Insurgent ( 2015 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz
"ความซ้ำซากในความแตกต่าง"
ยังไม่ทันที่เราจะได้เฉียดกลางปี 2015 ภาพยนตร์อย่าง Insurgent ก็กลับมาตอกย้ำถึงตลาดภาพยนตร์ที่มีต้นแบบจากหนังสือนวนิยายขายดีกันอีกครั้ง จากภาคที่แล้วอย่าง Divergent ซึ่งค่อนข้างจะประสบความสำเร็จทีเดียว ถึงแม้ว่าส่วนตัวจะไม่ได้ประทับใจอะไรมากมายก็ตาม แต่ต้องสารภาพเลยว่า การลงทุนและยกระดับความยิ่งใหญ่ของตัวภาพยนตร์ให้มากขึ้นกว่าภาคที่แล้ว ก็ทำให้ตัวภาพยนตร์น่าสนใจและน่าดูขึ้นเยอะ
สิ่งที่ต้องรำลึกไว้เสมอตลอดการชม Insurgent ก็คือ การเปลี่ยนแปลงผู้กำกับจาก นีล เบอร์เกอร์ มาเป็น โรเบิร์ต ชเวนท์เก
ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเองก็ไม่รู้จะอธิบายถึงตัวผู้กำกับ โรเบิร์ต ชเวนท์เก อย่างไรดี เพราะในด้านหนึ่งเขาก็กำกับภาพยนตร์อย่าง RED ( 2010 ) ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพยนตร์แอ็คชั่นที่ผู้เขียนชอบมากทีเดียว แต่พอหันมามองผลงานต่อมาของเขา ผู้เขียนก็รู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่คิดถึง อย่าง R.I.P.D. ( 2013 ) ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยได้ดูมา ด้วยประสบการณ์นี้เอง จึงทำให้ผู้เขียนไม่แน่ใจ ว่าควรจะหวังอะไรจากผลงานชิ้นใหม่นี้ของเขาดี
Insurgent คือภาพยนตร์ภาคต่อจาก Divergent ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ ทริช ( ไชลีน วูดลีย์ ) หญิงสาวผู้ซึ่งไม่สามารถถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มใดของสังคมได้ ทุกคนจึงเรียกเธอว่า "ไดเวอร์เจนท์" แต่การที่เธอแตกต่างนี้เอง ทำให้เจนีน ( เคต วินสเล็ต )ต้องการตัวเธอ และจะทำทุกวิถีทางในการนำตัวเธอมาให้ได้ ทริชจะสามารถหนีพ้นจากเจนีนไปได้หรือไม่ !?
ก่อนทีเราจะเข้าสู่ช่วงการพูดถึงตรรกะและเหตุผลของภาพยนตร์ ก็ต้องออกตัวด้วยการชมถึงสิ่งที่ดีในภาคนี้กันก่อน
อย่างแรกในภาคนี้ ที่ดูดีขึ้นมากกว่าเดิมเยอะ ก็คือฉากซีจีที่อลังการงานสร้างทั้งหลาย ที่แสดงให้เห็นถึงการลงทุนที่มากขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะฉากบททดสอบตัวละครเอก ที่หายนะและวินาศดี ซึ่งทำให้ตัวภาพยนตร์รู้สึกน่าดูชมอยู่ตลอดเวลา
อย่างต่อมาที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือการแสดงของ ไชลีน วูดลีย์ ที่ยังคงรับบทเป็น ทริช ก็นำแสดงผลงานออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมมากทีเดียว ไม่แปลกใจเลยที่ทำไมเธอถึงเป็นขวัญใจแฟนๆหลายคนในขณะนี้ ยิ่งโดยเฉพาะผลงานปีที่แล้วของเธออีกเรื่องอย่าง The Fault in our Stars ( 2014 )
สุดท้ายเลย ก็คือการกำกับของ โรเบิร์ต ชเวนท์เก ที่ไม่หายนะแบบ R.I.P.D ( 2013 ) อีกแล้ว การกำกับฉากแอ็คชั่นและการเล่าเรื่องของเขาก็ถือว่าอยู่ในระดับที่สนุก น่าติดตามใช้ได้เลยทีเดียว ถึงแม้ว่าชั้นเชิงในการเล่าเรื่องต่างๆอาจจะดูธรรมดาไปบ้างก็ตามที
ถึงกระนั้นก็ตาม Insurgent ก็ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยปัญหามากมายหลายประการ
สิ่งที่น่าติมากที่สุดในภาพยนตร์ ก็คงจะหนีไม่พ้นตัวบทภาพยนตร์เอง ที่นอกจากจะดาษดื่น สุดแสนจะธรรมดาแล้ว พอนำไปเปรียบเทียบกับภาพยนตร์ที่มีต้นแบบมาจากนวนิยายเรื่องอื่นๆ ก็ยังเกือบจะเทียบเขาไม่ติด อย่างเช่นซีรียส์ The Hunger Games ( 2012 - 2015 ) ที่ไปได้ไกลกว่าเยอะในด้านของการพูดถึงสังคมมนุษย์ที่ล่มสลาย (ถึงแม้ว่าภาคล่าสุดจะล้มไม่เป็นท่าก็ตาม) จะมีที่ใกล้เคียงมากที่สุดก็คงจะเป็น The Maze Runner ( 2014 )
ซึ่งไม่แน่ใจว่าปัญหาส่วนนี้เป็นสาเหตุมาจากอะไร เนื่องจากส่วนตัวไม่เคยอ่านหนังสือซีรียส์ Divergent มาก่อน อาจจะเป็นไปได้ว่ามาจากตัวหนังสือต้นฉบับเอง หรืออาจเป็นสาเหตุมาจากการปรับเปลี่ยนบทให้เข้ากับสื่อภาพยนตร์ จนทำให้ทุกอย่างที่เคยน่าสนใจ เคยยอดเยี่ยมในหนังสือหายไปก็เป็นได้
ซึ่งไม่แน่ใจว่าปัญหาส่วนนี้เป็นสาเหตุมาจากอะไร เนื่องจากส่วนตัวไม่เคยอ่านหนังสือซีรียส์ Divergent มาก่อน อาจจะเป็นไปได้ว่ามาจากตัวหนังสือต้นฉบับเอง หรืออาจเป็นสาเหตุมาจากการปรับเปลี่ยนบทให้เข้ากับสื่อภาพยนตร์ จนทำให้ทุกอย่างที่เคยน่าสนใจ เคยยอดเยี่ยมในหนังสือหายไปก็เป็นได้
อีกสิ่งที่ดูจะน่าสงสัยมากในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือความที่มันเกือบจะปราศจากซึ่งตรรกะและเหตุผลใดๆ โดยเฉพาะฉากแอ็คชั่น กระโดด โลดโผนทั้งหลายที่เหนือจริงและหลุดโลกสุดๆ ถึงแม้ว่าตัวภาพยนตร์จะมีประโยคแปะหน้าโปสเตอร์ว่า "Defy Reality" หรือ "ท้าความจริง" แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันสามารถที่จะหลุดโลกจนทำให้รู้สึกว่าตัวละครเอกของเรากลายเป็นพระเจ้าที่จะเดินเหาะโลดโผนอย่างไรก็ได้ขนาดนั้น ถึงแม้ว่าจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความหลุดโลกนี้มันก็บันเทิงในการชมดี แต่ความบันเทิงนั้นก็ไม่ได้มาจากการออกแบบฉากแอ็คชั่นที่ดี แต่มาจากการละเลงฉากแอ็คชั่นต่างหาก
และปัญหาของความเก่งกาจในตัวละครเอกนั้น ก็นำมาซึ่งการคลี่คลายปมปัญหาต่างๆในเรื่อง ที่ช่างแสนง่ายดายจนพาเอาคุณค่าและความหมายของภาพยนตร์ทั้งเรื่องดิ่งลงเหวไปด้วย โดยเฉพาะบททดสอบตัวละครเอกทริช ที่ดูง่ายดายและไม่ต้องใช้สติปัญญาอะไรมากมายนักในการผ่าน ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็มาจากการที่ตัวละครทริชนี้ช่างเก่งกาจไปเสียทุกเรื่อง จนเสมือนไม่อาจที่จะล้มเหลวอะไรได้ หรือต่อให้ล้มเหลว เธอก็สามารถที่จะก้าวข้ามความล้มเหลวนี้ไปได้อย่างง่ายดายและแทบจะไม่เสียเหงื่อซักหยดเลย
ในด้านของนักแสดงแล้ว ถึงแม้ว่าไชลีน วูดลีย์จะนำแสดงได้ดี แต่เราก็ไม่สามารถที่จะพูดเช่นนั้นกับนักแสดงคนอื่นๆได้ซักเท่าไรนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจเพราะเอาเข้าจริง Insurgent ก็มีดารานักแสดงระดับแถวหน้ามาร่วมแสดงหลายต่อหลายคน ตั้งแต่ เคท วินเสล็ต , นาโอมิ วัตส์ , อ็อคเทเวียร์ สเปนเซอร์ หรือ ไมลส์ เทลเลอร์ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้แสดงแย่ แต่การแสดงของพวกเขาก็ไม่มีความน่าจดจำแต่อย่างใดเลย ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องติตัวละครในบทภาพยนตร์ที่ถูกเขียนมาได้ไม่ดีเท่าไร เพราะหลายๆนักแสดงก็แทบที่จะไม่ได้ทำอะไรซักเท่าไรเลย เนื่องจากบทบาทที่น้อยมาก
นี้ยังไม่นับถึงบทสรุปในภาคนี้ ที่คุณๆก็สามารถที่จะเดาออกได้ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกของภาพยนตร์ ถึงแม้ว่าคุณจะไม่เคยอ่านหนังสือ Insurgent ก่อนเลยก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเคยได้ชมภาพยนตร์ที่มีต้นฉบับมาจากหนังสือนวนิยายแนวนี้มาก่อนจะยิ่งเดาได้ไม่ยากนัก
ซึ่งกรณีนี้ จะว่าเป็นความผิดของ Insurgent ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว แต่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาของภาพยนตร์ที่มีต้นแบบมาจากหนังสือนวนิยาย ที่มีเรื่องราวคล้ายคลึงกันมากเกินไป จนมันทำให้เกิดความซ้ำซากขึ้นในภาพยนตร์ประเภทนี้
จะมีที่แตกต่างขึ้นมาหน่อยก็คงจะเป็นการพูดถึงเรื่องคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และการฟื้นฟูความเป็นมนุษย์ผู้ซึ่งมีความ กล้าหาญ เสียสละ ความรู้ สันติ และความซื่อสัตย์ ซึ่งในภาพยนตร์บุคคลที่มีสิ่งเหล่านี้ก็คือ "ไดเวอร์เจนท์" แต่ในโลกของเรา บุคคลทีมีสิ่งเหล่านี้ก็คือมนุษย์อย่างเราๆนี้เอง ซึ่งก็เป็นแนวความคิดมนุษยนิยมที่สอดแทรกเข้ามาอยู่ในโลกที่ผุพังและโหดร้ายแห่งดิสโธเปียได้อย่างน่าสนใจไม่น้อยเหมือนกัน
ซึ่งกรณีนี้ จะว่าเป็นความผิดของ Insurgent ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว แต่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาของภาพยนตร์ที่มีต้นแบบมาจากหนังสือนวนิยาย ที่มีเรื่องราวคล้ายคลึงกันมากเกินไป จนมันทำให้เกิดความซ้ำซากขึ้นในภาพยนตร์ประเภทนี้
จะมีที่แตกต่างขึ้นมาหน่อยก็คงจะเป็นการพูดถึงเรื่องคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และการฟื้นฟูความเป็นมนุษย์ผู้ซึ่งมีความ กล้าหาญ เสียสละ ความรู้ สันติ และความซื่อสัตย์ ซึ่งในภาพยนตร์บุคคลที่มีสิ่งเหล่านี้ก็คือ "ไดเวอร์เจนท์" แต่ในโลกของเรา บุคคลทีมีสิ่งเหล่านี้ก็คือมนุษย์อย่างเราๆนี้เอง ซึ่งก็เป็นแนวความคิดมนุษยนิยมที่สอดแทรกเข้ามาอยู่ในโลกที่ผุพังและโหดร้ายแห่งดิสโธเปียได้อย่างน่าสนใจไม่น้อยเหมือนกัน
Final Score : [ C ]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น