วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

Under the Shadow ( 2016 ) Movie Reivew

"ภายใต้เงามืดของสงคราม"

ผลงานอย่าง The VVitch, Don't Breathe, The Conjuring 2 และ 10 Cloverfield Lane อาจเรียกได้ว่าทำให้ปี 2016 เป็นปีทองของภาพยนตร์สยองขวัญ/ระทึกขวัญอย่างแท้จริงก็ว่าได้
ซึ่งผลงานอย่าง Under the Shadow ก็เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่เตรียมเข้าไปอยู่ในรายชื่อต้นๆของภาพยนตร์สยองขวัญปีนี้ ด้วยคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลามจนทางอังกฤษต้องส่งไปเป็นตัวแทนเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2017 กันเลยทีเดียว
ในด้านของเนื้อหา บริบท หรือประเด็นที่สอดแทรก สะท้อนให้เราได้เห็นในภาพยนตร์ Under the Shadow เรียกได้ว่าค่อนข้างแข็งแรงมั่นคงมากทีเดียว แม้จะไม่ได้หนักในทางจิตวิทยาหนักแบบ The Babadook (2014)

แต่การใช้เรื่องราวของภูติผีปีศาจเป็นกระจกในการสะท้อนให้เห็นถึง บริบท และภาวะสงครามอันแสนเคร่งเครียด วิพากษ์วิจารณ์ระบบทางสังคมอันปราศจากซึ่งอิสรภาพของประเทศอิหร่านในโลกแห่งความเป็นจริง ก็เป็นอะไรที่น่าทึ่งไม่แพ้กัน
การกำกับของ บาบัก อันวารี ในการวางเรื่องราวและตัวละครต่างๆในภาพยนตร์ก็เป็นไปอย่างกลมกล่อม ไม่มากและไม่ล้นจนเกินไป ที่สำคัญคือแทบจะไม่มีมุขผีตุ้งแช่โผล่มาสร้างความรำคาญให้เห็น
แต่ถ้าหากนับเพียงด้านอารมณ์ระหว่างการนั่งชมภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว Under the Shadow คงจะเข้าขั้นรั้งท้ายรายชื่อภาพยนตร์ที่กล่าวมาข้างต้น ความรู้สึกกลัว หวาดระแวง หรือแรงกดดันต่างๆยังคงมีตัวตนให้ได้รู้สึกอย่างชัดเจน

แต่ความรู้สึกเหล่านี้จัดอยู่ในหมวดเบาบางอยู่พอสมควร โดยเฉพาะช่วงบทสรุปของเรื่องที่ไม่ค่อยน่าจดจำเท่าไรนัก เชื่อว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการกำกับและบทที่พยายามหันเหไปในทางที่ให้ความรู้สึกสมจริง อ้างอิงกับโลกแห่งความเป็นจริง จึงทำให้หลากหลายสิ่งไม่สามารถยืดไปสุดขีดได้แบบภาพยนตร์สัญชาติออสเตรเลียอย่าง The Babadook ได้ อย่างไรก็ตามความรู้สึกเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่มีตัวตนชัดเจนระหว่างชมชนิดปฏิเสธได้ยาก

แม้ Under the Shadow จะพ่ายแพ้ The Babadook ไปอย่างฉิวเฉียดเนื่องจากความล้มเหลวที่ไม่สามารถจะเข้ามาสัมผัสเราในระดับปัจเจกชนิดต้องเปิดไฟนอนทั้งคืนได้ แต่การสอดแทรกบริบททางสังคม สัญญะต่างๆ รวมไปถึงการใช้ลักษณะของความเป็นภาพยนตร์สยองขวัญในการสะท้อนเรื่องราวในโลกแห่งความเป็นจริงก็เป็นองค์ประกอบที่น่าทึ่งมากพอที่จะทำให้เราจดจำผลงานเรื่องนี้ไปอีกซักพัก
Final Score: [ 8 / 10 ]

ลักษณะตัวละครภูติผีปีศาจ "จิน" ใน Under the Shadow ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวไปมาผ่านสายลมอย่างอิสระ หรือความที่เมื่อมันได้สิ่งของที่เรามีความ "ผูกพันธ์" อย่างมากไป เราจะไม่สามารถหนีมันได้พ้น ลักษณะเหล่านี้สามารถถูกนำไปเปรียบเทียบได้กับลักษณะของสงครามที่เกิดขึ้นบนโลกเรา

สงครามไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่น่าเกลียด น่ากลัว แต่ยังเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวหรือแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆของโลกได้อย่างอิสระ รวดเร็ว ยิ่งถ้าหากเราถูกมันพรากสิ่งที่เรามีสายสัมพันธ์หรือมีความผูกพันธ์ไป เช่น บ้านที่เราอยู่อาศัยสร้างมากับมือ หรือคนรัก บุคคลในครอบครัวที่ถูกส่งไปยังสนามรบ เรายิ่งไม่สามารถจะหนีมันพ้น ไม่ว่าจะในด้านของกายภาพหรือจิตใจ

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าเรื่องราวของสงครามในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือในมุมของศาสนาซึ่ง Under the Shadow แสดงให้เห็นถึงอำนาจมากถึงสามครั้ง
- ตัวละครอื่นนอกจากตัวละครเอกเรามักจะเห็นคลุมฮิญาบอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ตัวละครเอกเกือบจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงช่วงที่พยายามหนีออกมาจากบ้านโดยไม่ได้ใส่ผ้าคลุม
- เพดานห้องซึ่งถูกทำให้เป็นรูโหว่ใหญ่โตหลังจากถูกจรวดตกใส่ ซึ่งเพดานที่พังไปนี้ภายหลังก็ต้องมีการนำผ้ามาคลุมปิด ซ้ำร้ายห้องนี้ก็กลายเป็นห้องที่เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ผีร้ายจินหลากหลายครั้ง
- กระทั่งรูปร่างหน้าตาของตัวภูติผีอย่างจินก็มีลักษณะเหมือนเป็นผู้หญิงที่มีการคลุมฮิญาบไม่ต่างไปจากตัวละครหญิงตัวอื่นๆในเรื่อง

ทั้งสามข้อนี้ใน Under the Shadow แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของศาสนาที่อาจรุนแรงเสียยิ่งกว่าสงคราม ในมุมหนึ่งอาจมองได้ว่าตัวละครอย่าง จิน เป็นเสมือนตัวแทนของศาสนาที่เข้ามาลงโทษตัวละครเอกที่กระทำความผิด เช่น การมีเครื่องเล่นวิดีโอไว้ครอบครอง หรือการไม่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด พลังอำนาจของศาสนานั้นมากมายจนเป็นเสมือนต้นตอของทุกสิ่งเช่นสงคราม ทรงพลังมากจนแม้กระทั่งสิ่งลี้ลับภูติผีปีศาจอย่างจินยังต้องยอมสยบและกระทำตาม

แต่ในอีกมิติหนึ่งเราก็อาจมองได้ว่านี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอิหร่านที่เพศหญิงยังคงถูกตราหน้าว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ ไม่คู่ควรกับสิ่งที่มีคุณค่าเช่นความรู้ และต้องก้มหน้ายอมรับแรงกดดันจากสังคมที่เพศชายเป็นใหญ่ต่อไป

Doctor Strange ( 2016 ) Movie Review

"Inception: Marvel Edition ?"

ใครจะเชื่อว่านักแสดงสุดฮ็อตตารางแน่นเอี๊ยดอย่าง เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ จะมารับบทเป็นซุปเปอร์ฮีโร่คนล่าสุดของ Marvel อย่าง Doctor Strange ได้ แต่มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วท่ามกลางการผงาดของ Marvel และการคืบคลานมาอย่างเชื่องช้าของ DC ในตลาดภาพยนตร์ตอนนี้

การเปิดตัวคุณหมอแปลกแหวกมิติในเวลานี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดก็ว่าได้ ด้วยความที่ยิ่งใกล้สงครามใหญ่อย่าง Infinity Wars aka. ธานอสแอนด์เดอะถุงมือเกรียน เข้าไปทุกที ดูเหมือนว่าจินตนาการหรือความบ้าคลั่งของ Marvel ก็ยิ่งทวีคูณในการเตรียมพร้อมให้ผู้ชมอย่างเรารับกับคลื่นมหึมาที่จะซัดมาถึงในไม่ช้า

แม้ Doctor Strange จะยังคงรูปแบบและเนื้อหาเดิมๆตามสไตล์ Marvel แต่นั้นก็หาใช่สิ่งที่แย่ไม่ คงเป็นเพราะสาเหตุที่สิ่งที่ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ พวกเขายังคงทำมันได้ดีเพียงพอที่จะทำให้เราสามารถสนุกไปกับมันได้ไม่ยาก

แต่ถ้าหากจะมีสิ่งหนึ่งซึ่งดึงผลงานเรื่องนี้ให้โดดเด่นเหนือผลงานเรื่องอื่นๆของ Marvel ก็คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากด้านภาพหรือวิชวลอันแสนน่าทึ่งไม่ว่าจะจากการร่ายเวทย์มนตร์สุดเท่ห์ หรือฉากตึกต่างๆเคลื่อนไหวซ้อนกันไปมาอย่างกับ Inception 2.0 เรียกได้ว่าถ้าหากนับเฉพาะความอลังการจากเพียงภาพที่ถูกสรรสร้างมาวางต่อหน้าเรา Doctor Strange อาจเป็นภาพยนตร์ที่ล้ำเลิศที่สุดของ Marvel ก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางองค์ประกอบที่ดีเยี่ยมหลากหลายของ Doctor Strange ส่วนสำคัญของเรื่องราวอย่างตัวละครกลับปราศจากการถูกขัดเกลาอย่างพิถีพิถันโดยเฉพาะเหล่าร้ายซึ่งยังคงแสนจืดชืดตามสไตล์ Marvel เหมือนเดิม ในขณะที่ตัวละครหลักอย่างคุณหมอแปลกและตัวละครสำคัญอย่างดิแอนเชี่ยนวัน ต่างรอดตัวไปได้ด้วยการแสดงอันเหนือชั้นของ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ และทิลดา สวินตัน

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เหล่าตัวละครขาดความน่าสนใจนอกจากด้านบทภาพยนตร์แล้วก็คงจะหนีไม่พ้นการกำกับของ สก็อตต์ เดอริคสัน ซึ่งพยายามทำเรื่องราวให้กระชับที่สุด แต่กลับไปบีบส่วนของตัวละครโดยเฉพาะตัวละครหลักมากเกินไป ทำให้คุณหมอแปลกแหวกมิติเป็นได้แค่เพียงคุณหมอจอมเวทย์ยโสโอหังที่ปราศจากมิติตัวละครที่ลึกซึ้งหรือความน่าเห็นใจ

ในท้ายที่สุดแล้วถึงแม้ Doctor Strange จะเต็มไปด้วยภาพอันอลังการงานสร้าง ทีมงานโปรดักชั่นระดับเทพ ทีมนักแสดงที่ยอดเยี่ยม หรือมุขตลกขบขันที่สอดแทรกเข้ามาให้ได้หัวเราะกันทั้งเรื่องมากเท่าใด แต่รูปแบบที่ซ้ำซากและเหล่าตัวละครที่ไม่น่าสนใจก็เป็นเหตุที่ทำให้ตัวภาพยนตร์ไม่มีความน่าจดจำเท่าที่ควร ทำให้เราได้แต่ภาวนาว่า หลังจากการใช้เวลาในการปูเส้นทางไปสู่ Avengers: Infinity War กันหลายต่อหลายเรื่อง ตัวละครแสนสำคัญอย่างคุณพี่ธานอสจะไม่ทำให้เราผิดหวัง
Final Score: [ 7 ]

ปล. หลังจบภาพยนตร์มีเครดิตสองรอบนะครับอย่าลืมนั่งดูกันเนอะ

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

The Accountant (2016)

"แบทแมนในคราบนักบัญชี?"

ท่านผู้อ่านเคยเป็นกันบ้างหรือไม่ เมื่อนักแสดงคนหนึ่งไปรับบทในภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วเราจดจำเขาในภาพของตัวละครนั้นไปตลอด ไม่ว่าเขาจะไปรับบทเป็นตัวละครที่ต่างกันคนละขั้วมากเท่าไรก็ตาม อาจเป็นเพราะภาพยนตร์อย่าง Batman v Superman: Dawn of Justice และ Suicide Squad เข้าฉายในปีนี้จึงทำให้ข้าพเจ้าไม่อาจลบภาพ เบน แอฟเฟล็ก จากบทอัศวินรัตติกาลคนล่าสุดไปได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นกับผลงานล่าสุดของเขาอย่าง The Accountant

เอาเข้าจริงแล้ว The Accountant มีหลากหลายส่วนที่ให้กลิ่นอายเหมือนภาพยนตร์แบทแมนอย่างปฏิเสธได้ยาก ไม่ใช่แค่เฉพาะส่วนนักแสดงอย่าง เบน แอฟเฟล็ค หรือ เจ.เค. ซิมมอนส์ aka ผู้การเจมส์ กอร์ดอนคนล่าสุด แต่ยังรวมไปถึงเส้นเรื่องราวที่แตกแยกออกมาอย่างน่าสนใจ ตั้งแต่เส้นใหญ่ของเรื่องซึ่งนำเสนอการปะทะกันของ ศีลธรรม ความดี ความชั่ว และกำแพงบางๆที่กั้นสองสิ่งนี้อยู่ภายใต้จิตใจของเหล่าตำรวจหรือนักสืบ
หรือในด้านของปัจเจก ที่นำเสนอพื้นหลัง ความขัดแย้งของตัวละคร ที่มาที่ไปอย่างหนักหน่วง จะมีก็เพียงการสอดแทรกบริบททางสังคมที่ดูแตกต่างไปบ้าง เหล่านักแสดงต่างๆในภาพยนตร์เรื่องนี้ถือได้ว่ามาสร้างสีสันได้ดีทีเดียวไม่ว่าจะเป็น จอน เบิร์นธัล, แอนนา เคนดริก หรือซินเธีย โรบินสัน ต่างมีลักษณะตัวละครและพื้นหลังที่ค่อนข้างแตกต่างกันได้อย่างน่าสนใจ แต่แน่นอนว่านักแสดงที่เราจับตามองไม่หยุดก็หนีไม่พ้น เบน แอฟเฟล็ก กับเจ.เค. ซิมมอนส์ อยู่ดี การปะทะกันของสองตัวละครนี้ในบางฉากทำให้เราเพ้อเอาเองว่าเป็นการปฐมบทไปสู่ ​Justice League เลยทีเดียว
สำหรับในด้านการกำกับของ เกวิน โอคอนนอร์ ภาพรวมถือว่าทำได้ค่อนข้างดี ด้วยความที่เขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครที่สลับซับซ้อน ไปพร้อมๆกับเรื่องราวความขัดแย้งหลักได้ดี ยังไม่นับถึงจุดหักมุมที่ค่อนข้างน่าสนใจและคาดไม่ถึงพอสมควร ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงจะต้องขอยกเครดิตให้ผู้เขียนบท บิลล์ ดูบูก ไป อย่างไรก็ตามความสมดุลระหว่างการให้เวลาปูตัวละครหลัก และการดำเนินเรื่องไปข้างหน้าของเขายังขาดๆเกินๆ ตัวภาพยนตร์ใช้เวลาไปกับการพูดถึงพื้นหลังของตัวละครหลักมากเกินไป จนพาเอาเรื่องราวหลักจริงๆไม่น่าสนใจเท่าที่ควร

โชคยังดีที่ตัวละครหลักของเรื่องซึ่งตัวภาพยนตร์เทเวลาไปแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ของทั้งเรื่องค่อนข้างน่าสนใจ และน่าติดตามเพียงพอ ทำให้ในท้ายที่สุด แม้เรื่องราวการไล่ล่าและสืบสวนสอบสวนหลักของเรื่องจะดูแหว่งๆไปบ้าง แต่ความรู้สึกเมื่อเราเดินออกมาจากโรงภาพยนตร์ก็ค่อนข้างเต็มไปด้วยความประทับใจมิใช่น้อย Final Score: [ 7.5 ] --------- ส่วนวิเคราะห์อาจมีการสปอยล์ส่วนสำคัญของภาพยนตร์ ---------- ในสังคมโลกเราปัจจุบันคำว่าผิดปกติ แตกต่างหรือไม่เหมือนคนอื่น มักจะถูกใช้สื่อหรือตีความหมายไปในด้านลบอยู่บ่อยครั้ง The Accountant ท้าทายแนวคิดเช่นนั้น และสะท้อนให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วเราทุกคนต่างก็ถูกกลืนกินไปในกระแสโลก มีความคล้ายคลึงและดาษดื่นไม่แตกต่างกันมากกว่าที่เราคิด สุดท้ายแล้วเราก็ต้องดิ้นรนพยายามปรับตัวเข้าหาเพื่อที่จะได้รับการยอมรับจากสังคมไม่แตกต่างกัน พร้อมตบท้ายว่า เหล่าผู้คนที่สังคมหลายส่วนไม่ยอมรับนั้น พวกเขาอาจเต็มไปด้วยความสามารถที่เหนือยิ่งกว่าซึ่งรอคอยวันที่เราจะเข้าใจพวกเขาอย่างถ่องแท้ก็เป็นได้

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

Sully ( 2016 )



หลังจากทำให้ท่านตะลึงกับซีจีเด็กใน American Sniper ไปแล้ว เตรียมตัวพบกับการร่วมงานระหว่างนักแสดงรางวัลออสการ์ขวัญใจชาวอเมริกัน ทอม แฮงส์ และผู้กำกับระดับตำนานอย่าง คลินต์ อีสต์วูด ในภาพยนตร์ชีวประวัติที่ดันมีดราม่าเนื่องจากทางค่ายโฆษณาว่า ผู้โดยสารและลูกเรือทุกคนไม่มีใครเสียชีวิต (opps Spoiler!!) Sully

หลังจากได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือความสำคัญชนิดคอขาดบาดตายของ ทอม แฮงส์ กับคลินต์ อีสต์วูด บางท่านอาจจะคิดว่า "อ้าวก็ต้องสำคัญอยู่แล้วสิเป็นนักแสดงหลักกับผู้กำกับนิ !?" แต่บอกเลยว่าในกรณีนี้ต่างออกไป เพราะเอาเข้าจริงแล้ว บทบาทตัวละครอื่นๆนอกจากตัวละครหลักอย่างซัลลี่ในเรื่องอีกเพียงนิดเดียวก็แทบจะตัดออกไปได้อยู่แล้ว  ด้วยความที่ คลินต์ อีสต์วูด ใช้เวลาไปกับตัวซัลลี่และเล่าเรื่องผ่านซัลลี่แทบจะ 99% ของทั้งเรื่อง ทำให้ผู้ชมแทบจะปราศจากเวลาในการสนใจตัวละครอื่น และยิ่งดำดิ่งลงไปในจิตใจของตัวละครหลักตัวนี้เข้าไปใหญ่ พูดง่ายๆว่าหากมีน้ำอยู่หนึ่งแก้ว ตัวคลินต์ก็ได้เทน้ำลงไปในแก้วที่มีชื่อว่า ซัลลี่ 90% ของน้ำที่มีทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว จะว่าไปแล้วก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงอยู่ไม่ใช่น้อย


แต่ด้วยการนำแสดงอันสุขุม นุ่มลึก น่าค้นหาของ ทอม แฮงส์ ที่ดึงผู้ชมให้คอยเอากำลังใจช่วยตลอดเวลา โดดเด่นจนคุมทั้งเรื่องได้ด้วยตัวคนเดียว เบียดตัวละครและการแสดงของคนอื่นแม้กระทั่ง แอรอน เอ็คฮาร์ด ให้แทบจะไม่มีบท (อย่างน่าเห็นใจ) ผสมผสานกับการกำกับที่ควบคุมจังหวะจะโคน การเล่าเรื่องที่ลงตัวของ คลินต์ อีสต์วูด และการตัดต่อที่น่าทึ่งของ บลู เมอร์รีย์ ก็เป็นฟันเฟืองส่วนสำคัญที่ทำให้ร่างกายทั้งหมดของภาพยนตร์ Sully ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งเมื่อร่างกายมีประสิทธิภาพและทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าตัวภาพยนตร์จะใส่อะไรมามันก็ดูจะได้ผลไปหมด ไม่ว่าจะการนำเสนอหลากหลายมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์ตั้งแต่จากมุมของกัปตันซัลลี่ ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศ ผู้โดยสาร สื่อมวลชน ความกังวลของกัปตันซัลลี่จนนำมาสู่การตั้งคำถามต่อการตัดสินใจของตนเอง หรือการสอดแทรกแนวคิดมนุษยนิยม


ท้ายที่สุด แม้องค์ประกอบจากภายนอกจะดูแปลกประหลาดและแอบน่าเป็นห่วงไปบ้าง แต่การนำแสดงระดับเข้าชิงออสการ์นำชายปีนี้ของ ทอม แฮงส์ และการกำกับที่น่าลุ้นเข้าชิงไม่แพ้กันของ คลินต์ อีสต์วูด ก็ทำให้ Sully เป็นภาพยนตร์ที่ลงตัวและน่าหลงใหลอย่างเหลือเชื่อ

Final Result : - ดีเลิศประเสริฐศรี - ( 8 / 10 )

Best Quote of the Movie "This is the captain, brace for impact"

------- ส่วนวิเคราะห์ อาจมีการเปิดเผยส่วนสำคัญของภาพยนตร์ --------
ท่ามกลางสภาพสังคมโลกในปัจจุบันซึ่งผู้คนหันไปพึ่งพาแต่เทคโนโลยี เรื่องราวอุบัติเหตุเครื่องบินและโดยเฉพาะการสอบสวนซัลลี่ในครั้งนี้เป็นเครื่องมือชั้นเลิศ ที่จะแสดงและคอยเตือนให้เราได้เห็นว่า แม้เทคโนโลยีเหล่านี้จะดูรวดเร็วและทันสมัยกว่ามนุษย์เท่าใดก็ตาม มนุษย์ก็ยังคงเป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบ ธาตุ เวทย์มนตร์ หรืออะไรก็ตามที่ลึกล้ำกว่าที่เทคโนโลยีใดๆจะสามารถวัดค่าได้

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Eye in the Sky (2016) - Review

Eye in the Sky เป็นภาพยนตร์ที่นำเราเข้าไปส่วนหนึ่งของภารกิจจับตัวผู้ก่อการร้ายระดับโลก ซึ่งเกิดเรื่องวุ่นวายมากขึ้นหลังมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้าไปในรัศมีของระเบิด

แม้เรื่องราวของตัวภาพยนตร์จะดูค่อนข้างธรรมดา แต่ด้วยการกำกับ แกวิน ฮูด ซึ่งนำเสนอการปะทะกันของศีลธรรมและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ผสมเข้ากับการนำเสนอมุมมองของแต่ละตัวซึ่งคำนึงถึงผลที่ตามมาแตกต่างกันไป
ตั้งแต่ทีมรัฐบาลที่คำนึงถึงในด้านชื่อเสียงของรัฐ การเมืองที่อาจได้รับผลกระทบ ทางฝ่ายทหารซึ่งคำนึงถึงความสำเร็จของภารกิจมาเป็นหลัก ไปจนถึงทีมผู้ควบคุมหุ่นดรอยด์\กดปุ่มสังหาร ซึ่งคอยตั้งคำถามถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ตลอดเวลา

เมื่อประเด็นของแต่ละตัวละครมาโคจรและปะทะกัน ผสมเข้ากับผลงานการแสดงของทีมนักแสดงที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะ แอรอน พอล ก็ทำให้ Eye in the Sky กลายเป็นผลงานสุดระทึกขึ้นมาในทันใด
ไม่น่าเชื่อว่าการปะทะกันของ cause และ effect อันซับซ้อน ไม่ว่าจะในด้านของสภาพการเมืองระหว่างประเทศ, propaganda ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐในการตัดสินใจ สภาพสังคม หรือเรื่องพื้นฐานอย่างศีลธรรมและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ จะเกิดขึ้นด้วยคำถามเพียงคำถามเดียว

ระหว่างชีวิตของเด็กบริสุทธิ์ตัวเล็กๆคนหนึ่งที่แน่นอน กับชีวิตของคนอีกมากมายที่อาจตกอยู่ในอันตรายในอนาคต สิ่งใดมีคุณค่ามากกว่ากัน และคุณจะยอมเสี่ยงหรือไม่ ? นี้คงเป็นคำถามที่กัดกินจิตใจตัวละครและผู้ชมอยู่เรื่อยไป แม้ตัวภาพยนตร์จะได้จบลงไปแล้วก็ตาม
Final Score: [ 7.5 ]

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

The Secret Life of Pets ( 2016 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz

ในฐานะที่เป็นคนเลี้ยงสุนัขธรรมดาๆทั่วไปคนหนึ่ง สิ่งที่สงสัยมาจนถึงทุกวันนี้ ก็คือสุนัขของเราทำอะไรเมื่อตอนที่เราไม่อยู่บ้าน เรียกได้ว่าสงสัยหนักมากจนเกือบซื้อกล้องมาติดดู มันอาจจะนอนอยู่บนเตียง แทะรองเท้า นอนมองไปนอกหน้าต่าง หรืออาจจะนั่งรออยู่ตรงหน้าประตูที่เราเดินออกจากห้องก็เป็นไปได้

The Secret Life of Pets พยายามที่จะตอบคำถามที่ค้างคาใจของเราเหล่านี้ โดยเฉพาะในช่วงต้นเรื่องซึ่งเป็นช่วงที่น่าประทับใจมากที่สุดของภาพยนตร์อย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยการนำเสนอและปูตัวละครแต่ละตัวได้อย่างน่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม ช่วงกลางเรื่องของ The Secret Life of Pets กลับดรอปลงค่อนข้างมาก เนื่องด้วยความที่มันพยายามจะทำให้ชีวิตลับๆในบ้านของสัตว์เลี้ยงกลุ่มหนึ่งซึ่งก็น่าสนใจอยู่แล้ว ให้กลายเป็นการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่มากจนเกินไป

ทำให้สิ่งที่ตามมาก็คือสูตรสำเร็จของภาพยนตร์ฮอลลีวูดต่างๆทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น บทภาพยนตร์ ปมขัดแย้ง การดำเนินเรื่อง หรือบทสรุปที่แสนธรรมดา ส่งผลให้อารมณ์ร่วม ความอยากรู้อยากเห็นและความโดดเด่นของมันถูกลดลงไปอย่างรวดเร็ว

ยิ่งเมื่อเทียบกับผลงานเรื่องอื่นจากค่าย Illumination แล้ว บทสรุปของ The Secret Life of Pets อาจตกอยู่ในระดับเดียวกันกับ Minions (2015) ที่ไม่ค่อยน่าจดจำเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับผลงานระดับต้นๆของค่ายอย่าง Despicable Me (2010)

โชคยังดีที่ตัวละครแต่ละตัวมีความน่ารักและน่าสนใจมากพอที่จะทำให้เรื่องราวสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างไม่ติดขัดมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเจ้ากระต่ายจอมแสบ สโนว์บอล กับแก๊งค์สัตว์ผู้ถูกทอดทิ้ง หรือความสัมพันธ์ของเจ้าตูบ แม็กซ์ กับสุนัขตัวใหม่ ดุ๊ก

ภาพแอนิเมชั่นอันสดใสและมีชีวิตชีวา การสอดแทรกปมปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเล็กๆน้อยๆ เฉกเช่นการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง การนำสัตว์ที่มีสัญชาติญาณนักฆ่ามาเป็นสัตว์เลี้ยง หรือสายสัมพันธ์ที่ตัดไม่ขาดระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยง ต่างก็เป็นอีกส่วนองค์ประกอบที่คอยทำให้เรารู้สึกอยากติดตามไปได้ตลอดเวลา

ท้ายที่สุดแล้ว แม้ The Secret Life of Pets จะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปด้วยการเดินหน้าแบบสูตรสำเร็จ ความน่ารักของเหล่าสัตว์เลี้ยง แอนิเมชั่นที่สวยสดงดงาม ปมปัญหาที่น่าติดตาม ผนวกเข้ากับภาพยนตร์สั้นแปะหน้าเรื่องของเหล่ามินเนี่ยนสุดฮา ก็ทำให้ The Secret Life of Pets เป็นการผจญภัยที่คุ้มค่าอย่างไม่ต้องสงสัย

Final Result : [ สอบผ่าน , 7 / 10 ]

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Jason Bourne (2016)

หายหน้าหายตาไปถึง 9 ปี (ถ้าหากไม่นับ The Bourne Legacy) สำหรับแฟรนไชส์สุดระทึกที่โด่งดังอย่าง Bourne หลังจากแปกไปไม่เป็นท่าในภาค The Bourne Legacy ในปี 2012 ซึ่งได้ เจเรมี่ เรนเนอร์มารับบทนำ



การกลับมาของแฟรนไชส์ Bourne ในครั้งนี้ เชื่อว่าค่อนข้างจะตั้งความคาดหวังให้แฟนๆหลายคนอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะนอกจากดารานำอย่าง แม็ตต์ เดม่อน จะกลับมารับบทเป็น เจสัน บอร์น เหมือนเดิมแล้ว ตัวผู้กำกับThe Bourne Supremacy (2004) และ The Bourne Ultimatum (2004) พอล กรีนกราส ก็กลับมารับตำแหน่งเดิมเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นของ Jason Bourne ในภาคนี้ กลับเป็นมาจากการเปลี่ยนตัวผู้เขียนบทยกแผง ซึ่งทำให้เห็นถึงจุดที่ขาดหายไปในภาคนี้ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นความลุ่มลึกของเรื่องราว ความลึกลับน่าค้นหา ไปจนถึงกระทั่งปมขัดแย้งต่างๆในภาคนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นข้ออ้างในการผลักดันแฟรนไชส์ให้เดินหน้าต่อไปได้ มากกว่าเป็นสิ่งที่ถูกขีดเขียนและวางแผนมาเป็นอย่างดี



ในมิติหนึ่งอาจเป็นชะตากรรมที่ตัวภาพยนตร์คงจะต้องทำใจยอมรับ ในเมื่อส่วนสำคัญของภาพยนตร์เลือกที่จะพูดถึงประเด็นที่สังคมหันมาให้ความสนใจได้ซักระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะหลังจากผลงานภาพยนตร์สารคดีอย่าง Citizen Four (2014) และการเปิดโปงสุดอื้อฉาวของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เด็น ซึ่งจะมีภาพยนตร์ชีวประวัติในปลายปีนี้

โชคยังดีที่สององค์ประกอบเดิมที่แฟนๆตั้งความหวังอย่าง แม็ตต์ เดม่อน และพอล กรีนกราส ยังคงไม่ผิดหวัง แม้ตัวพี่แม็ตต์ จะแลดูเริ่มหมดแรงจากอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงรับบทนำได้อย่างดีเยี่ยม น่าสนใจ คอยลุ้นเอาใจช่วย



ในขณะที่พอล กรีนกราส ยังคงเล่าเรื่องได้อย่างลื่นไหล น่าติดตาม ควบคุมจังหวะของภาพยนตร์ในแต่ละช่วงได้ดีโดยเฉพาะในฉากแอ็คชั่นทั้งหลาย แม้จะนำเสนอเนื้อหาออกมาอย่างโต่งๆแลดูขาดชั้นเชิงไปหน่อยก็ตาม

ท้ายที่สุดแล้ว Jason Bourne ก็เป็นผลงานภาพยนตร์ที่ผ่านฉลุยในด้านของความบันเทิง แต่ในด้านของคุณภาพโดยรวมยังคงครึ่งๆกลางๆ จากบาดแผลที่ใหญ่หลวงอย่างบทภาพยนตร์ ซึ่งเอาตัวรอดไปได้ด้วยการกำกับของ พอล กรีนกราส อย่างหวุดหวิด เชื่อว่าแฟนๆที่ประทับใจ Bourne สามภาคแรกอาจกลับบ้านไปอย่างผิดหวังกันบ้างนิดหน่อย



Final Result: [ 7 / 10 ]


ตัวละครอย่าง เจสัน บอร์น ก็เปรียบเสมือนตัวแทนของมนุษย์พวกเราทุกคน ที่กำลังถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพไปทีละเล็กทีละน้อยโดยที่ไม่รู้ตัว จนนำไปสู่การแทบจะปราศจากซึ่งเสรีภาพอย่างสมบูรณ์แบบในภาคนี้

อำนาจมืดที่คอยสอดส่องอยู่เบื้องหลังเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่ในรูปแบบของหัวเก่า แต่ปัจจุบันยังมาในรูปแบบใหม่ที่แยบยลกว่าเดิม

ซึ่งตัวภาพยนตร์ไม่ได้เพียงแค่ให้ทางเลือกกับเราในการยอมรับชะตากรรมหรือลุกขึ้นมาต่อกรกับอำนาจมืด

แต่ยังเชื่อว่าสังคมในปัจจุบัน ทราบถึงการมีตัวตนของอำนาจเหล่านี้ดี และได้สะท้อนคำเตือนไปสู่อำนาจมืดเหล่านั้นว่า "พวกเราไม่ได้ถูกปั่นหัวง่ายอย่างที่พวกคุณคิด"

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

The BFG ( 2016 ) Review




ไม่น่าเชื่อเลยว่าผลงานการกำกับของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อมดฮอลลีวูดอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก และยังเป็นผลงานที่ร่วมมือกับสตูดิโอยักษ์ใหญ่อย่างดิสนีย์เป็นครั้งแรก จะเจ๊งในด้านรายได้จากทั่วโลกอย่างเป็นเอกฉันท์เช่นนี้ ด้วยตัวเลขทั่วโลกในเวลานี้รวมกันได้เพียง 67 ล้านเหรียญสหรัฐจากทุนสร้างสูงถึง 140 ล้านเหรียญ


ซึ่งเหตุผลทางด้านรายได้นี้เองอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราอยากลองพิสูจน์ผลงานชิ้นนี้ดู ว่าเพราะเหตุใดผลลัพธ์ของวัตถุดิบที่ดีจึงออกมาเป็นเช่นนี้


เมื่อมอง The BFG อย่างผิวเผิน มันดูจะเป็นผลงานแสนธรรมดาของสปีลเบิร์กซึ่งนำเสนอภาพและอารมณ์การผจญภัยของตัวละครหลักไม่แตกต่างจาก Indiana Jones หรือ The Adventures of Tintin แต่มีบางสิ่งใน The Big Friendly Giant ที่ทำให้ผลงานนี้แตกต่างไปจากผลงานเรื่องอื่นของเขาพอสมควร

สิ่งแรกคือ 'ดิสนีย์' ซึ่งเข้ามาบทบาทสำคัญในการแต่งเติมโปรดักชั่นและซีจีต่างๆให้ยอดเยี่ยม งดงาม อลังการ สมกับเป็นภาพยนตร์ระดับทุนสร้าง 140 ล้านเหรียญสหรัฐได้เป็นอย่างดี


เมื่อนำโปรดักชั่นที่อลังการไปรวมเข้ากับการกำกับที่เต็มไปด้วยลูกเล่น ลูกไม้ และนิสัยขี้เล่นมากมายของสปีลเบิร์ก ในการที่จะทำให้ผู้ชมยิ้มได้ตลอดเวลา ก็ทำให้เรื่องราวการผจญภัยของเด็กหญิงโซฟีในดินแดนแห่งยักษ์นี้ ยิ่งโดดเด่นขึ้นไปอีก

เคมีที่เข้ากันได้อย่างลงตัว และตัวละครที่น่าสนใจของมาร์ค ไรแรนซ์ ผู้รับบทเป็นยักษ์ใจดี กับรูบี้ บาร์นฮิลล์ ผู้รับบทเป็นเด็กหญิงโซฟี ก็ยิ่งส่งเสริมทำให้การดำเนินเรื่องมีความน่าติดตาม นำมาสู่บทสรุปที่น่าประทับใจทำให้หัวใจเราพองโตขึ้นมาได้เล็กน้อยในท้ายที่สุด


สำหรับสาเหตุที่ทำไม The BFG ถึงได้ประสบความล้มเหลวด้านรายได้ทั่วโลกอย่างเป็นเอกฉันท์ เชื่อว่าน่าจะมีหลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ตารางฉายที่ไปชน Finding Dory ซึ่งกำลังมาแรงอย่างมาก(แม้จะเจอกันในสัปดาห์ที่สามของ Finding Dory ก็ตาม) แถมก็ยังมีแอนิเมชั่น The Secret Life of Pets ตามมาประกบหลังอีกต่างหาก ทำให้ผลงานที่รูปร่างภายนอกดูแสนจะธรรมดาอย่าง The BFG ถูกมองข้ามไปอย่างง่ายดาย

อีกหนึ่งเหตุผลที่น่าสนใจก็คือตารางการปะทะกันของภาพยนตร์ทุนสูงอย่าง The BFG, The Legend of Tarzan และภาพยนตร์ทุนต่ำอย่าง The Shallows และ The Purge: Election Year กลับกลายเป็นว่าภาพยนตร์ทุนต่ำเปิดตัวแรงชนิดที่ได้กำไรไปตั้งแต่สัปดาห์แรก ในขณะที่ภาพยนตร์ทุนสูงยังต้องนั่งลุ้นตัวโก่งกันหลายสัปดาห์ติดต่อกัน เช่นเดียวกันกับ The Legend of Tarzan ที่ผ่านทุนสร้างไปได้อย่างฉิวเฉียดในขณะนี้ด้วยตัวเลข 201 ล้านเหรียญสหรัฐจากทุนสร้าง 180 ล้านเหรียญ (รวมค่าโฆษณาและจิปาทะแล้วดีไม่ดีอาจยังติดลบ)



กระแสภาพยนตร์ทุนต่ำที่กำลังมาแรงในขณะนี้ อาจแสดงให้เห็นถึงหลายสิ่งหลายอย่าง เช่นผู้ชมส่วนใหญ่ในขณะนี้ให้ความสำคัญกับทุนสร้างลดลงให้ความสำคัญกับเนื้อหาและความน่าสนใจของภาพยนตร์มากขึ้น หรืออาจมีความเป็นไปได้ว่ากระแสภาพยนตร์ประเภทระทึกขวัญ เขย่าขวัญ กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้เพื่อคลายความเครียด ความกดดัน ท่ามกลางเหตุการณ์การก่อการร้ายหรือเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแทบจะทุกอาทิตย์บนโลกของเราขณะนี้ ซึ่งแน่นอนว่านี้ยังคงเป็นเพียงการสันนิษฐานที่จำเป็นจะต้องติดตามและสังเกตุอย่างใกล้ชิดกันต่อไป

แต่สิ่งที่แน่นอนสำหรับในตอนนี้คือผลงานที่ค่อนข้างน่าประทับใจอย่าง The BFG ต้องตกเป็นลูกหลงของกระแสภาพยนตร์และกระแสโลกที่แสนโหดร้ายและเดาได้ยากไปอย่างไม่ต้องสงสัย

Final Score: [ 7.5 ]

แท้ที่จริงแล้ว เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดใน The BFG สุดท้ายก็เป็นความฝันหรือภาพที่สะท้อนสภาพจิตใจตัวละครหลักอย่างโซฟี

มันได้สะท้อนถึงความเหงา ความฝันสูงสุดของเธอในการที่ได้มีเพื่อน หลุดออกไปจากบ้านเด็กกำพร้า และมีบ้านมีครอบครัวที่รักเป็นของเธอเอง ด้วยมุมมองที่เป็นเด็กน้อยช่างเพ้อฝันและช่างจินตนาการสมกับเป็นความฝันของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆได้อย่างยอดเยี่ยม

แม้อารมณ์ใน The BFG ที่เราเห็นบนจอภาพยนตร์กับตามันจะเต็มไปด้วยสีสันมากมายเท่าไรก็ตาม สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้รอยยิ้มเหล่านั้น คือความเจ็บปวดของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งซึ่งเติบโตมาโดยปราศจากพ่อแม่หรือเพื่อนนั้นเอง

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

The Shallows (2016) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz


สำหรับวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดแล้ว ภาพความสยดสยองและความน่ากลัวของฉลาม ปฏิเสธได้ยากว่าเริ่มมาจากภาพยนตร์อย่าง Jaws ในปี 1975 ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ซึ่งปลุกกระแสและสร้างภาพความโหดร้ายให้กับผู้ล่าอันแสนฉกาจในผืนน้ำนี้แก่ผู้ชมมากมายทั่วโลก จนนำมาสู่ภาคต่ออีกหลายภาค

ยันไปจนภาพยนตร์ประเภทฉลามทั้งหลาย ที่แม้ในยุคปัจจุบันก็ยังมีมาให้เห็นเรื่อยๆ ซึ่งที่ดูจะเป็นกระแสก่อนหน้า Shallows ในเร็วๆนี้ ก็คงหนีไม่พ้น Sharknado ที่จำกัดข้อเสียเปรียบของฉลามที่จำเป็นจะต้องอยู่ในเฉพาะน้ำไปอย่างหมดสิ้น

The Shallows มีความคล้ายคลึงกับ Sharknado ตรงที่มันเล่นกับขีดจำกัดหรือจุดที่เราเคยคิดว่าปลอดภัยได้อย่างดี คล้ายๆกับ Paranormal Activity ซึ่งทำลายความคิดที่ว่าบ้านของเรา ห้องนอนของเราเป็นที่ปลอดภัยที่สุด ใครจะคิดล่ะว่า ฉลามสุดน่ากลัวจะมาจู่โจมเราในที่ตื้นๆเช่นนี้ได้
อย่างไรก็ตามองค์ประกอบหลายส่วนของ The Shallows ก็ดูจะตื้นพอๆกับชื่อภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการกำกับที่แสนธรรมดา จังหวะจะโคนในการหลอกล่อผู้ชมที่เดาง่ายแสนง่าย

การเล่าเรื่องที่ใช้มุข 'Instagram + Skype' เป็นตัวปูเรื่องค่อนข้างเยอะ ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกแย่อะไร แต่ในอีกมิติหนึ่งก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันให้อะไรใหม่หรือแตกต่างจากการเล่าเรื่องตรงๆทั่วไปเท่าไรนักเช่นกัน

ในด้านบทภาพยนตร์ถือว่าพอรับได้ ขีดเขียนตัวละครมาได้น่าสนใจเพียงพอ และวางสถานการณ์ต่างๆได้ค่อนข้างดี แต่ภาพรวมมันก็ยังเป็นได้แค่ภาพยนตร์เอาชีวิตรอดจากฉลามทั่วไปอยู่ดี ที่สำคัญคือความลุ้นระทึกหลังจากกลางเรื่องก็ดรอปลงไปเรื่อยๆนำมาสู่จุดไคลแม็กซ์ที่จืดชืด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากทุนสร้างที่น้อย ทำให้ไม่สามารถเล่นอะไรได้มากมายนัก
แต่ถือได้ว่าเป็นโชคดีชนิดปิดตาซื้อหวย ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นักแสดงอย่าง เบลค ไลฟ์ลีย์ มารับบทนำ ด้วยความเซ็กซี่ ความน่ารัก และการแสดงที่น่าเอาใจช่วยของเธอ ทำให้เรื่องราวและฉากลุ้นระทึกเฉียดโดนฉลามแดกทั้งหลายในภาพยนตร์ ดูมีความหมายขึ้นมาอย่างทันใด

สุดท้ายแล้ว The Shallows ก็เป็นผลงานภาพยนตร์ที่จัดอยู่ในระดับพอใช้ได้ มันไม่ได้นำเสนออะไรสดใหม่เท่าไรนัก แต่จุดหลายจุดก็สอบผ่านไปได้ด้วยการนำแสดงของ เบลค ไลฟ์ลีย์

หากเทียบกับผลงานกำกับล่าสุดของ โจว์เมย์ โคเล็ท เซอร่า อย่าง Run All Night (2015) แล้ว The Shallows ดูจะเป็นผลงานที่ฝีมือตกลงมานิดหน่อย แต่ก็ยังค่อนข้างมีคุณภาพเมื่อเทียบกับภาพยนตร์ฉลามในหลายปีที่ผ่านมา เฉกเช่น Shark Night 3D (2011), Bait (2012)

------ บทความวิเคราะห์ (SPOILER!!) -------

แม้ภาพลักษณ์ภายนอกของ The Shallows ดูจะเป็นการจู่โจมของสัตว์ร้ายต่อมนุษย์อย่างโหดเหี้ยม แต่แท้ที่จริงแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ตำหนิหรือสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งใดมากไปกว่าการกระทำของมนุษย์ต่อธรรมชาติอีกแล้ว

ภาวะโลกร้อน แก๊ซเรือนกระจก ท้องทะเลที่กำลังถูกทำลาย สัตว์ทั้งหลายต่างล้มตาย สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่าน The Shallows ไม่ว่าจะมาจากปลาวาฬที่เกยตื้นมาเสียชีวิตเพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของธรรมชาติ

หรือกระทั่งเจ้าฉลามสุดโหดในเรื่องเอง ก็เป็นเหยื่อของการกระทำจากมนุษย์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นมาจากความอภิมหาซวยของตัวละครเอก แต่ส่วนใหญ่คือแท่งเหล็กซึ่งทิ่มแทงลงไปตรงปากฉลาม แสดงให้เห็นถึงสภาวะของสัตว์ที่ดูแสนดุร้ายตัวนี้ว่าตัวมันไม่ได้เป็นอะไรนอกเหนือจากเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายซึ่งถูกทำร้ายจากน้ำมือของมนุษย์

สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงเนื้อหาที่แท้จริงของ The Shallows ว่ามันไม่ได้เป็นภาพยนตร์เอาชีวิตรอด แต่เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงการเอาคืน การแก้แค้นของธรรมชาติต่างหาก!!

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559

Finding Dory ( 2016 ) บทวิเคราะห์ บทความ

Finding Dory ถ่ายทอดอารมณ์ความคำนึงคิดถึงและความเจ็บปวดของการจากบ้านเข้ามาเหยียบในต่างแดนได้ค่อนข้างชัดเจน ผ่านตัวละครหลักเจ้าปลาขี้ลืม ดอรี่

ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว เชื่อว่าหลายต่อหลายคนก็อาจเคยได้เคยสัมผัสถึงอารมณ์เหล่านี้ด้วยตัวท่านเอง เนื่องจากเป็นสิ่งที่สังคมหลายส่วนบนโลกก็ต้องประสบพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นการจากบ้านเข้ามาทำงานหรือศึกษาต่อในเมือง หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุด พลัดหลงอย่างไม่ตั้งใจแบบเจ้าปลาขี้ลืม ดอรี่ี่


ชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของคำว่า 'บ้านและครอบครัว' ซึ่งเป็นสิ่งมีค่ามากที่สุด โดยเฉพาะท่ามกลางการสะท้อนสภาพสังคมที่เร่งรีบ ตัวใครตัวมันในขณะนี้ ชนิดที่แม้แต่เด็กน้อยหลงทางคนหนึ่งก็ยังไม่มีใครแยแส ไม่ต่างไปจากเหล่าปลาทั้งหลายที่ไม่ค่อยจะอยากยื่นมือมาช่วยเหลือปลาน้อยดอรี่ในช่วงเวลาที่เธอต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ที่ย่ำแย่กว่าคือ แม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้ปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือเสียทีเดียว แต่การช่วยเหลือส่วนใหญ่ของพวกเขากลับมาในรูปแบบของ 'ขอไปที' หรือ 'ทำแบบเสียมิได้'
ในอีกมิติหนึ่งเจ้าปลาขี้ลืมดอรี่ เจ้าฉลามวาฬสายตาสั้นอย่างเดสทินี่ วาฬเบลูก้าจมูกไม่ค่อยดีอย่างเบลลีย์ และปลาหมึกที่มีเพียงเจ็ดหนวดอย่างแฮงค์ ตัวละครเหล่านี้เป็นหลักฐานชั้นเลิศถึงความพยายามในการให้กำลังใจแก่บุคคลที่อาจเกิดมามีข้อบกพร่องไม่เพรียบพร้อมเหมือนคนอื่นๆหรือมีอดีตอันแสนเลวร้าย ให้สามารถลุกยืนขึ้นมาเดินหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดี

พร้อมแสดงให้เห็นว่ากระทั่งพวกเขาเหล่านี้ ก็มีจิตใจและมีความเป็นมนุษย์(หรือมีความเป็นปลา) ต้องการความรัก การเอาใจใส่ไม่ต่างไปจากบุคคลธรรมดาทั่วไป แม้สังคมจะตราหน้าพวกเขาว่าเป็น 'คนป่วย' ต้องถูกรักษาหรือจับเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลเสมือนเหล่าปลาทั้งหลายซึ่งถูกส่งเข้าพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในภาพยนตร์นั้นเอง

Finding Dory (2016) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz

Finding Dory (2016) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz
เป็นที่น่าแปลกใจว่าตัวภาพยนตร์ซึ่งห่างหายไปนานถึง 13 ปี กลับมาครั้งนี้ในนามของ Finding Dory ดันไม่ค่อยมีอะไรที่สดหรือแปลกใหม่เท่าไรนัก องค์ประกอบแทบทุกส่วนของ Finding Dory ม่ว่าจะเป็นในด้านภาพซีจี การดำเนินเรื่อง ไปจนถึงประเด็นที่สอดแทรกอยู่ในภาพยนตร์ ต่างให้ความรู้สึกเหมือนนั่งดู Finding Nemo อีกรอบหนึ่ง
ซึ่งในด้านหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแย่เท่าไรนักด้วยความที่ Finding Nemo ก็เป็นภาพยนตร์ที่ค่อนข้างดีงามอยู่แล้ว แต่อีกด้านหนึ่งก็พาเราอดคิดไม่ได้ว่าเวลา 13 ปีที่ผ่านไปนั้นไม่ได้ช่วยให้มีอะไรที่สดใหม่ในภาคต่อนี้ นอกจากเหล่าตัวละครหน้าใหม่เลยหรือ?

อาจเรียกได้ว่าเป็นความซวยตั้งต้นของ Finding Dory ที่ต้องวิ่งไล่ตามความสำเร็จและความยอดเยี่ยมของ Finding Neemo ให้ได้ และในด้านของเรื่องราวซึ่งต่อจากภาคแรกแทบจะในทันที ในขณะที่ในโลกแห่งความเป็นจริงเวลาได้ผ่านไปกว่าสิบปีแล้ว ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้รู้สึกว่าไม่ค่อยมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงมากนัก
ในด้านของการเล่าเรื่องและกำกับ เห็นได้ค่อนข้างชัดว่าทั้งสองผู้กำกับพยายามใช้จุดเด่นของตัวละครหลักอย่างดอรี่ ซึ่งก็คือความขี้ลืมมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินเรื่องค่อนข้างมาก ปัญหาคือเทคนิคระลึกชาติหรือ Flashback เหล่านี้ มันถูกนำมาใช้บ่อยครั้งเกินไป จนให้ความรู้สึกเหมือนเป็นแค่กิมมิคๆหนึ่งในการดันเรื่องให้เดินหน้า มากกว่าที่จะเป็นเทคนิคที่โดดเด่นและน่าจดจำจริงๆ

แม้ต้นเรื่องของ Finding Dory จะค่อนข้างชวนหลับ โชคยังดีที่เหล่าตัวละครหน้าใหม่ทั้งหลายกระโดดเข้ามาช่วยได้ทัน ถึงแม้จะไม่ได้มีเรื่องราวที่แปลกอะไรมากมาย แต่ตัวละครเหล่านี้ก็มีเทคนิคและความสามารถเฉพาะตัวมากพอ ที่จะกลายเป็นจุดสร้างสีสันให้กับภาพยนตร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าฉลามวาฬเดสทินี่ วาฬเบลูก้าเบลลีย์หรือเจ้าปลาหมึกแฮงค์
เครดิตส่วนใหญ่ก็ต้องขอยกให้กับแฮงค์ค่อนข้างมาก การออกแบบตัวละคร ทัศนคติ และความสามารถของเขา เป็นเหตุที่ทำให้หลายส่วนของ Finding Dory ดำเนินเรื่องไปได้อย่างราบรื่นและสนุก กระทั่งให้ความรู้สึกเหมือนนั่งดูภาพยนตร์สายลับเลยทีเดียว เอาเข้าจริงแล้วในหลายต่อหลายครั้งเขากลับเป็นตัวละครที่น่าติดตามยิ่งกว่าเจ้าปลาขี้ลืมดอรี่เสียอีก
Final Score : [ 6.5 ]

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

Me Before You (2016) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz

Me Before You (2016) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz
อาจเรียกได้ว่า นี้เป็นภาพยนตร์รัก โรแมนติกที่เป็นการโคจรมาเจอกันของสองดารานักแสดงที่กำลังฮ็อตฮิตมากในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นแซม คลาฟฟิน ที่เคยโชว์หุ่นซิ๊กแพคให้สาวๆได้กลืนน้ำลายกันใน The Hunger Games ภาค Catching Fire หรือ Mockingjay มาก่อน และเอมิเลีย คลาร์ก สาวสวยน่ารัก จาก Game of Thrones หรือ Terminator: Genisys

ไม่แน่ใจว่านวนิยายต้นฉบับเป็นเช่นไรเนื่องจากไม่เคยได้มีโอกาสอ่าน แต่ในด้านของภาพยนตร์แล้ว Me Before You ดูจะเป็นผลงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ต่างๆอย่างแรงกล้า โดยเฉพาะในด้านของจินตนาการ 'ฟรุ้งฟริ้งมุ้งมิ้ง' ของมันชนิดที่แทบจะหลุดออกมาจากมิวสิควิดีโอ เรียกได้ว่าถ้าหากเราตัดสินภาพยนตร์จากเพียงแค่ด้านของ Emotional (อารมณ์) Me Before You คงจะได้คะแนนไปเกือบเต็ม
ซึ่งอารมณ์ที่เต็มเปี่ยมหลากหลายเหล่านี้ เป็นผลมาจากโปรดักชั่นที่สวยงาม และการใช้โทนสีที่ฉูดฉาดชนิดที่นึกว่าอยู่ในดิสนีย์แลนด์ ผสมกับการแสดงของ เอมิเลีย คลาร์ก ที่แสดงได้อย่างเวอร์วังเหนือจริง แทบจะหลุดโลกไปเลยทีเดียว ในด้านนึงก็เป็นการแสดงที่น่ารักดี แต่บางครั้งก็ดูจะมากไปหน่อย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเพลิดเลินอยู่กับสีสันอันแสบตา และการแสดงที่ชวนขำของ เอมิเลีย คลาร์ก ได้สักพัก เราก็เริ่มที่จะรู้ตัวว่ามีอะไรบางอย่างขาดหายไป นำมาสู่คือปัญหาของภาพยนตร์เรื่องนี้

ถ้าหากเราตัดด้านอารมณ์ออกไป Me Before You ก็ดูจะกลายเป็นผลงานที่ไม่มีอะไรที่โดดเด่นเหลืออยู่อีก ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหา เทคนิค การแสดง การกำกับ หรือกระทั่งประเด็นที่ตัวภาพยนตร์พยายามยัดเข้าปากเราอยู่ตลอดเวลา ต่างก็เป็นสิ่งที่ถูกถ่ายทอดหรือพูดถึงมาก่อน ซ้ำร้ายภาพยนตร์ประเภทเดียวกันเรื่องอื่น ก็ดูจะสามารถก้าวเหนือไปได้มากกว่าในหลายๆจุด เฉกเช่น The Fault in Our Stars (2014) หรือ Paper Towns (2015) ซึ่งต่างก็มีพลังของคนรุ่นใหม่แอบแฝงเข้าไป
หากจะนึกถึงคู่เปรียบเทียบที่ใกล้เคียงมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น About Time (2013) ที่คล้ายคลึงกันอยู่บ้างในด้านอารมณ์ แต่ Me Before You ก็ดูจะยังคงพ่ายแพ้ในด้านเนื้อหาที่ About Time กล้าที่จะนำเสนอสิ่งเหนือธรรมชาติและถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครอื่น นอกเหนือจากสองพระ-นางได้ดีมีชั้นเชิงกว่ามากอยู่ดี
เมื่อคำนึงถึงเหตุผลข้างต้นทั้งหลายแล้ว Me Before You ก็ดูจะเป็นผลงานที่มีความล้าหลัง ผิดที่ผิดเวลาอย่างน่ากลัว ตั้งแต่เนื้อหา การนำเสนอ หรือประเด็นที่สอดแทรกในภาพยนตร์ แม้เราจะพยายามมองข้ามจุดนี้ไป ตัวภาพยนตร์ก็ดูจะยังคงประสบปัญหาในการนำเสนอสิ่งบางสิ่งที่จะสามารถดึงตัวมันขึ้นมาจากคำว่า 'mediocre' ไปได้
คงจะมีเพียงวิธีเดียวที่จะเปลี่ยน Me Before You ให้กลายเป็นภาพยนตร์ระดับยอดเยี่ยมได้ ก็คือการมองความเพ้อฝันและเพ้อเจ้อของมันด้วยมุมมองแบบสุดโต่ง เปลี่ยนให้มันกลายเป็นโลก Surreal อันแสนหรรษาเสมือนหลุดมาจากจินตนาการอันสุดฟินของตัวละครสาวชนชั้นกลาง
Final Score: [ 5 ]