วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

Child 44 ( 2015 ) Movie Review

Child 44 ( 2015 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz


"สังคมเขา สังคมเรา"



หลังจากสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Fast and Furious 7 และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคสุดท้ายได้เข้าฉายไปเสียที ภาพยนตร์ที่พยายามหนีกระแสมาในสัปดาห์นี้ก็มีหลายต่อหลายเรื่อง แต่แน่นอนว่าหนึ่งในภาพยนตร์ที่น่าสนใจมากที่สุดในสัปดาห์นี้ ก็ต้องหนีไม่พ้น Child 44  ที่นอกจากจะได้นักแสดง ทอม ฮาร์ดี้ มารับบทนำแล้ว ยังมี แกรี่ โอลด์แมน มาเสริมทัพอีกด้วย (ทำไมรู้สึกเหมือน The Dark Knight Rises อีกครั้งหนอ)


Child 44 ว่าด้วยเรื่องราวของทหารนายหนึ่งในยุคสตาลิน ที่ต้องตามสืบคดีการฆาตกรรมเด็กอันน่าสยดสยอง แต่ระหว่างนั้นเขากลับพบว่าทุกอย่างมันไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาคาดคิดไว้.....




ถึงแม้ว่าตัวเนื้อเรื่องและนักแสดงของภาพยนตร์จะน่าสนใจเอามากๆ Child 44 ก็เป็นภาพยนตร์ที่มีปัญหาร้ายแรงอยู่หนึ่งประการ ซึ่งนั้นก็คือตัวผู้กำกับ แดเนียล เอสพิโนซ่า


การเล่าเรื่องของเขา เสมือนกับขบวนรถไฟสายหนึ่งที่วนอยู่กับที่ ไม่ไปถึงจุดหมายเสียที และเวลาที่เสียไปกับการวนมาที่สถานีเดิมๆ ก็เสียไปอย่างสูญเปล่า พาเอาความน่าติดตามของภาพยนตร์ลดลงอย่างมาก และยังทำให้ความต่อเนื่องของภาพยนตร์หายไปในหลายๆช่วง เพราะการดำเนินเรื่องให้ความรู้สึกเหมือนถูกบังคับและจัดวางให้มาถึงจุดนี้ มากกว่าเป็นเพราะเหตุและผลของการกระทำในภาพยนตร์


ซึ่งการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยาวถึง 2 ชั่วโมง 17 นาที ก็พาทำให้รู้สึกน่าเบื่อและรู้สึกเหมือนกำลังถูกลากสังขารที่กำลังร่อแร่ไปๆมาๆอยู่ตลอดเวลา 


ที่น่าติอีกอย่าง ก็คือการกำกับฉากต่อสู้ต่างๆของเขา ที่ถึงแม้ว่าจะมีค่อนข้างน้อย แต่ก็ไม่ได้น่าประทับใจเลย หนำซ้ำฉากต่อสู้เหล่านี้ยังเต็มไปด้วยการใช้เทคนิคการตัดต่ออันรวดเร็วจนน่ารำคาญ และยังใช้การสะบัดกล้องไปมาจนพาดูอะไรแทบไม่รู้เรื่อง นี้เป็นเทคนิคการถ่ายทำ ที่ควรจะถูกเลิกใช้ในภาพยนตร์ยุคนี้ได้แล้ว เพราะมันแสดงถึงตัวผู้กำกับที่ไร้ความสามารถในการสร้างสรรค์วิธีการที่จะทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกและตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์ได้อย่างแท้จริง




สำหรับในด้านของตัวละครและนักแสดงต่างๆแล้ว ทอม ฮาร์ดี้ และ แกรี่ โอลด์แมน ยังคงนำแสดงผลงานได้น่าประทับใจเช่นเคย แต่ในขณะเดียวกัน ในฝั่งของตัวละครร้ายต่างๆ กลับไม่เป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็น ตัวละครของ โจแอล คินนาแมน หรือ วินเซ็นต์ แคสเซล ก็เต็มไปด้วยตัวละครร้ายอันซ้ำซากจำเจ ไร้มิติ ร้ายเพราะอยากจะร้ายเท่านั้น 


ถึงกระนั้นก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนนั่งครุ่นคิดตลอดเวลาที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือการที่มันสะท้อนถึงสภาพสังคมโซเวียต ในยุคของสตาลินได้อย่างน่าสนใจ


ไม่ว่าจะความยากลำบากในการใช้ชีวิตนานับประการ สภาพสังคมที่ย่ำแย่ ยุคที่เต็มไปด้วยเด็กกำพร้า และแม้กระทั่งการเมืองทุกฝีก้าวก็ต้องใช้ความระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญ คือการที่มันพูดถึงยุคสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งเพศสตรีแทบจะไม่มีสิทธิต่อปากต่อคำใดๆทั้งนั้น (ถึงต่อให้พวกเธอมีสิทธิ พวกเธอก็หวาดกลัวจนไม่กล้าอยู่ดี)


แต่ข้อคิดที่น่าสนใจมากที่สุดสำหรับ Child 44 เลย ก็คือการที่มันมีการเปรียบเทียบสภาพสังคมตนเอง กับสังคมผู้อื่น โดยวางสังคมตรงกันข้ามให้เป็นตัวร้าย และวางสังคมของตนเองให้เหนือกว่า ซึ่งตัวภาพยนตร์ก็ได้ตั้งคำถามกลับไปว่า สังคมที่ตกต่ำและเลวร้าย มาจากความเลวร้ายของผู้อื่น หรือ มาจากความเลวร้ายของพวกเราเอง เพียงแต่เราไม่ยอมรับว่าเราเป็นต้นเหตุของความตกต่ำนี้กันแน่ นี้ก็เป็นคำถามที่ชวนให้น่าคิดทีเดียว




ในท้ายที่สุด Child 44 ก็เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงสภาพสังคมโซเวียต ในยุคของสตาลินอันยากลำบากและเคร่งเครียดได้อย่างน่าสนใจ น่าเสียดายที่ความน่าสนใจนี้ต้องมาถูกลดทอนลงด้วยการเล่าเรื่องอันย่ำแย่ วนไปวนมา น่าเบื่อ ซ้ำตัวละครร้ายยังซ้ำซากจำเจ จนทำให้ความน่าจดจำของภาพยนตร์เรื่องนี้ ลดลงอย่างมากจนแทบจะไม่เหลืออะไร


Final Score : [ 6 / 10 ] 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น