San Andreas (2015) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz
"เลขที่ออก..... ซาน แอนเดรส !!"
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า การมาของภาพยนตร์ San Andreas ออกจะดูช้าไปหน่อยรึเปล่า เนื่องจาก ณ ตอนนี้กระแสของภาพยนตร์ฮอลลีวูดได้ย้ายไปสู่ภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากนวนิยายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แน่ล่ะว่าเรายังคงจดจำภาพอันน่าประทับใจของภาพยนตร์หายนะต่างๆได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์เทพีเสรีภาพแช่แข็งใน The Day After Tomorrow หรือกระทั่งภาพยนตร์ 2012 ที่ ณ เวลานี้คงกลายเป็นภาพยนตร์ตลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
San Andreas เป็นภาพยนตร์หายนะที่ว่าด้วยเรื่องราวของ เรย์ นักกู้ภัยที่จะต้องออกผจญภัยตามหาลูกสาวของเขาที่ไปติดอยู่ในเมือง ซาน ฟรานซิสโก ระหว่างที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดให้ได้
ไม่ว่ารอยเลื่อนซาน แอนเดรสในภาพยนตร์จะหายนะซักเท่าไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสิ่งที่หายนะยิ่งกว่า ก็คือตัวภาพยนตร์เอง จากปัญหาที่มากมายนานับประการที่ถาถมเข้ามาหนักหน่วงยิ่งกว่าคลื่นสึนามิในตัวอย่างภาพยนตร์
โดยสิ่งแรกที่โดนก่อนเพื่อนเลย ก็คือตัวบทภาพยนตร์ที่สุดแสนจะซ้ำซาก จืดชืด และยังคาดเดาง่ายปราศจากความคิดสร้างสรรค์ใดๆ นี้เป็นภาพยนตร์ที่คุณเดาตอนจบได้ตั้งแต่ตอนยังไม่ได้ดูด้วยซ้ำไป และที่สำคัญคือฉากหักมุมต่างๆก็ไม่ได้ทำให้คุณตื่นเต้นตกใจหรือกระทั่งมีอารมณ์ร่วมไปกับมันเลย
สิ่งถัดมาที่โดนไปด้วยหลังจากบทภาพยนตร์อันย่ำแย่ ก็คือเหล่าตัวละครอันแบนราบทั้งหลาย ซ้ำร้ายเข้าไปอีกก็คือความสัมพันธ์และปมขัดแย้งของเหล่าตัวละครนี้ที่ช่างสุดแสนจะจืดชืดน่ารำคาญ เฉกเช่น ตัวละครเอกอย่าง เรย์ ที่มีปมขัดแย้งกับภรรยาเก่า เอ็มม่า การแยกทางของทั้งคู่ที่ตัวภาพยนตร์พยายามยัดเยียดเข้ามาทั้งๆที่มันไม่ได้น่าสนใจด้วยซ้ำไป ที่น่าตกใจเข้าไปอีกก็คือตัวละครสามีใหม่ที่ถูกยัดเยียดให้กลายเป็นตัวร้ายที่ผู้ชมสามารถจะรังเกียจเท่าไรก็ได้อย่างน่าตาเฉย ไม่สิเหตุผลก็คือเพราะมันดันมาขัดขวางและแย่งความรักจากภรรยาเก่าของพระเอกไปสินะ.....
แต่ในอีกด้านหนึ่ง โชคยังดีที่ความสัมพันธ์พ่อ-ลูกระหว่างตัวละครเอกกับนางเอกของเรื่อง ยังได้ผลบ้างเป็นครั้งคราว ด้วยปมหลังที่ค่อนข้างจะน่าสนใจ และการแสดงของ เดอะร็อคที่พัฒนาขึ้นอยู่บ้าง
การที่ตัวภาพยนตร์อาศัย "ความบังเอิญ" มากเกินไป จนทำให้ตัวภาพยนตร์ปราศจากความน่าเชื่อถือใดๆ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่น่าให้อภัยใน San Andreas ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่พออยู่ในสถานการณ์อันลำบาก เฉียดตาย ก็จะรอดแบบฉิวเฉียดได้ตลอด ในขณะที่คนอื่นโดนกันเต็มๆ , ความบังเอิญของตัวละครที่ดันมาอยู่ถูกที่ถูกเวลาตลอด
เช่นนักวิทยาศาสตร์ที่ดันมาสร้างเครื่องทำนายแผ่นดินไหวได้สำเร็จพอดีในตอนที่แผ่นดินไหวเกิดขึ้นจริงในภาพยนตร์เปะๆ ไม่เกินชั่วโมงหรือสิบนาทีด้วยซ้ำไป หรือนักเรียนที่ถามคุณครูว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นที่นี้ได้ไหม ก่อนวันที่มันจะเกิดขึ้นจริงๆเพียงอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า กระทั่งตัวละครที่หยิบของดูจะไร้ประโยชน์จากฉากก่อนหน้า มาได้ใช้ประโยชน์ในฉากต่อไปอย่างหน้าตาเฉย สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ทำให้ผู้เขียนรู้สึกอยากที่จะกระโดดเข้าไปถามตัวละครในภาพยนตร์ว่าไปทำบุญหรือไปสักยันต์วัดไหนมา ถึงได้ดวงดี ดวงเทพ และดวงซวยไปพร้อมๆกันเฉกเช่นนี้
ในด้านของคุณภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิคหรือซีจีทั้งหลายแหล่ใน San Andreas ก็ทำคุณภาพออกมาได้ขึ้นๆลงๆอยู่มาก ฉากหนึ่งซีจีสวยงามอลังการชวนขนลุก แต่ฉากถัดมากลับดูของปลอมและดูยังไงก็ใช้ฉากกรีนสกรีนอย่างชัดเจน ไม่แน่ใจว่าทางทีมผู้สร้างใช้ทีมงานกันคนละทีมรึเปล่าคุณภาพถึงได้ออกมาสลับไปมาอย่างกับทอยลูกเต๋าเช่นนี้
สำหรับในด้านการกำกับของ แบรด เพย์ตัน ก็ยังคงมีหลายๆสิ่งที่มีปัญหาอยู่เหมือนกัน เช่นการเล่าเรื่องที่ตรงไปตรงมา ปราศจากชั้นเชิง ซึ่งทำให้ตัวภาพยนตร์จืดชืดไร้รสชาติ หรือความหวาดกลัวที่กลัวว่าผู้ชมจะไม่เชื่อสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ว่าเป็นไปได้ จึงพยายามให้ตัวละครยัดเยียดเหตุผลหรือกระทั่งวิทยาศาสตร์ต่างๆเข้ามา เสมือนรีบยัดเม็ดยาเข้าปากผู้ชมแต่ดันบอกว่าเป็นขนม ซึ่งผลของการกระทำครั้งนี้ก็คือ ยิ่งทำให้เราไม่เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เข้าไปอีก เพราะมันบังเอิญ พอเหมาะพอเจาะ และชัดเจนมากจนเกินไป
ถึงกระนั้นก็ตามในช่วงจุดสูงสุด ฉาก Climax ของตัวภาพยนตร์ก็ยังคงทำให้เราตื่นเต้นไปด้วยได้ในระดับหนึ่ง จากจุดบทสรุปปมปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูกที่น่าสนใจ และไม่ทำให้รู้สึกแย่ขนาดในช่วงต้นหรือกลางเรื่องที่จืดชืดน่าเบื่อ
แต่สิ่งที่น่ากังขา และน่าตั้งคำถามมากที่สุดสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ใช่บทภาพยนตร์ ไม่ใช่ทีมนักแสดง ไม่ใช่การกำกับ ไม่ใช่ซีจี แต่เป็นสิ่งที่มันต้องการจะบอกต่างหาก
จากหายนะทั้งหมดทั้งมวลที่มีทรัพย์สินเสียหายไปเป็นล้านๆเหรียญสหรัฐ คนตายเป็นเบือ แต่สุดท้ายแล้วตัวภาพยนตร์กลับเข้าสู่บทสรุปอย่างง่ายดายว่า "ทุกอย่างจะเรียบร้อยเอง เราจะสร้างมันกลับคืนมา" ด้วยท่าทีที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข
ซึ่งนั้นเป็นแนวคิดและการจบที่น่าอนาจที่สุดเท่าที่เคยได้เห็นมาในภาพยนตร์หายนะทั้งหลาย หมายความว่าทรัพย์สินที่เสียหายทั้งหลาย คนตายไม่รู้กี่หมื่นหรือกี่แสนกระทั่งกี่ล้านคน ไม่ได้นำมาซึ่งบทเรียนให้แก่มนุษยชาติ(หรือแก่ผู้ชม)แต่อย่างใดเลย แต่มันนำมาซึ่งความโอหังของมนุษยชาติที่มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมต่างหาก นั้นคือสิ่งที่ตัวภาพยนตร์ต้องการจะสื่อถึงเช่นนั้นหรือ ?
ที่น่าขำยิ่งกว่า ก็คือบทวิจารณ์ภาพยนตร์ของนักวิจารณ์ต่างประเทศท่านหนึ่งที่ผู้เขียนได้เข้าไปเจอในระหว่างหาข้อมูลภาพยนตร์เรื่องนี้เข้า ซึ่งบรรทัดบทสรุปของนักวิจารณ์ท่านนี้ ก็เขียนบทสรุปความคิดของตัวเขาที่มีต่อภาพยนตร์เรื่อง San Andreas ได้อย่างตลก น่าประทับใจ แต่กลับถูกต้องอย่างมากที่สุดอีกด้วย โดยที่เขาได้กล่าวไว้ดังนี้
"ดีที่ได้รู้ว่า เงินเป็นพันๆ ล้านเหรียญสหรัฐที่สูญเสียไปกับทรัพย์สินที่เสียหายต่างๆ และความตายของคนเป็นแสนๆ ไปเกิดขึ้นที่ ซาน แอนเดรส เพียงเพื่อที่จะทำให้ เรย์ และเอ็มม่า หลีกเลี่ยงการหย่าร้างไปได้" - แดน ไกล์ (Dann Gire) Chicago Daily Herald
Final Score : [ 4 / 10 ]
บทวิจารณ์ภาพยนตร์ของ Dann Gire - Chicago Daily Herald : http://www.dailyherald.com/article/20150528/entlife/150528891/