วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557

Taxi Driver ( 1976 ) Movie Review

Movie Review
หนึ่งในภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ โรเบิร์ต เดอ นีโร




                                Taxi Driver เป็นอีกหนึ่งในภาพยนตร์ของผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี ที่เรียกได้ว่าหลายๆคนคงจะคุ้นหูกันดีหรืออาจจะเคยชมกันมาบ้างด้วยซ้ำไป นอกจากนั้นแล้วมันยังเรียกได้อีกว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ โรเบิร์ต เดอ นีโร และแฟนๆป๋าเดอ นีโรทุกคนจะต้องเคยดู ซึ่งต้องขอสารภาพเลยว่าผู้เขียนเองได้ชม Taxi Driver เป็นครั้งแรก ถึงแม้ว่าจะเป็นแฟนของป๋าเดอ นีโรมานานแล้วก็ตาม (โดยเฉพาะหนังของป๋าแกช่วงหลังๆที่แต่ละเรื่องนี้....สุดๆเลยนะป๋า)


Taxi Driver ตามชื่อเรื่องเลย ว่าด้วยเรื่องของคนขับ Taxi คนหนึ่งในเมือง New York  ที่เขาได้ประสบพบเจอกับเหตุการณ์ต่างๆมากมายในเมือง New York ซึ่งมันทำให้เขา "ขยะแขยง" และเมื่อสิ่งต่างๆเริ่มไม่เป็นไปตามที่เขาคาดหวัง มันจึงทำให้เขาเริ่มที่จะตัดสินใจครั้งใหญ่บางอย่าง


แง่มุมที่น่าสนใจมากที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้เลยก็คือ การถ่ายทอดมุมมองของความน่าขยะแขยง ล้มเหลว เละเทะ และเน่าเฟะของเมือง New York ในช่วงสมัยปี 1970s ไม่ว่าจะเป็นการลุกฮือของคนผิวสีที่พยายามเบ่งอำนาจและกร่างไปทั่วเมือง หรือ โสเภณีและอุตสาหกรรมหนังโป๊ที่เกลื่อนไปทั่วเมืองจนกลายเป็นเรื่องปกติและ "ยอมรับได้" ซึ่งในจุดนี้ต้องขอชม มาร์ติน สกอร์เซซีจริงๆที่ถ่ายทอดมุมมองนี้ได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายด้วยมุมกล้องและจุดโฟกัสที่สร้างความรู้สึกแปลกปลอม แปลกประหลาด และโดยเฉพาะการจัดสีในฉากต่างๆ และการถ่ายทอดความคิดจากตัวละครสู่ผู้ชมได้อย่างน่าทึ่ง โดยเปรียบเสมือนถูกล้างสมองโดยที่ผู้ชมอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป คิดๆดูแล้วถ้าหากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้มือตัดต่อฝีมือฉกาจประจำตัวของสกอร์เซซีอย่าง เทลม่า ชูเมกเกอร์มาตัดต่อแล้วล่ะก็ คงจะแซ่บยิ่งกว่านี้อย่างแน่นอน


ตัวนักแสดงนำอย่างป๋าโรเบิรต์ เดอ นีโรเองก็เรียกได้ว่าเป็นเสาหลักสำคัญในภาพยนตร์เรื่องนี้เลยทีเดียว จากการแสดงที่น่าทึ่ง เริ่มจากคนขับ Taxi ที่ดูเหมือนสุดแสนจะธรรมดา ไปจนถึงช่วงบ้าคลั่ง นี้ยังไม่รวมถึงภาวะจิตใจของตัวละครที่หนักหน่วงเอาการอยู่เหมือนกันอีกด้วย แต่ป๋าก็แสดงได้อย่างน่าทึ่งจนทำให้เรารู้สึกอยากติดตามตัวละครนี้อย่างบอกไม่ถูก ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วตัวละครๆนี้จะไม่ได้ดูเหมือน "ฮีโร่" ซักเท่าไรนักก็ตาม


ตัวธีมหลักของภาพยนตร์เองก็เรียกได้ว่าน่าสนใจเช่นกัน เพราะมันพูดถึงสภาพความเป็นอยู่ของประเทศอเมริกาหรืออย่างน้อยก็เมือง New York ในขณะนั้นที่เต็มไปด้วยขี้ยา โสเภณี และฆาตกรมากมาย  แต่เหมือนตัวมาร์ติน สกอร์เซซีเองจะถ่ายทอดมันออกมาด้วยทัศนะคติของความพยายาม "ขอความช่วยเหลือ" เสียมากกว่าจะด่าทอ ด้วยความรู้สึกที่เป็นเหมือนการตะโกนให้ใครซักคนออกมาช่วยเหลือหรือแก้ไขสังคมอเมริกันที่กำลังย่ำแย่ถึงขีดสุดในปัจจุบัน ซึ่งการที่ตัวภาพยนตร์นำเอาอาชีพอย่างคนขับ Taxi มาเป็นตัวแก้ไขปัญหา ก็เป็นการเสียดสีและจิกกัด นักการเมืองและตำรวจในโลกของความเป็นจริงได้อย่างเจ็บแสบเช่นกัน

ประเด็นของการก้าวหน้าไปสู่โลกของประชาธิปไตยในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เรียกได้ว่าถูกถ่ายทอดออกมาในมุมมองที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกต้องกลับไปทบทวนอยู่เหมือนกัน ว่าในบางครั้งการก้าวที่รวดเร็วมากจนเกินไป นอกจากมันจะกระทบถึงผู้คนที่ปรับตัวไม่ทันแล้ว มันยังสร้างความขัดแย้งภายนอกและภายในจิตใจของผู้คน และอาจจะปะทุขึ้นมาเมื่อไรก็ได้อีกด้วย ซึ่งเราจะเห็นประเด็นเหล่านี้แอบแฝงอยู่ในการกระทำของตัวละครต่างๆในภาพยนตร์


อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือการถ่ายทอดเรื่องราวของ "ความรัก" ของมาร์ติน สกอร์เซซีใน Taxi Driver ที่ตรงกันข้ามกับธีมหลักของภาพยนตร์อย่างสิ้นเชิง เพราะมันถูกถ่ายทอดออกมาในภาพของสิ่งที่สวยงาม มีความหวัง และอบอุ่นเหลือเกิน นอกจากนั้นแล้วมันยังเป็นสิ่งที่ตัวเอกของเรื่องปรารถนาอย่างสูงสุดอีกด้วย เปรียบเสมือนว่าสุดท้ายแล้ว ต่อให้เราจะเลวร้ายเท่าใด ความรักก็คือสิ่งที่เราต้องการสูงที่สุด


Taxi Driver ต้องเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในภาพยนตร์ที่น่าทึ่งของ มาร์ติน สกอร์เซซีจริงๆจากการกำกับที่สร้างโลกที่น่าขยะแขยง เละเทะ และบิดเบี้ยวของเขา นอกจากนั้นแล้วการแสดงของป๋าโรเบิรต์ เดอ นีโรผนวกกับบทตัวละครที่น่าทึ่งก็ยิ่งส่งให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ยิ่งน่าจดจำในฐานะของคำเตือนของการก้าวข้ามสู่โลกประชาธิปไตยที่รวดเร็วจนเกินไปได้อย่างน่าทึ่งอีกต่างหาก ถึงแม้ว่าตัวภาพยนตร์ในบางครั้งให้ความรู้สึกว่าตัวสกอร์เซซีเองอ่อนข้อและออมมือในประเด็นบางประเด็นไปบ้างอย่างน่าเสียดาย ก็ไม่ได้ลดทอนความน่าจดจำของภาพยนตร์เรื่องนี้ไปซักเท่าไรเลยทีเดียว ถ้าหากคุณเป็นแฟนของ ผู้กำกับมาร์ติน สกอร์เซซี หรือ นักแสดงโรเบิรต์ เดอ นีโร นี้คือหนึ่งในภาพยนตร์บังคับที่ต้องชมอย่างแน่นอน


Final Score : [ A ] & [ MUST SEE BADGE ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น