วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Unbroken ( 2014 ) Movie Review

Unbroken ( 2014 , แองเจลีน่า โจลี ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz


"Unbroken พิสูจน์ว่าการผูกเรื่องและสร้างตัวละครในต้นเรื่องสำคัญมากแค่ไหน
เพราะนั้นคือสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ล้มเหลวมากที่สุด"


                ย่างที่ผู้อ่านหลายๆท่านน่าจะทราบกันดี ว่าปี 2014 ที่ผ่านมานั้น เป็นปีแห่งภาพยนตร์ชีวประวัติอย่างแท้จริง ตั้งแต่ Selma , The Imitation Game , The Theory of Everything , Foxcatcher และ American Sniper


ถึงแม้ว่าจำนวนภาพยนตร์ชีวประวัติจะเยอะพอสมควร แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าภาพยนตร์ชีวประวัติทุกเรื่องจะประสบความสำเร็จเสมอไป และนั้นก็คือสถานะความเป็นจริงของภาพยนตร์เรื่อง Unbroken อยู่ในตอนนี้



Unbroken เป็นภาพยนตร์ที่มีต้นแบบมาจากหนังสือของลอรา ฮิลเลนแบรนด์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของลูอิสนักกีฬาโอลิมปิกที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เส้นทางสู่ความยิ่งใหญ่ของเขานั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากเกินกว่าที่เขาได้คาดคิดเอาไว้ และนี้คือบทพิสูจน์ถึงความแข็งแกร่งของผู้ชายคนนี้


สิ่งที่ต้องจดจำเอาไว้เสมอสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้สิ่งแรกเลย ก็คือความจริงที่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกกำกับโดยนักแสดงสาวสวย แองเจลีนา โจลี ซึ่งกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สองเท่านั้น ซึ่งถึงแม้ว่าหน้าตาและรูปร่างของเธอจะทำให้คนทั่วโลกหันมามองก็ตาม แต่ฝีมือการกำกับของเธอนั้นยังทำได้ดีไม่ถึงครึ่งของความงามในตัวเธอเลยแม้แต่น้อย


โดยเฉพาะการเปิดเรื่อง การผูกปม สร้างพื้นหลังของตัวละครให้ผู้ชมรู้สึกสนใจ และหลงรักไปในตัวละครในภาพยนตร์ ซึ่งตัว แองเจลีนา โจลี ยังทำได้ไม่ดีนัก ซึ่งสาเหตุหลักๆเลยก็คือเธอพยายามเร่งจังหวะตัวภาพยนตร์เพื่อให้ไปถึงจุดกลางเรื่องที่เป็นจุดสำคัญของเรื่องให้เร็วที่สุดมากจนเกินไป ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อจุดที่น่าสนใจมากที่สุดในภาพยนตร์ ก็คือจุดที่ตัวละครเอกตกอยู่ในสภาวะลำบากสุดขีดนั่นเอง


แต่ปัญหาก็คือในช่วงระหว่างที่เธอกำลังเร่งจังหวะเรื่องราวในช่วงต้นเรื่องนี้เอง การเล่าเรื่องของเธอยังไม่ยอดเยี่ยมพอหรือละเอียดพอที่จะสามารถถ่ายทอดตัวละครออกมาได้อย่างเต็มที่ในระยะเวลาอันสั้น ผลก็คือกลายเป็นว่าทุกๆอย่างในช่วง 30 นาทีแรกถูกกดรีโมทเร่งจังหวะหรือ fast forward ซะหมด จนเราไม่สามารถที่จะจับอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้ซักอย่าง ตั้งแต่ตัวละครที่ถูกปูเรื่องอย่างเร่งรีบจนเราไม่รู้สึกมีอารมณ์ร่วม หรือปมปัญหาของตัวละครที่ถูกถ่ายทอดอย่างลวกๆ




ซึ่งความที่เราไม่รู้สึกมีอารมณ์ร่วม และไม่รู้สึกอยากที่จะเอาใจช่วยตัวละครหลักนี้นั่นเอง เป็นความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงมากที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะในท้ายที่สุดแล้วต่อให้ตัวละครนี้จะประสบพบเจอกับปัญหาร้ายแรงเท่าใด เราก็ไม่ได้รู้สึกสะทกสะท้านหรือแม้กระทั่งใส่ใจความเป็นตายของตัวละครนี้เลย กลับกันเลยก็คือความจริงที่ว่าเรารู้สึกถึงตัวละครนี้ ในรูปแบบที่ก็เป็นได้แค่อีกหนึ่งตัวละครที่ไม่ได้แตกต่างหรือสำคัญมากไปกว่าตัวละครอื่นๆในเรื่อง


และนั่นถือได้ว่าเป็นอารมณ์ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ในภาพยนตร์ชีวประวัติซึ่งเราควรจะรู้สึกร่วมไปกับตัวละครหลักที่ถูกเลือกและคัดสรรมาแล้ว ว่าบุคคลนี้ เป็นบุคคลที่น่าสนใจ น่าจดจำ หรือสามารถที่จะสอนและให้ข้อคิดอะไรบางอย่างให้กับผู้ชมได้ แต่ถ้าหากในท้ายที่สุดพอเราชมภาพยนตร์แล้วเรากลับรู้สึกว่าเขาก็เป็นแค่คนๆหนึ่งที่ก็ไม่ได้พิเศษอะไรนั้นก็แสดงได้ถึงความล้วเหลวอย่างร้ายแรงอะไรบางอย่างในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ซึ่งในกรณีของ Unbroken ก็คือช่วงต้นเรื่องที่ล้มครืนอย่างไม่เป็นท่า และในเมื่อตัวละครที่ควรจะเป็นศูนย์กลางทั้งหมดของเรื่องกลับไม่น่าสนใจ ปัญหาอื่นๆก็จะเริ่มตามมาทีละเล็กทีละน้อย 


อย่างเช่นตัวละครร้ายในภาพยนตร์ซึ่งก็หนีไม่พ้นตัวละครฝั่งญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งการสอดแทรกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครหลักกับตัวละครญี่ปุ่นนี้ถือได้ว่าน่าสนใจทีเดียว แต่น่าเสียดายที่ตัวละครร้ายในภาพยนตร์ยังถูกเขียนมาได้ไม่ลึกและน่าสนใจพอเท่าไรนักที่จะทำให้เรารู้สึกเห็นอกเห็นใจตัวละครนี้ได้ ถึงแม้ว่าจะมีการสอดแทรกทัศนะคติของผู้ที่กำลังจะพ่ายแพ้ในสงคราม และสร้างพื้นหลังของตัวละครก็ตาม แต่ในเมื่อการเล่าถึงเบื้องลึก เบื้องหลังและเหตุผลของตัวละครนี้ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างจืดชืด ซ้ำซาก และย่ำอยู่กับที่นี้แล้ว  ผลสุดท้ายตัวละครญี่ปุ่นนี้ก็ไม่สามารถที่จะเป็นอะไรไปได้มากกว่าอีกหนึ่งตัวละครร้ายที่แทบจะไม่สามารถหาเหตุและผลของความยโสโอหังได้เลย เสมือนเป็นแค่อีกหนึ่งตัวละครที่มีเอาไว้เพียงแค่ให้ตัวละครเอกที่สุดแสนจะน่าเบื่อ ก้าวข้ามไปสู่จุดถัดไปก็เท่านั้น


นี้ยังไม่นับถึงการคลี่คลายปมปัญหาและบทสรุปของเรื่องที่ให้ความรู้สึกง่ายและสะดวกสบายเกินไป เสมือนอยู่ดีๆอยากจะตัดจบก็จบเลย โดยปราศจากเหตุผลที่น่าเชื่อถือหรือหนักแน่นใดๆ ที่น่าอนาถเข้าไปอีกก็คือข้อความในตอนจบเรื่อง ที่พยายามตอกย้ำถึงความน่ายกย่องของบุคคลนี้ ตัวละครนี้ น่าเสียดายที่เราไม่อาจที่จะมีอารมณ์ร่วมไปกับข้อความเหล่านี้ได้ เนื่องจากเราไม่เคยแม้แต่ที่จะใส่ใจความอยู่รอดหรือเห็นถึงความพิเศษของตัวละครนี้เลย




ที่น่าเสียดายเลย ก็คือการเล่าเรื่องในช่วงกลางเรื่องของแองเจลีนา โจลี ซึ่งกลับทำได้ดีอย่างน่าตกใจ ตั้งแต่การผสมผสานฉากระทึกขวัญเข้าไปเพื่อไม่ให้ภาพยนตร์น่าเบื่อจนเกินไป หรือการถ่ายทอดตัวละครที่ตกอยู่ในสภาวะจนมุมก็ทำได้ดีทีเดียว หรือการถ่ายภาพรวมถึงเพลงประกอบในภาพยนตร์ก็ทำออกมาได้อย่างน่าทึ่งและทำให้ตัวภาพยนตร์น่าสนใจขึ้นมาบ้าง


แต่ในเมื่อทุกอย่างมันได้ล้มกองระเนระนาดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในต้นเรื่อง สุดท้ายแล้วมันก็ไม่มีสิ่งใดเหลืออีกในภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากอารมณ์ระทึกขวัญซึ่งนำมาสู่บทสรุปที่ไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง



Unbroken คือภาพยนตร์ที่พิสูจน์ว่าการผูกเรื่องและสร้างตัวละครในต้นเรื่องสำคัญมากแค่ไหน ด้วยความที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ล้มเหลวในจุดนี้อย่างไม่เป็นท่า จนพาเอาจุดอื่นๆที่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้แย่นักล่มจมไปด้วย ผลสรุปทั้งหมดของภาพยนตร์เรื่องนี้ในท้ายที่สุด ก็คือภาพยนตร์ชีวประวัติที่ไม่สามารถจะสร้างความแตกต่างหรือความน่าจดจำให้กับผู้ชมได้เลยแม้แต่น้อย

Final Score : [ C  ]

วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ผลผู้ชนะรางวัล Golden Raspberry Award ครั้งที่ 35


ผลผู้ชนะรางวัล Golden Raspberry Award ครั้งที่ 35




ในขณะที่ควันหลงงานประกาศผลรางวัลออสการ์กำลังสนุกสนานทีเดียว
อีกรางวัลหนึ่งที่คงไม่มีใครอยากได้อย่าง Golden Raspberry Award ครั้งที่ 35 ซึ่งจะมอบให้กับภาพยนตร์ยอดแย่หรือนักแสดงยอดแย่ในแต่ละปี ก็ได้ประกาศผลผู้ชนะออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วดังต่อไปนี้ครับ


ภาพยนตร์ยอดแย่แห่งปี :
- Saving Christmas (Samuel Goldwyn)

นักแสดงนำชายยอดแย่แห่งปี :
- Kirk Cameron in Saving Christmas as Kirk/Himself 

นักแสดงนำหญิงยอดแย่แห่งปี :
- Cameron Diaz in The Other Woman and Sex Tape as Carly Whitten and Annie Hargrove

นักแสดงสมทบชายยอดแย่แห่งปี :
- Kelsey Grammer in The Expendables 3, Legends of Oz: Dorothy's Return (voice only), Think Like a Man Too and Transformers: Age of Extinction as Bonaparte, Tin Man, Lee Fox and Harold Attinger

นักแสดงสมทบหญิงยอดแย่แห่งปี :
- Megan Fox in Teenage Mutant Ninja Turtles as April O'Neil 

คู่นักแสดงยอดแย่แห่งปี :
- Kirk Cameron and his ego in Saving Christmas

สาขาภาพยนตร์นำกลับมาสร้างใหม่ หรือ ทำเป็นภาคก่อนหน้า ลอกเลียนแบบ หรือ ภาคต่อ ยอดแย่แห่งปี :
- Annie (remake of the 1982 film with the same name)

ผู้กำกับยอดแย่แห่งปี :
- Michael Bay for Transformers: Age of Extinction

บทภาพยนตร์ยอดแย่แห่งปี :
- Saving Christmas (written by Darren Doane and Cheston Hervey)

และ สาขา    The Razzie Redeemer Award (มอบให้กับผู้เคยชนะรางวัลยอดแย่ในปีก่อนๆ แต่สามารถแสดงผลงานอย่างยอดเยี่ยมได้ในปีนี้ หรือพิสูจน์ตนเองว่าไม่ได้แย่ตลอดไปและมีพัฒนาการนั้นเอง) :

- Ben Affleck (From RAZZIE “Winner” for Gigli to Oscar Darling for Argo and Gone Girl)

วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Still Alice ( 2014 ) Movie Review

Still Alice ( 2014 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"ด้วยการแสดงอันน่าทึ่งของจูเลียน มัวร์ ทำให้ Still Alice กลายเป็นภาพยนตร์ที่ลืมไม่ลง"


   ใกล้กันมาทุกทีแล้ว สำหรับการประกาศผลเวทีรางวัลออสการ์ ซึ่งมีหลากหลายสาขามากที่น่าจับตามอง ตั้งแต่สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม หรือสาขาภาพยนตร์อนิเมชั่น 

แต่อีกหนึ่งสาขาที่น่าลุ้นไม่ใช่น้อยเลย ก็คือสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม เนื่องจาก จูเลียน มัวร์ เธอได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่องนี้มาแล้วหลายต่อหลายที่ ตั้งแต่ London Critics Circle Film Awards , Hollywood Film Awards , Broadcast Film Critics Association Awards รวมถึงงานใหญ่ๆอย่าง BAFTA Awards และ Golden Globes ที่ผ่านมาอีกด้วย เรียกได้ว่าขอแค่เธอได้รางวัลออสการ์อีกตัวหนึ่ง เธอก็จะได้รับรางวัลจากเวทีประกาศรางวัลใหญ่ๆหมดเรียบเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก

Still Alice เป็นภาพยนตร์ที่มีต้นแบบมาจากหนังสือนวนิยายในชื่อเดียวกันของลิซ่า เกสโนวา ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ อลิซ อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้มากความสามารถ แต่วันหนึ่งเธอกลับพบว่าตัวเธอกำลังเผชิญกับโรคอัลไซเมอร์แบบฉับพลัน ซึ่งโรคนี้เองจะมาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในชีวิตเธอในแบบที่ตัวเธอก็หวาดกลัว



ที่ต้องพูดถึงอย่างแน่นอนสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้เลย ก็คือการแสดงของ จูเลียน มัวร์ ซึ่งน่าทึ่ง เป็นธรรมชาติมากจริงๆ  คงไม่ใช่นักแสดงทุกคนอย่างแน่นอนที่สามารถที่จะถ่ายทอดตัวละครที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างน่าเชื่อถือขนาดเธออีกแล้ว จนพาเอาเราเชื่อไปจริงๆว่าเธอเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดที่สำคัญมากที่สุดจุดหนึ่งในภาพยนตร์ และเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมจริงๆ


นอกจากนั้นแล้ว ต้องขอชมในส่วนของบทภาพยนตร์ ที่นำเรื่องราวของโรคอัลไซเมอร์ มาเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นต่างๆได้อย่างน่าสนใจ ผ่านตัวละครอย่างอลิซ สะท้อนถึงความน่ากลัวของโรคนี้ และพลังของโรคนี้ซึ่งส่งผลไปสู่ครอบครัวของเธออย่างมากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะในด้านร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งก็ทำให้เราฉุกคิดถึงอันตรายของโรคนี้อยู่มากเหมือนกัน โดยเฉพาะคำพูดในภาพยนตร์ที่ตัวเธอพูดไว้ว่า "ฉันขอเป็นโรคมะเร็งดีกว่าโรคอัลไซเมอร์" ซึ่งในตอนแรกก็ฟังดูค่อนข้างจะไร้สติและสิ้นคิดพอสมควร แต่พอเมื่อเราได้ลงไปสำรวจชีวิตเธอมากขึ้น ผลกระทบของโรคนี้มากขึ้น เราก็เริ่มที่จะเข้าใจถึงความคิดนี้ของเธอได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว เพราะนี้ไม่ใช่แค่ความคิดที่ว่าเธอกลัวว่าเธอจะลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอสั่งสมมาเป็นสิบๆปีเท่านั้น แต่เธอกลัวถึงผลกระทบที่จะส่งผลต่อคนรอบข้างของเธออีกด้วย


อีกหนึ่งนักแสดงที่ถ้าหากพูดชื่อหลายคนก็น่าจะจำได้ไม่ยากก็คือ คริสเตน สจ๊วร์ต แห่ง ทไวไลท์ ซึ่งต้องพูดเลยว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอพัฒนาฝีมือการแสดงของเธอขึ้นมามากพอสมควรเลยทีเดียว โดยเฉพาะถ้าหากนับจากภาพยนตร์อย่างทไวไลท์ ซึ่งเธอเป็นอีกเรื่องที่น่ายินดี จนทาง Raspberry Award ต้องมอบรางวัล Redeemer Award สำหรับผู้ที่เคยมีผลงานยอดแย่แต่กลับมาพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งนั้นเอง



ถึงกระนั้นก็ตาม Still Alice ก็ยังไม่ใช่ภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบซักเท่าไรนัก โดยมีสองจุดในภาพยนตร์ที่ยังคงรู้สึกว่าสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้

จุดแรกก็คือการเล่าเรื่องของสองผู้กำกับที่ถือว่าพอใช้ได้ แต่ในบางจุดในภาพยนตร์ ยังให้ความรู้สึกว่าพวกเขายังเล่าเรื่องได้ไม่น่าสนใจมากพอ ทำให้รู้สึกน่าเบื่อบ้างในบางครั้งซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย


จุดที่สองก็คือการแสดงของ อเล็ค บัลด์วิน ที่ยังไม่น่าประทับใจเท่าที่ควร ซึ่งถือว่าเป็นอีกเรื่องที่น่าเสียดายมาก เนื่องจากเขารับบทเป็นตัวละครที่สำคัญมากตัวละครหนึ่งในภาพยนตร์ซึ่งก็คือสามีของอลิซ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครที่สามารถทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ทรงพลังมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าการแสดงของเขานั้นแย่อย่างใด แต่ในหลายๆฉากที่ตัวเขาจะต้องถ่ายทอดอารมณ์ออกมา ยังทำได้ไม่ดีและไม่น่าประทับใจซักเท่าไรนัก




แต่สุดท้ายแล้วสองจุดนี้ก็ไม่ได้ทำให้ Still Alice เป็นภาพยนตร์ที่น่าจดจำน้อยลงเลย นี้ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอความคิดที่ต้องการจะถ่ายทอดได้อย่างยอดเยี่ยม น่าสนใจ และน่านำไปขบคิด รวมถึงการแสดงของ จูเลียน มัวร์ที่ยอดเยี่ยมชนิดที่ไม่สามารถหาคำมาบรรยายได้เลยทีเดียว


Final Score : [ B + ]

วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Penguins of Madagascar ( 2014 ) Movie Review

Penguins of Madagascar ( 2014 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz 



"เฉิดฉายด้วยเจ้าแก๊งเพนกวินสุดแสบ ดับวูบด้วยตัวประกอบอันแสนจืดชืด"


 ดูเหมือนว่าช่วงนี้ จะเป็นช่วงขาขึ้นของเจ้าเหล่าตัวละครประกอบทั้งหลายในภาพยนตร์อนิเมชั่นอย่างแท้จริงเลยทีเดียว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ มิเนียน เจ้าคนรับใช้ตัวเหลือง จากภาพยนตร์เรื่อง Despicable Me ( 2010 ) ซึ่งได้รับความนิยมมากถึงขนาดที่แยกไปสร้างภาพยนตร์ของตัวเองที่จะฉายในปีนี้อย่าง Minions ( 2015 )


ในขณะเดียวกันตัวประกอบอย่างเจ้าแก๊งเพนกวินสุดแสบในภาพยนตร์เรื่อง Madagascar ( 2005 ) ก็เช่นเดียวกัน แต่จริงๆแล้วพวกเขาไม่ได้มีแค่ภาพยนตร์เป็นของตนเอง แต่เจ้าแก๊งเพนกวินสุดแสบนี้ได้รับความนิยมมากขนาดที่แยกไปทำเป็นทีวีซีรียส์ของตนเองเลยทีเดียว จนมาถึงตอนนี้ก็ได้โอกาสเฉิดฉายด้วยภาพยนตร์ของตนเองอย่างเต็มที่นั้นเอง


Penguins of Madagascar ว่าด้วยเรื่องราวของแก๊งเพนกวินจอมแสบ สกิปเปอร์ , โควาลสกี้ , ริโค และ ไพรเวท ที่ต้องร่วมมือกับแก๊งสายลับฝีมือดี นอรธ์วินเพื่อหยุดแผนการอันชั่วร้ายของ ด็อกเตอร์อ๊อกทาเวียสให้ได้ 




จากที่อ่านเนื้อเรื่องของ Penguins of Madagascar หลายคนก็คงจะเห็นชัดเจนพอสมควร ว่าโดยรวมแล้ว บทของภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังคงไม่สามารถที่จะนำเสนอเรื่องราวใหม่ๆได้ซักเท่าไรนัก แต่ที่น่าพูดถึงจริงๆแล้ว ก็คือการดำเนินเรื่องเสียมากกว่า ที่ยังค่อนข้างจะซ้ำซาก เดาง่าย มีการกำหนดจุดประสงค์ในแต่ละช่วงอย่างชัดเจน และนำเสนอโลกของ Penguins ในแบบที่ไม่น่าสนใจมากนัก 
ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะภาพยนตร์อนิเมชั่นช่วงหลังๆค่อนข้างจะมีการนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจมากกว่านี้ อย่างเช่นการผจญภัยในโลกเลโก้ของ The Lego Movie หรือ โลกของวิดีโอเกมอย่าง Wreck-It-Ralph  แม้กระทั่งโลกของ Big Hero 6 ก็นำเสนอโลกของการผสมผสานวัฒนธรรมญี่ปุ่นกับอเมริกันได้อย่างน่าสนใจ จึงทำให้ในด้านนี้ Penguins of Madagascar เสียเปรียบไปอยู่มาก


ถึงกระนั้นก็ตาม อีกสิ่งที่สำคัญมากในภาพยนตร์ ก็คือตัวละครทั้งหลาย ซึ่งใน Penguins of Madagascar พวกเหล่าเพนกวินจอมแสบก็ยังคงสามารถสร้างความบันเทิงด้วยบุคลิกอันเป็นเอกลักษณ์และมุขตลกที่ขบขันได้อยู่ตลอดเวลาเช่นเคย โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ตัวละครและจุดขัดแย้งของพวกเขาก็เป็นอะไรที่น่าสนใจมากทีเดียว ซึ่งช่วยฉุดตัวการดำเนินเรื่องและบทภาพยนตร์ที่ค่อนข้างจะเดิมๆให้สนุกน่าตื่นเต้นขึ้นมาได้อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะแฟนๆที่ชอบเจ้าพวกเพนกวินมาตั้งแต่ภาพยนตร์ Madagascar ( 2005 ) อยู่แล้ว น่าจะยิ่งสนุกและน่าจะถูกใจมากยิ่งขึ้นไปอีก




ถึงกระนั้นก็ตาม เราก็ไม่อาจที่จะพูดชมตัวละครร้ายอย่างด็อกเตอร์ อ๊อกทาเวียส ในแบบเดียวกับเจ้าเหล่าเพนกวินได้เลย ถึงแม้ว่าอาจจะดูไม่ยุติธรรมนักที่นำตัวละครที่ไปปรากฏตัวมาแล้วหลากหลายที่ มาเปรียบเทียบกับตัวละครที่ปรากฏตัวเป็นครั้งแรก แต่การเปรียบเทียบนี้ก็เป็นอะไรที่ไม่อาจจะหนีพ้น เนื่องจากทั้งสองฝั่งจะต้องมาปะทะกันในความสัมพันธ์แบบตัวละครเอกกับตัวละครร้ายในภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งดูเหมือนตัวละครร้ายจะเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด


ด้วยเหตุผลและเบื้องหลังการกระทำของด็อกเตอร์ อ๊อกทาเวียสนี้ ช่างเป็นเหตุผลที่ซ้ำซากเดาง่ายเหลือเกิน จนเราไม่อาจที่จะเข้าใจตัวละครนี้ได้อย่างที่เราควรจะเป็น ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าหากคุณได้พบเจอกับตัวละครในภาพยนตร์ ในรูปแบบที่เห็นมาก่อนแล้วในภาพยนตร์เรื่องอื่นประเภทเดียวกันไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว ก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เรารู้สึกเห็นอกเห็นใจตัวละครที่แสนซ้ำซากนี้


ซึ่งจุดนี้เป็นอีกจุดที่ค่อนข้างจะฉุดตัวภาพยนตร์ลงพอสมควร ภาพยนตร์ที่ดีควรจะมีตัวละครเอกที่ดี และตัวละครร้ายที่น่าจดจำด้วย การปะทะกันของทั้งสองฝั่งถึงจะน่าสนใจ แต่ในเมื่อ Penguins of Madagascar ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผลของการปะทะก็คือชัยชนะอย่างเด็ดขาดของฝ่งตัวละครเอก และเรื่องราวที่จืดชืด ไม่น่าติดตามอย่างที่ควรจะเป็น 




นี้ยังไม่รวมถึงตัวละครประกอบอย่างแก๊งสายลับนอรธ์วิน ที่ไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นมากพอที่จะมาเปรียบเทียบอะไรกับเหล่าแก๊งเพนกวิน ซึ่งลดระดับของตัวละครกลุ่มนี้จากตัวละครเสริมที่ควรจะมาเป็นคู่ปรับของกลุ่มตัวละครเอก กลายเป็นแค่อีกหนึ่งกลุ่มตัวละครที่มาเพื่อส่งเสริมกลุ่มตัวละครเอกจากนั้นก็ถูกลืมหายไปกับสายลม ถึงแม้ว่าหนึ่งตัวละครในกลุ่มอย่างคลาสสิฟายด์จะได้นักแสดงอย่าง เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์ มาพากษ์เสียง แต่นั้นก็ไม่ได้ช่วยดึงตัวละครอันแสนซ้ำซากนี้ให้น่าสนใจขึ้นมามากซักเท่าไรนัก


ในท้ายที่สุด Penguins of Madagascar อาจจะไม่ใช่ภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ยอดเยี่ยมซักเท่าไรนัก จากบทภาพยนตร์ที่ซ้ำซาก การดำเนินเรื่องที่พื้นๆไม่น่าสนใจ รวมถึงตัวละครร้ายและตัวละครประกอบอื่นๆที่ไม่น่าจดจำ โชคยังดีที่ตัวละครเอกเจ้าเหล่าเพนกวินก็ยังคงน่ารัก น่าติดตาม พอที่จะอุ้มภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาจากความดาษดื่น ไปได้บ้าง  สุดท้ายแล้วจุดขัดแย้งของเจ้ากลุ่มเพนกวิน และเหล่าตัวละครทั้งหลาย ก็นำไปสู่สิ่งที่ตัวภาพยนตร์ต้องการจะบอกก็ผู้ชมซึ่งก็คือ "ไม่ว่าเราจะหน้าตาเป็นอย่างไร เป็นเชื้อชาติใด หรืออายุเท่าใด สิ่งเหล่านี้ก็ไม่สำคัญเท่ากับการกระทำของเรา" นั้นเอง


Final Score : [ B ]

วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Evolve ( 2015 ) Game Review

Game Review



" Evolve อาจจะไม่ได้เป็นเกมที่ปฏิวัติวงการเกม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันเป็นเกมที่วิวัฒนาการแนวความคิดของสัตว์ประหลาดกับนักล่าได้ยอดเยี่ยมมากพอที่จะทำให้สนุกอย่างไม่รู้จบจริงๆ"




                      ตอนนี้ เวลานี้ สำหรับวงการวิดีโอเกมแล้ว คงไม่มีกระแสดราม่าไหนที่มาแรงไปกว่ากระแสต่อต้าน Download able content ( DLC ) ในวันแรกหรือก่อนวันที่เกมออกวางจำหน่ายอีกแล้ว 


ซึ่งวิดีโอเกมล่าสุดที่โดนกระแสนี้เข้าไปเต็มๆก็คือ Evolve เกมต่อสู้และเกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ซึ่งพัฒนาโดยทีมสร้างทีมเดียวกับเกมซอมบี้ชื่อดัง Left 4 Dead อย่าง Turtle Rock Studios  ที่ลงให้กับเครื่อง PC , PS4  และ XboxOne 





โดยกระแสต่อต้าน Evolve ก็เกิดขึ้นมาเนื่องจากการตัดสินใจของทางผู้จัดจำหน่าย 2K Games ซึ่งปล่อย DLC ออกมาจำนวนมากในวันแรกที่เกมวันวางจำหน่าย ถึงแม้ว่า DLC ทั้งหมดจะเป็นเพียงแค่ คอสตูมที่เปลี่ยนแปลงหน้าตาตัวละคร/อาวุธในเกมเท่านั้น  แต่ด้วยจำนวนราคา DLC ทั้งหมดรวมกันตามการคำนวนจากเว็ปไซต์ Destructoid  ก็ปาไปถึง $60.89 หรือประมาณเกือบ 2,000 บาท ซึ่งแพงยิ่งกว่าตัวเกมเองเสียอีก (http://www.destructoid.com/evolve-sure-has-a-lot-of-skin-dlc-at-launch-287447.phtml) ก็เป็นที่แน่นอนว่าการกระทำครั้งนี้ก็ทำให้ผู้เล่นหลายคนออกมาต่อต้านกันมากพอสมควร ตั้งแต่ในโปรแกรม Steam ที่บทรีวิวเกมหน้าแรกของ Evolve มีแต่ด้านลบ โดยเกมเมอร์หลายๆคนพูดว่าพวกเขารู้สึกว่าพวกเขาจ่ายเงินไปกับเกมที่ไม่สมบูรณ์แบบเนื่องจาก DLC และต้องควักเงินจากกระเป๋าจ่ายเพิ่มเพื่อให้เกมที่พวกเขาจ่ายเงินไปแล้วกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง


ถึงกระนั้นก็ตามในความคิดเห็นของผู้เขียนแล้ว ถึงแม้ว่าการปล่อย DLC มาวันแรกจำนวนมากมายขนาดนี้อาจจะเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องก็จริง แต่เราก็ไม่สามารถที่จะตัดสินคุณภาพของตัวเกมได้เพียงแต่การปล่อย DLC เท่านั้น เราจะต้องตัดสินคุณภาพของตัวเกมที่เป็นอยู่จริงๆด้วย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกมเมอร์บางคนลืมเลือนไปอย่างน่าเสียดาย



Evolve เป็นเกมแนวต่อสู้ / เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ซึ่งนำแนวความคิดที่น่าสนใจอย่าง ความคิดของการจับทีมต่อสู้กับศัตรูตัวใหญ่ๆ หรือ ต่อสู้กับสัตว์ประหลาดอย่างก๊อตซิลล่า มาจับรวมกันเป็นเกม นึกถึงง่ายๆก็คือนึกภาพสัตว์ประหลาดอย่างในภาพยนตร์ Godzilla หรือ Pacific Rim จากนั้นนึกภาพเรารวมตัวเพื่อนอีก 3 คนมาไล่ล่าสัตว์ประหลาดเหล่านั้นในเกม นั้นคือรูปแบบของ Evolve นั้นเอง


โดยในฝั่งแรกคือฝั่งผู้ล่าหรือ Hunter ซึ่งมีได้สูงสุด 4 คน และแต่ละคนจะได้รับหน้าที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ Assault ตัวละครทำความเสียหายหลักของทีม , Trapper ตัวละครที่คอยดักจับ/ไล่ล่าสัตว์ประหลาดไม่ให้หนีไปได้ , Medic ตัวละครซึ่งทำหน้าที่สำคัญที่สุดในเกมอย่างการรักษาหรือชุบชีวิตเพื่อนร่วมทีม และ Support ตัวละครซึ่งทำหน้าที่ช่วยเหลือตัวละครอื่นในด้านต่างๆเช่น สร้างเกราะให้ หรือ ทำให้ทีมสามารถทำความเสียหายได้รุนแรงยิ่งขึ้นนั้นเอง  


ส่วนอีกฝั่งหนึ่งก็คือฝั่ง Monsters หรือสัตว์ประหลาดซึ่งมีได้สูงสุด 1 คน โดยสัตว์ประหลาดยังแบ่งออกเป็นแต่ละตัวละครโดยมี Goliath , Kraken และ Wraith  โดยแต่ละสัตว์ประหลาดจะมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย




ซึ่งทั้งสองฝั่งจะต้องมาปะทะกันโดยแต่ละฝั่งจะมีเป้าหมายแตกต่างกันไปในแต่ละรูปแบบการเล่นซึ่งมีอยู่ 4 รูปแบบในตอนนี้


รูปแบบแรกคือ  Hunt ซึ่งเป็นรูปแบบการเล่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเกมขณะนี้ โดยการเล่นใน Hunt จะจับผู้เล่น นักล่า 4 คนไปไล่ล่าและพยายามฆ่า ผู้เล่นสัตว์ประหลาดให้ได้ก่อนที่ฝั่งสัตว์ประหลาดจะพัฒนาร่างไปสู่ระดับสามเพื่อทำลายจุดเป้าหมายหรือสามารถที่จะฆ่าผู้เล่นฝั่งนักล่าทุกคนได้ก่อน


รูปแบบที่สองก็คือ Nest ซึ่งเป็นรูปแบบการเล่นที่จะให้นักล่าไปไล่ทำลายไข่สัตว์ประหลาดทั้งหมดให้ได้ก่อนเวลาจะหมด โดยฝั่งสัตว์ประหลาดจะต้องทำทุกวิถีทางไม่ให้ไข่ถูกทำลายทั้งหมดก่อนเวลาจะหมดลง


รูปแบบที่สามคือ Rescue ซึ่งในความคิดเห็นของผู้เขียนเป็นรูปแบบที่น่าสนใจน้อยที่สุด โดยในรูปแบบนี้ผู้เล่นฝั่งนักล่าจะต้องไปช่วยเหลือ NPC ตัวอื่นๆที่อยู่ในเกมก่อนที่ ผู้เล่นฝั่งสัตว์ประหลาดจะฆ่าพวกเขาก่อนทั้งหมด


รูปแบบสุดท้ายก็คือ Defend ซึ่งเป็นรูปแบบการเล่นที่ให้ฝั่งนักล่าปกป้องฐานของตนเองไม่ให้ถูกทำลายก่อนเวลาหมด ส่วนผู้เล่นฝั่งสัตว์ประหลาดก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะทำลายฐานของฝั่งผู้ล่าให้หมด


นอกจากนั้นแล้วก็จะมีโหมด Evacuation ซึ่งก็คือนำ 4 โหมดข้างต้นมารวมกัน โดยก่อนจะเล่นตัวเกมจะให้ผู้เล่นทุกคนเลือกแผนที่และโหมดที่จะเล่นในแต่ละครั้ง ซึ่งพิเศษตรงที่ผลแพ้-ชนะจะไปส่งผลถึงแผนที่ต่อไปด้วย เช่นถ้าหากผู้เล่นฝั่งสัตว์ประหลาดชนะในแผนที่แรก ก็จะส่งผลทำให้สัตว์ประหลาดมีเกราะที่หนายิ่งขึ้นในแผนที่ถัดไปเป็นต้น 


โดยรวมๆแล้วโหมดต่างๆใน Evolve ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเกมแนวยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่งอื่นๆมากซักเท่าไรนักในด้านของการเล่น โดยเฉพาะเกมอย่าง Call of Duty หรือ Battlefield ซึ่งค่อนข้างจะคล้ายกันมากในรูปแบบการเล่น จะมีก็เพียงโหมดอย่าง Hunt ที่คล้ายคลึงกับ Team Deathmatch แต่แทนที่จะเป็น ผู้เล่น 4 คน ปะทะ ผู้เล่นอีก 4 คน ใน Evolve ก็กลายเป็น ผู้เล่น 4 คน ปะทะ ผู้เล่นซึ่งบังคับสัตว์ประหลาด 1 คนแทน ถึงกระนั้นก็ตามนั้นก็ไม่ได้หมายความว่ารูปแบบการเล่นแบบอื่นๆไม่สนุกหรือไม่น่าเล่น เพียงแต่อาจจะไม่น่าประทับใจมากนักเท่ากับรูปแบบ Hunt 


อีกหนึ่งข้อเสียหลักที่ผู้ที่สนใจในตัวเกม Evolve ควรจะทราบไว้ก่อนจะซื้อก็คือ Evolve เป็นเกมที่แทบจะไม่มีเนื้อเรื่อง พูดง่ายๆคือโหมดเล่นคนเดียวเป็นเสมือนเล่นกับคอมเสียมากกว่า โดยไม่มีการวางเนื้อเรื่องหรือเล่าเรื่องใดๆทั้งนั้น ถึงจะบอกว่าโหมด Evacuation เป็นเสมือนโหมดเนื้อเรื่องก็คงไม่ใช่ เพราะเนื้อเรื่องมีอยู่อย่างเดียวคือไปช่วยชาวบ้านอย่างเดียว ส่วนของเนื้อเรื่องจึงมีน้อยมากถึงแทบจะไม่มีเลย ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาด เนื่องจาก Evolve ค่อนข้างจะตั้งตัวและตั้งเป้าหมายเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเป็นเกมแบบผู้เล่นหลายคนหรือ Multiplayer แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับเกมที่เน้นผู้เล่นหลายคนเกมอื่นๆอย่าง Call of Duty หรือ Battlefield ผู้เขียนก็รู้สึกผิดหวังในตัวเกม Evolve อยู่บ้าง เพราะอย่างน้อยใน Call of Duty หรือ Battlefield ก็ยังมีโหมดเนื้อเรื่องให้เล่นทุกภาค ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ดีหรือไม่น่าจดจำเลยก็ตาม แต่อย่างน้อยก็มีตัวตนอยู่ในเกม ซึ่งการที่ Evolve แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเลยในเกมก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัยในการตัดสินใจเหมือนกัน เสมือนว่าทางทีม Turtle Rock มั่นใจมาก ว่ารูปแบบการเล่นผู้เล่นหลายคนหรือ Multiplayer ของพวกเขาจะยอดเยี่ยมพอที่จะทำให้ Evolve ไม่กลายเป็นเกมที่ถูกลืมภายใน 1 อาทิตย์




ซึ่งดูเหมือนว่าสิ่งที่พวกเขาได้วางความหวังเอาไว้ก็ดันวางไว้ถูกที่เสียด้วย เนื่องจากโหมด Hunt ซึ่งถึงแม้ว่าจะดูไม่ได้ใหม่อะไร แต่การเล่นโหมดนี้มันช่างเป็นอะไรที่สนุก ตื่นเต้น และหยุดเล่นไม่ได้เสียจริงๆ


ด้วยโหมด Hunt ซึ่งภายนอกก็ดูเหมือนแค่ Team Deathmatch ในเกมอื่นๆ แต่เมื่อลงไปสำรวจถึงความลึกซึ้งของโหมดนี้ เราจะพบว่าโหมดนี้นั้นค่อนข้างจะลึกทีเดียว ถึงแม้ว่าตัวเกมจะมีเป้าหมายสุดแสนจะง่ายสำหรับทั้งสองฝ่าย ฝ่ายนักล่าตามหาสัตว์ประหลาดและฆ่ามันให้ได้ หรือ ฝ่ายสัตว์ประหลาดที่พยายามหนีจากนักล่าในตอนระดับแรกและกลับไปถล่มฝั่งนักล่าในตอนระดับสาม หรือจะกลับไปทำลายที่ตั้งเป้าหมายของตัวเกมก็ได้


แต่เมื่อได้เล่นจริง เราจะพบว่ามันไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น ถึงแม้ว่าสัตว์ประหลาดจะพยายามหนีซักเท่าไรก็ตาม ถ้าหากทีมฝั่งนักล่ามี Trapper ที่เก่ง และทีมเวิรค์ที่ยอดเยี่ยม มันจะเป็นอะไรที่เลวร้ายมากสำหรับสัตว์ประหลาด เพราะทีมฝั่งนักล่าจะหาสัตว์ประหลาดเจออย่างรวดเร็ว ไม่ทันตั้งตัว และคงตายตั้งแต่อยู่ในระดับแรก กลุ่มนักล่าที่คิดเป็นและเล่นเป็นทีมจริงๆ จะไม่ยอมให้สัตว์ประหลาดได้กินสัตว์ต่างๆในแผนที่เพื่อพัฒนาไปสู่อีกระดับแม้แต่ตัวเดียว หลายๆครั้งที่ผู้เขียนได้บังเอิญไปเจอเพื่อนร่วมทีมที่เก่งและร่วมมือกันเป็นอย่างดี เกมบางเกมจบเร็วมากเนื่องจาก Trapper และทีมวิ่งไปไล่จับสัตว์ประหลาดตลอดเวลา จนสัตว์ประหลาดไม่มีเวลาที่จะแม้แต่กินเพราะต้องวิ่งหนีตลอดเวลา




ในขณะเดียวกันถ้าหากฝั่งสัตว์ประหลาดเจอทีมที่เล่นกันไม่เป็นทีม ต่างคนต่างเดิน ไม่ช่วยเหลือกันและกัน รวมถึงประมาท ถ้าหากว่าผู้เล่นสัตว์ประหลาดคนนั้นคิดเป็นแม้แต่นิดเดียว ก็สามารถที่จะถล่มและขยี้ทีมฝั่งนักล่าได้อย่างง่ายดาย หลายต่อหลายครั้งที่ผู้เขียนเล่นสัตว์ประหลาดและพัฒนาไปเพียงแค่ระดับสองแต่สามารถไล่ฆ่านักล่าอีกฝ่ายได้อย่างง่ายดาย ซึ่งสาเหตุที่ชนะได้ง่ายดายก็ไม่ใช่อะไร เพราะทีมนักล่าเดินแยกมาคนเดียว Medic ไม่ฮิล หรือถูกจับง่าย จนกระทั่งไม่ระวังแผนที่ดีพอ ผู้เล่นสัตว์ประหลาดระดับสูง จะเป็นอะไรที่เลวร้ายที่สุดสำหรับผู้เล่นนักล่าระดับต่ำถึงกลาง เพราะพวกเขารู้ดีว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะชนะ ตั้งแต่แอบในมุมมืดเพื่อกระโดดมาถล่มฝั่งนักล่า หรือ ใช้สกิลวาปลากมาสับในที่มืดของ Wrath กระทั่งถูกจับอยู่ในโดม ผู้เล่นสัตว์ประหลาดที่เก่งจะไม่ตื่นตระหนก และสามารถซ่อนจากฝั่งนักล่าได้อย่างแนบเนียน ถึงแม้ว่าจะถูกจับอยู่ในโดมก็ตาม ซึ่งการเล่นสัตว์ประหลาดและได้ถล่มฝั่งนักล่าแบบเละเทะ มันเป็นอารมณ์ของชัยชนะที่สุดยอดเสียจริงๆ


ส่วนในด้านของนักล่าแล้วสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในเกมเลยก็คือ ทีมเวิรค์ ทุกคนจะต้องเล่นกันเป็นทีม รู้หน้าที่ และรู้ตำแหน่งที่ควรจะทำอย่างแท้จริง Support จะต้องพยายามช่วยเพื่อนอย่างฉลาดตลอดเวลา , Assault ต้องพยายามฆ่าสัตว์ประหลาดให้ไวที่สุด แต่สองตำแหน่งที่ผู้เขียนคิดว่าสำคัญมากที่สุดเลย ก็คือ Medic ที่มีหน้าที่รักษาเพื่อน ไม่ว่ายังไงก็ต้องรักษาเพื่อน Medic ที่หยิบไรเฟิลออกมาไล่ยิงสัตว์ประหลาดไม่ยอมรักษาเพื่อนหมายถึงหายนะและความพ่ายแพ้ในไม่ช้าของทีม ที่สำคัญเลยก็คือต้องหาที่ยืนที่ปลอดภัยเป็น เพราะผู้เล่นสัตว์ประหลาดที่ดีจะเล็ง Medic เป็นคนแรก การที่ Medic วิ่งไปอยู่หน้าสัตว์ประหลาดตอนต่อสู้นั้นหมายถึงความตายของ Medic อย่างแน่นอน



อีกหน้าที่หนึ่งทีสำคัญมากๆในเกม Evolve ก็คือ Trapper ในการจับสัตว์ประหลาดไม่ให้หนีไปไหนด้วยบาเรีย ซึ่งคงไม่มีสัตว์ประหลาดที่ไหนยืนเฉยๆให้จับ โดยเฉพาะผู้เล่นสัตว์ประหลาดระดับสูงที่มีเพียงแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้นที่คุณสามารถจะจับมันให้อยู่ในบาเรียได้ เพราะฉะนั้น Trapper จะต้องเป็นผู้เล่นที่ไวต่อเกม ทันเพื่อน ถ้าเดินนำเพื่อนได้เลยยิ่งดี Trapper คนไหนที่ช้า ตามเกมไม่ทันจะเป็นผลทำให้สัตว์ประหลาดหนีไปพัฒนาได้ซึ่งนั้นอาจหมายถึงหายนะของทีม


นี้ยังไม่รวมถึงจำนวนของตัวละครที่มากพอสมควรในแต่ละคลาสของฝั่งนักล่าซึ่งสามารถผสมผสานกันได้หลายรูปแบบการเล่นมากขึ้น ส่วนฝั่งสัตว์ประหลาด จำนวนสัตว์ประหลาด 3 ตัวตอนนี้ก็ค่อนข้างจะแตกต่างกันพอสมควร ซึ่งส่งผลทำให้การเล่นในด้านของสัตว์ประหลาด หลากหลายเช่นเดียวกัน เช่น Goliath จะเป็นพวกแทงค์หน้าด้านหน้าทนวิ่งเข้าหาไล่ตบฝั่งนักล่า ในขณะที่ Wrath จะมีเลือดที่น้อยกว่าแต่มีสกิลที่สามารถเล่นเกมแบบที่ฝั่งนักล่าคาดไม่ถึงได้เช่นใช้สกิลพุ่งไประเบิดใส่ทีมนักล่าทั้งทีม หรือวาร์ปไปลากนักล่าหนึ่งคนออกมาจากกลุ่มเพื่อฆ่าคนๆนั้นก่อนเป็นต้น





ซึ่งด้วยความที่เกมมีความลึก ต้องอาศัยทีมเวิรค์ และความรู้ในเกมอย่างมากนี้เอง ทำให้เกม Evolve ซึ่งเป็นเกมที่เน้นผู้เล่นหลายคน (Multiplayer) กลายเป็นเกมที่เหมือนเล่นโยนเหรียญหัวก้อยหรือสุ่มประสบการณ์ในหลายๆครั้ง โดยเฉพาะถ้าหากท่านเล่นคนเดียว โดยที่ไม่มีเพื่อน ก็เสมือนกดเล่นเกมจัดอันดับในเกม League of Legends หรือ Dota 2  ถ้าหากท่านโชคดีก็จะเจอเพื่อนร่วมทีมที่ดี รู้ว่าจะต้องทำอะไร เล่นเป็นทีมเวิรค์ และถ้าหากเจอผู้เล่นสัตว์ประหลาดที่ดีจะยิ่งยอดเยี่ยม ทำให้เกมสนุกเข้าไปอีก เพราะจะทำให้การเล่นตานั้นน่าตื่นเต้น และท้าทายยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันถ้าหากท่านเจอเพื่อนร่วมทีมเล่นไม่เป็น พูดไม่ฟัง เดินไปตายคนเดียว Medic ไม่ยอมฮีล Support ไม่มาช่วย หรือที่แย่กว่าคือผู้เล่นประเภทพิมพ์ด่า หรือแชทด่าเลยก็มี ซึ่งนั้นอาจทำให้ประสบการณ์การเล่นของท่านย่ำแย่ก็เป็นได้ นี้จึงเป็นเสมือนดาบสองคมซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นในทุกๆเกมที่ต้องอาศัยการเล่นเป็นทีมอย่างมาก เพราะฉะนั้นการจับกลุ่มเพื่อนมาเล่นกัน โดยเฉพาะการมีไมค์เพื่อพูดคุย ตอบรับกันได้อย่างรวดเร็ว จะเพิ่มความสนุกในประสบการณ์การเล่น Evolve อย่างแน่นอน


แต่สำหรับท่านที่ชอบเล่นคนเดียวก็ยังพอถูๆไถๆไปได้กับ AI ซึ่งก็ฉลาดพอในระดับหนึ่ง แน่นอนว่าไม่ฉลาดพอเท่าคนเล่น แต่อย่างน้อยคุณก็ไม่ต้องมานั่งทนเพื่อนร่วมทีมวิ่งเข้าไปตายเองคนเดียวอย่างแน่นอน หรือถ้าหากชอบเล่นสัตว์ประหลาด ก็จะยิ่งดีเล่นเป็นสัตว์ประหลาดเป็นหลักเลยก็ได้


ถึงกระนั้นก็ตาม ในด้านของเอกลักษณ์และความแตกต่างในแต่ละแผนที่ใน Evolve ถือว่าทำออกมาได้ค่อนข้างน่าผิดหวังพอสมควร ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีแผนที่อยู่หลายที่ก็ตาม แต่แทบทุกแผนที่ให้ความรู้สึกเหมือนๆกันหมด จะแตกต่างกันก็เพียงแค่สิ่งแวดล้อมเล็กๆน้อยๆเท่านั้น ซึ่งปัญหานี้ส่วนหนึ่งมาจากระบบการเล่นที่มีเพียงแค่ ทีมผู้ล่าไล่ล่าสัตว์ประหลาด และสัตว์ประหลาดที่พยายามหนีและพัฒนาไปสู่ขั้นต่อไปให้เร็วที่สุด โดยขาดการเล่นระหว่างการไล่ล่านั้น อย่างเช่นถ้าหากตัวเกมเพิ่มระบบที่ทำให้รูปแบบการเล่นหรือแผนที่นั้นๆเปลี่ยนแปลงไปหรือน่าสนใจมากขึ้นก็จะดีไม่ใช่น้อย ยกตัวอย่างเช่นใน โหมด Evacuation ที่บางแผนที่จะมีผลพิเศษต่างๆอย่างเช่น มีที่ปฐมพยาบาลอยู่ตามแต่ละจุดของแผนที่ซึ่งทำให้ฝั่งนักล่าได้เปรียบ , ทำให้อากาศในแผนที่โปร่งใส่มองง่ายมากขึ้นจนทำให้สัตว์ประหลาดหนีลำบากกว่าเดิม หรือ พืชจะปล่อยแก๊ซพิษออกมาทำความเสียหายแก่นักล่าเพื่อที่จะทำให้ฝั่งสัตว์ประหลาดเล่นได้อย่างง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดที่ดีที่ทำให้ตัวเกมมีอะไรมากขึ้นมากกว่าแค่การวิ่งไล่จับ แต่น่าเสียดายที่ระบบนี้อยู่แต่ในเฉพาะโหมด Evacuation ซึ่งก็ดันถูกกำหนดโดยผลแพ้-ชนะว่าใครจะได้เปรียบในแผนที่ถัดไป ในขณะที่โหมดหลักอย่าง Hunt ไม่ได้มีการเล่นต่อเนื่องกันหลายแผนที่ จึงส่งผลที่ทำให้ไม่มีระบบพิเศษอย่างใน Evacuation ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเสียดายมาก ถ้าหากในอนาคตทางทีม Turtle Rock สามารถที่จะใส่ลูกเล่นลงไปในโหมด Hunt ให้มากกว่านี้ก็คงจะดี ยิ่งถ้าหากลูกเล่นนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละแผนที่ได้เลยยิ่งดี



หลุดเข้าไปในตึกแล้วจ้า....



ในด้านของเทคนิคต่างๆแล้ว ต้องพูดเลยว่า Evolve เป็นเกมที่มีกราฟฟิคสวยงาม อลังการมากทีเดียว ทั้งๆที่ผู้เขียนปรับอยู่ในระดับต่ำสุด ภาพที่ออกมาก็ยังอลังการมาก ตั้งแต่ตัวละครนักล่าที่เต็มไปด้วยรายละเอียด สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต หรือ สัตว์ประหลาดที่ใหญ่โต น่าเกรงขาม

ถึงกระนั้นก็ตามในตอนที่ผู้เขียนเล่น ก็เจอะเจอบัคต่างๆอยู่บ้าง ในเวอร์ชั่นของ PC ตั้งแต่เกมมืดไม่ยอมโหลด , ตัวละครตกทะลุลงไปในตึก , กดควบคุมตัวละครบอทไม่ได้ ,  ค้างตรงหน้าจอโหลดเข้าเกม หรือ เกมที่ค่อนข้างจะแลคและค้างไปหลายวิตอนกำลังเล่นอยู่ในบางครั้ง ยังโชคดีที่ปัญหาเหล่านี้เจอไม่บ่อยครั้งมากจนเล่นไม่ได้ ส่วนในด้านของเซิฟเวอร์ยังถือว่าทำได้ดีอยู่ เนื่องจากเคยเจอเกมฟ้องว่าการเชื่อมต่อไม่ดีเพียงแค่ครั้งเดียวในหลายๆเกมที่ได้เล่นมาซึ่งถือว่าสำคัญมากสำหรับเกมที่เน้นผู้เล่นหลายคนเป็นหลัก


ถึงแม้ว่าโดยรวมแล้ว Evolve อาจจะไม่ได้เป็นเกมที่ปฏิวัติวงการเกมอย่างที่คาดหวังไว้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันเป็นเกมที่วิวัฒนาการแนวความคิดของนักล่าและสัตว์ประหลาดได้ยอดเยี่ยม ลึกซึ้งมากพอที่จะทำให้สนุกอย่างไม่รู้จบจริงๆ


Final  Score : [ B + ] 

Wild Card ( 2015 ) Movie Review

Wild Card ( 2015 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"ผลของความพยายามในภาพยนตร์เรื่อง Wild Card 
ก็คือภาพยนตร์แอ็คชั่นที่กระจัดกระจายและไม่เป็นชิ้นเป็นอันซักอย่าง"


 ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เจสัน สเตทแธม ไม่ว่ายังไงก็คือนักแสดงแอ็คชั่นที่ไว้ใจได้เสมอในด้านของการแสดงฉากต่อสู้บู้ล้างผลาญทั้งหลาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ ที่เขาได้ก้าวไปมีส่วนร่วมในภาพยนตร์อย่าง Fast and Furious ภาค 7 ที่กำลังจะถึงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีทีเดียว 


ถึงกระนั้นก็ตาม ในภาพยนตร์ที่มีเจสัน สเตทแธม นำแสดง ก็มักจะหนีไม่พ้นบทภาพยนตร์อันดาษดื่น ซ้ำซากและไม่มีความน่าสนใจซักเท่าไรนัก ซึ่งดูเหมือนจะได้กลายเป็นสิ่งที่ผู้เขียนส่วนตัวได้เริ่มเลิกคาดหวังในภาพยนตร์ของเจสัน สเตทแธม ไปเรียบร้อยแล้ว




ซึ่งเป็นที่น่าสนใจ ที่ผู้กำกับ ไซมอน เวส เจ้าของผลงานอย่าง Lara Croft: Tomb Raider (2001) , The Mechanic (2011) และ The Expendables 2 (2012) ได้เลือกตัดสินใจที่จะพยายามจัดเรียงทั้งในด้านของฉากต่อสู้ แอ็คชั่น และบทภาพยนตร์ให้เท่าเทียมกัน


Wild Card เป็นภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของผู้คุ้มกันรับจ้างฝีมือฉกาจใน ลาส เวกัส ซึ่งบังเอิญเข้าไปพัวพันเข้ากับแก๊งอันตรายเข้าให้ ท่ามกลางเป้าหมายในชีวิตที่เริ่มเลือนลางของเขา การตัดสินใจครั้งนี้อาจจะเป็นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายของเขาก็เป็นได้ ?


ท่ามกลางความวุ่นวายทั้งหลายต่างๆในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก่อนอื่นต้องขอพูดก่อนเลยว่า เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมากพอตัว สำหรับผู้กำกับ ไซมอน เวส ในความพยายามที่จะเล่าเรื่องราวในตัวภาพยนตร์ออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการให้ความสำคัญในการเล่าเรื่องตัวละคร มากกว่าการยัดเยียดฉากต่อสู้ แอ็คชั่นเข้ามาเพียงแต่อย่างเดียว ซึ่งถึงแม้ว่าผลของการกระทำครั้งนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จดีนัก แต่ความพยายามนี้ก็ถือว่าน่าชื่นชมทีเดียว


แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆว่า Wild Card คือภาพยนตร์ที่สับสน แข็งกระด้าน และกระเด็นกันไปคนละทิศทางหมดเสียจริงๆ




ด้วยบทภาพยนตร์ที่น่าสนใจในด้านของตัวละครที่ล้อเล่นอยู่กับความ"สมบูรณ์แบบ"ในความเป็นชายได้อย่างน่าสนใจ นอกจากนั้นแล้วยังนำเรื่องของชนชั้นในสังคมมาเสียดสีได้เป็นอย่างดี
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ดันทิ้งช่องว่างซึ่งเต็มไปด้วยเหตุผลและข้ออ้างอันเบาอย่างกับขนนกไว้เต็มไปหมด ตั้งแต่ตัวละครบางตัวที่ไม่อาจทราบได้ว่าไปรู้จักกับตัวละครเอกตั้งแต่เมื่อไร , ที่มาและเหตุผลของความสามารถตัวละครเอกซึ่งถูกให้เหตุผลแบบลวกๆ ไปจนถึงความสัมพันธ์ของตัวละครที่เบาบางจนไม่น่าเชื่อถือ นอกเหนือจากนี้ที่หนีไม่พ้นเลยก็คือความซ้ำซากในบางด้านของบท เช่นปมปัญหาของตัวละครหรือบทพูดที่เราเคยได้ยินมาก่อนแล้วในภาพยนตร์ประเภทเดียวกันเรื่องอื่นๆไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง


ที่ย่ำแย่อีกอย่างก็คือตัวละครร้ายของเรื่องที่ไม่มีความสามารถในการต่อกรกับตัวเอกได้เลยแม้แต่น้อยเสมือนพระเอกเจสัน สเตทแฮมของเรา เปิดโหมดพระเจ้าอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครที่สามารถจะทำอันตรายหรือแม้กระทั่งมีโอกาสทำอันตรายกับเขาได้เลย ซึ่งทำให้ความน่าตื่นเต้นและความน่าเอาใจช่วยตัวละครเอกในภาพยนตร์ลดลงอย่างมาก เนื่องจากไม่มีเวลาใดที่เราจะรู้สึกว่าเขาตกอยู่ในอันตรายเลย


อีกหนึ่งจุดที่ค่อนข้างจะเป็นเหตุที่ฉุดตัวภาพยนตร์ลงมาอยู่ไม่ใช่น้อย ก็คือการกำกับของ ไซมอน เวส ซึ่งค่อนข้างจะหายนะพอสมควร 
ด้วยการเล่าเรื่องที่แข็งทื่อ ไร้ซึ่งชั้นเชิง และน่าเบื่อ ยิ่งผนวกเข้ากับ การวางมุมกล้องที่พื้นๆ และอารมณ์ของเรื่องที่เชื่องช้า มืดมัวอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้รู้สึกทรมาณอยู่บ้างเป็นครั้งคราว




ยังถือว่าโชคดีที่เมื่อ Wild Card เข้าสู่ฉากต่อสู้ เตะต่อย ก็ทำให้ตัวภาพยนตร์กลับมาน่ามองและน่าติดตามทันที เจสัน สเตทแฮม ยังคงนำแสดงฉากเหล่านี้ได้อย่างน่าเกรงขาม เก่งกาจ และโหดซะใจเช่นเคย ถึงแม้ว่าในด้านการกำกับฉากต่อสู้ของ ไซมอน เวสจะไม่ค่อยน่าประทับใจซักเท่าไรนัก เพราะเขายังคงอาศัยแต่การตัดต่อที่รวดเร็วเป็นหลัก มากกว่าการออกแบบฉากต่อสู้ที่น่าทึ่ง หรือการเลือกใช้เทคนิคอื่นๆที่ดีกว่านี้ แต่อย่างน้อยเขาก็ไม่อาการหนักถึงขั้นตัดทุกครึ่งวินาทีแบบภาพยนตร์บางเรื่อง (Taken 3 (2015) กำลังพูดถึงนายอยู่นะ) ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ทำให้ฉากต่อสู้เหล่านี้ ยังพอสนุก ตื่นเต้นไปด้วยได้ในระดับพอถูๆไถๆและให้อภัยได้บ้าง


สุดท้ายแล้ว เมื่อนำส่วนผสมทุกอย่างมารวมกัน ถึงแม้ว่าความพยายามของผู้กำกับไซมอน เวส จะน่าชื่นชม แต่ในเมื่อตัวบทภาพยนตร์ก็ดันเต็มไปด้วยความซ้ำซากและช่องว่างมากมายที่ไม่มีคำตอบที่น่าเชื่อถือเพียงพอ และแม้กระทั่งการกำกับของตัวเขาเองก็น่าเป็นห่วง ทำให้ผลและบทสรุปของ Wild Card ก็เป็นอะไรไปไม่ได้มากกว่าภาพยนตร์แอ็คชั่นที่กระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง และไม่เป็นชิ้นเป็นอันซักอย่าง


Final Score : [ C ] 

วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Kingsman : The Secret Service ( 2015 ) Movie Review

Kingsman : The Secret Service ( 2015 ) บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"Kingsman : The Secret Service ไม่ใช่ภาพยนตร์แอ็คชั่นที่แปลกใหม่หรือไร้ที่ติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี้คือภาพยนตร์ที่บันเทิงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในต้นปี 2015"


           นช่วงสองเดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เข้าสู่ปีใหม่ 2015 นี้ ภาพยนตร์แอ็คชั่นหลายเรื่องที่เข้าฉายในช่วงเวลานี้ส่วนใหญ่เป็นที่น่าสนใจว่าน่าผิดหวังพอสมควร ตั้งแต่ Jupiter Ascending , ฺBlackhat หรือ ภาพยนตร์ที่เข้าขั้นหายนะไปไม่กลับอย่าง Taken 3 

ในท่ามกลางความสิ้นหวังสำหรับคอภาพยนตร์แอ็คชั่นนี้ ก็เริ่มมีความหวังขึ้นมาอีกครั้งจากภาพยนตร์เรื่อง Kingsman : The Secret Service ซึ่งกำกับโดย แมทธิว วอห์น ผู้กำกับมากฝีมือเจ้าของผลงานที่น่าจดจำอย่าง Stardust , Kick Ass ภาคแรก และโดยเฉพาะ  X-Men : First Class 

Kingsman : The Secret Service ว่าด้วยเรื่องราวของกลุ่มสายลับอังกฤษกลุ่มหนึ่งที่นำตัวเด็กหนุ่มที่มีความสามารถแอบแฝงคนหนึ่งมาฝึกให้เป็นสุดยอดสายลับ แต่ระหว่างนั้นเอง แผนการน่ากลัวของวายร้ายอัจฉริยะก็กำลังจะเริ่มต้นขึ้น สายลับอังกฤษและเด็กหนุ่มคนนี้จะสามารถหยุดวายร้ายคนนี้ก่อนที่ทุกอย่างจะพินาศได้หรือไม่ ?




จุดที่น่าชื่นชมมากที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้เลย ก็คือการโอบกอดและรับความโอเวอร์ เหนือจริงของตัวภาพยนตร์เข้ามาใช้อย่างเต็มที่
Kingsman : The Secret Service  เป็นภาพยนตร์ที่รู้ตัวดีว่าในบางครั้ง ตัวมันเองช่างหลุดโลกแค่ไหน แต่แทนที่จะลดระดับความหลุดโลกนั้นลงมา ตัวผู้กำกับแมทธิว วอห์น เลือกที่จะเพิ่มความหลุดโลก ความเหนือจริงเข้ามาอีก จึงเป็นเหตุทำให้ฉากต่อสู้หลายฉากในภาพยนตร์กลายเป็นฉากตลกขบขันมีสีสันท่ามกลางความโหดร้ายทารุณ เลือดสาดกระจายได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งจุดนี้กลายเป็นจุดที่ตัวภาพยนตร์ทำออกมาได้โดดเด่นและน่าจดจำมากที่สุดเลยทีเดียว

อีกสิ่งที่บันเทิงสุดๆเลย ก็คือการกำกับฉากต่อสู้ของแมทธิว วอห์นซึ่งยังคงยอดเยี่ยม และสวยงามเช่นเคย เขายังคงพิสูจน์ว่าเขาคือผู้กำกับที่รู้จักวิธีการสร้างฉากต่อสู้ให้สวยงาม อลังการ น่าติดตาม และรู้จุดวางกล้อง การเคลื่อนที่ของกล้องหรือตัวละครเป็นอย่างดี ซึ่งความสามารถนี้ดูจะเป็นสิ่งที่เริ่มหายากขึ้นทุกทีในตัวผู้กำกับภาพยนตร์แอ็คชั่นของฮอลลีวูดสมัยนี้ 

ยิ่งผนวกฉากต่อสู้เข้ากับอารมณ์หลุดโลก ขบขันของตัวภาพยนตร์ก็ยิ่งทำให้ Kingsman : The Secret Service กลายเป็นภาพยนตร์ที่รู้สึกน่ามองและน่าติดตามอยู่ตลอดเวลาเลยทีเดียว




ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อเราลงไปสำรวจและวิเคราะห์ตัวบทภาพยนตร์จริงๆแล้ว ก็จะพบได้ไม่ยากว่า นี้ไม่ใช่ภาพยนตร์แอ็คชั่นที่มีบทภาพยนตร์อันน่าจดจำหรือยอดเยี่ยมแต่อย่างใด 
เอาเข้าจริงแล้วบทภาพยนตร์ของ Kingsman : The Secret Service นั้นค่อนข้างจะซ้ำซาก และเดาง่ายด้วยซ้ำไป

โดยเฉพาะในด้านของตัวละครต่างๆในภาพยนตร์ ตั้งแต่อาจารย์ผู้ซึ่งพยายามจะชดใช้ในสิ่งที่ทำผิด , ตัวร้ายซึ่งเห็นว่าโลกเต็มไปด้วยความชั่วร้ายหรือโรคร้ายที่จะต้องกำจัด , คู่แข่งของตัวละครเอกซึ่งต้องพยายามทำตัวน่ารังเกียจอยู่ตลอดเวลา , พ่อเลี้ยงที่ตบตีแม่ของตัวละครเอก ไปจนถึงตัวละครเอกเองซึ่งต้องพยายามพิสูจน์ตัวเอง และเดินตามรอยเท้าของพ่อตนเองให้ได้

ที่ซ้ำร้ายเข้าไปอีก ก็คือการผูกปมต่างๆในแต่ละตัวละครและเนื้อเรื่อง ของแมทธิว วอห์น ค่อนข้างจะเล่าออกมาได้แย่ ลวก และไม่น่าเชื่อถือ เป็นเหตุทำให้ตัวละครเหล่านี้ไม่น่าเอาใจช่วยหรือน่าติดตามเท่าที่ควร 

จริงๆแล้วในด้านเนื้อหาที่ตัวภาพยนตร์พูดถึงเองก็น่าสนใจไม่ใช่น้อย ด้วยการเสียดสีระบบชนชั้นของสังคม การเมือง และการนำเรื่องราวของสภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันมาพูดถึงได้อย่างน่าสนใจ น่าเสียดายที่ประเด็นทั้งหลายยังเจาะไม่ลึกพอที่จะทำให้รู้สึกว่าควรจะนำไปขบคิดหรือน่าจดจำซักเท่าไรนัก




สุดท้ายแล้ว Kingsman : The Secret Service ก็ยังคงไม่ใช่ภาพยนตร์ที่จะมาเปลี่ยนแปลงกระแสภาพยนตร์แอ็คชั่นที่กำลังย่ำแย่อยู่ในตอนนี้มากนักซะทีเดียว เนื่องจากบทภาพยนตร์อันซ้ำซาก ตัวละครที่ไม่น่าสนใจ ไปจนถึงการผูกปมตัวละครที่ลวกเกินไป ยังถือว่าโชคดีที่การกำกับฉากแอ็คชั่นของแมทธิว วอห์น และการแสดงของ โคลิน เฟิร์ธ รวมถึง ซามวล แอล แจ็คสัน ยังดีพอที่จะลากตัวละครอันแสนน่าเบื่อเหล่านี้ไปได้บ้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือการตัดสินใจรับความหลุดโลก เหนือจริงของตนเองเข้ามาใช้ให้เป็นจุดแข็งในตัวภาพยนตร์ ก็เป็นการตัดสินใจที่ฉลาดและทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอย่างน้อย Kingsman : The Secret Service ก็เป็นภาพยนตร์ที่บันเทิงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในต้นปี 2015 นี้ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่น่าจดจำเท่าที่ควรก็ตาม


Final Score : [ B ] 

วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Life Itself ( 2014 ) Movie Review


Life Itself ( 2014 )  บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย FallsDownz



"Life Itself ไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาพยนตร์สารคดี / ชีวประวัติของ โรเจอร์ อีเบิร์ต เท่านั้น แต่ยังเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงคุณค่าชีวิตของมนุษย์ทุกคนอีกด้วย"



      ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ชีวประวัติแห่งปี 2014 ที่เรียกได้ว่ามากมายเหลือเกิน แต่แตกต่างด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวในรูปแบบของภาพยนตร์สารคดี มากกว่าการเล่าเรื่องธรรมดาแบบภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่องอื่นๆ 


โดย Life Itself เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอเกี่ยวกับ โรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราจะได้ไปติดตามชีวิตของเขาในแต่ละช่วงอย่างใกล้ชิด




จริงๆต้องขอสารภาพก่อนเลยว่า ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะเคยได้ยินชื่อของ โรเจอร์ อีเบิร์ต มาอยู่หลายต่อหลายครั้ง แต่ตัวผู้เขียนเองก็ไม่เคยได้ศึกษาประวัติของเขาอย่างจริงจังซักเท่าไรนัก เพราะฉะนั้น ประสบการณ์มาชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เรียกได้ว่าค่อนข้างจะใหม่และน่าตื่นเต้นทีเดียวเชียว


โดยเฉพาะการที่ตัวภาพยนตร์สามารถเชื่อมต่อตัว โรเจอร์ อีเบิร์ต กับผู้ชมให้เรารู้สึกเห็นใจ คอยเอาใจช่วยเขาได้ตลอดเวลา รวมถึงยังทำให้เราเข้าใจถึงความนึกคิด ทัศนคติ และนิสัยของเขาได้ ทั้งๆที่ผู้ชมหลายท่านน่าจะไม่ได้รู้จักประวัติของ โรเจอร์ อีเบิร์ต อย่างลึกซึ้ง หรือบางท่านอาจจะไม่รู้จักเขามาก่อนเลยก็เป็นได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งไม่ใช่น้อย


ในด้านการเล่าเรื่องของผู้กำกับ สตีฟ เจมส์ ก็ถือว่าอยู่ในระดับใช้ได้ อาจจะมีติดขัดบ้างในช่วงการเล่าประวัติชีวิตของ โรเจอร์ อีเบิร์ต ที่การตัดต่อในบางครั้งสับสนและดูเร่งรีบไปบ้าง รวมถึงในช่วงกลางเรื่องที่ตัวภาพยนตร์เสมือนหยุดที่จุดๆหนึ่งในชีวิตของ โรเจอร์ อีเบิร์ต นานเกินไปจนทำให้รู้สึกน่าเบื่อ แต่โดยรวมเขาก็ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีทีเดียว




แต่ถึงแม้ว่า Life Itself จะเป็นภาพยนตร์สารคดี / ชีวประวัติของ โรเจอร์ อีเบิร์ต ก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือข้อความที่แฝงไว้อยู่ในภาพยนตร์ ซึ่งพูดถึงเรื่องที่ไม่ใช่แค่ โรเจอร์ อีเบิร์ต แต่เป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนมีเหมือนๆกัน ซึ่งนั้นก็ไม่ใช่เรื่องอะไรอื่นนอกจาก "ชีวิต" ของมนุษย์อย่างพวกเราทุกคนนี้เอง 


ในชีวิตนี้เราจะต้องประสบพบเจอเรื่องราวต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะดี ร้าย ทุกข์ สุข หรือเรื่องที่เราอาจจะอยากกลับไปแก้ไข และในที่สุดท้ายแล้วพวกเราก็ร่วมแบ่งปันจุดปลายทางเดียวกันซึ่งนั้นก็คือความตาย แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่แย่เสมอไป  เพียงแต่เราจะต้องใช้เวลาที่มีอยู่ทุกวินาทีให้คุ้มค่า และเตือนเราถึงคุณค่าในชีวิตของพวกเรา ซึ่งมีค่ามากกว่าสิ่งใดๆทั้งหมด นี้ก็คือสิ่งที่ตัวผู้กำกับ สตีฟ เจมส์ และ โรเจอร์ อีเบิร์ต พยายามจะบอกกับผู้ชมนั้นเอง


Final Score : [ A - ]