วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

12 Years a Slave ( 2013 ) Movie Review by FallsDownz

Movie Review



ต้องขอพูดเลยว่า การผจญภัยของตัวละครเอกอย่าง Solomon Northup ในภาพยนตร์เรื่อง 12 Years a Slave นั้น เป็นการผจญภัยที่จะไม่มีวันลืมเลยทีเดียว จากภาพยนตร์ที่ช่างน่าทึ่ง ชาญฉลาด มีชั้นเชิงเรื่องนี้

โดยในแกนหลักของภาพยนตร์แล้ว ใช่เลย มันไม่ได้แตกต่างอะไรจากภาพยนตร์เรื่องอื่นๆที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมของระบบทาส , การกดขี่ ข่มเห่งและเหยียดสีผิว แต่สิ่งที่ทำให้มันแตกต่างคือการเล่าเรื่องสอดแทรกที่น่าสนใจ เช่นในแง่มุมของคนขาวที่กล่าวอ้างการกระทำของตนว่าเป็นสิ่งที่สังคมกำหนดเห็นพ้องต้องกันหรือ กฏหมายว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างที่สุด โดยไม่หวั้นเกรงถึงศีลธรรม ,จรรยาบรรณหรือแม้แต่พระเจ้า หรือ ผู้คนที่หลีกหนีและกลัวการเผชิญกับปัญหาในการแก้ไขมัน ทั้งๆที่รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ผิด 
แต่สิ่งที่เรียกได้ว่าน่าสนใจมากที่สุดก็คือการเรียกร้องถึงความอยุติธรรมในตัวบทกฏหมายที่วาดและเขียนกันอย่างตามอำเภอใจโดยเฉพาะกลุ่มคนผิวขาวที่เห็นคนผิวสีเป็นเพียงสิ่งของแลกกันไปมาหรืออาจจะต่ำกว่าเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ภาพยนตร์ออกมาตั้งคำถามว่า "ความยุติธรรมมันอยู่ที่ใด ? ผู้ที่ตั้งมันขึ้นมาหรือเช่นไร ?"

อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่พูดไม่ได้เลยก็คือการกำกับของ Steve McQueen ที่ปราศจากการโหวกเหวก โวยวายหรือร้องไห้ฟูมฟาย การกำกับของเขานั้นเต็มไปด้วยการไหลลื่นอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งมันทำให้ภาพยนตร์นั้นดูน่าเชื่อถือ และน่าสนใจยิ่งขึ้น 
การกำกับฉากร้องเพลงที่เต็มไปด้วยเสียงที่ไพเราะแต่ก็ช่างน่าหดหู่ กระแทกกระทั้นและแดกดันประเด็นเกี่ยวกับทาสเหลือเกิน แม้กระทั่งการกำกับในฉากที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดและหนักหน่วง เขาก็ยังทำได้อย่างน่าทึ่งตลอดเวลา ถึงแม้ว่าในบางครั้ง บางฉาก จะพยายามใส่และสร้างอารมณ์มากเกินไปหน่อยก็ตาม สุดท้ายก็คือการถ่ายแบบ Long Take ที่มีการใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกล้องกับวัตถุที่อยู่ข้างหน้าได้อย่างน่าทึ่ง เช่นฉากที่กล้องเคลื่อนตัวผ่านทุ่งหญ้า ที่เคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆและเศร้าหมองเหลือเกิน 

อีกสิ่งเกือบสุดท้ายที่อยากจะพูดถึง นั้นก็คือการตัดต่อภาพยนตร์ของ 12 Years a Slave ที่น่าสนใจและฉลาดเหลือเกิน โดยการเปิดเรื่องด้วยตอนกลางเกือบท้ายของภาพยนตร์ที่เสมือนกับเป็นการบอกเล่าว่าภาพยนตร์กำลังจะพูดถึงเรื่องอะไร และต่อด้วยการย้อนกลับมาเล่าตั้งแต่ต้นไปเรื่อยๆจนจบ ซึ่งมันทำให้การปูพื้นหลังของตัวละครน่าสนใจและน่าติดตามมากยิ่งขึ้น เพราะในตอนแรกนั้นเราคาดและหวังว่ามันจะเป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้แตกต่างอะไรจากภาพยนตร์เกี่ยวกับทาสเรื่องอื่นๆ แต่การตัดต่อเช่นนี้มันแทบจะเป็นการลูบหลังแล้วพูดว่า  "ลองมองเข้าไปลึกๆให้ดีสิ" เลยทีเดียว

การแสดงของนักแสดงทุกคนในภาพยนตร์ก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น Michael fassbender , Benedict Cumberbatch หรือแม้กระทั่ง Lupita Nyong'o ที่แสดงภาพยนตร์จริงๆเป็นครั้งแรก แต่คนที่เรียกได้ว่าน่าทึ่งมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น Chiwetel Ejiofor ซึ่งรับบทเป็นตัวเอก Solomon Northup ในภาพยนตร์ ซึ่งเป็นการรับบทที่หนักมากๆบทหนึ่ง จากฉากต่างๆที่เต็มไปด้วยการเก็บกดอารมณ์ การอดกลั้นความทรมาณนั้นเอาไว้ ซึ่งเขาก็แสดงมันออกมาได้อย่างน่าจดจำไม่น้อยเลยทีเดียวเชียว

12 Years a Slave ในท้ายที่สุดแล้ว เป็นภาพยนตร์ที่คงจะน่าจดจำไปอีกนานแสนนานเลยทีเดียว จากการทีเรียกได้ว่าสร้างความแตกต่างได้อย่างน่าทึ่งจากภาพยนตร์ที่พูดถึงระบบทาสเรื่องอื่นๆ การกำกับที่น่าทึ่งและยอดเยี่ยมของ Steve McQueen , การตัดต่อที่ชาญฉลาดและน่าสนใจ รวมไปถึงการแสดงระดับคุณภาพของนักแสดงทุกๆคนในภาพยนตร์ นี้เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์แห่งปี 2013 ที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง


Final Score : [ A + ] & [ Must See Badge ] 

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2557

District 9 ( 2009 ) Movie Review

Fast Movie Review



District 9 ( 2009 ) 

หลังจากที่ต้องบอกว่าค่อนข้างที่จะผิดหวังกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่ผ่านมาของผู้กำกับ Neill Blomkamp อย่าง Elysium ที่ล้มเหลวในการถ่ายทอดและสื่อความหมาย จึงได้ลองกลับมาดู District 9  และมันทำให้ผู้เขียนทราบเลยทันทีว่า ทำไมหลายๆคนจึงผิดหวังกับ Elysium นัก 

เนื่องจาก District 9 ต้องขอพูดเลยว่า แทบจะเป็นภาพยนตร์ Sci-Fi ที่มีความเหนือชั้น ก้าวหน้า และดีที่สุดในศตรวรรษนี้เลยทีเดียว โดยเฉพาะด้านการกำกับของ Neill Blomkamp ที่ผสมผสานการถ่ายแบบ Handheld ได้อย่างมีสไตล์และทำให้ภาพยนตร์นั้นดู "Realistic" หรือสมจริงคล้ายกับ Documentary ซึ่งอย่างที่เคยพูดไว้หลายครั้งแล้ว ว่ามีผู้กำกับไม่กี่คนบนโลกเท่านั้นที่ทำเช่นนี้ได้ หรือจะเป็นการเล่าเรื่องของเขาที่ช่างไหลลื่น น่าสนใจ และสามารถที่จะดึงผู้ชมเข้าไปในภาพยนตร์ได้อย่างง่ายดายจากการที่ปูตัวละครหลักไปพร้อมกับการอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์อย่าง "Documentary" ซึ่งมันทำให้ภาพยนตร์ดูน่าสนใจ และดู"น่าเชื่อถือ" มากขึ้น 

แต่จุดที่เรียกได้ว่าน่าทึ่งที่สุดใน District 9 นั้นก็คือบทภาพยนตร์ ที่พูดถึงเผ่าพันธุ์ "มนุษย์" ได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว โดยพูดถึงเผ่าพันธุ์มนุษย์อย่างเราๆ ที่ภายในนั้นจริงๆแล้วหวาดกลัวและระแวงถึงบางสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถที่จะควบคุมได้ แต่ภายนอกกลับทำเป็นหยิ่งผยอง พยายามที่จะควบคุมและตั้งกฏเกณฑ์กับทุกสิ่งที่อย่างและไม่สนใจถึงความคิดและความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งใน District 9 ก็คือมนุษย์กับเอเลี่ยนนั้นเอง นอกจากนั้นยังมีการพูดถึงบางผู้คนบนโลกที่เมื่อพวกเขา"ไม่เข้าใจ"สิ่งบางสิ่งเขาก็จะบูชามันและพยายามที่จะเป็นมันอีกด้วยเช่นเดียวกับ เมื่อก่อนที่เรามักจะหวาดกลัวต่อฟ้าผ่าว่ามันเป็นพลังของพระเจ้า หรือฝนตก 

นอกจากนั้นอีกสิ่งๆหนึ่งที่ยิ่งทำให้ District 9 น่าสนใจ นั้นก็คือตัวละครหลักอย่าง Wikus Van De Merwe ที่ภาพยนตร์ค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญกับตัวละครนี้มาก (และมันก็ควรจะเป็นเช่นนั้น) เพราะ เขานั้นเป็นตัวละครที่เรียกได้ว่า เข้าไปเป็นกึ่งกลางเส้นระหว่าง มนุษย์ และ เอเลี่ยน ซึ่งภาพยนตร์ทำในจุดนี้ได้อย่างน่าสนใจ และน่าเชื่อถือมากเลยทีเดียว โดยการที่ทำให้ตัวเอกนั้นมีอาการ "ติดเชื้อ" และเริ่มที่จะกลายเป็นหนึ่งในเอเลี่ยน ซึ่งเพราะการที่เขาติดเชื้อนี้แหละเปรียบเสมือนการที่เขาได้ก้าวข้ามเส้นความเป็นมนุษย์ไปเรื่อยๆ และเมื่อเขาก้าวข้ามเส้นความเป็นมนุษย์ไป แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มนุษย์ทั้งหลายจะหันหน้าหนีจากเขา และปฏิเสธเขาอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าเขาเองก็เคยเป็น"มนุษย์" เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ถึงแม้ว่าน่าเสียดายที่ภาพยนตร์นั้นไม่สามารถที่จะทำให้เรารู้สึก ผูกพันธุ์และเห็นใจกับตัวละครนี้ได้มากอย่างที่ตัวภาพยนตร์ต้องการจริงๆก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นตัวละครที่สร้างและเขียนออกมาได้อย่างน่าทึ่งมากๆเลยทีเดียว 

อย่างที่เคยพูดเอาไว้แล้วในข้างต้น District 9 นั้นท้ายที่สุด เรียกได้ว่าเป็นวิวัฒนาการอีกขั้นของวงการภาพยนตร์เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการกำกับและบทภาพยนตร์ที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว และน่าทึ่งเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ก็ต้องขอยกเครดิตให้ผู้กำกับ Neill Blomkamp เลยจริงๆ ถึงแม้ว่าน่าเสียดายที่ผลงานล่าสุดอย่าง Elysium จะล้มเหลวพอสมควร แต่ก็หวังว่าผลงานต่อไปของเขานั้นจะสามารถก้าวข้ามหรือเทียบเคียงผลงานรุ่นพี่ระดับ Masterpiece อย่าง District 9 ได้

Final Score : [ A + ] & [ Must See Badge ] 

วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2557

ความ"สมเหตุสมผล" ในภาพยนตร์ ?

Side Story


จริงๆในภาพยนตร์บางครั้ง มันไม่จำเป็นต้อง"สมจริง"ก็ได้นะ เพียงแต่ว่ามันสามารถที่จะทำให้เรา buy หรือ เชื่อในสิ่งที่มันพูดได้ก็พอ เพราะว่าต่อให้สิ่งที่ภาพยนตร์พูด มันจะโอเวอร์ บ้าบอ ไร้สาระเท่าไรก็ตาม แต่ถ้ามันทำให้เราเชื่อได้ ก็หมดปัญหา เการที่หนังไม่สมเหตุสมผลนั้น มาจากการที่ตัวภาพยนตร์นั้นไม่สามารถที่จะชักจูงผู้ชมได้ดีพอที่จะทำให้ผู้ชมเชื่อ ในตรรกะและเหตุผล ของจุดๆนั้นได้ อย่างเช่นภาพยนตร์อย่าง "Gravity" ที่มีนักวิชาการหลายต่อหลายคน ออกมาพูดว่า มันไม่มีความสมจริงเอาเสียเลยในทุกๆด้าน และอวกาศไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย แต่! ตัวภาพยนตร์ขณะที่เรานั่งดูอยู่นั้น ความไม่สมจริงเหล่านั้น มันไร้ความหมายไปเลย เพราะมันสามารถที่จะทำให้เราเชื่อได้อย่างเต็มเปาเลยว่า อวกาศมันเป็นเช่นนี้จริงๆ จากเทคนิคการถ่ายทำต่างๆ แตกต่างจากภาพยนตร์อย่าง The Secret Life of Walter Mitty ที่เต็มไปด้วยฝันละเมอเพ้อพบที่หาตรรกะและการอธิบายใดๆไม่ได้เลย และตัวภาพยนตร์ยังไม่สามารถที่จะชักจูงผู้ชมให้เชื่อหรือเข้าใจในสิ่งที่ตัวภาพยนตร์ทำลงไปอย่างไร้เหตุผลได้เลย ซึ่งหลายๆคนคงจะถามว่า แล้วความสมเหตุสมผลเนี้ยมันสำคัญตรงไหน ? คำตอบคือ ถ้าหากภาพยนตร์ไร้ความสมเหตุสมผล แล้วเราจะเชื่อในสิ่งที่ภาพยนตร์ทำต่างๆ หรือจะเชื่อสิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อหรือพูดไปเพื่ออะไรกัน ในเมื่อตัวภาพยนตร์เองก็ไร้เหตุผลและไม่น่าเชื่อถือเสียเอง 

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

The Secret Life of Walter Mitty ( 2013 ) Movie Review

Movie Review
โลกแห่งความฝันของ เบ็น สติลเลอร์




Movie Name : The Secret Life of Walter Mitty ( 2013 ) , Adventure / Comedy / Drama
Director : Ben Stiller ( Tropic Thunder  , Zoolander ) 
Stars : Ben Stiller ( Tropic Thunder , Zoolander )  , Kristen Wiig ( Bridesmaids ) 
Rating : PG





REVIEW


                                              The Secret Life of Walter Mitty เป็นภาพยนตร์ที่เรียกได้ว่า มีการตัดต่อตัวอย่างหรือ Trailer ได้ยอดเยี่ยมมากๆเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว เพราะมันดูช่างน่าสนใจเหลือเกิน ไม่ว่าจะในด้านภาพ หรือด้านเนื้อหา โดย The Secret Life of Walter Mitty นั้น เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่กำกับโดย Ben Stiller และเป็นนักแสดงนำเองด้วยเช่นกัน ซึ่งเขาเคยทำแบบนี้มาแล้วในผลงานก่อนหน้านี้เช่น Tropic Thunder หรือ Zoolander 



ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องขอพูดเลยว่า เป็นภาพยนตร์ที่พิสูจน์อย่างชัดเจนเลยว่า Ben Stiller เป็นบุคคลใน Hollywood คนหนึ่งที่มีความสามารถมากๆเลยทีเดียว แต่ ช่างน่าเสียดายจริงๆ ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นช่างเปรียบเสมือนการหลงอยู่ในโลกแห่ง"ความฝัน" ที่ช่างดูงดงาม ช่างดูอลังการ และเป็นสิ่งที่บางครั้งเราอยากจะให้มันเป็นจริง แต่เมื่อเรารู้ตัว เราจึงได้พบว่านั้นมันเป็นเพียงความฝันเท่านั้น 


สาเหตุก็เพราะว่า ภาพยนตร์นั้นเต็มไปด้วยการเล่าเรื่องและการดำเนินเรื่องที่ช่างไร้ความสมเหตุสมผล หรือ ไร้ความน่าเชื่อถือในการกระทำของตัวละครใดๆเลย และตัวภาพยนตร์ก็ดันกลบความไร้เหตุผลนั้นด้วย ฉากเหนือจริงต่างๆ หรือการดำเนินเรื่องต่างๆ ที่ตัวภาพยนตร์ไม่เคยที่จะให้เหตุผลกับมันเลย ใช่ฉากเหล่านี้มันบันเทิง และน่าติดตามเสียจริงๆ แต่มันก็ช่างไร้เหตุผลจนทำให้รู้สึกว่า เราควรจะเชื่อในสิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการจะพูดหรือไม่ ในเมื่อสิ่งที่ภาพยนตร์ทำมันก็ช่างไร้ตรรกะและขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก 



เช่น ตัวละครหลักที่ต้องเดินทางไปไกล ลำบากต่างๆนาๆ เพื่อแค่ฟิลม์อันเดียว ทั้งๆที่เป็นชีวิตจริงนั้นคงไม่มีใครทำแบบนี้เป็นแน่แท้ และตัวภาพยนตร์ก็ไม่เคยให้เหตุผลเลยว่าทำไม แต่เสมือนกลับกลบเกลื่อนด้วยคำพูดที่ว่า "Just Do It" หรือการที่ทำอะไรลงไปโดยที่ไม่ต้องสนใจตรรกะใดๆ ซึ่งในจุดๆนี้เป็นจุดที่ร้ายแรงที่สุดของภาพยนตร์เลยก็ว่าได้ เพราะมันส่งผลไปถึงแทบจะทุกจุดในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวละครหลักที่ตัวภาพยนตร์นั้นไม่เคยให้เหตุผลหรือข้อมูลบางอย่างที่เพียงพอสำหรับผู้ชม ที่จะทำให้เรารู้สึก Connect หรือ ใส่ใจตัวละครนี้เลย เช่นความสัมพันธ์ของ Walter กับ Cheryl  ที่ผู้ชมสมควรจะสนใจและเอาใจช่วยตัวละคร แต่กลับรู้สึกว่า "Why i should care" แทน ซึ่งมันเป็นผลมาจากความไร้ประสิทธิภาพในการเล่าเรื่องและความไร้ตรรกะของภาพยนตร์


ยิ่งผนวกความไม่สมจริง เข้ากับภาพที่ช่างสวยงามในภาพยนตร์แล้ว ยิ่งทำให้มันช่างเหมือนภาวะฝันของ Walter เข้าไปทุกทีๆเหลือเกิน 
นี้ยังไม่รวมถึงบางครั้งในภาพยนตร์ ที่ตัวภาพยนตร์นั้นต้องการจะสื่อความหมายกับผู้ชม แต่มันช่าง "Over the top" หรือ เหนือจริงมากจนเกินไป ประเจิดประเจ่อจนเกินไป จนทำให้รู้สึกว่าตัวภาพยนตร์นั้นขาดประสิทธิภาพหรือวิธีในการเล่าเรื่อง จนต้องใช้วิธีนี้ และเนื่องจากเป็นภาพยนตร์ที่ Ben Stiller เป็นคนกำกับเอง และนำแสดงเอง มันทำให้รู้สึกว่า ตัวละครในภาพยนตร์นั้นเป็นเหมือนการ"Show-off" ของ Ben Stiller มากกว่าเป็นตัวละครจริงๆ ซึ่งสาเหตุก็น่าจะเป็นมาจากด้าน คาแรคเตอร์ หรือตัวละคร ที่ทำออกมาได้ค่อนข้างที่จะแย่ จนเหลือแต่รูปลักษณ์ภายนอก นั้นก็คือ Ben Stiller เข้าไปกลบที่แทน



The Secret Life of Walter Mitty ต้องถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่น่าเสียดายจริงๆเรื่องหนึ่งในปี 2013 เพราะมันช่างมี Potential หรือ โอกาส มากเหลือเกินที่จะเป็นภาพยนตร์ที่ดีได้ แต่ที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ มันเสมือนเป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้อฝันละเมอ จนไม่สามารถที่จะหยิบจับหรือเอาอะไรมาอ้างอิงได้เลยจริงๆ แต่ ก็ถือได้ว่าเป็นผลงานที่ไม่สามารถดูถูกได้เลยจริงๆของ Ben Stiller 


Final Score : [ B- ] 

Jack Ryan : Shadow Recruit ( 2014 ) Movie Review

Movie Review
หนึ่งในภาพยนตร์แห่งเดือนต้องคำสาป



Movie Name : Jack Ryan : Shadow Recruit ( 2014 ) Action / Drama / Thriller 
Director : Kenneth Branagh ( Thor )
Stars : Chris Pine ( Star Trek , Star Trek : Into Darkness ) , Keira Knightley ( Pirates of The Caribbean ) , Kevin Costner ( Man of Steel ) , Kenneth Branagh ( Valkyrie ) 
Rating :  PG -13






REVIEW

                                                  นปีๆหนึ่งนั้น สำหรับบางท่านอาจจะยังไม่ทราบ ว่า จะมีเดือนหนึ่งเดือนใน 1 ปี ที่มักจะมีภาพยนตร์ที่แย่ไปจนถึงย่ำแย่มากออกมามากมาย แถมเรียกได้ว่าเป็นแบบนี้แทบทุกปีเสียด้วย ซึ่งเดือนนั้นก็คือ เดือนมกราคมนั้นเอง (อ้างอิงจากภาพยนตร์ที่เข้าฉายในอเมริกา) ไม่ว่าจะเป็น Texas Chainsaw 3D ปีที่แล้ว , Devil Inside ก่อนหน้านั้น หรือแม้กระทั่ง The Legend of Hercules ในปีนี้  ซึ่งภาพยนตร์เหล่านี้นั้น นอกจากมันจะแย่สุดๆแล้ว มันยังมักจะวนแนวเดิมๆมาทุกๆปีเสียเรื่อยไป จนเรียกได้ว่าเดือนมกราคมเป็นเดือนแห่งอาถรรพ์ก็ว่าได้



ซึ่งนั้นเป็นเหตุผลหลักที่น่าสงสัยมากสำหรับภาพยนตร์อย่าง Jack Ryan : Shadow Recruit ที่ดันมาเข้าฉายเดือนมกราคมเสมือนกับเป็นการจะเรียกว่าดูถูกตัวเองก็คงจะไม่ผิดนัก ทั้งๆที่หน้าหนังของภาพยนตร์นั้นก็ไม่ได้ดูย่ำแย่ขนาดนั้น (ถึงแม้ว่าจากตัวอย่างภาพยนตร์ก็ถือว่าพอตัวก็ตามที.....)


Jack Ryan : Shadow Recruit นั้น เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากตัวละคร Jack Ryan ซึ่งสร้างขึ้นโดย Tom Clancy ซึ่งหลายๆคนก็น่าจะเคยได้ยินชื่อของ Tom Clancy อยู่หลายครั้งเลยทีเดียวโดยเฉพาะ เกมซีรียส์ Tom Clancy ที่มีออกมามากมายอย่างกับดอกเห็ด ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจมากๆที่เขานั้นได้เสียชีวิตลงในวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2013 ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งผู้เขียนต้องขอพูดจากใจจริงเลยว่า Jack Ryan : Shadow Recruit นั้นเป็นภาพยนตร์ที่ผู้เขียนแทบจะไม่คาดหวังอะไรเลย จากเหตุผลอย่างเช่น การที่ตัวภาพยนตร์มาเข้าฉายเดือนมกราคม หรือ จากตัวอย่างที่ค่อนข้างจะธรรมดามากเป็นต้น



ซึ่งโดยรวมแล้วต้องขอบอกว่าแอบ Surprise เล็กน้อยแต่ไม่มากเท่าไรนัก ถึงคุณภาพจริงๆของ Jack Ryan : Shadow Recruit ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ยังคงทำเป้าหมายของมันได้ลุล่วงอย่างไม่ต้องสงสัยคือการ "Entertain" หรือ ให้ความบันเทิงกับผู้ชม ด้วยฉาก Action โอเวอร์ เกินจริงต่างๆมากมาย  แต่ก็อดไม่ได้ที่จะสนุกและตื่นเต้นไปกับมัน  การแสดงของ Chris Pine ที่รู้สึกว่าพัฒนาขึ้นจาก Star Trek พอสมควรเลยทีเดียว รวมไปถึงตัวละครที่เขียนออกมาได้ดีกว่าที่คิดไว้เยอะเลยทีเดียว ซึ่งตัวละครหลักอย่าง Jack Ryan และแฟนของเขา Cathy นั้น แทบจะเป็นแกนหลักที่แท้จริงของภาพยนตร์ที่เป็นจุดเด่น และสร้างความแตกต่าง(เล็กน้อย)จากภาพยนตร์ Action เรื่องอื่นๆเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวชีวิต และความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนจบ ตัวภาพยนตร์นั้นประสบความสำเร็จอย่างมากในการที่ทำให้เราสนใจ ไปกับตัวละครสองตัวนี้ ถึงแม้จะน่าเสียดายที่ตัวละครร้ายต่างๆกลับไม่มีส่วนนี้ด้วย เพราะ ตัวละครร้ายใน Jack Ryan : Shadow Recruit กลับถูกปูอย่างลวกๆ ไม่น่าสนใจ ซ้ำซากจำเจ ให้เหตุผลอย่างลวกๆ ไร้น้ำหนัก อย่างกับไม่สนใจตัวละครนี้ ทั้งๆที่ Kenneth Branagh นักแสดงผู้ซึ่งแสดงเป็นตัวร้ายในภาพยนตร์เรื่องนี้ รวมถึงกำกับภาพยนตร์เองอีกต่างหาก เรียกได้ว่าแสดงได้อย่างไม่เลวเลยทีเดียว แต่มันช่างน่าเสียดายเหลือเกิน ที่ตัวบทนั้นมันไม่ Support ไปด้วยกับการแสดงนั้น 



นี้ยังไม่รวมถึงบทหลักของภาพยนตร์ที่ช่างซ้ำซาก ไม่น่าสนใจ พยายามจับนู้นนี้ หักนู้นหักนี้ มั่วซั่วไปหมด ทั้งๆที่ในสุดท้ายแล้ว การหักมุมของมันจะไม่ได้ผลเอาเสียเลยก็ตาม หรือ ฉาก Action ที่ยังคงเป็นได้แค่ภาพยนตร์ Action ดาษๆทั่วๆไป ที่ไม่มีการคิดอะไรใหม่ หรือทำสิ่งใดใหม่ๆ รวมไปถึงการตัดสลับอย่างรวดเร็วเพื่อกลบเกลื่อนความไร้ประสิทธิภาพของฉาก Action อีกด้วย  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มันค่อนข้างที่จะสร้างความน่ารำคาญพอสมควรเลยทีเดียว สุดท้ายเลยก็คือ นี้ยังคงเป็นอีกหนึ่งในภาพยนตร์ที่ยังคงยกและพูดเหนือความจริงของตัวละครอีกครั้ง ตัวภาพยนตร์นั้นหลายครั้งพยายามที่จะบอกว่า ตัวเอกอย่าง Jack Ryan นั้น ฉลาดอย่างนู้น ฉลาดอย่างนี้ หรือแม้กระทั่งใน Tagline ของภาพยนตร์ "Intelligent is a weapon" น่าเสียดายที่ตัวภาพยนตร์ล้มเหลว และไม่สามารถที่จะทำให้ผู้ชมเชื่อได้เลย ว่าตัวละครนี้ฉลาดจริง เก่งจริง เหตุผลก็มาจากเช่นการที่ตัวภาพยนตร์มักจะโยน Background ของตัวละครหลักเข้ามาอย่างเร่งรีบ โดยไม่มีการให้เหตุผล Support หรือ แสดงหลักฐานใดๆเลย



Jack Ryan : Shadow Recruit เป็นภาพยนตร์ Action / Drama / Thriller แห่งเดือนมกราคม ที่น่าแปลกใจ ว่ามันออกมาได้ดีกว่าที่คาดคิดเอาไว้เล็กน้อย ถึงแม้ว่าโดยรวมภาพยนตร์นั้นยังคงไม่สามารถที่จะให้อะไรใหม่กับผู้ชมได้ซักเท่าไรเลย แต่อย่างน้อย มันยังคงผ่านฉลุยในด้านของความบันเทิง และ ด้านการที่พยายามจะสร้างคาแรคเตอร์ของตัวละครที่น่าสนใจ และน่าติดตามไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งทางเลือก ที่จะทำให้ผู้ชม"หลุด"จากโลกแห่งความเป็นจริงตอนนี้ ที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความเครียด ซัก 1 ชั่วโมง 45 นาที ก็ถือได้ว่าเป็นราคาที่รับได้และน่าเอาไปพิจารณาเลยทีเดียว



Final Score : [ C + ] 

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

Top 3 Worst Movie Award of 2013 [ รางวัลภาพยนตร์ยอดแย่ประจำปี 2013 ]

Top 3 : Worst Movie Award of 2013
รางวัลภาพยนตร์ยอดแย่ประจำปี 2013






                                        ทุกๆปีนั้น พวกเรานั้นจะได้ชมภาพยนตร์มากมายไม่ว่าจะจากต่างประเทศหรือจากในประเทศไทยเอง ซึ่งมันก็ต้องปนกันไประหว่าง ภาพยนตร์ที่ดี น่าจดจำ น่าชื่นชม ภาพยนตร์ที่ดูเพียงเพื่อสนุก หรือดูผ่านๆไปได้ จนไปถึงภาพยนตร์บางเรื่องที่สร้างออกมาได้น่าชวนโมโห ถึงความห่วยแตกไม่น่าให้อภัยของมัน รวมถึงไปถึงบางครั้ง "ดูถูก" หรือ "ทำร้ายจิตใจ" ของผู้ชม ซึ่งปี 2013 ที่ผ่านมานี้เองก็เช่นกันมีทั้งดี กลาง และแย่ปนกันไป แต่นี้คือ ภาพยนตร์ที่ถูกคัดเลือกจากความเห็นส่วนตัว/ประสบการณ์ของผู้เขียน(คนเดียวเท่านั้น) ว่าช่างไม่น่าให้อภัย และควรถูกจดจำในฐานะภาพยนตร์ที่"ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง" และเป็นบทเรียนให้แก่ผู้สร้างภาพยนตร์ต่อๆไป



3. A Good Day to Die Hard 

Reason : ช่างถือได้ว่าเป็นผลงานที่ "ช๊อค" และ "ทำร้ายจิตใจ" แฟนๆภาพยนตร์ทั่วโลกโดยเฉพาะแฟนเดนตายซีรียส์ "Die Hard" เป็นอย่างมาก ถึงความแย่ของภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำกับที่มั่วซั่ว ไม่เป็นชิ้นเป็นอันของ John Moore (ที่ก็ไม่เข้าใจว่าทางค่ายเลือกมาได้ยังไงจากผลงานเก่าๆอย่าง Max Payne ที่แฟนๆชิงชัง) เช่นมุมกล้องที่ถ่ายออกมาได้ส่อถึงความไร้ประสบการณ์ของตัวเองจนต้องซูมเข้าออกเพื่อให้ภาพยนตร์มันน่าตื่นเต้นขึ้น บทที่หาความสมเหตุสมผลได้ยาก งงงวย แย่  ที่สำคัญคือ ฉาก Action ที่ "Mindless" ไร้เหตุผล มั่วซั่วเป็นที่สุด ใช่ Die Hard ฉาก Action มันมักจะเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว แต่ในภาคที่ผ่านๆมาจากฝีมือการกำกับที่"ดี"ของผู้กำกับท่านอื่น มันทำให้ผู้ชม"เชื่อ" ได้ว่า เหตุการณ์ในฉากๆนั้นมันเกิดขึ้นได้จริงๆ ไม่ใช่การระเบิดนู้น ระเบิดนี้ พุ่งชนนู้นนี้ แล้วบอกว่ามันคือ Die Hard เพราะมันไม่ใช่ Die Hard เลยแม้แต่น้อย นี้ยังไม่รวมถึงตัวละครหลักที่เปิด God Mode แทบจะไม่มีรอยขีดข่วนในบางฉากและภาพยนตร์ที่ไม่มี "Tension" หรือความตึงเครียดในฉากเลยแม้แต่น้อย กลับรู้สึกเหมือนภาพยนตร์ Action ตลกที่หาความสมเหตุสมผลอะไรไม่ได้ ดูไปแล้วนั่งขำอย่างคนบ้าไป จุดสุดท้ายที่ร้ายแรงที่สุดคือ ไม่มีฉากใดเลยที่จะทำให้รู้สึกว่ามันคือ " Die Hard " ไม่มีฉากที่ทำให้ผู้ชมหรืออย่างน้อยก็ผู้เขียน รู้สึกได้ว่า โอ้ว ว้าว ตื่นเต้น ไปกับมัน ทุกๆฉากมันช่างง่าย Copy/Paste ใช้กันมาแล้วสิบล้านรอบ หรือกระทั่งฉาก Climax ที่ใช้การถ่ายภาพแบบ Fore Ground / Back Ground ได้อย่าง"น่าไม่อาย" เสมือนดูถูกคนดูเป็นที่สุด นี้ถือได้ว่าเป็นผลงานอีกผลงานหนึ่งแห่งปี 2013 ที่น่าจดจำในฐานะหนึ่งในภาพยนตร์ที่น่าผิดหวังที่สุดแห่งปี


2.After Earth 

Reason : อีกหนึ่งผลงานที่น่าผิดหวังที่สุดของปี 2013 โดยเฉพาะของคู่พ่อลูก Will Smith และ Jaden ที่เหมือนคุณพ่อพยายามจะดันลูกตัวเอง แต่ไม่แน่ใจนักว่าการเลือกครั้งนี้จะเป็นการดันหรือการดับกันแน่ สิ่งที่เรียกได้ว่ายิ่งสร้างความผิดหวังเข้าไปอีกนั้นก็คือผู้กำกับ M.Night Shyamalan ที่ยังคงกำกับได้แย่และน่าผิดหวังเช่นเดิม (จนแฟนๆเริ่มตั้งคำถามว่าภาพยนตร์เรื่องแรกๆของเขามันเป็นการฟลุ๊คหรือไม่)  จากตัวละครที่ทั้งเรื่องเอาเข้าจริงมีแค่ 2 ตัวละคร การกำกับฉากต่างๆโดยเฉพาะฉาก Thriller ที่แย่ชวนขำเสียมากกว่าน่าตื่นเต้น ไปจนถึงการแสดงของ Will Smith ที่ย่ำแย่ และการแสดงของ Jaden Smith ที่ขึ้นๆลงๆเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทั้งๆที่ตัวภาพยนตร์เรียกได้ว่า มี Potential หรือ โอกาศที่จะเป็นภาพยนตร์ที่ดีได้ จาก CG ที่สวยงาม Element หรือ องค์ประกอบต่างๆโดยเฉพาะบางส่วนในบท ที่น่าจะทำให้มันดีกว่านี้ได้ แต่การกำกับที่ผิดที่ผิดทาง ทำให้ทุกอย่างมันช่างดูเละเทะ ไร้เหตุผลไปเสียหมด อย่างน่าเสียดาย......




1. R.I.P.D.

Reason : ภาพยนตร์เรื่องนี้ ต้องขอสารภาพเลยว่าเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกแย่ทุกครั้งที่นึกถึงมันและถือได้เลยว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยได้ดูมา ไม่ว่าจะในด้านใดๆก็ตามมันช่างดูเลวร้ายไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็น CG ที่ย่ำแย่ เลวร้าย เสมือนกับภาพยนตร์นั้นถูกสร้างขึ้นมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มุขตลกและความพยายามที่จะตลกของภาพยนตร์ที่มันไม่ได้ตลกเอาเลย แต่กลับพยายามยัดเยียดมันเข้ามาอีก ที่เลวร้ายที่สุดคือบทที่หาความสมเหตุสมผลไม่ได้เสียเลย และเมื่อภาพยนตร์ดำเนินไปเรื่อยๆ แทนที่ตัวภาพยนตร์จะอธิบายในจุดนั้นๆแก้ความไม่สมเหตุสมผล กลับยิ่งเพิ่มจุดความไม่สมเหตุสมผลขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ภาพยนตร์นั้นไม่มีอะไรที่จะเรียกได้ว่าเป็น "บทภาพยนตร์" อีกต่อไปแล้ว มันคือการเอาผลงานที่มั่วๆซั่วๆหลายๆชิ้นมาขยำๆรวมกันแล้วโยนใส่หน้าผู้ชมอย่างน่าไม่อาย สิ่งที่ไม่น่าให้อภัยที่สุดอีกจุดเลยก็คือ ความที่ตัวภาพยนตร์นั้นไม่มีอะไรเลยที่เป็นของตัวเอง ไม่มีจริงๆ ใช่ภาพยนตร์ในสมัยนี้นั้นไม่มีเรื่องใดหรอกที่จะมีความเป็น "Originality" หรือ กล้าพูดว่าตัวเองไม่ได้เลียนแบบหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากใคร แต่ในภาพยนตร์หลายๆเรื่องมันมักจะมีอะไรที่"แตกต่าง" ออกไปเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นการตีความ การแสดงทัศนะคติ / ความคิดเห็น แต่ใน R.I.P.D. นอกจากที่มันจะไม่เปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างไปจากภาพยนตร์ที่ตัวมันเองลอกมาอย่าง Men In Black (M.I.B.) แล้ว มันยังเหมือนแทบจะทุกซอกมุมอย่างกับ Copy/Paste ไม่ว่าจะเป็น Gimmick คู่หู , องค์กร , บทที่เหมือนกันแทบจะเปะๆ หรือแม้กระทั่งการออกแบบฉากที่แทบจะเหมือนกันอีก ผลก็คือมันทำให้ภาพยนตร์นั้นไร้ความสร้างสรรค์สุดๆไม่ว่าจะในฉากใดๆ นี้ยังไม่นับถึงการกำกับของผู้กำกับ Robert Schwentke ที่กำกับแต่ละฉากออกมาได้น่าขำ โดยเฉพาะฉากจบที่ชวนสับสนและขำถึงความน่าอนาจของมัน เมื่อนำองค์ประกอบของความเละเทะและเหลวแหลกของภาพยนตร์เรื่องนี้มารวมกัน มันจึงไม่เหลือความบันเทิงใดๆอีก และเหลือแต่ความทรมาณเสมือนนั่งเก้าอี้ไฟฟ้าเป็นว่า 1 ชั่วโมง กับอีก 36 นาที

Trick 'r Treat ( 2007 ) Movie Review

Movie Review
ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่ ?




Movie Name : Trick 'r Treat ( 2007 ) Horror / Thriller 
Director : Michael Dougherty 
Stars : Dylan Baker ( Spider-Man 2 , Spider-Man 3 ) , Brian Cox ( X-Men 2 , Troy , Braveheart , The Bourne Identity , The Bourne Supremacy  ) , Anna Paquin ( X-Men , The Piano , True Blood TV-Series ) 
Rating : R





REVIEW

                                                           คยคิดกันบ้างหรือไม่ ? ว่าเทศกาลต่างๆที่เราเฉลิมฉลองกันในทุกๆปีเนี้ย แท้จริงแล้วมันมีขึ้นมาเพื่ออะไร ? คนส่วนใหญ่นั้นก็คงจะบอกว่าไม่ บางครั้งเราสนุกไปกับมัน ล้อเล่นไปกับมันโดยไม่เคยที่จะรู้และเข้าใจถึงความสำคัญและเป้าหมายของมันจริงๆ นี้คือสิ่งที่ Trick 'r Treat ต้องการจะพูดถึง โดยยกวันที่เป็นหนึ่งในวันที่เรียกได้ว่า มีชื่อเสียง ได้รับความนิยม มากๆวันหนึ่ง นั้นก็คือวันฮาโลวีน ซึ่งเป็นวันที่เรามักจะแต่งตัวเป็นผีกันออกมา หรือสลักฝักทอง โดยทั่วๆไปแล้วคนมักจะรู้แค่ประมาณว่า วันฮาโลวีน เป็นวันๆหนึ่งที่เส้นระหว่างคนมีชีวิต กับ คนตาย นั้นเบาบางที่สุด หรือ เป็นวันปล่อยผีนั้นเอง แต่จริงๆแล้ว วันฮาโลวีนเป็นหนึ่งในวันที่เรียกได้ว่า มีต้นกำเนิดที่น่าสยดสยอง และน่ากลัวมากๆเลยทีเดียว โดยหนึ่งในจุดหมายหรือเป้าหมายหลักของวันฮาโลวีน นั้นก็คือการ"เคารพ" หรือ "ระลึก" ถึงคนตายนั้นเอง



Trick 'r Treat  เรียกได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีการกำกับที่น่าทึ่งมากๆเลยทีเดียว โดยเฉพาะการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ ที่มีถึง 4 เรื่อง แล้วแต่ละเรื่องก็มีความลึกในด้านของตัวละคร เรื่องราว มากพอสมควรเลยทีเดียว นี้ยังไม่นับถึงการเอาแต่ละเรื่องมาเชื่อมต่อกันในบางส่วนอีกด้วย โดยการเล่าเรื่องของเขานั้น มักจะเป็นการตัดสลับแต่ละเรื่องในช่วงต้น และเล่าไปทีละเรื่องๆไปจนถึงจนจบเรื่องสุดท้าย ซึ่งในช่วงต้นที่เล่าตัดสลับนั้น เขาก็เล่าได้อย่างน่าสนใจ น่าติดตามในทุกๆเรื่องเลยทีเดียว เขารู้จักวิธีที่จะ "ยั่ว" หรือ "ท้าทาย" คนดูให้คิดตาม เดาทางตามได้ตลอดเวลา และในด้านการเล่าเป็นเรื่องๆไป เขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมอีกครั้ง อย่างเช่นการเล่นกับมุมกล้องในตอนแรกเพื่อหลอกผู้ชมได้แทบจะอยู่หมัด หรือการเล่าเรื่องซ้อนเรื่องอีกทีได้อย่างน่าสนใจมากๆอีกด้วย 


ที่สำคัญเลยก็คือ นี้ไม่ใช่ภาพยนตร์ผีกะโหลกกะลา ที่เต็มไปด้วยการหวังพึ่งแต่มุข "Jump Scare" หรือ ผีตุ้งแช่ โครมเสียงใส่ผู้ชม หรือฉากกะโหลกกะลา ที่ทำมากันแล้วเป็นแสนล้านครั้ง ผู้กำกับ Michael Dougherty เขาช่างรู้วิธีในการสร้าง "Tension" หรือความกดดัน และอารมณ์ร่วมของผู้ชม เหลือเกิน เช่น ใช้ความคาดเดาของ"ผู้ชม" ให้เป็นประโยชน์ หรือ การเล่นกับมุมกล้องหรือภาพ ซึ่งช่างน่าทึ่งเหลือเกิน และมันทำให้ภาพยนตร์นั้นรู้สึก "น่ากลัว" หรือ "ลุ้นระทึก" จริงๆโดยไม่มีการใช้มุขสิ้นปัญญาแบบภาพยนตร์สยองขวัญหลายๆเรื่อง


ในด้านของบทก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่เรียกได้ว่าน่าสนใจจริงๆ โดยเฉพาะการแยกเป็นถึง 4 เรื่องย่อยๆในภาพยนตร์ ซึ่งแต่ละเรื่องนั้นเต็มไปด้วยรายละเอียด ที่แตกต่าง แต่ช่างน่าสนใจมากๆในแต่ละเรื่อง ซึ่งทุกๆเรื่องแชร์ Theme หรือจุดร่วมกันจุดหนึ่งนั้นก็คือ "วัน Halloween" ซึ่งจุดที่น่าสนใจในแต่ละเรื่องก็มีมากมาย เช่นตัวละครที่น่าสนใจ มีบุคลิกความคิดที่แตกต่างกันในบางเรื่อง และบางครั้งมันเชื่อมโยงไปสู่อีกเรื่องได้อย่างน่าทึ่ง   


อีกจุดหนึ่งที่สำคัญมากๆในภาพยนตร์สยองขวัญหรือภาพยนตร์ทั่วไปทุกๆเรื่องเลย นั้นก็คือ จุด Turning Point หรือ "จุดหักมุม" ซึ่งในกรณีของ Trick 'r Treat นั้นมีถึง 5 จุดเลยทีเดียว นั้นก็คือ จุดหักมุม 4 จุดในแต่ละเรื่อง และจุดหักมุมสุดท้ายในบทสรุปของภาพยนตร์ ซึ่งในแต่ละจุดนั้นไม่มีจุดใดเลยที่ให้ความรู้สึก ดูถูกผู้ชม หรือ ความขี้เกียจ ซ้ำซากในบทภาพยนตร์ แต่ละจุดหักมุมช่าง ซะใจ ถูกใจ และเขียนมาได้อย่างน่าทึ่งมากๆ โดยสามารถที่จะอยู่ท่ามกลางความ "โอเวอร์" และ ความ"สมเหตุสมผล" ได้อย่างน่าชื่นชมเลยทีเดียว


ในท้ายที่สุดนั้น ภาพยนตร์เรื่อง Trick 'r Treat แทบจะกลายเป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดไปเลยทีเดียว จากความน่าทึ่งทั้งในด้านเนื้อหา และในด้านการกำกับ สุดท้ายแล้ว Trick 'r Treat เป็นภาพยนตร์ที่ต้องการที่จะเตือนอะไรบางอย่างให้กับผู้ชม และหลอกย้อถึง ยุคสมัยใหม่ ที่พวกเรามักจะไม่ใส่ใจถึงที่มาของบางสิ่ง และไม่เคยที่จะให้ความสำคัญหรือเข้าใจไปกับเป้าหมายของมันเลย ซ้ำบางครั้งยังล้อเล่นและดูถูกมัน และบางครั้งผลที่ออกมา มันอาจจะร้ายแรงกว่าที่พวกเราคิดเอาไว้เสียอีก



Final Score : [ A ] & [ Must See Badge ] 

วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557

American Hustle Fast Movie Review

Fast Review



American Hustle ( 2013 ) เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่เรียกได้ว่า "คุณภาพ" อีกครั้งจาก ผู้กำกับ David O. Russell แห่ง The Fighter และ Silver Linings Playbook ด้วยการตัดต่อที่ช่างน่าสนใจ น่าติดตาม และทำให้ภาพยนตร์ดูมีหลายมิติมากขึ้น ตัวละครที่ช่างแปลกใหม่ มีความ"โอเวอร์" แต่กลับรู้สึกได้ถึงความเป็น"มนุษย์" ของตัวละครเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่เรียกได้ว่า "เปล่งประกาย" มากที่สุดใน American Hustle เลย นั้นก็คือ บทภาพยนตร์ที่ช่างเขียนออกมาได้อย่างน่าทึ่งเสียจริงๆ โดยเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึง การพยายามเอาตัวรอดและ ตะเกียกตะกาย ของ"มนุษย์" ที่ช่างไม่ยอมรับถึงความจริงบนโลก แต่พยายามที่จะหลีกหนีมัน และหลบหลีกมัน แต่ถึงกระนั้น ตัวภาพยนตร์ยังเสริมในจุดถึงที่ว่า บางครั้งการที่เราทำลายหรือเปิดโปงบางสิ่งบางอย่าง มันยังไม่เพียงส่งผลถึงคนที่ไม่ดีด้วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงคนที่จริงใจ และตั้งใจจริง ไปอย่างไม่มีทางเลือกอีกด้วย ช่างสะท้อนได้ถึงความ "อยุติธรรม" และน่าผิดหวังบนโลก แต่อีกด้านก็ให้ความหวังและสีที่หลากหลายกับโลก ที่ว่าทุกสิ่งนั้นมีมากกว่า"ดี" หรือ "เลว" นี้ยังไม่รวมถึงการแสดงระดับคุณภาพจริงๆของนักแสดงทั้งหลายเช่น Christian Bale หรือ Amy Adams รวมถึง Bradley Cooper ที่แสดงได้อย่างน่าทึ่ง แต่คนที่น่าทึ่งมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นนาง Jennifer Lawrence ที่ออกมาฉากใด ขโมย Scene ได้ทุกฉาก และแสดงในบทที่ยากได้อย่าง น่าทึ่ง และน่าเชื่อถือมากๆ เรียกได้ว่าเป็นการแสดงถ่ายทอดตัวละครที่น่าถึงสมกับรางวัล Golden Globe ที่เธอเพิ่งจะได้ไปหมาดๆเสียจริง American Hustle นั้น เป็นภาพยนตร์ที่ดูภายนอกดูเหมือนจะเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับหรือพูดถึงเฉพาะ "American" เท่านั้น แต่ความจริงแล้วคน American ก็คือมนุษย์ และทุกประเทศก็คือมนุษย์ สุดท้ายแล้ว พวกเราก็หนีไม่พ้น และไม่แตกต่างไปจากกันซักเท่าไรเลย 
I Give [ A - ] & [ Must See Badge ]

Last Vegas ( 2013 ) Movie "Fast" Review

Fast Review


Last Vegas ( 2013 ) เป็นภาพยนตร์ที่ควรจะเป็น"Last"หรือ"ครั้งสุดท้าย" เสียจริงๆและหวังว่าคงจะไม่มีภาพยนตร์พันธ์นี้ออกมาอีก จากบทที่ธรรมดาจนไปถึงแย่ Conflict ที่ซ้ำซาก ไม่น่าสนใจ ซ้ำยังคลาย Conflict ได้อย่างไม่น่าเชื่อถือ เดาแสนจะง่าย , Dialog ที่ไร้ความน่าจดจำ ไร้พลัง เหมือนไม่ได้ตั้งใจเขียน ที่ร้ายแรงที่สุดคือการเล่าเรื่องที่นอกจากจะไม่มีชั้นเชิงใดๆเลยแล้ว ยังใช้เทคนิคห่วยๆหรือง่ายๆเพื่อกลบความห่วยแตกของตัวเอง เช่น การใส่เพลงซึ้งๆลงไปในฉาก แล้วซูมกล้อง เพื่อให้คนดูเข้าถึง Emotion ของตัวละคร แทนที่จะให้คนดูรู้สึกด้วยตัวเอง แทนการ"ยัดเยียด" อารมณ์เช่นนี้ และมันได้แสดงถึงความ "ไร้ความสามารถ" ของผู้สร้างเป็นอย่างมาก มีเพียงแค่ 2 สิ่งเท่านั้นที่ทำได้น่าสนใจในภาพยนตร์ คือการแสดงของ Robert De Niro ที่แสดงได้อย่างน่าสนใจ และถ่ายทอด Character ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม และ ภาพของ Last Vegas ที่สวยงาม เท่านั้น ซึ่งโดยรวมมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไรมากนัก ในท้ายที่สุดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในภาพยนตร์ฮอลลิวู้ดที่ซึ่งแสดงถึงความมักง่ายในการสร้างภาพยนตร์โดยอาศัยชื่อเสียงของดารา และไม่ใส่ใจกับตัว Content และ Form ใดๆของภาพยนตร์ที่ช่าง อ่อนแอ เหลวแหลก น่าเบื่อ และซ้ำซาก จำเจ เหลือเกิน I Give [ D ] & [ Garbage Badge ]

วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2557

ความชอบที่"แตกต่าง" ในภาพยนตร์ ?

Side Story





ในบางครั้งนั้น คนเรานั้น ถึงแม้ว่าการตีความอะไรบางอย่างจะเหมือนกันและเข้าใจตรงกัน แต่บางครั้ง การที่เรา"ชอบ" อะไรบางอย่าง ก็ขึ้นอยู่กับคนด้วยเช่นกัน


และในภาพยนตร์เองก็เช่นกัน โดยเฉพาะ กรณีตัวอย่างชัดเจนๆอย่าง The Great Gatsby หรือ ผลงานการกำกับของผู้กำกับ หว่องกาไว 

ในกรณี The Great Gatsby นั้น ส่วนตัวผู้เขียน ไม่ค่อยชอบความ"ฟุ้งเฟ้อ , เวิ่นเว้อ และ เพ้อฝัน" ใน Form ของมันเท่าไรนัก ใช่มันสร้างสีสรรค์ในการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ และมันดูเหมือนจะเป็น"การเล่าเรื่องที่ชาญฉลาด" ของภาพยนตร์ แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว เมื่อเราเข้าไปสังเกตุและตรวจสอบส่วนลึกในภาพยนตร์เข้าดีๆ จะทราบว่า การที่ตัวภาพยนตร์ใช้วิธีนี้ในการเล่าเรื่อง เป็นเพียงเพื่อการ "กลบเกลื่อน" บทที่แสนจะอ่อนด้อยและแทบไม่มีอะไรเลยของตัวภาพยนตร์ พูดอีกอย่างนั้นก็คือการใช้ "Form" ที่หนักเพื่อกลบเกลื่อน แอบซ่อน  ความอ่อนด้อยของ "Content" นั้นเอง
แต่
ถึงกระนั้นเอง ก็ยังมีผู้ชมหลายๆคนเลยทีเดียวที่ชอบความ "ฟุ้งเฟ้อ" ของ The Great Gatsby ของมันเป็นอย่างมาก เพราะมันช่าง สวยงาม น่าตื่นตาตื่นใจ จนบางคนถึงกับยกให้เป็นภาพยนตร์แห่งปีเลยก็มี ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่ผิดเลยแม้แต่น้อย เพราะคนเรานั้นในบางครั้งชอบไม่เหมือนกัน


คล้ายๆกันในกรณีของผู้กำกับหว่องกาไว ที่หลายๆคนน่าจะทราบกันดีถึงสไตล์การกำกับที่"ช้า , เหงา " แต่ "สวยงาม และ โคตรเท่" ของเขา ซึ่งหลายๆคนชอบสไตล์นี้จนฝากตัวเป็นแฟนผลงานกันมานักต่อนักแล้ว แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งส่วนตัวผู้เขียนกลับคิดว่า ไม่ว่ายังไงๆก็จะต้องมีคนที่ "ไม่ถูกใจ" การกำกับแบบนี้แน่นอน เพราะมันมีการจัดวางมากจนเกินไป "เท่" มากจนเกินไป จนบางครั้งมันไม่เหลือความสมจริงหรือ Realistic เหลืออีก ซึ่งความคิดที่แตกต่างนี้ อย่าว่าแต่ผู้ชมธรรมดาๆเลยครับ นักวิจารณ์กันเองก็ยังถกเถียงกันหลายครั้งแล้ว ดูเอาง่ายๆจากภาพยนตร์ที่แทบจะทุกเรื่องมักจะมีตั้งแต่คนที่ชอบยันเกลียดเสมอๆ เช่น The Hobbit : The Desolation of Smaug ที่มีนักวิจารณ์ Metacritic บางท่านให้คะแนนถึง เต็ม 100 คะแนนเลยทีเดียว ในขณะที่บางท่านที่ไม่ชอบมันเอาเสียเลยก็ให้คะแนนต่ำเตี้ยดิน 30 กว่าๆ ก็มีเช่นกัน ซึ่งแต่ละคนก็ให้ความคิดเห็นที่น่าเชื่อถือไม่แพ้กันเลยทีเดียว ซึ่งความแตกต่างนี้ก็ถือได้ว่าเป็นสีสันที่น่าตื่นเต้นและน่าสนุกในวงการวิจารณ์ภาพยนตร์หรือการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว

The Grandmaster ( 2013 ) Movie Review

Movie Review
มวยหมัดแห่งความเหงาของผู้กำกับสุดแนว "หว่องกาไว"




Movie Name : Yi dai zong shi " The Grand Master " ( 2013 ) , Action / Biography / Drama
Director : Kar Wai Wong ( Fallen Angel , 2046 ) 
Stars : Tony Leung Chiu Wai ( สามก๊ก : โจโฉแตกทัพเรือ 1 , 2 ) , Ziyi Zhang ( Hero , House of Flying Daggers ) 
Rating : PG - 13





REVIEW


                                                           ว่อง กา ไว ถ้าหากพูดชื่อนี้ขึ้นมาแล้วล่ะก็ แฟนๆภาพยนตร์หลายๆคนจะต้องรู้จักอย่างแน่นอน เพราะเขานั้นถือได้ว่า เป็นผู้กำกับที่มีฝีมือเก่งกาจมากคนหนึ่งบนโลกเลยทีเดียว เก่งแค่ไหนก็ดูจากคำพูดของผู้กำกับสุดดังอีกท่านอย่าง Quentin Tarantino แห่ง Kill Bill , Pulp Fiction หรือ Django : Unchained ดูเอา ที่ Quentin ถึงกับพูดด้วยตัวเองว่า "หว่องกาไวเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ที่โคตรเท่ที่สุดในโลก" เลยทีเดียว จากสไตล์การกำกับที่มีเอกลักษณ์มากๆ ตัวละคร การแสดง ที่ ให้อารมณ์ "เหงา , เศร้า " แต่ "โคตรเท่" โดยเฉพาะการกำกับหรือจัดองค์ประกอบภาพหลายๆครั้งนั้นเขาก็จัดภาพได้อย่างน่าทึ่ง งดงามจนแทบจะหาคนที่เอามาเปรียบเทียบกันได้จริงๆยากเลยทีเดียว (แต่ส่วนตัวผู้เขียนชอบผู้กำกับจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่าง จางอี้โหมว มากกว่า)


The Grandmaster ถือได้ว่าเป็นผลงานที่ถ้าหากมองจาก"หน้าหนัง"แล้ว อาจจะพาหลายๆคนงงและสับสนได้ จากโปสเตอร์ต่างๆที่ชวนพานึกว่าเป็นภาพยนตร์บู้กำลังภายใน ระเบิดพลัง เตะต่อยกันทุก 5 วินาที (แต่คนที่หาข้อมูลมาดีๆก็คงจะทราบว่ามันจะเป็นภาพยนตร์อย่างไรจริงๆ) ทำให้ผู้ชมหลายๆคนรวมถึงผู้ชมภาพยนตร์ทั่วๆไปในประเทศไทยเอง เข้าไปชมแล้วถึงกับงง "นี้มันหนังบ้าบออะไรกันนี้" ก็เป็นเรื่องจริงที่ ฮาสำหรับผู้เขียนไม่ใช่น้อย


หว่อง กา ไว อีกครั้งแล้วที่เขาได้พิสูจน์ตัวเองให้โลกรู้ว่า เขานั้นเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ที่"โคตรเท่"มากที่สุดในโลก ใน The Grandmaster ไม่ว่าจะเป็น ฉากต่างๆ องค์ประกอบภาพต่างๆนั้น ช่างสวยงาม อลังการ น่าตื่นตาตื่นใจ แม้สำหรับคนเอเชียด้วยกันเองที่คงชินกับวัฒนธรรมแนวนี้อยู่พอสมควรแล้วก็ตาม ก็อดไม่ได้ที่จะตื่นเต้นไปกับมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการกำกับฉาก "ต่อสู้" ในภาพยนตร์ของเขา เป็นการต่อสู้ ร่ายรำที่เปรียบเสมือนการ"ระบายสีภาพ"ของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ช่าง งดงาม อลังการ ยิ่งใหญ่ เปี่ยมไปด้วยพลังและความหมายเหลือเกิน ซ้ำยังเป็นการกำกับฉากต่อสู้ที่ สนุก ตื่นเต้น และมีรายละเอียดในแต่ละท่าต่างๆอย่างน่าทึ่ง  นี้ยังไม่รวมถึงการเอาท่าต่อสู้ต่างๆมาตีความและสื่อความหมายเพื่อส่งผลไปถึง บุคลิก ความคิด ของตัวละครต่างๆได้อย่างชาญฉลาดมากๆอีกด้วย


สำหรับทีมนักแสดงนั้น หลายๆคนในภาพยนตร์ เราก็น่าจะคุ้นๆหน้ากันดี ไม่ว่าจะเป็น โทนี่ "เหลียง เฉาเหว่ย" จาก ผลงาน สามก๊ก : โจโฉแตกทัพเรือ ทั้งสองตอน (หรือในชื่อ Red Cliff ในต่างประเทศ) หรือ นางเอกสุดสวยที่ต้องขอเรียกว่า "แม่นาง" จาง ซิยี่ ที่เคยฝากผลงานเอาไว้ในภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง HERO และ House of Flying Daggers ของผู้กำกับ จางอี้โหมว ที่ทั้งคู่ยังคงแสดงได้อย่างยอดเยี่ยม น่าทึ่ง ในการรับบทที่หนักสาหัสพอควรเลยทีเดียว


นอกจากนั้นแล้ว The Grandmaster ยังถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่มี "บทภาพยนตร์" ที่น่าสนใจ มากๆเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว โดยเฉพาะการนำเอาชีวประวัติส่วนหนึ่งของ "ยิปมัน" เข้ามาเป็นแกนหลักในการสื่อข้อความของภาพยนตร์ เช่น ความเก่งกาจ และ ชัยชนะนั้น "ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง" หรือ ในบางครั้งชีวิตของเรานั้น จะต้องเลือกทางเดินซักทางใดทางหนึ่ง ถึงแม้จะรู้ตัวว่า ทางที่เราเลือกมันอาจจะ"ไม่ถูกต้อง"และอาจจะทำให้ใครบางคนรวมถึงตัวเอง"เจ็บปวด" แต่เราก็ต้องยอมรับมันและเดินหน้าต่อไป ซึ่งทั้งสองข้อความนั้นถูกสื่อออกมาได้อย่าง มุ่งมั่น น่าเชื่อถือ แข็งแรง และน่าจดจำเอามากๆเลยทีเดียว และทั้งคู่ก็ยังเป็นความจริงบนโลกที่คงไม่มีใครจะปฏิเสธได้เลยทีเดียว


น่าเสียดายจริงๆที่ในบางด้านของภาพยนตร์นั้นยังมีแต่ความสับสน ไม่อธิบาย และการเชื่อมต่อที่แย่ โดยเฉพาะตัวละครอย่าง "Razor" ที่เชื่อมต่อกับตัวละครอื่นได้อย่างสับสนเป็นที่สุด จนทำให้ไม่เข้าใจแทบจะทั้งหมดเลยว่า ตัวละครนั้นมีมาเพื่ออะไร และหนังต้องการจะสื่ออะไรกับคนดูกันแน่ จนเรียกได้ว่า ตัวละครนี้แทบจะเป็นศูนย์ ไปในภาพยนตร์อย่างน่าเสียดายไปกันเลยทีเดียว



แต่อย่างไรก็ตาม The Grandmaster ก็ยังคงเป็นภาพยนตร์แห่งปี 2013 ที่เรียกได้ว่า "น่าจดจำ" มากที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการกำกับของหว่องกาไว ที่ยังคงน่าทึ่ง น่าจดจำเช่นเคย โดยเฉพาะการผสมผสานลายเซ็นการกำกับส่วนตัว เข้ากับบทภาพยนตร์ได้อย่างน่าทึ่ง รวมไปถึงบทภาพยนตร์ที่แสนฉลาด น่าจดจำ ถึงแม้น่าเสียดายที่จะมาตกม้าตายเอาที่ตัวละครเสียก่อนจะถึงเป้าหมายก็ตาม 



Final Score : [ B + ] & [ Must See Badge ] 

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

Captain Phillips ( 2013 ) Movie Review

Movie Review
อย่าเป็นห่วงไปคุณกัปตัน ทุกอย่างมันจะต้องเป็นไปด้วยดี



Movie Name : Captain Philips ( 2013 )
Director : Paul Greengrass ( The Bourne Supremacy , The Bourne Ultimatum )
Stars : Tom Hanks ( Da Vinci Code , Angels and Demons , Forrest Gump ) , Barkhad Abdi
Rating : น 15+




REVIEW


                           Captain Philips ถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งในปี 2013 ที่ผ่านมานี้ ที่เรียกได้ว่า ถูกพูดกันมานักต่อนักถึงความ อลังการ ความเป็น ระทึกขวัญ ของมัน ซึ่งก็คงจะเป็นผลมาจากฝีมือของผู้กำกับ Paul Greengrass จากผลงานอย่าง Bourne Supremacy และ Ultimatum อย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะวิธีการใช้มุมกล้องแบบ “Shaky Cam” หรือ การถือกล้องแบบ Handheld ทำให้ภาพเกิดอาการสั่น ซึ่งเป็นเทคนิคการถ่ายทำที่มีผู้กำกับบนโลกไม่กี่คนจริงๆเท่านั้นที่ใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริม หรือสื่อความหมายจริงๆ (ส่วนคนอื่นๆก็ใช้มันแบบอย่างมั่วซั่วสร้างความน่ารำคาญ และชวนอ๊วกเสียมากกว่า)


ซึ่งนี้ก็คือหนึ่งในสิ่งนั้นแหละทำให้ Captain Philips นั้น “Work” สุดๆ จากการใช้เทคนิค Shaky Cam ส่งผลให้ตัวภาพยนตร์นั้นดู  ‘Realistic” หรือสมจริงขึ้น ซึ่งการถ่ายทำในแต่ละฉากของเขานั้นก็ส่งเสริมจุดนี้ในการเล่าเรื่องในแต่ละฉากได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นฉากเริ่มเรื่องที่ถ่ายในแต่ละ Shot ได้อย่างยอดเยี่ยม สื่อถึง Background หรือภูมิหลังของตัวละครได้อย่างดี จากองค์ประกอบต่างๆในฉาก เช่น รูปภาพ การจัดวาง หรือ แม้กระทั่งบทพูด Dialog ที่สื่อถึงเบื้องหลังและความคิดของตัวละครออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมโดยไม่ต้องบอกตรงๆ


และอีกสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้ในภาพยนตร์ของ Paul Greengrass นั้นก็คือ ความตื่นเต้น “  Thrilling ซึ่งจากความเป็น Realistic “Shaky Cam” ของภาพยนตร์ที่มันยิ่งทวีคูณความตื่นเต้นในแต่ละฉากเพราะความสมจริงของมันแล้ว เขายังกำกับในฉาก Thriller ได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์ต่างๆ การโต้ตอบของตัวละครที่ชาญฉลาดดูเป็นมนุษย์และไม่โง่เง่าน่ารำคาญอย่างภาพยนตร์หลายๆเรื่อง การควบคุม โทน และ “Mood” หรือ อารมณ์ของภาพยนตร์และคนดูได้อย่างอยู่หมัด จากการควบคุมสถานการณ์ขึ้นๆลงๆในแต่ละฉากได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะเขารู้ว่าตอนไหนควรจะจุดและเผามัน และตอนไหนควรจะให้ผู้ชมพักและดับมันลงไปชั่วขณะ ซึ่งหลายๆครั้งที่คุณจะพบว่าตัวเองกำลังแทบจะกลั้นหายใจในหลายๆฉาก ถึงกระนั้นฉากเหล่านี้ก็ไม่ให้ความรู้สึก “Cheap / ถูก จากมุขตื่นเต้น โง่เง่า ลักไก่ ดูถูกผู้ชมเลยแม้แต่น้อย


อีกจุดหนึ่งที่ถือได้ว่าน่าประทับใจอย่างมากในภาพยนตร์เรื่องนี้ นั้นก็คือ ถึงแม้ตัวภาพยนตร์เองนั้นจะเชิดชูความเป็น อเมริกัน อย่างออกหน้าออกตา แต่ก็ไม่เหมือนภาพยนตร์หลายๆเรื่องในจุดๆหนึ่ง ซึ่งจุดๆนั้นก็คือ ตัวละครร้าย ที่ สมเหตุสมผล และมีมิติ มากเลยทีเดียว ซึ่งในตัวละครร้ายเหล่านี้นั้นมีเหตุผล มีตรรกะในการกระทำของพวกเขา อย่างน่าเชื่อถือ รวมไปถึงเหตุผลเหล่านี้ ก็มีการจิกกัดและเสียดสีโลกภายนอกถึงความ ไม่ยุติธรรม / โหดร้าย และ ไร้ทางเลือก ของโลก  โดยเฉพาะประโยคคำพูดที่ว่า ทุกอย่างจะต้องเป็นไปด้วยดี นั้นยิ่งช่างเสียดสีความอยุติธรรมของโลกได้อย่างดิบดี


ยังไม่นับถึงการแสดงของ Tom Hanks ที่แสดงในฉากที่ตัวละครต้องรับภาระหนักได้อย่างน่าทึ่งโดยเฉพาะในช่วงท้ายของภาพยนตร์ที่เหมือนเป็นการระเบิดอารมณ์และความกดดันออกมาได้อย่างน่าทึ่ง น่าขนลุกเลยทีเดียว รวมไปถึงนักแสดงหน้าใหม่อย่าง Barkhad Abdi ที่เล่นหนังเรื่องแรกก็ต้องมาปะทะดาราใหญ่ที่คว้ารางวัลออสก้ามาแล้วถึง 2 ครั้งติดต่อกันอย่าง Tom Hanks ก็รับบทในการปะทะกับ Tom Hanks ได้อย่างน่าทึ่งโดยไม่เกรงกลัวรังสีออร่ากันเลยทีเดียว


แต่ถ้าหากจะให้เปรียบเทียบกับภาพยนตร์แนวเดียวกันอย่าง “Rush” ในปี 2013 นี้แล้ว น่าเสียดายที่ยังมีอยู่สิ่งหนึ่งที่ Rush ไปถึง แต่ Captain Philips นั้นเรียกได้ว่า ยังไปไม่ถึง สิ่งๆนั้นก็คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมหรือแชร์อารมณ์ของตัวละครหรือฉากต่างๆในภาพยนตร์ ซึ่งใน Captain Philips นั้น มี แต่กลับทำได้ไม่สุดเท่าใดนัก เพราะจากการปูตัวละครหลักอย่าง Captain Philips ที่ กั๊ก มากจนเกินไป และไม่ได้น่าสนใจเทียบเท่า ตัวละครหลักอย่างในภาพยนตร์อีกเรื่องอย่าง Rush เลย ซึ่งมันส่งผลถึงในฉากการบีบคั้นอารมณ์คนดูที่แตกต่างกันอย่างแทบจะเห็นได้ชัดเลยทีเดียว ซึ่งในจุดนี้ๆนั้นต้องขอยกให้กับ Rush หรือ ภาพยนตร์อีกเรื่องอย่าง Prisoners ที่ทำได้ดีกว่ามากไป


ถึงกระนั้นก็ตาม Captain Philips นั้นยังคงถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมอีกเรื่องหนึ่งจากการกำกับของ Paul Greengrass ที่สร้างให้ภาพยนตร์มีความ Realistic จากการใช้เทคนิค Shaky Cam อย่างชาญฉลาดและรู้จริง รวมไปถึงการกำกับฉาก Thriller ต่างๆที่ทำได้น่าทึ่ง ตื่นเต้น เร้าใจ และความฉลาดของบทที่ยังคงไม่ลืมมิติของตัวละครอื่นๆโดยเฉพาะ ตัวร้าย ในภาพยนตร์ที่มีความเป็นอเมริกันและเชิดชูความเป็นอเมริกันแบบออกหน้าออกตาเช่นนี้ ถึงแม้จะน่าเสียดายไปบ้างในจุดของการปูตัวละครที่ยังไม่น่าสนใจเท่าใดนัก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ห้ามพลาดเลยทีเดียว

Final Score : [ B+ ] & [ Must See Badge ]