความตึงเครียด และเคร่งเครียดให้กับผู้เล่น ด้วยสถานการณ์ต่างๆในตัวเกมที่ชาญฉลาด แค่คิดว่าคุณติดแหงกอยู่ในโรงเรียนโดยไร้ทางออกก็แย่พอแล้ว แต่นี้คุณยังจะต้องกลัวว่าเพื่อนร่วมโรงเรียนของคุณจะฆ่าใครสักคนอีกด้วย นอกจากนั้นแล้วตัวเกมยังหาอีกหลากหลายวิธีที่ทำให้คุณรู้สึกเครียดโดยที่ไม่รู้ตัวได้อย่างชาญฉลาดอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันที่ตัวละครได้รับจากคำพูดและเหตุการณ์ต่างๆในเกม ซึ่งคุณก็ได้รับความกดดันนั้นเข้าไปด้วยโดยที่ไม่รู้ตัวเลย โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ Class Trial หลายๆครั้งที่ผู้เขียนพบว่าตัวเองตื่นเต้น และเครียดมาก ทั้งๆที่ในบางครั้งผู้เขียนพอที่จะเดาได้แล้วด้วยซ้ำไป ว่าใครเป็นผู้ร้ายในเหตุการณ์นี้ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะบทพูดตัวเกมที่สร้างสรรค์มาได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากมันจะแอบล่อหลอกให้คุณไปผิดทางแล้ว มันยังสร้างความสงสัยในตัวคุณอีกด้วยว่าสิ่งที่คุณคิดมันถูกจริงๆหรือ ? 



อีกหนึ่งองค์ประกอบในตัวเกมที่อาจจะถูกใจหลายๆคนเลยก็คือส่วนเวลาว่างจากการคลี่คลายคดีในเกม ให้คุณสามารถไปคุยกับตัวละครต่างๆ หรือพูดง่ายๆว่าเกมจีบสาวนั้นแหละ (แต่คุยกับผู้ชายในเกมก็ได้นะ) โดยที่เมื่อคุณพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครไปถึงจุดหนึ่งคุณจะได้สกิลของพวกเขามาเพื่อช่วยให้เกมต่างๆใน Class Trial ง่ายยิ่งขึ้นนั้นเอง นอกจากนั้นแล้วคุณจะยังได้รู้ความคิด และเบื้องหลังความเป็นมาเป็นไปของพวกเขาอีกด้วย แต่ในจุดนี้ก็เป็นจุดที่เข้าไปผสมผสานกับเหตุการณ์การฆาตกรรมในตัวเกมหลักได้เป็นอย่างดี เพราะการที่คุณพบว่าในท้ายที่สุด คนที่เป็นคนลงมือทำเหตุฆาตกรรมสุดสยอง เป็นคนที่คุณเชื่อใจมากที่สุด คงไม่มีอะไรเจ็บปวดไปกว่านี้แล้ว ซึ่งตัวเกมเล่นกับจุดนี้ได้ดีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว


อีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้หลายๆคนตกใจเมื่อเห็นแค่หน้าปกของตัวเกมก็คือ การที่ตัวเกมได้เรท M หรือ Mature นั้นเอง ทั้งๆที่มีกราฟฟิคเป็นตัวละครโมเอะสดใสน่ารัก เกมอย่างนี้จะได้เรท M ได้อย่างไรกัน ? ใช่ในเวลาปกตินั้นตัวเกมอาจจะไม่ได้มีความรุนแรงเท่าไรนัก แต่เมื่อมันจำเป็นจะต้องรุนแรงมันก็ไม่ค่อยจะมีการประนีประนอมใดๆเลยเช่นเดียวกัน เช่นฉากฆาตกรรมต่างๆ ที่เรียกได้ว่าโหดอยู่พอตัว ยิ่งไปกว่านั้นก็คือบทลงโทษผู้ที่ถูกจับได้ว่าฆาตกรรมหรือสิ่งที่เกมเรียกว่า Ultimate Punishment ก็ยิ่งโหดเข้าไปใหญ่ นี้ยังไม่นับความที่ตัวเกมค่อนข้างจะแอบแฝงธีมการเสียดสี ตลกร้ายหรือ Black Comedy เข้าไปเยอะมากอีกด้วย 


ถึงแม้ว่าเกมนี้จะเป็นหนึ่งในเกมที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดเกมหนึ่งบนเครื่อง PSVita รองลงมาจาก Soul Sacrifice และ Persona 4 Golden แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า มีหลายๆสิ่งหลายๆอย่างที่รู้สึกว่ามันยังทำได้ไม่ดีนักอย่างน้อยก็ในตัวเกม Danganronpa ภาคนี้


อย่างแรกที่ขัดหูขัดตาผู้เขียนมากที่สุดในเกมนี้เลยก็คือ การที่ตัวเกมจูงมือผู้เล่นมากจนเกินไป มากเสียจนหลายๆครั้งรู้สึกว่าอารมณ์ความเป็นเกมสืบสวนสอบสวน มันแทบจะหายไปหมด โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่เวลาที่คุณจะต้องหาหลักฐาน เมื่อคุณเข้าไปซักห้องใดห้องหนึ่ง แล้วคุณหาหลักฐานไม่ครบ ตัวเกมจะไม่ยอมให้คุณออกจากห้องๆนั้นเลย จนกว่าคุณจะหาหลักฐานครบ นอกจากนั้น ถ้าหากคุณหาหลักฐานไม่ครบ มันก็จะไม่ยอมให้คุณเข้าไปสู่ Class Trial อีกด้วย ซึ่งมันทำให้ผู้เขียนตั้งคำถามว่าทำไม เพราะเกมสืบสวนสอบสวน ควรจะเป็นเกมที่คุณตั้งสมมุติฐาน คลี่คลายคดี และหาหลักฐานด้วยตนเอง ไม่ใช่ให้ตัวเกมมาบอกว่า "โอ้วเนี้ย แกลืมหลักฐานนะ ลองหาดีๆ ถ้ายังไม่ครบฉันไม่ให้แกไปสู่ Class Trial หรอกนะ" ถ้าทำแบบนั้น มันจะแตกต่างไปจากการที่คุณให้หลักฐานมาทั้งหมดตั้งแต่แรกเลยยังไง ในกรณีนี้ขอเปรียบเทียบกับเกม L.A. Noire ในเกม L.A. Noire นั้น แต่ละหลักฐานสำคัญมากจนขนาดที่บางชิ้นแทบจะทำให้คุณเลือกคนร้ายผิดคนด้วยซ้ำไป ซึ่งในกรณีนี้ คนที่ผิดไม่ใช่ตัวเกม ไม่ใช่ตัวละคร แต่คือคุณ ผู้เล่น เพราะคุณไม่สามารถที่จะหาหลักฐานได้ครบ เพราะคุณไม่ใส่ใจพอ มันจึงล้มเหลว คนที่คุณควรจะโทษคือตัวคุณเอง ไม่ใช่ตัวเกม เพราะฉะนั้น ทำไมตัวเกมจะต้องมาบังคับและจูงมือผู้เล่นในการหาหลักฐานขนาดนั้น เพราะจริงๆแล้ว การที่คุณหาหลักฐานไม่ครบจนนำไปสู่การทำให้คดีนั้นล้มเหลว มันก็ถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของเกมสืบสวนสอบสวนอย่างแท้จริงเหมือนกัน แต่เมื่อเกมนี้จูงมือขนาดนี้ จุดๆนี้จึงหายไปอย่างน่าเสียดาย นี้ยังไม่นับถึงความน่ารำคาญในบางครั้ง ที่ผู้เขียนอยากจะไปสำรวจห้องอื่นก่อน แต่ตัวเกมดันไม่ยอมให้ออกห้องนั้นเพราะหาหลักฐานไม่ครบ


อาจจะเป็นไปได้ว่าเพราะเนื่องจาก Class Trial ถูกพัฒนาแยกจากตัวเกมจึงทำให้ไม่สามารถที่จะย้ายข้อมูลของผู้เล่นที่เปลี่ยนแปลงได้ ลงไปได้ เช่น ตัวเกมถูกพัฒนามาให้โต้เถียงตามหัวข้อ 1 2 และ 3 แต่ถ้าหากคุณดันหาหลักฐานที่ 2 ไม่ครบ คุณก็จะตอบคำถามที่ 2 ไม่ได้ และตัวทีมผู้พัฒนาเองก็คงจะกลัวว่าจะทำให้ผู้เล่นตอบผิดหมดจนผ่านได้ยากหรืออย่างไรไม่ทราบ จึงต้องบังคับให้เก็บหลักฐานครบทุกชิ้นก่อนถึงจะเข้าไปสู่โหมด Class Trial ได้ เพราะอย่างน้อย 1 ในนั้นก็ต้องถูกซักอันอย่างแน่นอน 


"OBJECTION !! เอ้ย ไม่ใช่.. C... COUNTER !!"


และเมื่อตัวเกมจูงมือมาถึงขนาดนั้น มันก็ส่งผลในส่วนของ Class Trial เช่นเดียวกัน นั้นก็คือ การที่คุณรู้ว่า ต่อให้กดมั่วๆยังไง ก็ต้องถูกซักอันนั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นอย่างมากในเกมแนวนี้ มันทำให้การตัดสินใจของคุณนั้นใส่ใจผลที่ตามมาน้อยลง ในขณะที่เกมอย่าง L.A. Noire ในหลายๆครั้ง คุณมีสิทธิที่จะโต้แย้งเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าหากคุณเลือกหลักฐานผิด = ข้อๆนั้นเป็นอันล้มเหลวไปโดยปริยาย นั้นหมายความว่าหลักฐานชิ้นสำคัญอาจจะหลุดลอยจากมือคุณไปแล้วนั้นเอง ซึ่งมันเป็นเสน่ห์ของเกมแนวสืบสวนสอบสวนอย่างหนึ่งเหมือนกัน 


ในมินิเกมส่วน Class Trial ที่ให้ผู้เล่นเรียงฉากต่างๆให้สมบูรณ์เป็นหนังสือการ์ตูนนั้น มีสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกว่า ผู้สร้างเกมใส่เข้ามาอย่างไม่จำเป็น ก็คือจิ๊กซอว์ที่มีภาพคล้ายๆกัน สร้างความสับสนแก่ผู้เล่น เปรียบเสมือนการแกล้งก็ไม่ปาน เช่น สมมุติว่าคดีนี้คนร้ายใช้อาวุธเป็นไม้กอลฟ์ จิ๊กซอว์อันหนึ่งจะเป็นรูปคนร้ายกำลังหยิบไม้กอลฟ์ กับอีกอันหนึ่งที่เป็นคนร้ายถือไม้กอลฟ์ ซึ่งมันหาความแตกต่างกันยากมาก จนบางครั้งพาไปสู่การผิดโดยที่ไม่จำเป็น สำหรับคนที่ไม่ได้คิดอะไรก็อาจจะไม่ได้คิดอะไรกับจุดนี้มาก แต่ถ้าหากคนที่ตั้งความหวังไว้ว่า จะเล่นจนจบโดยไม่ผิดเลยซักครั้ง การใส่เทคนิคแบบกลั่นแกล้งผู้เล่นเช่นนี้เข้ามา มันเป็นทางเลือกที่่ไม่น่าให้อภัยอยู่เหมือนกัน


อีกสิ่งหนึ่งในตัวเกมที่ผู้เขียนรู้สึกสับสนเล็กน้อยก็คือ ความโหดของตัวเกม ที่ถึงแม้ว่าสำหรับบางท่านอาจจะเรียกว่าเยอะแล้ว แต่สำหรับผู้เขียน กลับรู้สึกว่าตัวเกมค่อนข้างที่จะไม่ใส่เต็มและกั๊กความโหดอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเนื้อเรื่องและตัวละครต่างๆในเกม แทบจะพูดได้เลยว่า เกมนี้จะโหดแค่ไหนก็คงจะไม่โอเวอร์ แต่ในหลายๆครั้งกลับพบว่ามันไม่โหดพอที่จะทำให้รู้สึกสยดสยองได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเลือดที่เปลี่ยนเป็นสีชมพูแทนแดง หรือฉากฆาตกรรมส่วนใหญ่ในเกม แต่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเมื่อเข้าสู่ช่วง Punishment Time หรือช่วงลงโทษคนร้ายที่ทำเหตุฆาตกรรม ผู้เขียนรู้สึกว่าแทบจะทุกครั้ง บทลงโทษของพวกเขา มันไม่สมใจหรือมันไม่เหมาะสมกับสิ่งที่พวกเขาได้ทำลงไปเลย แต่ในส่วนนี้ อาจจะพอยกประโยชน์ให้ได้บ้างเพราะเป้าหมายหลักของตัวเกม ก็ไม่ได้เน้นไปที่ความโหดของตัวเกมซะทีเดียว


สิ่งสุดท้ายก็คือ อย่างที่บอกไปแล้วว่า ถ้าหากตัวเกมตัดระบบ Class Trial ที่เป็นจุดเด่นของตัวเกมออกไป เมื่อมานั่งคิดดูจริงๆแล้ว ตัวเกมนั้นแทบจะไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะระบบจีบสาวต่างๆก็ไม่ได้น่าสนใจพอ ตัวเกมเองก็ไม่ได้มีมินิเกมอื่นๆหรือมีหลายๆอย่างให้ทำแบบเกม Persona 4 Golden ที่มีทั้งตกปลา เสี่ยงโชค หรือไปซื้ออาหาร จริงๆแล้วแทบจะไม่มีอะไรให้ทำเลยนอกจากจีบสาว หรือนอนฆ่าเวลาเฉยๆ นอกจากนั้นแล้ว ความที่ตัวเกมเองเป็น 2.5 D มันจึงน่าสนใจเฉพาะช่วงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นคุณก็จะเริ่มเบื่อสถานที่ซ้ำๆไม่น้อย แถมการที่ตัวเกมมีมุมการเคลื่อนกล้องที่ค่อนข้างจำกัดยิ่งทำให้ตัวเกมไม่น่าสำรวจเท่าที่ควรอีกด้วย


สิ่งสุดท้ายที่ต้องพูดถึงก็คือระบบ School Mode ซึ่งเป็นโหมดที่จะปลดล็อคหลังจบเกมแล้ว ซึ่งโหมดนี้จะเป็นโหมดที่ให้เราไปคุยหรือจีบตัวละครต่างๆในเกมโดยที่ไม่ต้องห่วงว่าจะมีคดีเกิดขึ้นแต่อย่างใด เสมือนเราอยู่แต่ในโรงเรียนโดยตัดเรื่องการฆ่ากันไปนั้นเอง แต่สิ่งที่ต้องขอชมทีมผู้สร้างเลยจริงๆก็คือ ถ้าเอาจริงๆ พวกเขาก็แค่ใส่โหมดนี้เข้าไปเฉยๆก็ได้ ให้ผู้เล่นได้โอกาสสร้างความสัมพันธ์กับตัวละครต่างๆจบ คงไม่ต้องสร้างระบบอะไรใหม่มากมาย Copy / Paste บางส่วนที่มีอยู่แล้วก็จบ แต่ทีมพัฒนาเกมกลับใช้เวลา ใส่ระบบเล็กๆน้อยๆเพื่อเพิ่มสีสันให้กับโหมดนี้อีกด้วย โดยเราจะต้องสร้างของตามที่ Monokuma บอกให้ทำต่างๆ ซึ่งเรียกได้ว่ายากพอตัวเลยทีเดียว จึงทำให้โหมดนี้มีความหมายขึ้นมาทันที ไม่ใช่โหมดที่เพิ่มขึ้นมาลวกๆมั่วๆ แต่เป็นโหมดที่เรียกได้ว่าแทบจะเป็นอีกหนึ่งมินิเกมฟรีๆให้เล่นเลยทีเดียว แต่ต่อให้คุณไม่ผ่านการสร้างของก็ตาม ตัวเกมก็จะไม่ลงโทษคุณ คุณยังคงเล็งไปที่การสร้างความสัมพันธ์ตัวละครต่างๆเพื่อจะเก็บถ้วยแพลตทินัมหรืออะไรก็แล้วแต่ได้อยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและเพิ่มคุณค่าในการหยิบเกมกลับมาเล่นหลังจากเล่นจบแล้วอยู่มากพอสมควร


ในท้ายที่สุดแล้ว Danganronpa : Trigger Happy Havoc  เป็นเกมอีกหนึ่งเกมที่ยอดเยี่ยมเลยทีเดียว จากแก่นเรื่องและอารมณ์ของเกมที่ตื่นเต้น เนื้อเรื่องที่น่าสนใจและน่าค้นหา รวมไปถึงระบบ Class Trial ที่ยอดเยี่ยม ระทึก ถึงแม้ว่าตัวเกมจะประสบปัญหากับการที่จูงมือผู้เล่นมากเกินไป จนทำให้ความเป็นเกมสืบสวนสอบสวนหายไปบ้าง แต่ก็ถือว่ายังพออยู่ในจุดที่ให้อภัยได้ ตอนนี้ก็คงต้องตั้งตารอคอยภาคต่อของตัวเกมกับ Danganronpa 2 : Goodbye Despair กันไปเลยทีเดียวเชียว ว่าจะสานต่อตัวเกมภาคแรกได้ดีเยี่ยมแค่ไหน



Final Score : [ B+ ] 


เพิ่มเติม

                                         หลังจากที่ผมได้ไปชม Danganronpa ฉบับ Animation มาหลายตอน    ส่วนตัวคิดว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้เพื่อนๆหาเกมมาเล่น หรือ อย่างน้อย ก็หาวิดีโอใน Youtube ที่เป็นฉบับเกมดูดีกว่านะครับ ตัว Animation ทำได้แย่กว่าเกมค่อนข้างเยอะ คือเนื้อหามันอันเดียวกันก็จริง แต่มันสรุปเร็วมากจนเกินไป เพราะเวลาที่น้อย พวกหลักฐานต่างๆนี้มันแทบจะโยนใส่หน้าเราหมดเลย ตัวละครต่างๆมันก็ผิวเผินมาก (ในขณะที่เกมตัวละครต่างๆค่อนข้างจะลึก เพราะสามารถไปคุยสร้างความสัมพันธ์และรับรู้ถึงเบื้องหลังของแต่ละตัวละครได้) ทำให้บรรยากาศ ความตึงเครียด กดดัน  และสยดสยองที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเกม มันแทบจะหายไปหมดเลยครับบอกตรงๆเพราะทุกอย่างมันสรุปรวบๆมาให้เราหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวคดีต่างๆ ที่มันให้เวลาเราน้อยมากจนถึงไม่ให้เวลาเลย แล้วมันก็สรุปให้เราโดยเราไม่ได้คิดอะไรเลย ซึ่งทำให้องค์ประกอบด้านความเป็นเกมสืบสวน สอบสวนหายไปเยอะมาก ที่สำคัญคือ  Class Trial ใน Animation ค่อนข้างจะแย่มากครับ มันเหมือนเอาตัวละครมานั่งพูดเฉยๆมากกว่ามาเถียงกันแบบในเกม แถมหลักฐานที่มีในตามคดีต่างๆก็ใช้น้อยมาก จนเรียกว่าไม่ได้ใช้เลยมากกว่า นี้ยังไม่รวมถึงมินิเกมที่ชวนให้เรามานั่งคิดว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไรต่างๆ ที่หายไปหมด เรียกได้ว่าน่าเสียดายพอสมควร

 แต่อาจจะเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้เพราะว่า Animation ไม่ได้มีเวลามากมายขนาดตัวเกม คิดง่ายๆครับ Class Trial เพียงอย่างเดียวของตัวเกมแต่ละตอน ก็ล่อไป ชั่วโมงกว่าๆแล้ว ยังไม่นับพวกตอนหาหลักฐาน หรือ ก่อนเหตุการณ์เลย ในขณะที่ Animation ตั้งแต่เริ่มตอนยันจบตอน ต้องรวบๆภายใน 1 ชั่วโมง (Class Trial ราวๆ 10 นาทีได้)

เอาเป็นว่าถ้าท่านอยากรู้แค่ว่าเกมนี้มันเป็นแนวไหน หรืออยากรู้แค่ว่า ใครทำอะไรแบบไม่ต้องเสียเวลามากดู Animation ก็โอเคอยู่ครับ แต่ถ้าอยากได้แบบอารมณ์เต็มๆ เครียด กดดัน และได้สืบสวนด้วยตัวเอง แนะนำว่าหาเกมมาเล่นเถอะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น