ผลงานอย่าง The VVitch, Don't Breathe, The Conjuring 2 และ 10 Cloverfield Lane อาจเรียกได้ว่าทำให้ปี 2016 เป็นปีทองของภาพยนตร์สยองขวัญ/ระทึกขวัญอย่างแท้จริงก็ว่าได้
ซึ่งผลงานอย่าง Under the Shadow ก็เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่เตรียมเข้าไปอยู่ในรายชื่อต้นๆของภาพยนตร์สยองขวัญปีนี้ ด้วยคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลามจนทางอังกฤษต้องส่งไปเป็นตัวแทนเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2017 กันเลยทีเดียว
ในด้านของเนื้อหา บริบท หรือประเด็นที่สอดแทรก สะท้อนให้เราได้เห็นในภาพยนตร์ Under the Shadow เรียกได้ว่าค่อนข้างแข็งแรงมั่นคงมากทีเดียว แม้จะไม่ได้หนักในทางจิตวิทยาหนักแบบ The Babadook (2014)
การกำกับของ บาบัก อันวารี ในการวางเรื่องราวและตัวละครต่างๆในภาพยนตร์ก็เป็นไปอย่างกลมกล่อม ไม่มากและไม่ล้นจนเกินไป ที่สำคัญคือแทบจะไม่มีมุขผีตุ้งแช่โผล่มาสร้างความรำคาญให้เห็น
แต่ความรู้สึกเหล่านี้จัดอยู่ในหมวดเบาบางอยู่พอสมควร โดยเฉพาะช่วงบทสรุปของเรื่องที่ไม่ค่อยน่าจดจำเท่าไรนัก เชื่อว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการกำกับและบทที่พยายามหันเหไปในทางที่ให้ความรู้สึกสมจริง อ้างอิงกับโลกแห่งความเป็นจริง จึงทำให้หลากหลายสิ่งไม่สามารถยืดไปสุดขีดได้แบบภาพยนตร์สัญชาติออสเตรเลียอย่าง The Babadook ได้ อย่างไรก็ตามความรู้สึกเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่มีตัวตนชัดเจนระหว่างชมชนิดปฏิเสธได้ยาก
แม้ Under the Shadow จะพ่ายแพ้ The Babadook ไปอย่างฉิวเฉียดเนื่องจากความล้มเหลวที่ไม่สามารถจะเข้ามาสัมผัสเราในระดับปัจเจกชนิดต้องเปิดไฟนอนทั้งคืนได้ แต่การสอดแทรกบริบททางสังคม สัญญะต่างๆ รวมไปถึงการใช้ลักษณะของความเป็นภาพยนตร์สยองขวัญในการสะท้อนเรื่องราวในโลกแห่งความเป็นจริงก็เป็นองค์ประกอบที่น่าทึ่งมากพอที่จะทำให้เราจดจำผลงานเรื่องนี้ไปอีกซักพัก
Final Score: [ 8 / 10 ]
ลักษณะตัวละครภูติผีปีศาจ "จิน" ใน Under the Shadow ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวไปมาผ่านสายลมอย่างอิสระ หรือความที่เมื่อมันได้สิ่งของที่เรามีความ "ผูกพันธ์" อย่างมากไป เราจะไม่สามารถหนีมันได้พ้น ลักษณะเหล่านี้สามารถถูกนำไปเปรียบเทียบได้กับลักษณะของสงครามที่เกิดขึ้นบนโลกเรา
สงครามไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่น่าเกลียด น่ากลัว แต่ยังเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวหรือแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆของโลกได้อย่างอิสระ รวดเร็ว ยิ่งถ้าหากเราถูกมันพรากสิ่งที่เรามีสายสัมพันธ์หรือมีความผูกพันธ์ไป เช่น บ้านที่เราอยู่อาศัยสร้างมากับมือ หรือคนรัก บุคคลในครอบครัวที่ถูกส่งไปยังสนามรบ เรายิ่งไม่สามารถจะหนีมันพ้น ไม่ว่าจะในด้านของกายภาพหรือจิตใจ
แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าเรื่องราวของสงครามในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือในมุมของศาสนาซึ่ง Under the Shadow แสดงให้เห็นถึงอำนาจมากถึงสามครั้ง
- ตัวละครอื่นนอกจากตัวละครเอกเรามักจะเห็นคลุมฮิญาบอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ตัวละครเอกเกือบจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงช่วงที่พยายามหนีออกมาจากบ้านโดยไม่ได้ใส่ผ้าคลุม
- เพดานห้องซึ่งถูกทำให้เป็นรูโหว่ใหญ่โตหลังจากถูกจรวดตกใส่ ซึ่งเพดานที่พังไปนี้ภายหลังก็ต้องมีการนำผ้ามาคลุมปิด ซ้ำร้ายห้องนี้ก็กลายเป็นห้องที่เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ผีร้ายจินหลากหลายครั้ง
- กระทั่งรูปร่างหน้าตาของตัวภูติผีอย่างจินก็มีลักษณะเหมือนเป็นผู้หญิงที่มีการคลุมฮิญาบไม่ต่างไปจากตัวละครหญิงตัวอื่นๆในเรื่อง
ทั้งสามข้อนี้ใน Under the Shadow แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของศาสนาที่อาจรุนแรงเสียยิ่งกว่าสงคราม ในมุมหนึ่งอาจมองได้ว่าตัวละครอย่าง จิน เป็นเสมือนตัวแทนของศาสนาที่เข้ามาลงโทษตัวละครเอกที่กระทำความผิด เช่น การมีเครื่องเล่นวิดีโอไว้ครอบครอง หรือการไม่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด พลังอำนาจของศาสนานั้นมากมายจนเป็นเสมือนต้นตอของทุกสิ่งเช่นสงคราม ทรงพลังมากจนแม้กระทั่งสิ่งลี้ลับภูติผีปีศาจอย่างจินยังต้องยอมสยบและกระทำตาม
แต่ในอีกมิติหนึ่งเราก็อาจมองได้ว่านี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอิหร่านที่เพศหญิงยังคงถูกตราหน้าว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ ไม่คู่ควรกับสิ่งที่มีคุณค่าเช่นความรู้ และต้องก้มหน้ายอมรับแรงกดดันจากสังคมที่เพศชายเป็นใหญ่ต่อไป